พฤษภาคม 2561
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการศึกษากับมนุษย์ ก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา
7 ตุลาคม 2561
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ และ นายยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงว่า ได้บรรจุร่างพระราชบัญญัติยาเสพติด (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ไว้ในวาระการประชุมของ สนช. แล้ว โดย นายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช. กล่าวว่า “ทาง สนช. อยากจะทำให้เสร็จ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่คนไทย เพราะว่าก่อนหน้าก็ได้ประสานกับญาติผู้ป่วยเป็นมะเร็ง ก็เห็นว่ากฎหมายนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์”
2 พฤศจิกายน
นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม และประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมจะปรับปรุงอาคารขององค์การเภสัชกรรมเป็นสถานที่ปลูกและวิจัยในระบบปิด มีการวางแผนผลิตน้ำมันกัญชา 4,000 ขวด ในเดือนมกราคม 2562 เพิ่มการผลิตเป็นเดือนละ 6,000 ขวด ตั้งแต่กุมภาพันธ์-เมษายน 2562 และหลังจากเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจะผลิตให้ได้เดือนละ 60,000 ขวด และวางแผนผลิตเป็นอุตสาหกรรมที่ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ด้วยงบประมาณ 120 ล้านบาท แต่ยังไม่สนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกเอง
6 พฤศจิกายน
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงว่า 13 พฤศจิกายน ครม. จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติด (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ก่อนส่งให้ สนช. พิจารณา โดยก่อนหน้านี้ได้มีการส่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เข้าสู่ สนช. ไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม แต่ สนช. ได้พิจารณายกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในการแพทย์เป็นการเฉพาะ เนื่องจากเห็นว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติด (ฉบับที่ …) พ.ศ. … อาจจะใช้เวลานานเกินไป
13 พฤศจิกายน
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลที่ประชุม ครม. ว่า ครม. เห็นชอบในหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … โดยให้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ตราเป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ซึ่งครอบคลุมถึงการใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ให้สามารถนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดประเภท 5 ได้ในกรณีที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ของทางราชการ โดยได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต
- เพื่อกรณียกเว้นให้มียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้ในครอบครองไม่เกินจำนวนที่จำเป็นสำหรับการรักษาโรคเฉพาะ หรือสำหรับใช้ในการปฐมพยาบาลหรือกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในเรือ เครื่องบิน หรือยานพาหนะอื่นใดที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ
- เพิ่มเติมให้ใช้ยาเสพติดประเภท 5 ได้ หากกระทำเพื่อการรักษาโรค ตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลป์ หรือเพื่อการศึกษาวิจัย
- เพิ่มเติมให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีอํานาจกำหนดเขตพื้นที่เพื่อทดลองปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ผลิตและทดสอบยาเสพติดประเภท 5 หรือกำหนดเขตพื้นที่ให้เสพหรือครอบครองยาเสพติดประเภท 5 ในปริมาณที่กำหนด โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและต้องมีมาตรการควบคุมตรวจสอบ
- ตัดยาเสพติดประเภท 5 ออกจากบทบัญญัติห้ามผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง รวมถึงการกำหนดปริมาณยาเสพติดประเภท 5 ที่ให้สันนิษฐานว่า มีไว้เพื่อครอบครอง จำหน่ายออก โดยใช้เนื้อหาเดียวกันนี้ไปกำหนดเพิ่มเติมในมาตราอื่น
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะต้องประกาศกฎกระทรวงเพื่อมาควบคุมการใช้กัญชาอีก 5 ปี ซึ่งเป็นช่วงทดลอง จากนั้นมีการทบทวนว่าจะมีการปรับเปลี่ยนต่อไปอย่างไร
14 พฤศจิกายน
เมื่อกัญชากำลังจะถูกใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มีการเปิดเผยว่า บริษัทต่างชาติหลายรายได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรการนำสารสกัดจากกัญชาไปใช้ โดยมีบริษัท Thai Otsuka เป็นขาใหญ่ยื่นจดอย่างน้อย 8 ใบ ทำให้ภาคประชาสังคมแสดงความกังวลว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาละเลยกฎหมายหลายประการ เพราะหากบริษัทต่างชาติได้สิทธิบัตร เท่ากับว่าไทยจะไม่มีสิทธิในการทดลอง พัฒนา หรือนำไปใช้งานทางการแพทย์ได้เหมือนที่คิดไว้
โดยสรุปคือ ขณะนี้กัญชาอยู่ในสถานะถูกปลดกุญแจมือ แต่ยังติดตรวน ไม่ใช่เสรีกัญชาเหมือนที่บางคนเข้าใจ เพราะยังจำกัดการใช้เฉพาะทางการแพทย์ เฉพาะหมอและผู้ป่วย ส่วนการปลูกนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ส. และกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ให้อนุญาตเรื่องความเหมาะสมของพื้นที่ และการผลิตก็ต้องมีมาตรการควบคุมอย่างใกล้ชิด
นายพุทธิพงษ์เพิ่มเติมว่า “ไม่ได้หมายความว่าปลูกหลังบ้านก็ได้”
อ้างอิงข้อมูลจาก:
bbc.com
bbc.com
khaosod.co.th
mgronline.com
สนับสนุนโดย