รัสเซียในสายตาตุรกี

credit: epa.eu

เหตุเขย่าขวัญเกิดขึ้นอีกครั้ง และคราวนี้มีการแชร์เป็นคลิปทั่วโลกโซเชียล จนแทบจะเป็นการยิงแบบถ่ายทอดสด เมื่อ อังเดร คาร์ลอฟ (Andrey G. Karlov) ทูตรัสเซียประจำตุรกี ถูกมือปืนยิงจากทางด้านหลังจนเสียชีวิต ขณะกล่าวเปิดงานศิลปะภาพถ่าย ‘Russia in the eyes of Turks’ ในแกลลอรีที่กรุงอันคารา ประเทศตุรกี

ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ รัสเซียและตุรกีอยู่ในสภาวะลุ่มๆ ดอนๆ กับประเด็นซีเรีย ทำให้สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักพยายามโยงกรณีนี้ย้อนกลับไปหาการลอบสังหาร อาร์คดยุค ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ แห่งออสเตรีย จนเป็นสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1 – worst case scenario ของพวกเขาคือสงครามครั้งใหญ่ เพราะกระสุนเพียงไม่กี่นัดที่ลั่นออกจากปากกระบอกมือสังหารมีมากกว่าเสียงดังและความตายของคนหนึ่งคน

ใครถูกยิง

อังเดร คาร์ลอฟ วัย 62 ปี อยู่ในแวดวงการต่างประเทศมากว่า 40 ปี เริ่มงานด้านการทูตสมัยสหภาพโซเวียตตั้งแต่อายุ 22 ในปี 1976 หลังจบการศึกษาจาก Moscow State Institute of International Relations (MGIMO) เดินทางไปทำงานในเกาหลีเหนือระหว่างปี 1979-1984 และ 1986-1991 ก่อนจะโยกข้ามมาเกาหลีใต้ช่วงปี 1992-1997

ในปี 2001-2006 คาร์ลอฟกลับไปดำรงตำแหน่งทูตรัสเซียประจำเกาหลีเหนือ ปี 2009-2013 กลับมาเป็นผู้อำนวยการกรมการกงสุล กระทรวงกิจการภายในรัสเซีย จากนั้นจึงย้ายมาเป็นทูตอีกครั้งที่อันคาราในปี 2013 โดยได้ตำแหน่งทางการทูตระดับสูง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม (Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary) ในปี 2011

บทบาทท้าทายในฐานะทูตของรัสเซียในตุรกีคือ เหตุการณ์ที่ตุรกียิงเครื่องบินรบรัสเซียตกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 หลังจากรัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางการทหารเหนือน่านฟ้าซีเรีย

ใครยิง

มือปืนคือ เมฟลุต เมิร์ต อัลตินตัส (Mevlut Mert Altintas) วัย 22 ปี จากเมืองอายดิน (Aydin) จบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยม Soke Cumhuriyet Anadolu และเรียนตำรวจที่ Rustu Unsal Police Vocational School เข้ารับราชการตำรวจกว่าสองปี

อัลตินตัสใช้บัตรตำรวจผ่านเข้างาน ลั่นกระสุนใส่คาร์ลอฟอย่างอุกอาจขณะกล่าวเปิดงาน เขาประกาศคำสรรเสริญพระเจ้า และประกาศแก้แค้นการโจมตีของรัสเซียในอเลปโปเป็นภาษาตุรกี “อย่าลืมอเลปโป อย่าลืมซีเรีย” และ “พวกเราตายที่อเลปโป คุณต้องตายที่นี่” ก่อนจะโดนวิสามัญในที่เกิดเหตุ จากนั้นครอบครัวของมือปืน พ่อ แม่ น้องสาว ญาติ และเพื่อนร่วมห้องพัก ทั้งหมดรวมหกคน ถูกตำรวจควบคุมตัวไว้สอบสวน

และการกระทำที่บางคนเรียกว่าเป็น ญีฮาด ให้กับความพ่ายแพ้ในซีเรียครั้งนี้ ยังไม่มีกลุ่มหรือองค์กรใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ

ผลพวงจากเหตุการณ์สังหารทูตครั้งนี้ทำให้ วลาดิเมียร์ ปูติน มีคำสั่งยกให้หน่วยข่าวกรองทำงานอย่างเข้มข้นและยกระดับความปลอดภัยทั้งภายในประเทศและสถานทูตรัสเซียทั่วโลก

credit: epa.eu

ข้อสันนิษฐาน

มีข้อสันนิษฐานสาเหตุและกลุ่มต้นสังกัดของมือปืนรายนี้ไปต่างๆ นานา สำนักข่าว Reuters อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า อัลตินตัสมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายกุเลน (Fethullah Gulen) กลุ่มการเมืองใหญ่ของตุรกีที่ลี้ภัยและมีฐานอยู่ในสหรัฐ กลุ่มที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลตุรกีเรียกว่า กลุ่มก่อการร้าย FETO เคยถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการปฏิวัติล้มอำนาจ ประธานาธิบดีเรเจป ไทย์ยิป เอร์โดอัน ที่ล้มเหลวเมื่อ 15 กรกฎาคม ขณะที่ตัวแทนจากกุเลนออกมาปฏิเสธทันทีว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการสังหารทูตรัสเซีย

หลังเหตุการณ์นี้ ผู้สนับสนุนรัฐบาลทั้งสองฝ่ายต่างเริ่มชี้นิ้วหาต้นทางของมือปืน แต่แทนที่จะเป็นการพุ่งเป้าไปที่กลุ่มก่อการร้าย กลับมีพุ่งเป้าไปว่า ผู้อยู่เบื้องหลังคือมือมืดจากชาติตะวันตก โดยฝั่งตุรกีพาดพิงถึงสหรัฐ ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของ เฟตุเลาะห์ กุเลน

ขณะที่วุฒิสมาชิกรัสเซีย ฟรานซ์ คลินท์เซวิช เห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่ NATO จะมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับ มุสตาฟา อัคโยล นักวิเคราะห์ชาวตุรกี ที่เชื่อว่า ทั้งเอร์โดอันและปูตินต่างคิดว่า นี่คือทฤษฎีสมคบคิดของชาติตะวันตกที่จะยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง

ซินัน อุลเกน อดีตนักการทูตตุรกีจาก Carnegie Endowment for International Peace ให้ความเห็นว่า การสังหารคาร์ลอฟจะไม่สร้างวิกฤติหนักเท่ากับการยิงเครื่องบินรัสเซียตกเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ มักซิม ซุคคอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางจาก Russian International Affairs Council เห็นพ้องว่า ไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองใดระหว่างเครมลินกับอันคาราที่จะขยายเรื่องนี้ให้ใหญ่โต และการเปรียบเทียบการสังหารคาร์ลอฟเทียบเท่ากับ ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ เป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว

เสียงจากผู้นำ

“ในนามของประเทศของผมและประชาชน ผมขอแสดงความเสียใจต่อประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน และมิตรชาวรัสเซียทั้งหลาย”

– เรเจป ไทย์ยิป เอร์โดอัน

“เหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีวัตถุประสงค์ก่อกวนความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและตุรกี เช่นเดียวกับสันติภาพในซีเรีย…การตอบโต้ที่เป็นไปได้ต่อเรื่องนี้มีเพียงอย่างเดียว – การต่อสู้กับความหวาดกลัวอย่างเข้มแข็ง และพวกผู้ก่อการร้ายจะได้รู้สึกด้วยตัวเอง”

– วลาดิเมียร์ ปูติน

 


อ้างอิงข้อมูลจาก: gulfnews.com
nytimes.com
rt.com
theguardian.com
mirror.co.uk

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า