Empower Foundation Thailand จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘การจดทะเบียน Sex Wokers แก้ปัญหาจริงหรือหลอก’ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 เวลา 15.00 – 17.00 น. มีผู้ทำงานบริการด้านเพศร่วมพูดคุยจากหลายประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อังกฤษ ออสเตรเลีย เยอรมนี และไทย ทั้งนี้ ส.ส.ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ จากพรรคก้าวไกลได้ผลักดันให้ทางรัฐบาลแก้ไขหรือยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และได้ชี้แจงถึงเรื่องผลกระทบจากการจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนของคนทำงานด้านเพศ
ตั้งข้อสังเกต การจดทะเบียนดีจริงไหม
ในภาคประชาชนมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการจดทะเบียน โดยฝั่งที่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า ผู้ทำงานบริการด้านเพศจะได้รับการคุ้มครองและดูแลจากรัฐบาล ส่วนฝั่งที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า การจดทะเบียนเป็นเสมือนการตีตรา เป็นการละเมิดสิทธิ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทาง ส.ส.ธัญญ์วาริน จึงได้ระดมความคิดเพื่อหาข้อเสนอใหม่ โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลักๆ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การจดทะเบียนของผู้ประกอบการจะทำให้พนักงานในสถานบริการนั้นๆ ไม่ต้องจดทะเบียนเพิ่ม พนักงานจะได้รับการดูแลในเรื่องสุขภาพ และได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาล
ประเด็นที่ 2 หากผู้ทำงานบริการด้านเพศคนไหนไม่ต้องการทำงานในสถานประกอบการ ต้องการทำงานอิสระ สามารถจดทะเบียนกับรัฐบาลได้ด้วยตนเอง รัฐบาลจะมีการเตรียมความพร้อมให้ก่อนและหลังการประกอบอาชีพ
ประเด็นที่ 3 ยกเลิกกฎหมายการค้าประเวณีที่เป็นความผิดทางอาญา
“มองว่ายังต้องมีการจดทะเบียน เพราะการจดทะเบียนจะทำให้ผู้ประกอบการ พนักงานบริการด้านเพศ และผู้ที่มาใช้บริการทางเพศ ได้รับความยุติธรรมและมีอำนาจในการต่อรองทั้ง 3 ฝ่าย ขณะเดียวกันแรงงานต่างชาติที่ทำงานเป็น sex worker ในประเทศไทยก็จะได้รับการดูแลจากรัฐบาล” ส.ส.ธัญญ์วาริน กล่าว
จดทะเบียนเพื่อคุ้มครองหรือควบคุม?
รูธ มอร์แกน (Ruth Morgan) ผู้ทำงานบริการด้านเพศจากประเทศอังกฤษ และเป็นผู้ก่อตั้งโครงการเครือข่ายงานทางเพศทั่วโลก (NSWP หรือ Global Network of Sex Work Projects) ให้เหตุผลว่า ในอังกฤษ การจดทะเบียนดังกล่าวมีเพื่อให้ทางการสามารถควบคุมจำนวนของผู้ที่ติดเชื้อ HIV จากการทำงานบริการ และมอบอำนาจการตรวจสอบให้กับตำรวจ นอกจากนี้ก็ยังมีการบังคับให้ผู้ที่ทำงานบริการด้านเพศตรวจสุขภาพในทุกๆ เดือน การกระทำเช่นนี้กลุ่ม NGO ชี้ว่าคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“การจดทะเบียนกำลังส่งข้อความอะไรให้ทั่วโลก มันบอกว่าเราไม่สามารถดูแลตนเองได้ เป็นการบอกคนอื่นว่าพวกเราแตกต่าง พวกเราไม่เหมือนคนปกติ เป็นการบ่อนทำลายสิทธิในการทำงาน และสิทธิในการที่เราจะเลือกว่าจะทำงานอย่างไร เพราะรัฐจะเข้ามาแทรกแซงการทำงานของเรา” มอร์แกนกล่าว
ขณะเดียวกันตัวแทน sex worker จากประเทศสิงคโปร์ เห็นพ้องกับ รูธ มอร์แกน และเสริมอีกว่า เป้าหมายเดียวของระบบการจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์คือ การควบคุมการติดเชื้อ HIV แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานบริการด้านเพศหากเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทางการสิงคโปร์จะไม่รักษา แต่จะส่งตัวกลับประเทศต้นทางทันที
เกิดการแบ่งชนชั้นจากการจดทะเบียน
ตัวแทนจากบอร์ดองค์กร Hydra ประเทศเยอรมนีอธิบายไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2561 รัฐบาลเยอรมนีออกกฎหมายให้การค้าประเวณีถูกกฎหมาย ทั้งคนที่ทำงานบริการและสถานประกอบการ แนวคิดของรัฐบาลคือต้องการให้การคุ้มครอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม มีการกำหนดว่าคนที่เป็น sex worker จะต้องจดทะเบียน ทำให้เกิดการแบ่งชนชั้น ได้แก่
ชนชั้นบน: คนที่จดทะเบียน ได้การรับยืนยันว่าทำงานยอดเยี่ยม ได้รับสิทธิการทำงานในสถานประกอบการต่างๆ
ชนชั้นล่าง: คนที่ไม่จดทะเบียน จะถูกสถานประกอบการกีดกัน เมื่อไม่สามารถเข้ารับการทำงานในสถานบริการที่ถูกกฎหมายได้จึงต้องไปทำงานตามถนน หรือทำงานในสถานบริการที่ผิดกฎหมาย ซึ่งสภาพแวดล้อมการทำงานไม่ดี
นอกจากการแบ่งชนชั้นในหมู่ผู้ที่ทำงานบริการด้านเพศด้วยกันแล้ว ยังมีการแบ่งชนชั้นระหว่าง sex worker และคนที่ทำงานปกติ ผู้ที่ทำงานบริการด้านเพศเมื่อจดทะเบียนก็จะต้องยืนยันตนเอง เป็นการเปิดเผยต่อสังคม มีบัตรประจำตัวที่บอกว่าเราทำงานด้านเพศ ต่างกับคนที่ทำงานปกติที่เขาหรือเธอเหล่านั้นไม่จำเป็นจะต้องมีบัตรเพื่อยืนยันตนเอง
“การจดทะเบียน ไม่ได้เป็นทางออกของปัญหา มันจะยิ่งกีดกันคนที่ทำงานบริการทางเพศให้แยกจากคนทำงานปกติ”
มีเงินจ่ายภาษีก็ถูกกฎหมาย แต่ถ้าไม่มีเงินจ่ายก็ผิดกฎหมายอยู่ดี
ในประเทศอังกฤษและประเทศออสเตรเลีย สถานบันเทิงถูกแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ สถานบันเทิงปกติกับสถานบันเทิงเพื่อบริการทางเพศ ซึ่งผู้ประกอบการของสถานบันเทิงเพื่อบริการทางเพศเมื่อจดทะเบียนแล้วจะต้องไปจ่ายค่าธรรมเนียมให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่จ่ายก็จะกลายเป็นสถานบันเทิงทางเพศที่ผิดกฎหมาย
“การจดทะเบียนให้ผลในทางตรงข้าม ไม่ได้คุ้มครอง sex worker อย่างที่นักการเมืองบอก มันเป็นระบบที่มีต้นทุนสูง ทำให้ตำรวจมีอำนาจเข้ามาควบคุม สุดท้ายก็ทำให้สถานประกอบการหรือพนักงานบริการทางเพศกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพียงเพราะเขาไม่มีเงินไปจ่ายค่าลงทะเบียน” จูลส์ คิม (Jules Kim) ผู้บริการด้านเพศจากประเทศออสเตรเลียกล่าว
ไม่ต้องการความพิเศษ ต้องการแค่ความเท่าเทียม
ไหม พนักงานบริการด้านเพศจากประเทศไทยได้อธิบายไว้ว่า sex worker มีการจดทะเบียนมาโดยตลอด เช่น การทำประกันสังคม และการจดทะเบียนกับกรมจัดหางาน เพียงแต่การเข้าถึงการคุ้มครองแรงงานของ sex worker ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะประเทศไทยยังมีกฎหมายการค้าประเวณีซึ่งเป็นความผิดทางอาญาอยู่
ในทัศนะของไหม มองว่าถึงจะมีคนที่ตระหนักว่าการทำงานด้านเพศนั้นเป็นงานบริการอย่างหนึ่ง แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ยอมรับในอาชีพนี้ ทำให้ sex woker หลายคนไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน เพราะอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตในสังคม การจดทะเบียนจะทำให้ต้องเปิดเผยตัวเอง ไหมและเพื่อนๆ ของไหมจึงไม่อยากให้มีการจดทะเบียน อีกทั้งการสร้างกฎหมายแต่ละครั้งใช้งบประมาณสูงมาก เธออยากให้นำเงินตรงนี้ใช้กับกรมแรงงาน ให้ตรวจสอบสถานประกอบการที่ไม่ให้ความเป็นธรรมกับการทำงานของพนักงานในร้าน
“เราแค่ต้องการให้ยกเลิกความผิดทางอาญาของการเป็น sex worker ทำ ให้เราอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน เราไม่ได้ต้องการความพิเศษกว่าคนอื่นๆ ไม่ได้อยากให้มีกฎหมายที่มาควบคุมแค่อาชีพของเรา เราแค่อยากได้รับความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง”