ขณะที่สก็อตแลนด์กำลังจะนำร่องนโยบาย ‘แจกผ้าอนามัยฟรี’ แก่ผู้หญิงและเด็กที่ยากจนในเมืองอเบอร์ดีน (Aberdeen) ทางตอนเหนือของประเทศ ผู้หญิงอินเดียกว่าร้อยคนกำลังยืนแถวประท้วงรัฐบาลอินเดีย ซึ่งเตรียมประกาศขึ้นภาษีผ้าอนามัย 12 เปอร์เซ็นต์ ท่ามกลางสถิติที่ชี้ว่า มีเพียง 12 เปอร์เซ็นต์จากประชากรหญิงกว่า 335 ล้านคนเท่านั้นที่มีกำลังซื้อผ้าอนามัย
สก็อตแลนด์: ผ้าอนามัยต้องเป็นของฟรี
โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในนโยบายแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาลสก็อตแลนด์ โดยจะนำร่องโครงการที่เมืองอเบอร์ดีนก่อนเป็นเวลาหกเดือน ร่วมมือกับ Community Food Initiatives North East (CFINE) วิสาหกิจชุมชนที่ขับเคลื่อนปัญหาด้านอาหาร สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของชาวสก็อตแลนด์ รวมถึงองค์กรที่ทำงานเรื่องความยากจนอีกกว่า 60 แห่ง ใช้งบประมาณราว 42,500 ยูโร หรือ 1.6 ล้านบาท
แน่นอนว่าเป้าหมายสำคัญคือการขจัดปัญหาความยากจน หากอีกประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงคือ การทำให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงสินค้าจำเป็นและสินค้าสุขภาพ ซึ่งใครหลายคนมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย น่าอาย และเป็นเรื่องส่วนตัว
“มีการคำนวณไว้ว่า ตลอดชีวิตของผู้หญิงหนึ่งคนต้องจ่ายเงินค่าผ้าอนามัยกว่า 5,000 ยูโร ซึ่งหมายความว่า มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งไม่สามารถซื้อหาผ้าอนามัยได้ และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเขาต้องหาสิ่งทดแทนผ้าอนามัย หรือไม่ไปโรงเรียนในวันนั้นของเดือน” เดฟ ซิมเมอร์ (Dave Simmer) ผู้บริหารองค์กร CFINE อธิบายความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาความยากจนกับการเข้าไม่ถึงผ้าอนามัย
ขณะที่ โมนิกา เลนนอน (Monica Lennon) จากพรรคแรงงาน (Scottish Labour Party: SLP) ในฐานะนักการเมืองที่พูดเรื่องนี้คนแรกๆ วิจารณ์ว่า โครงการนี้ต้องไปไกลกว่าการนำร่องเพียงเมืองเดียว
“ดิฉัน ในฐานะสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่งที่โครงการที่ดิฉันเริ่มไว้ในฐานะฝ่ายค้าน ถูกผลักดันต่อโดยพรรคชาติสก็อต (Scottish National Party: SNP) แต่คิดว่านโยบายดังกล่าวควรไปไกลกว่าโครงการนำร่อง เพื่อที่ผู้หญิงทั่วประเทศไม่ต้องดิ้นรนหาเงินเพื่อของจำเป็นเกี่ยวกับสุขภาพที่พวกเขาต้องใช้ทุกเดือน”
อินเดีย: ผ้าอนามัยอาจไม่ใช่สินค้าจำเป็น
มาดูสถานการณ์ผ้าอนามัยที่ประเทศอินเดียกันบ้าง
2 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียออกกฎหมายการเก็บภาษีครั้งใหม่ ระบุให้ผ้าอนามัยจัดอยู่ในกลุ่มภาษีสินค้าไม่จำเป็น (non-essential tax) กลุ่มเดียวกับสินค้าอย่าง ของเล่น เมล็ดกาแฟคั่วบด สินค้าที่ผลิตมาจากหนังสัตว์ เช่น กระเป๋าหนัง รองเท้าหนัง อาหารแปรรูป เป็นต้น โดยจัดเก็บภาษีที่ตัวเลข 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นการคิดภาษีที่น้อยสุดในหมวดสินค้าไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวเป็นจำนวนที่ลดลงมาแล้วจากเดิมที่รัฐบาลเสนอไว้ที่ 18 เปอร์เซ็นต์
เปรียบเทียบกับสินค้าที่รัฐจัดประเภทให้อยู่ในกลุ่มสินค้าจำเป็นและไม่ต้องเสียภาษี เช่น ผงแป้งสีแดงที่ใช้แต้มในทางศาสนา (Sindur) จุดแต้มกลางหน้าผากสตรีอินเดีย (Bindis) อายไลเนอร์ทาขอบตา (Kajal) กำไลทองอินเดีย (Bangle) เครื่องไหว้ (Puja Samagri) กระเป๋าเดินทาง และอุปกรณที่ใช้คุมกำเนิดทุกชนิด เช่น ถุงยางอนามัย…
เป็นเหตุให้ กิตา มิตตัล (Gita Mittal) ผู้พิพากษาสูงสุดประจำกรุงเดลีและคณะ ยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลังประเทศอินเดีย และกรมสรรพากร (Goods and Services Tax Council) ให้ชี้แจงที่มาของการเก็บภาษีดังกล่าว และหมายนัดพิจารณาอีกครั้งจะเกิดขึ้นวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560
อย่างไรก็ตาม ประกาศจะเก็บภาษีผ้าอนามัยนั้นสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนจำนวนหนึ่ง เกิดการประท้วง และมีคำเรียกร้องให้ผู้หญิงอินเดียและองค์กรเอกชนต่างๆ ลุกขึ้นมาส่งเสียงของตัวเอง
The Number 12
12 เปอร์เซ็นต์คือภาษีที่รัฐจะเก็บ และเป็นตัวเลขเดียวกันกับที่ AC Nielsen สำรวจไว้เมื่อปี 2011 และยังเป็นตัวเลขเดิมและเดียวกับที่สำนักข่าวต่างประเทศใช้อ้างอิงในปัจจุบัน พบว่า มีผู้หญิงอินเดียเพียง 12 เปอร์เซ็นต์จากประชากรตัวอย่างทั้งหมด 335 ล้านคนเท่านั้น ที่มีเงินซื้อผ้าอนามัยใช้
หมายความว่าผู้หญิงอินเดียที่เหลือกว่า 88 เปอร์เซ็นต์ใช้ผ้าที่ซ้อนทับกันหลายๆ ชั้น หนังสือพิมพ์ ผงถ่าน ขี้เลื่อย ขี้วัว หรือวัสดุชนิดใดก็ได้ที่มีคุณสมบัติซึมซับ และพวกเธอสามารถหยิบเอื้อมถึง
และเพราะการใช้วัสดุเหล่านี้แทนผ้าอนามัย นอกจากเป็นที่มาของสถิติที่พบว่า โรคระบาดเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลมาจากการใช้วัสดุทดแทนผ้าอนามัยเหล่านี้ ยังเป็นเหตุให้เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ต้องขาดเรียนในวันที่มีประจำเดือน หรือไม่ก็ต้องลาออกจากโรงเรียนหลังมีประจำเดือนเลยด้วยซ้ำ
อ้างอิงข้อมูลจาก:
independent.co.uk
scotsman.com
hindustantimes.com
อ่านเรื่องเกี่ยวกับการเข้าถึงผ้าอนามัยของหญิงอินเดียเพิ่มเติม: https://waymagazine.org/sanitary/