ปรสิต หิด เหา โรคแบ่งชนชั้นในเรือนจำไทย

จริงอยู่กับคำพูดที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” แต่ไม่ใช่ทุกคนในคุกจะจนเท่ากันหมด แม้คุกจะเป็นสถานที่ปิด ทุกคนควรมีมาตรฐานในการใช้ชีวิตและมีสุขภาวะที่ดีอย่างเท่าเทียม  เพราะความจน-ความรวย กลายเป็นบรรทัดฐานขีดเส้นกำหนดการเป็นโรคของนักโทษในเรือนจำ คนมีกำลังจ่ายได้เป็นเจ้าของสุขภาพที่ดี ขณะที่คนจนกว่าต้องเผชิญกับความเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคที่ดูเหมือนเล็กน้อยอย่างการติดเชื้อจากปรสิตไชผิวหนัง หิด เหา

แล้วทำไมการเกิดโรคของนักโทษแต่ละคนถึงไม่เท่ากัน อะไรคือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนั้น?

เพื่อหาคำตอบ รวิวรรณ รักถิ่นกําเนิด นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงศึกษาผ่านการพูดคุยกับอดีตนักโทษที่เคยป่วย และพบว่า ‘ชนชั้นสถานะของนักโทษส่งผลต่อการเกิดโรค’ กับข้อเท็จจริงที่น่าสนใจบางอย่างคือ พวกเขา – นักโทษ กำลังมองโรค หิด เหา ปรสิต เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่สิ่งน่ารังเกียจอีกต่อไป

ความสัมพันธ์แปลกๆ ที่ดูจะเข้าใจยากระหว่างคนกับเชื้อโรคที่รวิวรรณสนใจเข้าไปศึกษา จนเกิดเป็นบทความวิชาการเรื่อง ‘คุก ขังคน (จน) ขังโรค: โรคติดเชื้อที่ถูกละเลยในเรือนจำ’

ทำไมถึงสนใจไปที่ หิด เหา ปรสิต

สองปีก่อน หลังจากทำงานเป็นอาสาสมัครกับองค์กร Fairly Tell Organization ที่ก่อตั้งโดยอดีตนักโทษหญิงทางการเมือง ได้พูดคุยกับอดีตนักโทษหลายคน พบว่านักโทษในเรือนจำแทบทุกคนมักจะเป็นโรค หิด เหา เชื้อราในร่มผ้าเหมือนกันหมด แต่ละคนก็มีอาการที่ไม่ต่างกันมากนัก ข้อมูลทางการแพทย์อธิบายว่าโรคเกิดจากภาวะแวดล้อมต่างๆ การเข้าไม่ถึงน้ำสะอาด การเข้าถึงสุขอนามัยที่ดีอย่างจำกัด การไม่สามารถเข้าถึงยารักษาโรคที่ดีพอ และพฤติกรรมส่วนตัวของนักโทษ

ในเรือนจำเวลาเกิดโรคระบาด นักระบาดวิทยาหรือแพทย์จะถูกส่งเข้าไปคนแรกเพื่อค้นหาสาเหตุยับยั้งการระบาดของโรคให้เร็วที่สุด โดยแพทย์มักจะแนะนำผู้ป่วยให้เข้าถึงความสะอาดมากขึ้น ตามกระบวนการรักษาทางการแพทย์มักสิ้นสุดแค่นั้น จึงเกิดความสงสัยว่า ความสะอาดและเงื่อนไขทางการแพทย์เป็นปัจจัยหลักจริงๆ หรือ เพราะฉะนั้นนักโทษที่เรารู้จักก็ไม่น่าจะป่วยซ้ำเดิมอยู่บ่อยๆ และทำไมบางคนจึงเป็นโรค ทำไมบางคนจึงไม่เป็น ทั้งที่พวกเขาน่าจะอยู่ในเงื่อนไขและกฎระเบียบของเรือนจำและในสถานะของนักโทษเหมือนกัน

เรามองว่าโรคกลุ่มเขตร้อนที่ถูกละเลย หรือ NTDs (Neglected Tropical Diseases) มันมีความน่าค้นหาอยู่แล้ว เพราะมันเป็นโรคที่ไม่อันตราย เมื่อเทียบกับโรคติดเชื้ออื่น หรือจะเรียกว่า โรครำคาญ เพราะมันไม่ทำให้คนป่วยถึงตาย แต่ก็สร้างความลำบากให้กับร่างกายเพราะอาการคัน และผลจากอาการอื่นๆ

พอเราลองมาดูในเรือนจำ จากข้อมูลภาคสนามพบว่ามันมีการระบาดของโรคนี้ปะปนไปกับโรคอื่นๆ อย่างวัณโรค แต่วัณโรคกลับได้รับความสำคัญมากกว่าในแง่ของการติดตามอาการ เพราะเป็นโรคที่สร้างผลกระทบในวงกว้างถ้าไม่รีบควบคุม นักโทษที่ป่วยหรือต้องสงสัยจะถูกแยกตัวออกมารักษาในทันที ซึ่งเมื่อเทียบระดับความรุนแรงของโรคแล้ว หิด เหา นั้นเทียบไม่ติด ยิ่งถ้าเราไปดูประวัติของการเกิดโรคในเรือนจำจะพบว่าสามโรคหลักที่เป็นเป้าหมายของการรักษาโรคในคุกในอดีตคือ วัณโรค โรคเรื้อน และจิตเภท

ตรงนี้มันเลยเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวพันกับการให้ความหมายและความสำคัญว่าโรคใดรุนแรงหรือไม่ ส่วนหนึ่งวางอยู่บนความหมายที่ว่าโรคนั้นสามารถจัดการได้ยากหรือง่ายเพียงใด

พอใช้ความรุนแรงของโรคเป็นการแบ่งเพื่อเปรียบเทียบโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรือนจำ ดังนั้นเมื่อเทียบกับโรคอื่นแล้ว โรคติดเชื้อจากปรสิต หิด เหา เห็บ เชื้อรา มีความสำคัญน้อยกว่าวัณโรคหรือเอชไอวี จนมีคำพูดติดตลกของนักโทษที่ว่า จะเป็นโรคทั้งทีหาให้ดีกว่าหิด เหา หน่อย

ความหมายและความสำคัญของโรคที่ถูกสร้างขึ้นมามันไปพัวพันกับวิธีคิดของนักโทษ ในโลกตะวันตกมีงานศึกษาทำนองเดียวกันนี้ของ อีริน โคช (Erin Koch) ที่เข้าไปศึกษาคุกชายที่จอร์เจีย ซึ่งมีอัตราการระบาดของวัณโรคสูงมาก แต่ที่ซับซ้อนไปกว่านั้นคือ เสมหะของนักโทษที่ถูกส่งไปวินิจฉัยที่ห้องแล็บมันไม่สอดคล้องกับสภาพภายนอกของผู้ป่วยที่ยังดูปกติดี ในขณะที่เสมหะใกล้จะพัฒนาไปเป็นวัณโรคดื้อยาแล้ว จนพบสาเหตุว่ามีการซื้อขายเสมหะติดเชื้อกันในหมู่นักโทษเพื่อแลกกับการถูกย้ายไปอยู่ในเรือนพยาบาลที่แออัดน้อยกว่า สะอาดกว่า กินอาหารที่ดีกว่า และไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

กลับมาที่ไทย ในกรณีที่คล้ายกันนี้ ถ้าเราลองไปอ่านบันทึกสถานการณ์การระบาดของโรคในเรือนจำในอดีตจะพบว่าบางเรือนจำ เมื่อมีการระบาดของโรค นักโทษกลับจงใจให้ตัวเองป่วยมากกว่าหาย เช่น ในบันทึกการระบาดของโรคตาแดงที่เรือนจำชายแห่งหนึ่งเขียนเอาไว้ว่า นักโทษบางคนตั้งใจเอาขี้ตาของเพื่อนที่เป็นโรคตาแดงมาป้ายที่ตาของตัวเอง เพื่อจะทำให้ตัวเองป่วยอย่างจงใจ เพราะจงใจที่จะหลีกเลี่ยงการทำงาน โดยไม่ตั้งคำถามต่อไปว่างานชนิดไหนกันที่นักโทษจงใจใช้โรคเป็นเครื่องมือ ซึ่งถ้าเราทำงานต่อในทางมานุษยวิทยามันก็เกิดคำถามหรือชวนคิดต่อไปได้อีกว่า จุดไหนกันที่โรคมันเคลื่อนออกจากความเป็นโรคในทางการแพทย์ และนักโทษกำลังฉวยใช้บางอย่างอยู่หรือไม่

สิ่งที่พบในงานชิ้นนี้ โรคกับชนชั้น เกี่ยวกันอย่างไร

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า ‘ชนชั้น’ ที่กำลังพูดถึงอยู่นี้เป็นคนละ ‘ชั้น’ กับการจัดลำดับชั้นของนักโทษที่ถูกจัดโดยราชฑัณฑ์ นักโทษจะมีการจัดลำดับชนชั้นกันเองแบบที่ไม่เหมือนกับทางรัฐจัดให้ แบ่งคร่าวๆ ได้เป็นสี่กลุ่มคือ นักโทษกลุ่มไฮโซมาก กลุ่มไฮโซ กลุ่มชนชั้นกลาง และกลุ่มนักโทษจน

ต่อให้ชีวิตก่อนติดคุกคุณจะมีการศึกษาดีฐานะดีอย่างไร แต่เมื่อเข้าเรือนจำไป สังคมในนั้นจะบอกกับคุณว่าจะกลายเป็นนักโทษชั้นไหน

เคยให้อดีตนักโทษคนหนึ่งลองจัดลำดับชนชั้นของตัวเองว่าอยู่ในกลุ่มไหน เขาบอกว่าตอนนี้เขาเป็นนักโทษชั้นดี จากการสอบเลื่อนขั้น แต่ในกลุ่มระดับนักโทษด้วยกันเอง เขาจะอยู่ในระดับไฮโซ

นักโทษกลุ่มไฮโซไม่ใช่เศรษฐีที่รวยหรูหราตามความเข้าใจเดิม แต่หมายถึงกลุ่มคนที่มีชีวิตก่อนติดคุกเป็นขาใหญ่มาก่อน หรืออาจจะมีเงินแต่ไม่มีบารมีมากพอจะเป็นไฮโซแบบ VIP ก็จะเป็นแค่ไฮโซธรรมดา เมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำเขาจะกลายเป็นไฮโซ มีเส้นสายบริวาร เป็น someone ที่มีแต่คนรู้จัก หรือคนที่มีเงินและรู้ว่าจะใช้ ‘เงิน’ ขยับชั้นของตัวเองอย่างไรก็สามารถเลื่อนขึ้นมาอยู่ระดับเดียวกับนักโทษกลุ่มนี้ได้ หรือหากไม่ใช่ทั้งสองแบบแต่ติกคุกมาหลายรอบ จะเรียกกันว่า ‘เด็กรอบ’ ซึ่งมีหลายแบบ แต่ข้อได้เปรียบของเด็กรอบจะรู้ว่าอยู่อย่างไรให้สบาย ไม่ให้เป็นโรค เพราะตนเองมีประสบการณ์และเจนสนามมาแล้ว และเจ้าหน้าที่เองก็จะให้เด็กรอบเหล่านี้มาเป็นผู้ช่วยงาน เพราะอยู่มาก่อน เข้าใจระบบและคุมนักโทษด้วยกันเองได้

ในประเด็นที่ว่าชนชั้นเกี่ยวพันกับโรคอย่างไรนั้น ความหมายคือ ชนชั้นในเรือนจำเป็นช่องทางให้คุณเข้าถึงความสะอาดและการรักษาโรคขั้นพื้นฐานที่ดีกว่านักโทษคนอื่น ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย อย่าง ที่นอน น้ำที่อาบ ไปจนถึงเสื้อผ้าที่จะใส่

ในห้องนอนของแต่ละเรือนนอนจะแบ่งเป็นห้องๆ แต่ละห้องจะมีการแบ่งเขตของคนที่อยู่ นักโทษที่ถูกมองว่าสกปรกและตัวเหม็นจากการใส่ชุดนอนซ้ำเดิมและไม่เคยซักผ้าห่มเลยตลอดเวลาที่ต้องโทษมานั้นจะถูกกันให้ไปนอนบริเวณหน้าห้องน้ำ เพราะเป็นที่ที่ไม่มีใครอยากไปอยู่ เนื่องจากต้องคอยระวังทุกครั้งที่มีคนราดน้ำ อีกทั้งยังมีกลิ่นที่ลอยออกมาจากห้องส้วมอยู่เป็นประจำ ส่วนนักโทษชั้นสูงขึ้นไปจะมีที่เฉพาะของตัวเอง บางคนนำผ้าห่มมาขึงกั้นคล้ายกับห้องนอนเล็กๆ ของผู้ชายอาจจะขึงได้แต่ผู้หญิงไม่ได้ ทำได้แค่ปูที่นอนแบบหนาๆ แล้วก็มีผ้าปูที่นอนอีกผืนเอาไว้สลับกัน จะอยู่ใกล้ทีวี ไม่ต้องนอนสลับขากับใครเหมือนเป็นโลกของตัวเอง กับอีกพวกคือ เด็กเสพ ที่จน ไม่มีเงินและไม่มีญาติ ก็จะถูกกันให้ไปนอนใกล้ห้องน้ำเพราะเชื่อว่าเป็นคนที่ไม่ดูแลตัวเองให้สะอาด

นอกจากการนอนหน้าห้องน้ำแล้ว มีอีกหลายอย่างที่นักโทษใช้แบ่งชนชั้นกันโดยดูจากลักษณะภายนอกซึ่งสามารถดูได้จากหลายองค์ประกอบ เช่น ดูว่าใครมีชุดนอนเปลี่ยนมากกว่าหนึ่งชุด ไม่ใส่ชุดซ้ำเดิม ได้ตากเครื่องนอนทุกสองอาทิตย์ การได้ซักผ้าห่มนั้นเรือนจำจะแบ่งให้นักโทษผลัดกันซักและตากเป็นรอบๆ เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องที่ตากผ้า เพราะนักโทษจะต้องซักและตากเอง ตามความต้องการของแต่ละคน ซึ่งหากนักโทษคนใดมีเงิน หรือมีเส้นสายก็จะมีราวตากผ้าเป็นของตัวเอง ยิ่งชั้นสูงมากหรือมีเส้นสายมากก็จะได้ทำเลที่ดี ผ้าโดนแดด แห้งสนิท ส่วนคนที่ไม่มีเส้นสายไม่มีเงินนั้น น้อยครั้งมากที่จะมีโอกาสได้ซักผ้าห่มหรือซื้อชุดนอนมาเปลี่ยนเพิ่ม

‘เงิน’ ช่วยยกระดับสุขภาพของนักโทษอย่างไร

แรกเริ่มนักโทษทุกคนจะมีเงินในบัญชีติดตัว ในนั้นจะมีเงินห้ามเกิน 9,000 บาท เพื่อป้องกันการซื้อขายหรือการทำตลาดมืด เมื่อเงินหมดญาติสามารถเติมให้ได้ เวลาอยู่ข้างในจะมีพวกร้านค้าให้ซื้อขายตามปกติ มีสวัสดิการทุกอย่างตามที่อยากได้ และใช้วิธีพิมพ์ลายนิ้วมือ เงินในบัญชีจะถูกหักออกไป เช่นเดียวกัน ถ้านักโทษอยากใช้เงินจ้างใครก็สามารถใช้เงินตรงนี้ได้ ไม่ใช่อยู่ในรูปของตัวเงินโดยตรง แต่อยู่ในรูปของสิ่งของจากร้านค้าหรือตลาดมืดที่ถูกให้มูลค่าเทียบเท่า

อย่างที่ได้อธิบายไปในตอนต้นแล้วว่าเงินเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คุณสามารถขยับชนชั้นของคุณได้ และชนชั้นของคุณตรงนั้นมันจะเป็นทางให้คุณรู้ช่องในการเข้าถึงความสะอาดและความสะดวกสบายรูปแบบต่างๆ ยกตัวอย่างเรื่องพื้นฐานอย่างการอาบน้ำ โดยปกตินักโทษจะได้อาบน้ำตามปริมาณที่กำหนดให้หนึ่งถังเล็ก 5 นาที หรืออาบน้ำจากราวบัว ให้เวลาประมาณ 3 นาที ต้องอาบน้ำสระผมและซักผ้าให้ทันภายในเวลาที่กำหนด และเปิดทางให้นักโทษคนอื่นเข้ามาอาบต่อ แต่ถ้าคุณมีเงิน คุณสามารถ ‘ซื้อ’ เวลาและปริมาณน้ำที่อาบได้จากนักโทษที่ทำหน้าที่คุมแทงค์น้ำ จะสามารถอาบเวลาไหนและใช้น้ำปริมาณเท่าไรก็ได้ในช่วงเวลาที่กำหนดให้

เช่นเดียวกับเรื่องความสะอาดอื่นๆ อย่างเรื่อง ‘ความร้อน’ ที่สามารถซื้อขายกันได้ ความร้อนที่ว่านี้อยู่ในรูปของการตากผ้าในราวตากผ้าที่โดนแดดจัดๆ การรีดผ้าแบบพิเศษที่เชื่อกันว่าจะได้รับความร้อนบนตัวผ้านานกว่าการรีดผ้าธรรมดา ยิ่งร้อนเชื้อโรคยิ่งถูกทำลาย การเข้าถึงปัจจัยเหล่านี้ก็ต้องใช้เงินแลกมากทั้งสิ้น ซึ่งราคาก็มีตั้งแต่ระดับสิบจนถึงร้อยและหลักพันบาท แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่คุณจะรู้ว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้สามารถซื้อได้ด้วยเงิน คุณก็ต้องรู้ก่อนว่าจะซื้อผ่านช่องทางไหน จากใคร ราคาเท่าไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้บางทีก็จะรู้กันอยู่เฉพาะกลุ่มนักโทษระดับชั้นบน

นักโทษที่ไม่เงินในบัญชี นอกจากจะอยู่ลำบากเพราะซื้อความสะอาดและความสบายไม่ได้ ยังถูกเบียดบังพื้นที่และความสะอาดไป เพราะนักโทษระดับบนได้ซื้อไปแล้ว

นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะถูกลดชั้น (ที่เป็นทางการ) ลงได้ง่าย เพราะมักจะทำผิดวินัยด้วยความจำยอม เช่น รับจ้างทำโทษแทน ต้องลอกท่อด้วยมือและเท้าเปล่า ซึ่งก็ไปสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะติดหรือไม่ติดโรค

ในกลุ่มนักโทษเองก็จะมีภูมิปัญญาที่ส่งต่อกันระหว่างนักโทษแทนการซื้อความสะอาด เช่น นวัตกรรมสบู่เหลว ที่ใช้ ‘สบู่ขิง’ ชื่อเรียกยี่ห้อสบู่ก้อนราคาถูกที่ขายในเรือนจำ นำมาหั่นใส่ขวดเติมน้ำให้ละลายและนำไปตากแดดให้เป็นสบู่เหลว เพื่อนำไปอาบน้ำและสระผมเพื่อประหยัดเวลาและเงิน และเชื่อกันว่าการใช้สบู่ขิงสระผมจะทำให้ไม่ติดเหา เพราะผมเหนียว แต่หากเป็นนักโทษที่มีเงินก็สามารถเข้าร้านเสริมสวยสระไดรย์ผ่านความร้อนได้

นักโทษมีโอกาสเลื่อนชนชั้นในเรือนจำได้ไหม

ทำได้ คนที่ติดคุกมานานหรือติดมาหลายรอบ เริ่มรู้จักวิธีการรับมือกับสังคมในนั้น จนเรียนรู้วิธีการที่จะเลื่อนลำดับสถานะของตัวเอง บางคนไปสมัครเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ หรือได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยงานในตำแหน่งต่างๆ เพราะการมีงานพิเศษทำในนั้นจะทำให้คุณมีสถานะแตกต่างจากนักโทษคนอื่น นักโทษคนอื่นอาจมีเวลาอาบน้ำรวมกันแค่ 10 นาที แต่ถ้าคุณเป็นครู หรือเป็นผู้ช่วยงานสามารถอาบน้ำแยกได้ หรือแม้แต่การได้รับยารักษาโรคก็จะแตกต่างกัน นักโทษที่กลายเป็นครู เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาที่ดีกว่า ขณะที่นักโทษธรรมดาอาจได้รับแค่ยาพาราฯ เท่านั้น

ความผิดหรือคดีความมีผลต่อการเลือกชนชั้นไหม

ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าติดคุกเพราะคดียาน้อยๆ คำที่ใช้เรียกกันในกลุ่มนักโทษกันเองคือ ‘เด็กเสพ’ พวกเด็กที่เสพยาเมื่อเข้ามามักจะถูกแบ่งแยกให้เป็นนักโทษที่จน แต่บางคนมายาเยอะก็สามารถเป็นนักโทษระดับล่างได้ ถ้าหากไม่มีญาติ ไม่มีเงิน เป็นชนเผ่าหรือต่างด้าว อย่างในกรณีแบ่งพื้นที่ในห้องนอนจะแบ่งไปเลยว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นที่นอนของพวกเด็กเสพ เขามองว่าเด็กเสพไม่สะอาด สกปรก เพราะยังเสพยามาอยู่ แต่ว่าถ้าหลุดออกจากเด็กเสพมาจะเป็นอีกแบบ ถ้าสะอาดขึ้นจะอยู่ในอีกชนชั้นหนึ่ง

เฉพาะเท่าที่เราเก็บข้อมูลภาคสนามเราพบว่า ปัจจัยสำคัญคือเงินและเส้นสายในการเลื่อนชนชั้น หรือถูกเลือกให้สังกัดชนชั้นใด แต่สิ่งหนึ่งที่เราว่าน่าสนใจก็คือ การให้ความหมายต่อคดีของนักโทษ ที่บางครั้งมันพ่วงมากับสถานะของชนชั้น เช่น ‘เด็กเสพ’ จะถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่สกปรกไม่ดูแลตัวเอง ก็จะถูกจัดเข้าอีกชั้นหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คดี ก็ไม่มีผลเท่ากับตัวของนักโทษที่ก่อคดี เช่น หากนักโทษเป็นคนต่างชาติจากเพื่อนบ้าน แม้จะถูกจับในคดีเดียวกับคนไทย แต่จะถูกกันออกให้อยู่ในกลุ่มของนักโทษชั้นล่างทันที เพราะเชื่อว่านักโทษต่างด้าวมักพาโรคเข้ามาในเรือนจำ

ความต้องการเข้าถึงบริการที่ดี โดยเฉพาะความสะอาดและสาธารณสุข มีแค่เรือนจำไทยหรือไม่

อย่างที่เล่าไป เราพบการพยายามเข้าถึงบริการหรือสิทธิพิเศษในคุกที่อื่นเช่นกัน ในจอร์เจียที่มีการขายเสมหะ เพื่อให้ตัวเองเป็นคนป่วย เพราะจะได้ให้ถูกย้ายเข้าไปในแดนอื่นที่สบายกว่า และเราก็เชื่อว่าทุกคุกในทุกประเทศมีความพยายามแบบเดียวกันนี้อยู่ เพียงแต่จะด้วยรูปแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของสถานที่และช่วงเวลาไปจนถึงเงื่อนไขทางสังคมของแต่ละคุกนั้นๆ แม้แต่คุกไทยเองก็ยังต่างรูปแบบกัน เพราะความต้องการที่ว่ามานี้มันเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์

เมื่อเรือนจำเป็นพื้นที่ปิด การควบคุมโรคน่าจะง่าย?

เมื่ออยู่ข้างนอกคุณอาจเป็นคนที่จนมาก อาจเป็นขอทาน หรือเป็นคนไร้บ้าน ถ้าคุณเข้าไปอยู่ในคุก คุณจะมีข้าวกิน เมื่อคุณป่วยจะมีหมอมาตรวจและได้รับการรักษาเพื่อควบคุมการระบาด ผู้ป่วยได้รับอาหารและที่หลับนอนที่ดี ดังนั้นอัตราการหายจากวัณโรคในเรือนจำจะค่อนข้างสูงกว่าโลกภายนอก เพราะเขาสามารถควบคุมดูแลการระบาดได้

ย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ 6 เรือนจำเป็นสถานที่ที่เฟื่องฟูในการระบาดของโรคมาก จนเกิดแนวคิดที่จะสร้างโรงเรียนแพทย์ เพราะมันเป็นพื้นที่ปิด สามารถควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกระจายของโรคได้ แน่นอนว่าควบคุมโรคต่างๆ จะน่าง่ายกว่า เช่นเดียวกับที่ประเทศเมียนมาร์ เป็นช่วงเดียวกับรัชกาลที่ 5 ในประเทศไทย ตอนนั้นมีการระบาดของอหิวาตกโรครุนแรงมาก แต่พื้นที่เดียวที่สามารถจำกัดโรคนี้ได้คือเรือนจำ

แล้วไม่ช่วยควบคุมโรค หิด เหา ปรสิต?

กลับไปที่คำตอบเดิม เพราะเขามองว่ามันไม่ใช่โรคอันตราย การให้ความสำคัญกับโรคนี้วางอยู่บนพื้นฐานความรุนแรงในมุมมองของแพทย์และราชทัณฑ์

ขณะเดียวกันตัวนักโทษเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าโรคที่เขาเผชิญอยู่มันเป็นความผิดปกติ ซึ่งก่อนหน้าที่เขาจะมาเป็นคนคุกเขาอาจจะบอกว่าหิดเหา เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในนั้นแล้วทุกคนเป็นเหาหมด เพราะฉะนั้นมันไม่จำเป็นต้องรักษา หรืออาจจะจำเป็นต้องรักษา เราก็ยังหาคำตอบไม่ได้ เพียงแค่ไม่รู้สึกว่ามันรุนแรงเมื่อเทียบกัน มันแตกต่างจากโรคที่ร้ายแรงอย่างวัณโรคหรือเอชไอวี ซึ่งโรคเหล่านี้ถ้าเป็นคนหนึ่งแล้วมันระบาดง่ายมาก ยิ่งอยู่อย่างแออัดมีความเสี่ยงที่จะพัฒนากลายเป็นวัณโรคดื้อยาได้ กลับกันกับโรคหิดและเหามันคือโรครำคาญ อย่างมากแค่คันและเกา

ในเมื่อไม่รุนแรงและดูเหมือนมีเรื่องอื่นในเรือนจำที่ใหญ่กว่า ทำไมจึงสนใจโรคเหล่านี้

เจอถามบ่อยมากว่าทำไมต้องศึกษาโรคนี้ ทำไมไม่เลือกศึกษาวัณโรคหรือเอชไอวี ทำไมต้องมาสนใจหิดเหา ก็เพราะเป็นโรคที่ไม่มีใครสนใจ เรากลับมองว่าความไม่รุนแรงนี้มันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ในเมื่อทางการแพทย์ก็ยังคงบอกว่าหิดเหาและปรสิตถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่งอยู่ แต่ไม่มีคนสนใจ มันเลยทำให้อยากรู้ว่าทำไมเขาอยู่กับมันได้ เขามองโรคต่างกันไปไหม ก่อนหน้านี้ก่อนที่เขาจะเข้าคุก หิด เหา เชื้อรา ปรสิตผิวหนังต่างๆ มันคือโรคชนิดหนึ่ง แต่พอเขาเข้าไปอยู่ในนั้นแล้ว ทุกคนเป็นโรคเดียวกันหมด ส่งผลให้การรับรู้ความเป็นโรคแบบที่แพทย์บอกกับความเป็นโรคที่เขาตีความเป็นอย่างไร แล้วก็มาประเมินใหม่จากประสบการณ์ที่เขาอยู่ในนั้น

ในแดนแรกรับ หนึ่งในกิจกรรมที่เขามักทำด้วยกัน นั่นคือการหาเหา เขาบอกว่าเหาไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจอีกต่อไป ไม่ได้รู้สึกว่ามันคือโรคหรืออาการที่ต้องเร่งรักษา คล้ายกับว่าถ้าเราไปเรียนอนุบาล เด็กเป็นเหากันหมดก็คงไม่มีใครล้อกัน เพราะไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าเหากลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในคุกก็อาจจะเกิดการ bully เกิดขึ้นก็ได้

แล้วทางออกคืออะไร

คิดว่ามีความพยายามควบคุมโรคหิดเหามาโดยตลอดภายในเรือนจำเอง แต่ด้วยความที่ว่าคนในคุกมันเยอะมาก แล้วก็มีโรคที่เกิดขึ้นเยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าเทียบกันว่า โรคหิดเหากับวัณโรคหรือเอชไอวี อะไรคือสิ่งที่ต้องควบคุมให้หายไปก่อน แน่นอนว่าคำตอบไม่ใช่โรคหิดเหา

กับเรื่องโรคในเรือนจำ การข้ามศาสตร์ระหว่างแพทย์ สาธารณสุข และมานุษยวิทยา มีความสัมพันธ์กันอย่างไร

อย่างที่กล่าวไปคือ การที่แพทย์หรือนักระบาดวิทยาเข้าไปในเรือนจำเพื่อพยายามจะหาแต่สาเหตุของการเกิดโรค โดยที่ไม่เข้าใจว่าทำไมนักโทษต้องแกล้งป่วย ซึ่งการแกล้งป่วยมันส่งผลทำให้ข้อมูลหรือการคำนวณสถิติทางการแพทย์มันผิดเพี้ยนและไม่สามารถทำการรักษาได้ แต่ถ้าเขาถามต่อว่าทำไมนักโทษถึงอยากจะป่วย จนต้องลงทุนเอาขี้ตาเพื่อนที่เป็นโรคตาแดงมาป้ายตาตัวเอง มันจะช่วยให้หมอเข้าใจพวกเขาได้ง่ายขึ้น

ยกตัวอย่างแบบคลาสสิก เมื่อเรารู้สึกไม่สบาย ปวดหัวตัวร้อน หมอจะวินิจฉัยว่าเราเป็นโรคอะไรและจ่ายยาให้ เมื่อรู้สึกดีขึ้นเราจึงหยุดยาเอง แต่หมอบอกว่าห้ามหยุด เพราะโรคของเรายังไม่หาย แม้เราจะรู้สึกว่าร่างกายเราดีขึ้นแล้ว ถ้าหมอสามารถเรียนรู้และเข้าใจตรงนี้ มองเห็นว่าเราเป็นคน ไม่ใช่แค่ร่างกายหนึ่งที่ต้องถูกรักษาให้หาย มองเห็นมิติอื่นที่มันมากกว่าการรักษาให้หาย

แม้จะทำงานเดียวกัน แต่แพทย์หรือนักมานุษยวิทยา จะมีเครื่องมือที่ใช้ศึกษาต่างกัน แพทย์มองแค่สภาพร่างกายเท่านั้น ตรงไหนป่วยก็รักษาให้หาย แต่นักมานุษยวิทยามองไปถึงปัจจัยทางสังคม ความสัมพันธ์ใดหรือวัฒนธรรมอะไรที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยเกิดขึ้น

มุมมองต่อคุก ต่อโรค เปลี่ยนไปบ้างหรือเปล่า

แต่ก่อนเราก็เป็นคนหนึ่งที่มองหิด เหา เป็นโรคที่น่ารังเกียจ เป็นโรคของคนจน ทำไมคุกไทยยังมีโรคนี้อยู่ แสดงว่าวิธีการคิดของรัฐกับคนคุกมันแย่มาก ปล่อยให้นักโทษอยู่กันแบบเละๆ เทะๆ แบบนั้นหรือ ซึ่งในตอนนั้น ตัวเราเองก็ยังติดอยู่กับภาพจำและนิยามของโรคทางการแพทย์และคุณค่าที่สังคมนอกคุกมีต่อโรคนั้น แต่พอหลังจากที่เราศึกษามากขึ้น ถ้าเราตั้งคำถามต่อว่า แล้วเขาอยู่กับมันอย่างไร อยู่จนคำว่าโรคมันไม่ใช่โรคอีกต่อไปแล้วหรือเปล่า แล้วมันเป็นอะไรได้บ้าง

เข้าไปทำงานในคุกไทยเป็นอย่างไร

สำหรับบทความนี้ เราไม่ได้เข้าไปอยู่กับนักโทษเลย ซึ่งฟังแล้วดูเป็นไปได้ยากมาก แต่ใช้วิธีการเข้าไปเป็นอาสาสมัครในองค์กรที่ทำเรื่องนักโทษโดยตรง ซึ่งในนั้นเต็มไปด้วยอดีตนักโทษอยู่แล้ว และคิดว่าวิธีการนี้มันดีกว่าการเข้าไปเก็บข้อมูลในเรือนจำ เพราะถ้าเข้าไปในนั้น ข้อมูลทุกอย่างอาจถูกเซ็ตขึ้น ให้สุภาพ เรียบร้อย ดูเป็นปกติ เมื่อนักโทษให้ข้อมูลต่อเรา เขาก็ต้องคิดแล้วว่าสิ่งที่จะตอบคำถามเราจะทำให้เขาเดือดร้อนไหม แต่เมื่อเขาพ้นโทษออกมาแล้ว เขาจะสามารถพูดอะไรก็ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกรายงานหรือถูกผู้คุมบังคับตอบ

เราก็พยายามจะใช้ข้อจำกัดของเราให้เป็นประโยชน์ในงานมากที่สุด หรือการเข้าไปเป็นอาสาสมัครจัดกิจกรรมในเรือนจำก็ช่วยได้ เพราะได้พูดคุยกับนักโทษ ทำให้เจอกับอดีตนักโทษที่เคยติดในเรือนจำที่เราศึกษา เราก็พูดคุยกับเขา โดยที่เขาไม่ต้องกังวล เพราะย้ายมาจากที่นั่นแล้ว เพราะเขาไม่ได้พูดถึงเรือนจำตรงนี้

สุดท้ายแล้วงานชิ้นนี้จะทำให้เราเข้าใจอะไร

เราเคยตั้งโจทย์ว่าโรคหิด เหา ปรสิต ระบาดทุกเรือนจำอยู่แล้ว แต่ทำไมมันไม่ถูกให้ความสำคัญ ถูกละเลย เมื่อลงมือศึกษาจริง เราพบว่ามันซับซ้อนกว่านั้น มันมีเรื่องของมิติทางสังคมหรือชนชั้น ซึ่งมีงานทางสังคมสงเคราะห์จำนวนมากที่ทำในลักษณะยื่นข้อเสนอเมื่อเจอปัญหา ให้รัฐสร้างระบบการเข้าถึงสาธารณสุขขั้นพื้นฐานแก่นักโทษ โดยเฉพาะความสะอาดและการรักษาโรคในเรือนจำ ซึ่งคิดว่ารัฐก็ได้พยายามมาตลอด

แต่ถ้าเป็นงานทางมานุษยวิทยา สิ่งที่เรากำลังทำคือการพยายามจะเข้าใจโรคที่เราศึกษา แล้วก็การที่เขาอยู่กับสิ่งที่เขาเรียกว่าโรคหรือไม่ใช่โรคมันมีความสัมพันธ์กันอย่างไร มันอาจจะถูกมองเป็นเรื่องแปลกๆ ที่ศึกษาความสัมพันธ์ของคนกับปรสิต แต่อย่างน้อยถ้าเราเข้าใจและรู้ว่ามันมีความสัมพันธ์ชุดนี้ดำรงอยู่ มันก็น่าจะดีกว่าการยับยั้งการระบาดโดยที่ไม่เข้าใจเบื้องหลังของมัน ซึ่งเป็นโจทย์ที่เราต้องพัฒนาต่อไป

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Author

กนกอร แซ่เบ๊
เราเคยแซวกันว่า "กนกอรเป็นคนจีนที่พูดไทยได้" หรือ "เป็นฮองเฮาประจำสำนัก WAY" ซึ่งไม่ผิดนัก เธออาจมองว่าภาษาจีนเป็นเรื่องสามัญในครอบครัว แต่สำหรับกองบรรณาธิการ หน้าที่ประการหนึ่งของอดีตนักศึกษามานุษยวิทยาคือการเปิดหน้าต่างบานใหม่ให้ WAY มองสิ่งต่างๆ ได้ไกลและกว้างกว่าที่เคยเป็น

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า