มือนั้นไม่ได้มีแค่สีขาว

บทกวี ‘พวกเรา’ โดย ศักดิ์สิริ มีสมสืบ เผยแพร่ทาง Facebook ผ่านบัญชีผู้ใช้งานชื่อ Saksiri Meesomsueb ได้รับการกล่าวถึงในแง่ชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์ ความเป็นสาธารณะของโซเซียลมีเดียทำให้บทกวีชิ้นดังกล่าวเผยแพร่ไปในวงกว้าง กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ผูกมัดผู้เขียนกับตัวงานเอาไว้  

สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างยิ่งของบทกวีชิ้นนี้ก็คือ การพาซื่อมองปรากฏการณ์ทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมแบบขาวกับดำ ทัศนะเช่นนี้อาจเป็นวิธีมองสังคมที่ติดฝังมาตั้งแต่งานรวมบทกวี มือนั้นสีขาว ที่แสดงทัศนะว่า มือที่สะอาดบริสุทธิ์อย่างมือเด็กเท่านั้นจึงจะสร้างสรรค์โลกอันงดงามบริสุทธิ์ได้

ปัญหาประการแรกของบทกวีชิ้นนี้คือ การแบ่งขาวกับดำระหว่างโครงสร้างกับคน โดยบทกวีวิจารณ์การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ละเลยวิถีชีวิตของผู้คน ผู้เขียนเสนอว่าการทำความเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่เข้าไปอยู่ร่วมกับวิถีชีวิตและประเพณีก็จะเข้าใจประเด็นเชิงโครงสร้างได้ ผ่านวิธีการ เช่น การรำวงแห่นาคกับชาวบ้าน

เรียนรู้เรื่องโครงสร้างใช่ว่ายาก
มารำวงแห่นาคกับชาวบ้าน
สามรอบโบสถ์รำพลางซดสุราสราญ
ยกนาคผ่านธรณีทวารา
มาดูอุโบสถร้อยล้านบ้าง
ค่อยคิดรื้อโครงสร้างศาสนา
ไม้งอกแทรกชำแรกรากกาฝากพา
แล้วนกพิราบที่ชายคาจะว่าไร

ด้วยมุมมองลักษณะนี้จึงลดทอนความซับซ้อนของสังคมไทยลงไปมาก การเน้นภาพประเพณีที่มีความสัมพันธ์อันดีของชุมชน ให้ตรงข้ามกับการวิพากษ์เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างและการครอบงำเชิงอุดมการณ์ สำหรับศักดิ์สิริแล้ว การวิพากษ์ศาสนาอันเป็นกลไกหนึ่งของรัฐในการควบคุม เป็นไม้งอกชำแรกโบสถ์อันเกิดจากกาฝาก ซึ่งเท่ากับการเพิกเฉยต่อชีวิตผู้คนที่หวังพึ่งพาความเชื่อทางศาสนา แม้แต่ ‘นกพิราบ’ ก็จะไม่มีที่พึ่งพิง

การวิพากษ์ที่ผูกกับสำนึกของปัจเจกบุคคลผู้ถอยห่างจากชุมชนและประเพณี ถูกนำมาเป็นภาพตัดกับการสัมผัสชุมชน สัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้าน สัมผัสประชาชน ผ่านการร่วมสรวลเสเฮฮา ซึ่งผู้เขียนถือเป็นกระบวนการทำความเข้าใจปัญหาชาวบ้านอย่างแท้จริง

เฉพาะประเด็นนี้ราวกับผู้เขียนจงใจไม่มองเห็นโครงสร้างสังคมที่ใกล้จนแทบจะทิ่มตา อาทิ คนฆ่าตัวตายเพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ความยากลำบากนานัปการจากการเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาของรัฐบาล การรำวงแห่นาค การดื่มเหล้าสรวลเสกับชาวบ้านเป็นไปไม่ได้ในเร็วๆ นี้ด้วยซ้ำ ที่จริงแล้ว ภาพที่บทกวีพรรณนาเป็นเพียงประเพณีที่ฉาบเคลือบด้วยภาษากวีสวยๆ เพื่อให้ภาพชนบทเชิงอุดมคติและหยุดนิ่ง โดยไม่ระแวดระวังอุดมการณ์ครอบงำที่มาพร้อมกับประเพณี

แน่นอนว่า คงไม่มีจุดยืนใดจะกล่าวอ้างได้ว่าเป็นจุดยืนที่ตัดสินได้โดยปราศจากอคติหรือผูกขาดถูกต้อง พูดอีกอย่างคือไม่มีใครตาบอดหรือตาสว่างอย่างสิ้นเชิง แต่การมีกฎกติกาหรือพื้นที่ให้คนร้อยพ่อพันแม่อยู่ร่วมกันได้ต่างหากที่ควรเป็นข้อตกลงสำคัญเบื้องต้น แต่รัฐประหารปี 2557 ได้ตอกตะปูปิดฝาโลงความเป็นไปได้นั้นไปแล้ว

ทัศนะดังกล่าวเชื่อมโยงไปถึงปัญหาประการที่สองของบทกวีชิ้นนี้ นั่นคือการทำงานของภาษาแบบขาวกับดำหรือพาซื่อ เห็นได้จากการกล่าวหาว่า ‘ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย’ เป็นเผด็จการในด้านกลับที่ถีบคนคิดเห็นต่างในการต่อสู้ทางการเมืองออกไป

เป็นพวกเผด็จการในด้านกลับ
คอยตรวจจับพิพากษาว่าคนไหน
เป็นฝ่ายตรงข้ามประชาธิปไตย
พวกไหนไม่อยู่ฝ่ายประชาชน

ฐานคติเบื้องหลังบทกวีข้างต้นคือ การมองว่าภาษาทำงานอย่างเป็นกลางและนำไปสู่ความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องทางการเมืองไม่ได้มีตรรกะของมิตรภาพหรือการสนทนา (dialogue) อย่างที่ปรมาจารย์สายศาสตร์การตีความ (Hermeneutics) เอ่ยอ้าง ที่จริงอาจเรียกว่าเป็นตรรกะของศัตรูด้วยซ้ำ เพราะความสำนึกว่ากำลังต่อสู้กับสิ่งที่ถูกมองว่าอยุติธรรม ดังที่ศักดิ์สิริเองเคยเขียนไว้ในบทกวี ‘รำลึกทวนรอยเท้าแห่งวิถี’ ในการรำลึก 20 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่า “เธอฝ่ายหนึ่ง ฉันฝ่ายหนึ่ง พึงแจ่มชัด/แตกต่างอย่างยืนหยัด…ถือสัจจะ” และในบทกวีล่าสุดก็ยังตอกย้ำคำว่า ‘พวกเรา’ และ ‘พวกเธอ’ ดูเหมือนว่าตัวบทนี้จะนำเสนอสิ่งที่ขัดแย้งกันเองอย่างเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ การสนทนาเกิดขึ้นไม่ได้ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากัน เห็นได้ชัดจากการที่ฝ่ายอนุรักษนิยมรอยัลลิสต์ สามารถพูด เขียน สื่อสาร แสดงออกความรักชาติ ความจงรักภักดีได้ ขณะที่ฝ่ายวิพากษ์ทำไม่ได้ จะให้หมอบกราบเพ็ดทูลแบบหนังจักรๆ วงศ์ๆ ก็คงไม่ใช่ ดังนั้นการแปลงสารว่าการถกเถียงเพื่อต่อสู้ คือการปิดกั้นความคิดเห็นต่างจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง ในทางตรงข้าม นั่นคือการปฏิเสธระบอบที่ไม่ทำให้ความคิดเห็นต่างปรากฏต่างหาก

ในเมื่อวางตัวเป็นพุทธมามกะ ตัวอย่างโมเดลพุทธที่ความคิดเห็นต่างเกิดขึ้นได้ในการสนทนานั้น อาจจะไปดูใน มิลินทปัญหา ก่อนพระนาคเสนจะยอมปุจฉา-วิสัชนากับพระเจ้ามิลินท์ ได้ขอไว้ว่า ให้ถกกัน ‘อย่างคนเสมอกัน’ คือไม่เอาสถานะราชามาเกี่ยว

หากถอดเป็นบทสนทนาภาษาทั่วไปก็คือ คำถามแรก พระเจ้ามิลินท์ถามว่า ขอถามคำถาม พระนาคเสนตอบว่า ได้ ยินดีให้ถาม พระเจ้ามิลินท์ตอบว่า ได้ถามไปแล้ว พระนาคเสนสวนกลับว่า ก็ได้ตอบไปแล้ว พระเจ้ามิลินท์ถามว่า แล้วตอบว่าอย่างไร พระนาคเสนก็ย้อนว่า ก็แล้วถามว่าอย่างไรล่ะ การชิงไหวชิงพริบเชิงตรรกะกันเช่นนี้ ถ้าพระนาคเสนไม่ทูลขอก่อนก็อาจจะไม่พ้นราชภัยก็ได้

นี่คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ถูกจัดให้อยู่ในระนาบของการสนทนากันได้ จะว่าไปแล้วบทกวีชื่อ ‘พวกเรา’ ที่ป่าวร้องว่า “ข้านี่แหละราษฎรทั้งดินแดน” และอาจมีคนกล่าวรับรองว่า บทกวีแบบนี้นี่แหละ ที่ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินโดยแท้นั้น หากใช้ตรรกะเบื้องต้นก็คงจะเห็นว่าเป็นการกีดกันความคิดแบบอื่นด้วยการเพิกเฉย เรียกเป็นคำพระได้ว่าโมหาคติต่อการเรียกร้องของประชาชน (อีกฝ่ายหนึ่ง) และโทสาคติต่อนายทุนผู้มั่งคั่งที่เรียกกันว่าระบอบทักษิณ แม้แต่ความจริงที่เห็นอยู่ตำตาก็ไม่อาจปลดเปลื้องได้

นอกจากนี้ พลังของภาษาที่แสดงออกผ่านการล้อเลียนเสียดสีแทรกอารมณ์ขันแบบศักดิ์สิริ ก็มีประเด็นที่ควรถกเถียงพิจารณาถึงปัญหาทางสุนทรียะและรสนิยม อาทิ การนำเพลงปลุกเร้าการต่อสู้ทางการเมืองมาล้อเลียนด้วยมุกตลกคำผวนสองแง่สองง่าม

สู้เข้าไป​ อย่าได้ท้ออย่าได้ถอย
มวลชนคอยที่ห้วยหวยงวดใหม่
พวกเจ้ามือหรือสมบูรณ์นิรันดร์ไป
งวดไหนย่าตะเคียนเฮี้ยนเป็นซวย
นายไม่เล่นหวยจะรู้อะไร
ใครจะมาใครจะไปรู้ไว้ด้วย
ไม่ว่านายอำนาจคุณอำนวย
ช่วยเขียนหวยไว้ในนรรฐรัมธูญ

อันที่จริงการสร้างประชาธิปไตยนั้นห่างไกลจากการซื้อหวยที่ต้องไป “คอยที่ห้วย” การเสแสร้งสะกดคำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ ผิดเป็น ‘นรรฐรัมธูญ’ ก็เหมือนจะลดทอนการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเทียบกับการเสี่ยงโชคและความไม่ประสีประสาของชาวบ้าน

หากสืบสาวร่องรอยความคิดและวิธีการ ศักดิ์สิริเคยใช้วิธีแบบนี้มาแล้วเมื่อปี 2553 ในบทกวีชื่อ ‘สันติป้าบ’ ตีพิมพ์ในรวมบทกวีชุด เพลิงพฤษภา รวมบทกวีร่วมสมัย บันทึกไว้ในความทรงจำ (2553) โดยมี แก้ว ลายทอง เป็นบรรณาธิการ

บทกวีชิ้นนี้ล้อเลียนเสียดสีการชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยใช้ทักษะภาษากดข่มว่าเป็นเหมือนเป็ดไล่ทุ่งที่มาอยู่กลางกรุงเทพฯ ส่งเสียงพูดจาไม่ชัด ขาดทิศทาง ควบคุมไม่ได้ และอาจนำไปสู่ความรุนแรง

จึงต้อนเป็ดไล่ทุ่งเข้ากรุงเทพ
แม้ไร้ศักดิ์และอักเสบซึ่งกล่องเสียง
หมายประสาทราษฎร์ประสงค์ส่งสำเนียง
หวังเพียงประกาศก้าบให้ทราบกัน

ด้วยทัศนะและวิธีการที่ศักดิ์สิริคุ้นเคยเช่นนี้ จึงนำไปสู่ปัญหาประการที่สี่ คือการใช้อุปลักษณ์เน้นความหมายด้านเดียว ที่จริงแล้ว อุปลักษณ์ก็คือการมองชีวิตและโลกนั่นเอง

ในบทกวี ‘พวกเรา’ เปรียบเทียบประชาธิปไตยกับสายน้ำเชื่อมโยงสองฟากฝั่ง โดยนัยก็คือการเชื่อมโยงความต่างของคนสองฟากฝั่งที่เคยข้ามกันไปมา การล่องไปมาในสายน้ำทำให้เห็นภูมิทัศน์และชีวิตอันงดงามของสองฝั่งน้ำ อุปลักษณ์นี้เชื่อมโยงกับภาพชุมชนทั้งหมดที่บทกวีสื่อออกมา มันตอกย้ำการเมืองของคนดีที่ตัดตัวกลางคือนักการเมืองออกไป ในอีกด้านหนึ่ง ก็พยายามสื่อว่าประชาธิปไตยคือกระบวนการไม่ใช่เป้าหมาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง มุมมองเช่นนี้กลับมองไม่เห็นความเน่าของสายน้ำและการผูกขาดท่าน้ำแต่อย่างใด

อุปลักษณ์ลำคลองที่ชี้ชวนให้พายเรือชื่นชมสองฟากฝั่ง ดูเหมือนจะเป็นการหลับอยู่ในห้วงหลายทศวรรษที่แล้ว นั่นคือ การกลับไปหาความแท้จริงดั้งเดิม จิตวิญญาณแบบชาวบ้านในวิถีเกษตรกรรม ผู้คนที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้

ปัญหาประการสุดท้ายได้แก่ ปัญหาด้านการตีความ ซึ่งสัมพันธ์กับวัฒนธรรมการอ่าน หลังจากเผยแพร่บทกวีชื่อ ‘พวกเรา’ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์แล้ว วันถัดมาศักดิ์สิริแต่งบทกวีเผยแพร่ทาง Facebook เนื้อหากล่าวถึงวัฒนธรรมและคุณภาพการอ่าน เขาเสนอว่าความคลุมเครือทำให้เกิดค้นหาและสร้างสรรค์ แต่ต้องอาศัยการอ่านที่มีคุณภาพซึ่งสะท้อนคุณภาพของประชาชน และยังเป็นรากฐานของประชาธิปไตยด้วย

ประชาธิปไตยจะพินาศ
เผด็จการจะพิลาสเรืองแสงฉาน
ตีความอย่างโยนิโสมนสิการ
วัฒนธรรมการอ่านต้องแข็งแรง

ประเด็นนี้เป็นข้อตกลงเบื้องต้นของการประเมินคุณค่าทางวรรณกรรม กล่าวคือตัวบทวรรณกรรมมีความหลากนัยอยู่แล้ว การบอกว่าความหมายของตัวบทมีอย่างเดียวถือเป็นความรุนแรง เพราะไปกดทับการตีความแบบอื่นๆ แต่เราจำเป็นต้องแยกประเด็น ความคลุมเครือของตัวบท โดยเฉพาะวรรณกรรม อาจนำไปสู่ความสร้างสรรค์จริง เพราะนำไปสู่โลกที่เป็นไปได้แบบอื่นๆ ความคลุมเครือในตัวตนของคน ก็อาจจะทำให้เราไม่กลายเป็นวัตถุที่ถูกคนอื่นกำหนดนิยามจนไม่ต่างอะไรจากก้อนหิน เพราะคนเราก็เปลี่ยนไปได้ตามกาลเวลา

กระนั้นก็ตาม ความคลุมเครือไม่ใช่ข้ออ้างในการบอกปัดความรับผิดชอบต่อความคิดและการกระทำที่แสดงออกอย่างเป็นสาธารณะของตน เพราะการกระทำที่มาจากเสรีภาพของมนุษย์ส่งผลกระทบอย่างที่ยากจะคาดเดาได้ อนาคตไม่แน่นอนจึงมีคำสัญญา นั่นคือการขันเกลียวตัวเรากับการกระทำในอนาคตที่ยังไม่เกิด ส่วนอดีตเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วและกลับไปแก้ไขไม่ได้

พูดง่ายๆ คือมือคนเราแปดเปื้อนได้ เราจึงต้องอาศัยการให้อภัย ซึ่งเป็นการคลายเกลียวตัวเราออกจากการกระทำในอดีต เพื่อการเริ่มต้นใหม่ในทางสังคมการเมือง แต่การเล่นลิ้นพลิกแพลงใช้ความคลุมเครือเพื่อบอกว่า อย่าตีความงานข้าพเจ้าไปแนวทางเดียวแบบนั้น หรือท่านมีสติปัญญาน้อยเกินกว่าจะเข้าใจงานข้าพเจ้า ก็เป็นสิ่งที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่าผู้แต่ง (author) ใช้อำนาจ (authority) ในการเข้ามากะเกณฑ์ความเป็นไปได้ในการตีความอย่างไร

โดยสรุป การเอ่ยอ้างว่าเข้าใจมวลชนหรือ Volk และการรักษาความบริสุทธิ์ของจิตวิญญาณของ ‘พวกเรา’ เช่นนี้ อาจจะเป็นจิตวิญญาณเดียวกันกับความยินดีหลังการปราบปรามประชาชนเมื่อปี 2553 นั่นเอง ทั้งนี้ โดยลืมไปว่า มือนั้นไม่ได้มีแค่สีขาว และที่สำคัญ การยอมรับว่าตัวเองมือแปดเปื้อนเท่านั้นจึงจะเริ่มต้นใหม่ได้

ศักดิ์สิริ มีสมสืบ เกิดปี 2500 จบการศึกษาประโยควิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) วิชาเอกจิตรกรรมสากล จากโรงเรียนเพาะช่าง

  • ปี 2521 รับราชการครูสังกัดกรมสามัญศึกษา และศึกษาต่อระดับครุศาสตรบัณฑิต เอกศิลปศึกษา วิทยาลัยครูพระนคร
  • ปี 2535 รวมบทกวี มือนั้นสีขาว ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A. WRITE AWARD)
  • ปี 2542 เพลง ‘บอก’ ได้รับรางวัลพิฆเนศทองพระราชทาน ประเภทเพลงเพื่อชีวิต ศักดิ์สิริเขียนท่อนเปิดเพลงนี้ว่า

ฟ้าบอกเธอกี่ครั้งกี่หน ว่าใจคนควรกว้างใหญ่ดั่งใจฟ้า

ภูเขาบอกเธอกี่หนกี่ครั้ง ว่าใจคนควรหนักแน่นดั่งภูผา

แม่น้ำบอกเธอหรือเปล่า ว่าใจคนควรเยือกเย็น

ตะวันบอกเธอหรือเปล่า ว่าใจคนควรซื่อตรง

  • ปี 2548 ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ จากสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
  • ปี 2559 ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

Author

คงกฤช ไตรยวงค์
อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คงกฤชเคยกล่าวเมื่อครั้งให้สัมภาษณ์กับ WAY Magazine ถึงภาษาในทางปรัชญาว่า บางครั้งมันก็ไม่สามารถอธิบายด้วยถ้อยคำง่ายๆ สิ่งที่นักปรัชญาพูดมักฟังยาก - นั่นคือวจนภาษา แต่สำหรับการเรียบเรียงเป็นตัวอักษร คงกฤชทำให้ผู้อ่านเห็นว่า philosophy เป็นเรื่องของ philosopher ก็จริง แต่ใช่ว่ามันจะ sophisticated จนปฏิเสธความเข้าใจของผู้คนเสมอไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า