ข้างหลังภาพ (เวอร์ชั่นคำเตือนบนซองบุหรี่)

ต้องใช้เวลา 5 เดือน หลังบุหรี่มวนสุดท้ายถูกพื้นรองเท้ายี่ห้อไนกี้ขยี้ดับไปในเดือนพฤษภาคม ข้าพเจ้าได้กลับมาสูบบุหรี่อีกครั้งในความฝันคืนหนึ่งของเดือนตุลาคม ในฝันคืนนั้นข้าพเจ้าสูบบุหรี่ไปทั้งหมด 3 คำ แต่รู้สึกผิดมหันต์ จึงทิ้งบุหรี่ลงพื้น แม้ว่าจะเลิกสูบบุหรี่ไปแล้ว แต่ความอยากที่จะสูบมันยังซ่อนอยู่ข้างในลึกๆ มันเรียกร้องโหยหาในฝันยามหลับ

นอกจากการบริโภคหวาน มัน เค็ม ในปริมาณที่มาก จะก่อให้เกิดโรค NCDs แล้ว พฤติกรรมการสูบบุหรี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มาตรการป้องกันการบริโภคที่ส่งผลต่อโรค NCDs มีทั้งมาตรการด้านภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี

ใน รายงานสถานการณ์โรค NCDs ปี 2562 ระบุว่า ยอดจำหน่ายในอุตสาหกรรมยาสูบมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตทั้ง 2 ครั้ง

กระทรวงการคลังได้ขึ้นภาษียาสูบและยาเส้นเป็นระลอก โดยเริ่มขึ้นภาษี ครั้งที่ 1 มีผลบังคับใช้ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 โดยจัดเก็บภาษีตามมูลค่าใน 2 อัตราที่แตกต่างกัน ระหว่างบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกไม่เกิน 60 บาท ต่อซอง และเกิน 60 บาท ต่อซอง เป็นเวลา 2 ปี ทำให้บุหรี่ทุกยี่ห้อต้องเสียภาษีตามปริมาณมวนละ 1.20 บาท หรือ ซองละ 24 บาท จากนั้นนำมารวมค่าภาษี ซึ่งคิดตามมูลค่า โดยใช้ราคาขายปลีกที่ซองละ 60 บาท เป็นราคามาตรฐาน หากผู้ประกอบการรายใดตั้งราคาขายปลีกไม่เกินซองละ 60 บาท ต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 20 เปอร์เซ็นต์ของราคาขายปลีกไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 จากนั้นให้เก็บภาษีในอัตรา 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนบุหรี่ที่ตั้งราคาขายปลีกเกิน 60 บาท ต้องเสียภาษี 40 เปอร์เซ็นต์ ทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้

การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตยาเส้น มีผลบังคับใช้วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ส่งผลให้ราคาขายปลีกยาเส้น มีการปรับขึ้นทันที ยาเส้นขนาดบรรจุ 20-30 กรัม ต่อซอง เพิ่มขึ้นจาก 10 บาท เป็น 13 บาท ยาเส้นซองเล็กขนาดบรรจุ 5 บาท ขนาดไม่ถึง 10 กรัม เพิ่มขึ้น 2 บาท เป็น 7 บาท ซึ่งเดิมเก็บภาษีที่ขนาด 10 กรัม เดิมเสีย 5 สตางค์ เพิ่มเป็น 1 บาท

การขึ้นภาษียาเส้นทำให้ร้านค้าได้รับผลกระทบ และทำให้ยอดขายบุหรี่ที่ถูกกฎหมายและยาเส้นลดลง บริษัทต่างๆ ได้มีการปรับตัวโดยยุติการผลิต และจำหน่ายบุหรี่ หันมาผลิต ‘ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควัน’ (Smoke-free Product) หรือที่รู้จักกันในรูปแบบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นมาใน พ.ศ. 2546 แต่ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ามีสถานะผิดกฎหมาย

สำหรับมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ‘ฉลากคําเตือนบนซองบุหรี่’ เป็นมาตรการหนึ่งในกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบซึ่งเป็นที่ยอมรับเป็นสากลในระดับโลกถึงการใช้ฉลาก/ภาพคําเตือนสําหรับการให้ความรู้และสร้างความตระหนักในพิษภัยของบุหรี่และควันบุหรี่ ที่นําไปสู่การป้องกันนักสูบหน้าใหม่

แต่สำหรับคนสูบบุหรี่นี่คือฝันร้าย และ bad taste บนซองบุหรี่ นักสูบบางคนบอกว่าเป็นทัศนียภาพที่อุจาด คำถามที่ตามมาก็คือ ภาพคำเตือนที่ชวนให้สังเวชห่อเหี่ยวใจ สามารถช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ได้จริงหรือไม่

ในงานศึกษาเรื่อง ประสิทธิผลของการใช้ฉลาก/ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่  ระบุว่า ณ ปัจจุบันมี 63 ประเทศที่ใช้คําเตือนบนซองบุหรี่เป็นรูปภาพ 47 ใน 63 ประเทศได้กําหนดให้ภาพคําเตือนมีขนาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของพื้นที่บนซองบุหรี่

สำหรับ 5 ประเทศลําดับแรกที่มีภาพคําเตือนบนซองบุหรี่ใหญ่ที่สุด ได้แก่

  • ออสเตรเลีย 82.5 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่บนซองบุหรี่
  • อุรุกวัย 80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่บนซองบุหรี่
  • ศรีลังกา 80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่บนซองบุหรี่
  • บรูไน 75 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่บนซองบุหรี่
  • แคนาดา 75 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่บนซองบุหรี่

ในระดับภูมิภาคอาเซียน ณ ปัจจุบันพบว่า 6 ใน 10 ประเทศได้กําหนดให้ใช้คําเตือนบนซองบุหรี่เป็นรูปภาพได้แก่ บูรไน ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย

งานศึกษาในแคนาดาเรื่อง The Effect of Graphic Cigarette Warning Labels on Smoking Behavior: Evidence from the Canadian Experience พบว่า ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการลดลงของอัตราการสูบบุหรี่อย่างชัดเจน หรือกล่าวได้ว่าภาพคำเตือนเป็นปัจจัยป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงของการบริโภคยาสูบรวมถึงช่วยเพิ่มความพยายามเลิกสูบ

ขณะที่ Ending the Tobacco Problem: A Blueprint for the Nation ระบุว่า ภาพคำเตือนบนซองที่ยิ่งมีขนาดใหญ่ ยิ่งส่งผลให้เกิดความชัดเจนในการสังเกตเห็น (more notice) จดจำ (remember) และระลึกถึง (more likely to recall) ผลกระทบของสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคยาสูบ

ดังนั้นเราจึงพบว่า รูปแบบของการออกแบบภาพคำเตือนบนซองบุหรี่มักจะสร้างความตระหนกในผลต่อสุขภาพที่เกิดจากบุหรี่เป็นหลัก นอกจากภาพชุดที่สร้างผลกระทบต่อตนเองในเชิงสุขภาพ เรายังพบว่า ภาพคำเตือนอีกลักษณะที่มักเห็นก็คือภาพที่สร้างความตระหนักถึงผลกระทบของควันบุหรี่ที่มีต่อบุคคลอื่น เช่น เด็ก เป็นต้น

นอกจากการออกแบบภาพคำเตือนที่ชวนให้ตระหนกถึงปัญหาสุขภาพของตนเอง และตระหนักในผลกระทบต่อบุคคลอื่น มีงานออกแบบภาพคำเตือนอีกแบบหนึ่งที่พบเห็นได้น้อยมาก นั่นก็คือผลกระทบเชิงนามธรรม เช่น อิสรภาพและเสรีภาพ หรือการเป็นทาสความต้องการของตนเองจากการติดบุหรี่

หลายปีก่อนที่ข้าพเจ้าจะเลิกสูบบุหรี่ ข้าพเจ้าได้รับของฝากเป็นบุหรี่ซองหนึ่ง ภาพคำเตือนบนบุหรี่ซองนี้แปลกไปจากความคุ้นเคยเดิมๆ ไม่มีภาพเนื้อร้ายหรืออวัยวะเน่าของร่างกายให้เห็น แต่เป็นภาพกรงขังบุหรี่ที่จองจำมนุษย์คนหนึ่งไว้ในนั้น เมื่อพินิจพิจารณาภาพนี้ก็จะพบว่า บุหรี่ได้จองจำชีวิตผู้สูบไว้ นี่คือความหมายเชิงนามธรรมที่ส่งผลต่อการรับรู้ของคนสูบบุหรี่คนหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน

ปัจจุบันเขาคนนั้นกำลังพยายามอย่างหนักที่จะมีเสรีภาพและอิสรภาพจากความอยากและความคุ้นชินในรสชาติของบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ในความฝันมันสะท้อนว่า ข้าพเจ้ายังไม่มีอิสรภาพบนโลกตอนตื่น

เอกสารประกอบการเขียน
  • อรรถเกียรติ กาญจนพิบูลวงศ์ และคณะ. รายงานสถานการณ์โรค NCDs: เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2562. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2563
  • ศรัณญา เบญจกุล และ มณฑา เก่งการพานิช. ประสิทธิผลของการใช้ฉลาก/ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่. Journal of Health Education January – April 2013 Vol. 36 No. 123

สนับสนุนโดย

มสช. ได้รับเงินสนับสนุนจาก CCS-NCD

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า