จากวงเสวนาหัวข้อ ‘หลากสายพันธุ์การวิจัย’ ในโครงการบัณฑิตศึกษา ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560 ณ ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีจุดประสงค์จัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ในการนำเสนอ หัวข้อวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโท ปีการศึกษา 2561 คณะสังคมวิทยาเเละมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภายในงานได้รวบรวมเอาหัวข้องานวิจัยที่ถูกบูรณาการเข้ากับศาสตร์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย กลุ่มการเชื่อมข้ามสายพันธุ์ ที่มีศึกษาข้ามศาสตร์ระหว่างความเป็นมานุษวิทยาและการแพทย์ ซึ่งยังมีหัวข้องานศึกษาอีกหลายกลุ่มที่ล้วนตั้งอยู่ฐานแนวคิดของความสัมพันธ์เชิงมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาไว้ได้อย่างน่าสนใจ
การงานยุคใหม่
ชื่องานวิจัย: ‘แม่บ้าน on the move สังคมเมืองกับอาชีพคนทำงานบ้านอิสระ’ โดย ญษดา ช่วยชำแนก
เริ่มจากการเห็นภาพบริบทของสังคมเมืองที่เปลี่ยนไป ญษดา นักศึกษาระดับปริญญาโท คณะสังคมวิทยาเเละมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเล็งว่าผลกระทบส่งผลต่ออาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพข้าราชการ พนักงานบริษัท หรือไม่เว้นแต่อาชีพ ‘แม่บ้าน’
จากภาพจำเดิมๆ ที่ทุกคนเคยเห็นอาชีพสาวใช้จากสื่อนวนิยายหรือโทรทัศน์จะต้องเป็นบุคคลที่มีการศึกษาไม่สูง มีกริยามารยาทไม่ดี มักมีพื้นเพเดิมมาจากชนบทหรือพื้นที่ชายขอบ แต่ปัจจุบันอาชีพแม่บ้านได้เคลื่อนไปสู่ลักษณะความเป็นอิสระมากขึ้น และเข้าไปเขย่าภาพเดิมๆ ที่เราเคยเห็นในละครให้เปลี่ยนไป
ญษดาจึงลงสนามพยายามศึกษาชีวิตของบุคคลที่ประกอบอาชีพแม่บ้านที่ทำงานอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ภาพเหมารวมที่ทุกคนเคยมองแม่บ้านได้เปลี่ยนไป พวกเขามีความสามารถในการเลือกรับงานได้เอง อีกทั้งยังสามารถเคลื่อนย้ายตัวเองไปสู่แหล่งงานได้มากกว่าในอดีต
ซึ่งจากการศึกษาวิจัยของญษดา มองเห็นกลุ่มอาชีพแม่บ้านเป็นสามลักษณะ คือ
- กลุ่มแม่บ้านที่กินอยู่ในบ้านนายจ้าง หรือแม่บ้านที่ทำประจำแต่ไม่ได้พักกับนายจ้าง
- กลุ่มแม่บ้านตามบริษัท ที่มีการใส่เครื่องแบบยูนิฟอร์ม ต้องทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งคัด และต้องผ่านการอบรมมาจากองค์กรแล้ว
- และกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มแม่บ้านอิสระหรือแม่บ้านฟรีแลนซ์ ที่มักจะจัดจ้างงานกันอย่างอิสระ ไม่มีสัญญาลายลักษณ์อักษร เพียงแค่พูดคุย ตกลงกันระหว่างสองฝ่ายเท่านั้น (แม่บ้าน-นายจ้าง) โดยสามารถดำเนินได้ด้วยตัวเอง เพียงแค่มีตัวกลางเป็นโทรศัพท์มือถือ
โดยการเคลื่อนตัวของอาชีพแม่บ้านเช่นนี้ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษา จนพบว่า อาชีพแม่บ้านฟรีแลนซ์ได้พลิกบทบาทที่เราเคยเห็นในละครหลังข่าวให้เปลี่ยนไป จากงานในบ้านสู่พื้นที่นอกบ้านมากขึ้น แม่บ้านมีความรอบรู้และมีความชำนาญตามเมืองที่เติบโตและเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ดังนั้นหากแม่บ้านยุคใหม่ที่มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าทันสมัย ยิ่งทำให้วางแผนและออกแบบชีวิตทำงานของตัวเองได้
ความหมายของชีวิต
ชื่องานวิจัย: ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยติดเตียง โดย กุลระวี สุขีโมกข์
“จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่บอกว่า ประเทศไทยใกล้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยมีการทำนายจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มมากที่สุดในปี พ.ศ. 2574” กุลระวี นักศึกษาระดับปริญญาโท คณะสังคมวิทยาเเละมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองเห็นผลที่ตามมาจากการเป็นสังคมสูงอายุ คือปัญหาเรื่องสุขภาพต่างๆ หนึ่งในนั้นคือการป่วยติดเตียงจากภาวะโรคร้ายต่างๆ
จึงสนใจและศึกษาชีวิตของ ‘ผู้ดูแล’ คนป่วยติดเตียงจากโรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นภาวะที่มักพบในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
“เริ่มจากการสงสัย จนตั้งคำถามว่า การดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวในพื้นที่บ้านเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง”
โดยขั้นตอนการลงสนามวิจัยครั้งนี้ กุลระวีลงไปสำรวจและทำความเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม เพื่อศึกษาภาระหน้าที่ของผู้ดูแลว่าต้องทำอะไรบ้าง ที่สำคัญคือเน้นเจาะไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวกับผู้ป่วยในพื้นที่บ้านว่าเป็นอย่างไร
ผลการศึกษาชี้ออกมาว่า ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงมักมีภาวะเครียดสะสม เพราะต้องดูแลผู้ป่วยในลักษณะเดิมซ้ำๆ วนลูปทุกวัน บวกกับต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก เนื่องจากโรคสมองเสื่อมจะดำเนินรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ภูมิร่างกายของผู้ดูแลต่ำลง มีผลต่ออาการเจ็บไข้ตามร่างกาย เช่น ความดันสูงขึ้น โรคหัวใจ ความปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือแน่นหน้าอกโดยไม่ทราบสาเหตุ
วิถีไทยดิจิทัล
ชื่องานวิจัย: อ่านฟิคบนพื้นที่ดิจิทัล ชาติพันธุ์วรรณนาดิจิทัลของแฟนฟิคชันศิลปินเกาหลี โดย สิริกร ทองมาตร
หากคุณเป็นหนึ่งในแฟนศิลปินเกาหลี น้อยคนนักที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับแฟนฟิคชัน หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘ฟิค’
แล้วแฟนฟิคชัน (fan fiction) คืออะไร…?
แฟนฟิคชัน คือ ‘เรื่องแต่ง’ หรือจะพูดว่าเป็นนวนิยายที่เนื้อหาถูกร้อยเรียงและสร้างขึ้นโดยกลุ่มแฟน โดยอาจมีแรงบันดาลใจจากงานประพันธ์อื่นๆ เหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน หรือบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริง ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้แต่งจะนำมาปรับใช้ การแต่งฟิคจึงกลายเป็นกิจกรรมที่กลุ่มแฟนใช้แสดงออกถึงความชื่นชอบต่อผลงานหรือตัวศิลปิน
สรุปแล้วแฟนฟิคชันไม่ต่างจากนวนิยายหรือบทละครทั่วไป เนื้อหาสามารถแบ่งได้อีกหลายประเภท ความรัก สืบสวนสอบสวน แฟนตาซี รวมถึงแนวลี้ลับ เพียงแค่ตัวละครหรือภาพตัวละครในหัวของผู้แต่งถูกแทนค่าโดยเป็นศิลปินเกาหลีเท่านั้นเอง
สำหรับประเทศไทยการเขียนและการอ่านแฟนฟิคศิลปินเกาหลีเริ่มแพร่หลายมากขึ้นตามพัฒนาการของอินเทอร์เน็ต สิริกรจึงสนใจการเกิดขึ้นของแฟนฟิคชันและความสัมพันธ์ของผู้อ่านบนพื้นที่ดิจิทัล เพื่อทำความเข้าใจกลุ่มผู้เขียน-ผู้อ่านแฟนฟิคชันศิลปินเกาหลี ในฐานะทางเลือกบนโลกดิจิทัลที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยใช้กรอบแนวคิดทางมานุษยวิทยาดิจิทัลมาทำการวิจัย
“งานศึกษาชิ้นนี้ไม่ได้ศึกษาตัวบทหรือพลอตเรื่อง แต่กลับสนใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้เขียน-ผู้อ่าน ที่ร่วมกันการสร้างสรรค์ตัวบทแฟนฟิคชัน (text) เกิดขึ้นได้อย่างไรมากกว่า” สิริกรบอก
ในทางกลับกันผู้ศึกษาก็สนใจตัวบทแฟนฟิคชัน ได้สร้างความเป็นตัวตนของผู้เขียนและผู้อ่านได้อย่างไรในเงื่อนไขทางเทคโนโลยีแบบใหม่ ในที่นี่คือแอพพลิเคชันทวิตเตอร์ และจอยลดา (Joylada) ซึ่งอยู่ในฐานะผู้เปิดพื้นที่ให้สังคมแฟนฟิคสร้างโลกวรรณกรรมแบบใหม่ หรือหมายถึงช่องทางในการอ่าน-การติดต่อสัมพันธ์ของผู้เขียน-ผู้แต่ง นั้นเอง
โดยผลการศึกษา พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้เขียน-ผู้อ่าน อยู่ในรูปแบบของการแบ่งปันข้อมูลต่างๆ เป็นหนึ่งในลักษณะของการผลิตเพื่อแบ่งปันกันเอง (sharing economy) นั่นหมายถึง เมื่อเกิดการส่งต่อไปถึงการตีความรูปหรือข้อมูลต่างๆ ของศิลปินเกาหลีในโลกทวิตเตอร์ระหว่างกลุ่มแฟน จะนำมาสู่การเกิดขึ้นของรูปแบบโครงเรื่อง ฉาก หรือ ตัวละคร ที่สามารถผลิตเป็นแฟนฟิคชันได้ต่อไป