สำหรับคนที่ใช้ชีวิตเพียงลำพัง ก็อาจจะพบกับคำถามว่า “เมื่อไหร่จะมีแฟน” หรือหากคุณยังคงสถานะความโสด ก็จะพบกับการยกระดับของคำถามเป็น “อายุปูนนี้แล้วเมื่อไหร่จะแต่งงาน”
มาตรวัดระดับความหงุดหงิดที่มีต่อคำถามข้างต้นของแต่ละคนย่อมมีไม่เท่ากัน เมื่อสถานการณ์ชีวิตพาไปเจอกับการถูกถามด้วยคำถามเช่นนั้นอย่างจัง บางคนอาจแก้สถานการณ์โดยการยกยิ้มมุมปากเพียงเล็กน้อย ก่อนจะเปลี่ยนหัวข้อการสนทนาอย่างเฉียบพลัน บางคนหัวเราะคิกคักไปกับคำถามที่เราเองก็ตอบไม่ได้ หรือบางคนทนไม่ไหวรู้สึกกระอักกระอ่วน จนแสดงสีหน้าไม่ถูก และเกิดอาการกรดคำถามไหลย้อนขึ้นมาในใจว่า ‘แล้วชั้นต้องตอบเธอมั้ยอะ’
ว่าแต่ – ทำไมทุกคนต้องคิดว่า บั้นปลายชีวิตของมนุษย์ต้องมีคนเคียงข้างเหมือนกันทุกคน
อยู่คนเดียวไม่ใช่เรื่องแปลก
ในโลกทุนนิยมที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญแรงกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความเปลี่ยนแปลงของเมือง เทคโนโลยี ต่างก็มีส่วนเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวิธีคิดเรื่องชีวิตของผู้คน หลายคนเลือกที่จะแต่งงานช้าลง ไม่ต้องการมีลูก และถือครองความโสดกันมากขึ้น
ในอดีตที่ผ่านมา สังคมมักมีมายาคติเชิงลบต่อคนที่ใช้ชีวิตตัวคนเดียว ข้อมูลจาก 10 Global Consumer Trends 2019 โดย Euromonitor ชี้ว่าค่านิยมของสังคมกำลังเปลี่ยนไป คนโสดมองหาความสุขจากการใช้ชีวิตตามลำพังกันมากขึ้น ความสุขไม่ใช่การสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ (ตามความหมายเดิม) และด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้สัดส่วนของครัวเรือนคนเดียว (Single Person Households) เติบโตขึ้นทั่วโลก คาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้น 120 ล้านครัวเรือนทั่วโลก และครัวเรือนประเภทนี้จะมีอัตราการเติบโตรวดเร็วมากที่สุดเมื่อเทียบกับครัวเรือนประเภทอื่นในช่วงปี 2016-2030
สอดคล้องกับผลสำรวจของแอพพลิเคชั่นหาคู่อย่าง Tinder ในปี 2018 พบว่า 81 เปอร์เซ็นต์ ของคนอายุระหว่าง 18-25 ปี มีทัศนคติที่เปลี่ยนไป พวกเขามองว่าความโสดไม่ใช่เรื่องแย่ เช่นเดียวกับ Euromonitor International ที่นำเสนอผลการคาดการณ์อัตราการเติบโตของครัวเรือนที่มีผู้อาศัยคนเดียวระหว่างปี 2000-2030 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นถึง 128 เปอร์เซ็นต์
ในอนาคตอันใกล้ การใช้ชีวิตตัวคนเดียวอาจต้องถูกจำกัดความเสียใหม่ การใช้ชีวิตคนเดียวไปจนตาย จึงไม่ได้หมายถึงการจนตรอก ไม่มีใครเอา แต่หมายถึงทางเลือกที่ปัจเจกพึงมี พวกเขาสามารถออกแบบชีวิตของตนได้
คนโสดจะครองโลก?
‘ใครโสดขอเสียงหน่อยยย ยกมือขึ้นมาาาาาาาาา’
หากโลกคือเวทีคอนเสิร์ตที่มีนักร้องบนเวทีกำลังขอเสียงกรี๊ดจากคนโสด เชื่อว่าประชากรกว่าครึ่งค่อนโลกจะต้องพร้อมใจกันยืดสุดแขนพร้อมกับส่งเสียงดังๆ ออกมา เพราะจากสถิติ US Census Data ในปี 2012 ระบุว่าชาวอเมริกันอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ได้แต่งงาน
เช่นเดียวกับรายงานของ Census Bureau ปี 2017 สำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันพบว่า 55 เปอร์เซ็นต์ ไม่เชื่อว่าการแต่งงานและมีลูกคือบรรทัดฐานของการเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาให้ความสำคัญกับประเด็นความก้าวหน้าในอาชีพการงานหรือการพัฒนาประสบการณ์ให้กับตัวเองมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการท่องเที่ยว ประกอบกับพฤติกรรมที่ผู้คนเริ่มหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ชนบทหรือต่างจังหวัด จึงเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดประชากรครัวเรือนคนเดียวเพิ่มขึ้น
สอดคล้องกับการคาดการณ์ประชากรของชาวจีนที่มองว่าในปี 2030 จะมีชายชาวจีนอายุ 30 ปีขึ้นไปมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่แต่งงาน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากนโยบายลูกคนเดียว (One-child Policy) แต่น่าสนใจกว่านั้น ในปี 2030 จำนวนครัวเรือนคนเดียวทั่วโลกมีแนวโน้มจะพุ่งสูงถึง 120 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2018 มากถึง 30 เปอร์เซ็นต์
สำหรับประเทศไทย สัดส่วนคนโสดที่ยังไม่แต่งงานก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยคนโสดวัยทำงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปี เพิ่มจากประมาณ 13.8 ล้านคนในปี 2010 เป็น 15.2 ล้านคนในปี 2019 และตลอดระยะเวลา 3 ปีในการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี 2020 จำนวนการเกิดเด็กไทย ลดต่ำลงถึง 600,000 คน และมีแนวโน้มจะลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากปัญหาจำนวนการเกิดแล้ว ประเทศไทยยังประสบปัญหาคุณภาพการเกิดและการเจริญเติบโต พบว่าเด็กจำนวน 30,000 คน ที่เกิดมาพร้อมข้อจำกัด เช่น มีภาวะพิการ รวมถึงอัตราการเกิดซิฟิลิสแต่กำเนิดเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
ไม่ต่างจากประเทศญี่ปุ่น จากการสำรวจพบว่าครัวเรือนที่มีผู้อาศัยคนเดียวของญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญจากปี 1995 ที่มีผู้อาศัยคนเดียวคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2015 และคาดว่าจะพุ่งสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2040
แม้ว่าในจำนวนนี้จะเป็นผลรวมของประชากรที่เป็นโสดและผู้สูงอายุที่เป็นหม้าย แต่วัฒนธรรมของคนที่ชอบใช้ชีวิตคนเดียว หรือ ‘โอฮิโตริซามะ’ (Ohitorisama) ก็กำลังเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจในเชิงธุรกิจ เพราะเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจทั้งในแง่ของปริมาณและกำลังซื้อ ส่งผลให้เกิดธุรกิจที่มีกลยุทธ์ต่างๆ ที่รองรับวิถีการใช้ชีวิตคนเดียวมากขึ้น
ธุรกิจและบริการของชาวคนโสด
- Sologamy! แต่งงานกับตัวเองดีกว่า
ประโยคทีเล่นทีจริงทำนองว่า ‘ถ้าชาตินี้…ฉันยังไม่เจอเนื้อคู่หรือเจอใครสักคนที่สามารถวางแผนอนาคตร่วมกันได้ ฉันจะแต่งงานกับตัวเองให้มันจบๆ ไป’ ทว่าปัจจุบันความสัมพันธ์การแต่งงานกับตัวเอง หรือ Sologamy กลับกำลังเป็นเทรนด์นิยมไม่เพียงเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงฝั่งเอเชียอย่างในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกระแสของการแต่งงานกับตัวเองมีเแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
วิธีการแต่งงานด้วยตนเองมีขั้นตอนไม่ซับซ้อนต่างจากพิธีการทั่วไปตามขนบเดิม เช่น พิธีจัดเลี้ยง การเขียนกลอนรักและคำปฏิญาณต่อหน้าบาทหลวง นี่อาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่ามนุษย์กำลังมีความสามารถในการเลือกและออกแบบชีวิตให้กับตัวเองได้มากขึ้น ตามความหลากหลายที่กำลังผลิบานในโลก แม้ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะดูเป็นเรื่องบ้าบอและแปลกประหลาดในสายตาหลายคน แต่หากมองในอีกแง่มุม การที่เราจะมีความรักให้ผู้อื่น เราต้องรักตัวเองเสียก่อน
- Solo Wedding ก็ชุดแต่งงานมันสวยนิ!
ใครๆ ก็บอกว่าชุดแต่งงาน สงวนไว้ให้ ‘เจ้าสาว’ ใส่ในวันแต่งงานเท่านั้น แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ แล้วใครเป็นผู้กำหนด
ในโลกที่หนุ่มสาวหลายคนที่วางแผนอนาคตไว้แล้วว่าจะอยู่เป็นโสดมากขึ้น ธุรกิจ Solo Wedding โดยบริษัท Cerca Travel จึงกำเนิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของคนยุคใหม่ในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โดยจุดประสงค์ของการจัดบริการนี้ไม่ใช่การสานฝันให้สาวโสด ได้ลิ้มรสความรู้สึกของการเป็นเจ้าสาว แต่เป็นการ normalize การใส่ชุดแต่งงานให้ออกจากขนบเดิมๆ ถ้าคุณตั้งใจโสดแต่อยากใส่ชุดแต่งงานสักครั้ง โดยไม่ต้องมีเจ้าบ่าวหรือพิธีแต่งงานก็ย่อมทำได้
- ทริปคนโสด ใครไม่โสด ห้ามไป
อย่าล้อเล่นกับความเหงา ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้พฤติกรรมการเดินทางเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบ new normal นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวมากขึ้น (solo traveler) นี่จึงเป็นที่มาของทริป Single Journey หรือโครงการเส้นทางคนโสด 9 เส้นทางทั่วประเทศ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลพบุรี-สระบุรี อุดรธานี-เลย ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พัทยา พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานคร โดยหมุดหมายของทัวร์ครั้งนี้คือการมุ่งเน้นการพบปะมิตรภาพใหม่ๆ และค้นพบประสบการณ์ที่ดีจากการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน
- ลุงจ๋าช่วยฟังเสียงของเราได้ไหม
ในสังคมอันเร่งรีบ หนุ่มสาววัยกลางคนต้องแบกภาระและแรงกดดันจากชีวิตวัยทำงาน การหาผู้รับฟังที่พร้อมจะดูแลหัวใจและเข้าใจอาจกลายเป็นเรื่องยาก แต่นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป เพราะในประเทศญี่ปุ่น คุณสามารถหาเช่าเพื่อนเพื่อออกไปเที่ยวเล่น พูดคุยได้เป็นรายชั่วโมงหรือเหมาจ่าย 1 วัน ทว่าหากคุณต้องการบริการมากกว่านั้น คุณต้องการใครสักคนที่อยู่รับฟังเรื่องราวอันหนักอึ้งในหัวใจ รวมถึงคนที่ให้คำแนะนำแนวทางการดำเนินชีวิต คุณจะไปหาคนเหล่านั้นได้จากที่ไหน
ossan (おっさん) ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ‘ลุง’ ดังนั้นหากให้เข้าใจง่าย Ossan Rental จึงคือบริการให้เช่าคุณลุง เพื่อคอยรับฟังปัญหาหรือเรื่องราวของผู้ใช้บริการ ปัจจุบันเว็บไซต์ ossanrental ซึ่งเป็นแหล่งจัดหาลุงให้เช่า มีคุณลุงพร้อมให้บริการประมาณ 45 คน โดยมีอายุตั้งแต่ 45-55 ปี กระจายอยู่ในหลายเมืองทั่วญี่ปุ่น มีทั้งคุณลุงจากอาชีพวิศวกร, ไกด์นำเที่ยว, ผู้จัดการฝ่ายบุคคล, นักวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงคนขับรถ
ไอเดียของบริการนี้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมและพฤติกรรมของคนญี่ปุ่นที่ผู้คนมักไม่ค่อยเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวกับใคร ดังนั้นในวันที่คุณต้องเผชิญกับปัญหา ความเครียด แรงกดดัน หรือต้องการความช่วยเหลือ แต่คุณหันไปรอบตัวแล้วไม่เจอใคร การระบายกับคนแปลกหน้าจึงกลายเป็นทางออกที่ดีที่สุด อีกทั้งบริการนี้ยังส่งเสริมให้ผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่นที่อาจจะตกงานหรือได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจได้กลับมามีตัวตนอีกครั้ง
- ทั้งโสด ทั้งแก่ ให้เราดูแลยามป่วยไข้
ข้อมูลทางสถิติเมื่อปี 2017 บอกว่า จำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศไทยจะมีมากถึง 11 ล้านคน หรือนับเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด ในสังคมที่มีคนโสดและมีแต่คนสูงวัยเต็มไปหมด ปัญหาที่ตามมาคือหากเจ็บป่วยหรือต้องการรับบริการและความช่วยเหลือ- จะทำอย่างไรกันดี?
Papa Grandkids On-Demand เป็นบริการดูแลผู้สูงอายุโสดหรือผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตบั้นปลายเพียงคนเดียว กำลังได้รับความนิยมในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยรูปแบบการบริการคือ เด็กๆ ในวัยเรียนที่มีเวลาว่างหลังจากเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจะมาคอยดูแลผู้สูงอายุ สอนการใช้โซเชียลมีเดีย ช่วยงานบ้าน พาไปซื้อของ รวมถึงพาไปหาหมอ
ประเทศไทยไม่อ่อนโยนต่อคนโสด
‘ฉันไม่มีญาติ พ่อแม่ฉันก็ตายหมดแล้ว ไม่มีลูก ไม่มีผัว แก่ตัวไปจะทำอย่างไร?’
หากคุณเป็นคนหนึ่งในประเทศไทยที่มีเงื่อนไขชีวิตว่าจะโสดไปตลอด แต่เมื่อลองคิดภาพตัวเองนอนตายในบ้านเหงาๆ หรือจู่ๆ ล้มหัวฟาดพื้นก่อนถึงวัยอันควรโดยที่ไม่มีใครรู้ กว่าคนจะมาพบ ศพของคุณก็อาจต้องเน่าอืดส่งกลิ่นเหม็นโชยออกมา ความน่าอนาจเหล่านี้คือสิ่งที่จะได้รับตอบแทนในชีวิตบั้นปลายในฐานะประชากรผู้เสียภาษีให้ประเทศ แค่เพียงเพราะคุณโสดหรือ?
และการมองหาตัวเลือกอื่นๆ อย่างการย้ายตัวเองเข้าไปอยู่ใน ‘บ้านพักคนชรา’ หรือ ‘บ้านพักผู้สูงอายุ’ คุณต้องหายใจเข้าลึกๆ ทำใจดีๆ เพราะคุณอาจจะต้องเตรียมเงินสำหรับวัยเกษียณไว้จำนวนมากเกินกว่าที่คุณจะจินตนาการออก เนื่องจากการรับบริการในสิ่งเหล่านี้ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงลิบลิ่ว
ดังนั้นข้อมูลทั้งหมดทั้งมวล เมื่อมองเฉพาะโครงสร้างอายุของประชากร อาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางประชากรอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ถือว่าเป็นประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิง หมายถึงพวกเขาต้องการการดูแลสักทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจากครอบครัว รัฐบาล หรือถูกส่งเสริมให้พึ่งพาตัวเอง ผ่านสภาพแวดล้อมและการมีคุณภาพชีวิตที่ดี นี่จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่าตั้งคำถามว่า ประเทศไทยเข้าใจและให้ความสำคัญถึงประเด็นเหล่านี้มากน้อยเพียงใด