นับตั้งแต่คลื่นแห่งการประท้วงระลอกใหญ่เกิดขึ้นในปี 2563 หนึ่งในผู้ที่ร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแข็งขันคงจะหนีไม่พ้นประชากรกลุ่มที่เรียกว่า ‘คนรุ่นใหม่’ โดยเฉพาะบรรดานักเรียน นักศึกษาจากสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ
แต่การเรียกร้องทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ไปไกลกว่าแค่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง พวกเขาพากันพูดถึงการรื้อถอนค่านิยมเก่าๆ และโครงสร้างอำนาจเก่าๆ ที่เป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เรื่องความหลากหลายทางเพศ การต่อสู้กับระบบอำนาจนิยมในชีวิตประจำวัน การกระจายอำนาจ การลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนการสร้างรัฐสวัสดิการที่จะโอบอุ้มชีวิต และเติมเต็มความฝันของพวกเขาให้สมบูรณ์
ในช่วงที่สถานการณ์การเลือกตั้งกำลังระอุเช่นนี้ การฟังเสียงคนรุ่นใหม่ว่าพวกเขาวาดฝันอนาคตของประเทศเอาไว้เช่นไรจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนี่คือแผ่นดินที่พวกเขาจะต้องเติบโต ใช้ชีวิต สร้างประเทศและส่งต่อทรัพยากรแก่คนรุ่นถัดไปอีกนานหลายปี
WAY ชวนวาดฝันอนาคตประเทศไทยกับคนรุ่นใหม่ ผ่าน 12 นโยบายจากผู้เข้าร่วมค่าย Singhadang Policy Maker Camp ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 23-26 มีนาคม 2566 ซึ่งจัดโดยกลุ่มอาสาวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับองค์กรพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มูลนิธิฮันส์ ไซเดล และภาคีเครือข่ายนโยบายสาธารณะระดับประเทศ
พรรคอนาคตไทย
เยาวชนทีมแรกมาพร้อมนโยบาย ‘บำนาญก้าวหน้า’ เนื่องจากพวกเขาเล็งเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงเสนอให้จัดตั้งกองทุนบํานาญเพื่อพัฒนาสังคมแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นไปที่ประชากรภายในประเทศ เริ่มตั้งแต่อายุ 20-59 ปี ผ่านการออมเงินกับกองทุนฯ และรัฐสนับสนุนสมทบเงินตามอัตราที่กําหนดอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการพัฒนาและสร้างความมั่นคงให้กับผู้สูงอายุวัยเกษียณและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คนในสังคม
ข้อเสนอของพรรคอนาคตไทยมีดังนี้
- จัดตั้งกองทุนบํานาญเพื่อพัฒนาสังคมแห่งชาติ หรือบํานาญก้าวหน้า
- จัดตั้งศูนย์บริบาลรองรับปัญหาผู้สูงอายุขาดการดูแล นำเทคโนโลยีที่มาใช้ในการรักษาผู้ป่วย เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลในภูมิภาค
- เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ใช้ฝีมือและประสบการณ์สร้างรายได้ ออกแบบหลักสูตรการเรียนที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ออกพระราชบัญญัติกองทุนบํานาญเพื่อพัฒนาสังคมแห่งชาติ และกฎหมายคุ้มครองแรงงานผู้สูงอายุ
พรรคเสี้ยม
กลุ่มที่ 2 เสนอนโยบายที่สนับสนุนสิทธิและเสรีภาพของคนรุ่นใหม่ กล่าวคือสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในสถานศึกษา ทั้งภายในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย นักเรียนและนักศึกษาจะต้องมีสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรี โดยไม่ถูกผูกมัด ขัดขวาง หรือลงโทษจากกฎระเบียบของสถานศึกษา ตลอดจนมีกลไกในการสะท้อนความคิดเห็นเหล่านั้นไปสู่สังคมและรัฐบาล
- แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ เพื่อให้ครอบคลุมถึงการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
- ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในระบบยุติธรรมอย่างศาลและตํารวจต้องเป็นกลางในการกระทําการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งข้อกล่าวหา
- ส่งเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นตัวกลางระหว่างนักเรียนและนักศึกษา อีกทั้งให้องค์กร NGO มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
พรรคคิดเลขเกรด 1 คิดถึงเธอเกรด 4
กลุ่มที่ 3 เสนอนโยบาย ‘คืนครูสู่นักเรียน’ เนื่องจากระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันยังคงมีปัญหาในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องบุคลากรครูที่ต้องรับภาระงานหนักจนส่งผลต่อคุณภาพการเรียนการสอน และส่งผลต่อทั้งคุณภาพชีวิตของครูและนักเรียน ตัวอย่างเช่นการประเมินครูที่ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ที่ซับซ้อน มีคณะกรรมการและกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งจากส่วนกลาง แต่กลับไร้ซึ่งเสียงสะท้อนจากฝ่ายผู้เรียน อีกทั้งแบบฟอร์มการประเมินยังไม่มีความชัดเจน
ดังนั้น คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้จึงเสนอให้
- ปรับรูปแบบการประเมินครู เพิ่มสัดส่วนการประเมินจากฝ่ายผู้เรียน
- เพิ่มแบบฟอร์มรับฟังความคิดเห็น และช่องทางในการติดตามความคืบหน้า
พรรคไทยเท่าเทียม
ผู้เข้าร่วมค่ายกลุ่มที่ 4 เสนอนโยบาย โรงเรียน De (centralized) ที่ทุกคนเป็นเจ้าของ เนื่องจากการศึกษาเป็นรากฐานในการพัฒนามนุษย์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการขจัดความเขลาแก่ประชาชน ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาที่เหมาะสมจะเป็นแนวทางยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างเสมอภาค
- กระจายอํานาจการบริหารจัดการสถานศึกษาให้ท้องถิ่น
- กระจายอำนาจบริหารจัดการทรัพยากร งบประมาณและบุคลากร
- กระจายอํานาจในการบริหารและกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
พรรคเพื่ออนาคตเรา
กลุ่มที่ 5 มาพร้อมนโยบายด้านสาธารณสุขที่มีความก้าวหน้าอย่าง ‘ไทย Prep (Pep) ไทยพร้อม’
เอชไอวี (HIV) เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งโรคเอดส์ (AIDS) และประชากรกลุ่มเสี่ยงในประเทศไทยก็มีจำนวนมาก เชื้อเอชไอวีจึงไม่เพียงปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่ยังส่งผลต่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ เอชไอวียังมาพร้อมปัญหาสังคมอื่นๆ อาทิ การรังเกียจกีดกัน การตีตรา การเลือกปฏิบัติ ตลอดจนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ติดเชื้ออีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศและกลุ่มที่เป็น sex worker พรรคเพื่ออนาคตเราจึงเสนอให้
- เพิ่มงบประมาณอุดหนุนการวิจัยเวชภัณฑ์เกี่ยวกับเพศศึกษาและโรคเอดส์
- เพิ่มหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิธีใช้ยาเวชภัณฑ์ และการป้องกันโรคติดต่อทางเพศ
- อบรมให้ความรู้เฉพาะทางแก่พยาบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้บริการผู้ที่มีความเสี่ยง
- เพิ่มตัวเลือกทางการตลาดในการนําเข้ายาจากต่างประเทศ
- แก้ไขกฎกระทรวงสาธารณสุขให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง
พรรคเศรษฐกิจสร้างไทย
พรรคเศรษฐกิจสร้างไทยเสนอนโยบาย ‘เศรษฐกิจใหม่ซีรีส์วาย’
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ในที่นี้ผู้คิดนโยบายมองเห็นว่า ความหลากหลายในวัฒนธรรมร่วมสมัยคือ ความหลากหลายทางเพศที่มีอิสระเสรีมากขึ้น และหนึ่งในสินค้าที่ตอบสนองความหลากหลายดังกล่าวคือ ซีรีส์วาย ซึ่งขายได้ในหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้นเพื่อยกระดับวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมให้มีความสมัยใหม่ และเพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจไทยในตลาดภาพยนตร์เอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา กลุ่มที่ 6 จึงเสนอนโยบายต่างๆ ได้แก่
- สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมบันเทิง
- แก้ไขกฎหมายเพื่อลดอํานาจรัฐ และกระจายอำนาจให้ภาคเอกชน ปลดล็อกเสรีภาพในการแสดงออกของหนังและซีรีส์ แก้ไขพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์
- ลดการผูกขาดของนายทุน โดยให้รัฐส่งเสริมศักยภาพของผู้สร้างซีรีส์วายขนาดกลางและขนาดย่อมในตลาด เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด
- กําหนดสัดส่วนเวลาการทํางานของผู้ผลิตและนักแสดงให้ชัดเจน
พรรคผ่อนน้อย
กลุ่มที่ 7 นำเสนอนโยบาย ‘3 ส. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน’
ความเปราะบางทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสร้างความขัดเแย้งในสังคมตามมา พรรคผ่อนน้อยจึงเสนอทางแก้ไขปัญหาความไว้เนื้อเชื่อใจและความไม่สมานฉันท์ในสังคม พร้อมทั้งเร่งพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวผ่านนโยบาย 3 ส. ได้แก่
- สอน เศรษฐกิจบนฐานความรู้และการเข้าถึงเทคโนโลยีจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้ความรู้กระจายสู่ชุมชนในรูปแบบ ‘เพื่อนสอนเพื่อน’
- สร้าง หลักประกันให้ผู้ที่มีความเปราะทางทางเศรษฐกิจ
- เสริม การเจริญเติบโตให้ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน
พรรคที่ 8 ส่งเสริมระบบนิเวศวิสาหกิจเพื่อสังคม
กลุ่มที่ 8 เสนอนโยบายพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterpise) เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ําทางสังคม การเข้าไม่ถึงบริการของภาครัฐและสวัสดิการพื้นฐาน ตลอดจนการขาดแคลนสิ่งจําเป็นในการดํารงชีวิต และเพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
- ออกพันธบัตรเพื่อสังคม (social impact bond) เป็นการสนับสนุนด้านเงินทุน
- ลดอุปสรรคและขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
- ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิสาหกิจเพื่อสังคมและการทำธุรกิจเพื่อสังคม เช่น จัดประชาสัมพันธ์ สร้าง soft power และสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม
พรรคไทยอภิวัฒน์เสรี
พรรคไทยอภิวัฒน์เสรีร่างนโยบายผลักดัน soft power ไทย เนื่องจากเห็นว่าวัฒนธรรมไทยมีความเข้มแข็งและมีศักยภาพพอที่จะผลักดันให้เป็นทรัพยากรในการสร้าง soft power หลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออก ดึงดูดเม็ดเงินภาคการท่องเที่ยว และยังเป็นการเสริมสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก
soft power ดังกล่าวจะถูกสร้างผ่านนโยบายหลัก 3 ด้าน ได้แก่ Thai Value, Thai Pop-culture และ Thai Traditional
- Thai Value ค่านิยมไทยเสรี อาทิ สมรสเท่าเทียม และ sex toy ถูกกฎหมาย
- Thai Pop-culture อาทิ Siam Square Model และผลักดันให้ป็อปคัลเจอร์ไทยไปสู่สากล
- Thai Traditional อาทิ หนึ่งอำเภอ หนึ่งโฮมสเตย์
Democratic of Siam
กลุ่มที่ 10 คิดค้นนโยบาย ‘จบไปมีงานทำ’ โดยนำเสนอข้อมูลว่า ในปี 2022 ประเทศไทยมีอัตราว่างงานเฉลี่ยที่ 6.5 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าปัจจุบันมีคนไทยว่างงานกว่า 400,000 คน และนักศึกษาจบใหม่ก็สุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนว่างงาน ทำให้ไทยขาดกำลังในการพัฒนาประเทศ พรรค Democratic of Siam จึงเสนอนโยบายเพิ่มทักษะของนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมไปถึงทำให้นายจ้างมีแรงจูงใจในการจ้างงาน
- สร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและบริษัท เพื่อพัฒนาทักษะนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาด
- ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทที่จะจ้างนักศึกษาจบใหม่
- สร้างระบบจับคู่งาน พัฒนาระบบกลางให้นายจ้างและลูกจ้างเจอกันง่ายขึ้น
พรรคก้าวใกล้เพื่อสร้างไทย
เยาวชนกลุ่มนี้นำเสนอนโยบาย ‘สภาเกษตรเพื่อมวลชน’ อันได้แก่
- ปฏิรูปสภาเกษตรเพื่อมวลชน – โดยพัฒนาจากสภาเกษตรแห่งชาติเป็น ‘สภาเกษตรเพื่อมวลชน’ ผ่านการกระจายอำนาจ ไม่ให้การบริหารรวมศูนย์อยู่ที่ราชการส่วนกลาง
- การศึกษาพาเกษตร – ปรับปรุงระบบการศึกษาให้สอดรับกับความรู้ทางการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อดึงดูดนักเรียนหรือประชาชนเข้ามาเรียนในหลักสูตร
- StartupWork อัพพลังสู้ทุนผูกขาด – ส่งเสริมสตาร์ตอัปเข้าไปแข่งขันกับนายทุนในตลาดการเกษตร เพื่อกินส่วนแบ่งทางการตลาดและลดความเหลื่อมล้ำ
- Hub ความรู้ด้านการเกษตร – จัดทำ Hub เพื่อรวบรวมข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความลำบากในการเข้าถึงข้อมูลทางการเกษตร
พรรคผักบุ้งไฟแดง
กลุ่มสุดท้ายปิดเวทีด้วยนโยบาย ‘ปลูกเมล็ดพันธุ์คืนงานสู่ประชาชน’
แม้ประเทศไทยจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่การเติบโตนี้กลับไม่ได้มาพร้อมการกระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียม จึงต้องสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ และกระจายรายได้สู่แรงงานให้ถ้วนหน้า ผ่าน 2 นโยบาย
- job training – ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยคำนึงถึงความสนใจ ศักยภาพและความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อรับประกันว่าแรงงานมีคุณภาพและมีศักยภาพเพียงพอ
- smart city – เปลี่ยนเมืองให้กลายเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรม เทคโนโลยี การลงทุน ตัวอย่างเช่นการใช้ระบบขนส่งอัจฉริยะ แหล่งพลังงานหมุนเวียน และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล