เป็นเวลา 1,807 วัน หรือ 4 ปี 11 เดือน 18 วัน สิรภพ กรณ์อรุษ ถูกจองจำในฐานะ ‘จำเลย’ คดีอาญามาตรา 112 กระทั่งวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ศาลทหารกรุงเทพ มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยครอบครัววางเงินประกันจำนวน 500,000 บาท เพื่อยื่นขอประกันตัวในครั้งนั้นเป็นความพยายามครั้งที่ 8
ผ่านไปกว่า 2 ปี วันนี้ (18 มกราคม 2564) เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดี หมายเลขดำ อ.3032/62 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ฟ้อง สิรภพ กรณ์อรุษ ในความผิดฐานดูหมิ่นเบื้องสูง ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และ มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 คดีนี้ สิรภพในฐานะจำเลยซึ่งใช้นามแฝง ‘รุ่งศิลา’ เขียนบทความ คำกลอน และภาพการ์ตูนล้อเลียนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หลายครั้งผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน 2552 – 30 มิถุนายน 2557 จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี
ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ แม้เป็นความผิดกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท จึงลงโทษบทหนักสุดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ รวมทุกกระทงแล้วให้จำคุก 6 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษให้ 1 ใน 4 เหลือคงจำคุก 4 ปี 6 เดือน
แต่ก่อนหน้านี้ สิรภพ ถูกคุมขังมาเเล้วเป็นเวลา 4 ปี 11 เดือน 18 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัว กระทั่งถึงวันอ่านคำพิพากษา ทำให้เขารับโทษครบถ้วนแล้ว แต่สิรภพให้สัมภาษณ์หลังศาลอ่านคำพิพากษาว่า “ยืนหยัดอุทธรณ์ต่อ”
แม้ได้รับโทษครบถ้วนแล้ว แต่ยืนหยัดอุทธรณ์
“จะอุทธรณ์ตามขั้นตอนต่อไป ยืนยันในเจตนารมณ์ว่าจะต่อสู้เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง และต้องการเผยแพร่กระบวนการทั้งหมดสู่สาธารณะ วันนี้บางอย่างอาจจะพูดไม่ได้ ด้วยเหตุที่อยู่ในระหว่างการต่อสู้คดี แต่เชื่อว่าวันข้างหน้า รายละเอียดทั้งหมด คำฟ้องทุกหน้า ข้อกล่าวหาทุกบรรทัด จะได้เผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างในการกล่าวฟ้องร้องความผิดซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการหมิ่นสถาบัน ซึ่งกำลังเป็นเรื่องน่ากังวลในสังคมขณะนี้” สิรภพกล่าว
สิรภพยังกล่าวถึงแนวโน้มการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา ว่ามีแนวโน้มการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกำจัดการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา
“แต่เป็นลักษณะการใช้กฎหมายที่แตกต่างไปจากเมื่อ 7-10 ปีที่แล้ว การถูกกล่าวหาด้วยข้อหานี้ ณ เวลานั้น จะถูกจำคุกทันที วันที่คุณถูกกล่าวหาวันที่คุณไปปรากฏตัวในสถานีตำรวจ คุณจะถูกฝากขังติดคุกทันที ติดจนกว่าคุณจะสารภาพ แล้วในช่วงเวลาของผมก็อยู่ใต้อำนาจคณะรัฐประหาร ถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งแน่นอนศาลทหารไม่มีอำนาจตามกติกาสากล แต่อำนาจก็ทำได้ทุกอย่าง
“ถามว่าเมื่อโอนย้ายคดีมาศาลพลเรือนแล้วโอเคไหม ไม่โอเค เพราะสืบพยานมาครึ่งทางแล้วในศาลทหาร มันไม่มีความยุติธรรม เหมือนถูกมัดมือแล้วสู้คดี ผมสู้คดีในเครื่องแบบนักโทษ ผมยังเป็นสุจริตชนอยู่ แต่ผมอยู่ในสภาพนักโทษสู้คดี พอย้ายมาศาลพลเรือน ก็อยากจะร้องขอให้ยกเลิกคดีที่ถูกทหารจับและขึ้นศาลทหาร ตั้งต้นสำนวนใหม่ให้อัยการพลเรือนพิจารณาสำนวนว่ามีเหตุสมควรสั่งฟ้องหรือไม่อย่างไรในทัศนะของศาลพลเรือน”
ในกระเป๋าใบเล็กที่เขาถือมาศาลวันนี้ มีเสื้อและกางเกงขาสั้นที่เขาบอกก่อนการอ่านคำพิพากษาของศาลว่า “เตรียมติดคุกตลอดเวลา” แม้เขาจะไม่ได้จำคุก เพราะได้รับโทษครบเกินจำนวนไปแล้ว การกล่าวแสดงความยินดีกับเขาก็เป็นประหนึ่งคำดูแคลน เพราะเขายืนยันว่า ไม่ได้มีความผิดตามที่ถูกสั่งฟ้อง
“ยืนหยัดและมั่นใจ วันข้างหน้าทุกอย่างจะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ จะเป็นการชำระประวัติศาสตร์ ผมไม่ได้สู้เพื่อพ้นคุก เพราะผมติดมาแล้ว 5 ปีเปล่าๆ ผมต้องการสู้เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง”
เวลาคือต้นทุนของชีวิตจำเลยคดี 112
สิรภพถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 การพิจารณาคดี 112 อยู่ในขอบเขตอำนาจศาลทหาร ตามคำสั่ง คสช.ที่ 37/2557 หากนับวันแรกที่ถูกคุมขังจนวันที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ก็เป็นเวลาเกือบ 5 ปีที่ถูกคุมขังในฐานะผู้ต้องหา
ในช่วงเวลาที่ถูกจองจำ กระบวนการไต่สวนดำเนินไปอย่างเชื่องช้า กระบวนการสืบพยานฝ่ายโจทก์ดำเนินไปได้เพียง 3 จาก 10 ปาก ขณะที่ฝ่ายจำเลยจะสืบทั้งหมด 3 ปาก ยื่นประกันตัวมาทั้งสิ้น 7 ครั้ง ไม่เคยได้รับการอนุญาต
หากสิรภพยอมรับสารภาพ คดีอาจไม่ยืดเยื้อมาจนถึงเพียงนี้ แต่เพื่อให้มีกระบวนการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เขาเลือกที่จะต่อสู้คดี ผลจากการต้องพิสูจน์ความจริงมีราคาแสนแพง
พลอย ลูกสาวคนโตของสิรภพ เคยให้สัมภาษณ์ iLAW ถึงความสัมพันธ์ที่แตกร้าวกับเพื่อนและคนใกล้ตัว จากการที่พ่อของเธอเป็นจำเลยในคดี 112 ประหนึ่งว่าเธอและครอบครัวได้รับคำพิพากษาจากคณะตุลาการที่ไม่มีบัลลังก์ ขณะที่พ่อของเธอยังคงเป็นจำเลยถูกกักขังในเรือนจำ
“คนที่รับไม่ได้กับเรื่องราวในชีวิตหนู ก็เดินจากไปตั้งนานแล้ว ตอนนี้ไม่เหลือคนในชีวิตประเภทที่จะไม่เห็นด้วยกับเราอีกแล้ว”
ข้อมูลจาก iLAW ระบุว่า ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 จนถึงสิ้นปี 2560 พบว่าจำเลยคดี 112 จำนวน 43 คน ที่ถูกศาลพิพากษา มีจำเลย 39 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 92 ตัดสินใจรับสารภาพ ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ทำให้ได้รับโอกาสในการปล่อยตัวเร็วกว่า เพราะมีการลดโทษทันทีครึ่งหนึ่ง ระหว่างคุมขังอาจได้รับการลดหย่อนโทษ หรืออภัยโทษในวาระสำคัญ ทำให้จำเลยที่ไม่ได้รับการประกันตัวและถูกพิจารณาคดีโดยศาลทหาร เลือกที่จะรับสารภาพ
ข้อเท็จจริงนี้น่าใคร่ครวญอย่างยิ่ง จำเลยในคดี 112 ถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการประกันตัว ในกระบวนการไต่สวนอันยาวนาน การเลือกรับสารภาพและยอมรับในคำตัดสิน ไม่ว่าการฟ้องคดีจะชอบธรรมหรือไม่ ไม่ว่าผู้ต้องหาจะได้กระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่ ไม่ว่าการยอมรับคำตัดสินจะขัดแย้งกับสำนึกภายในของเขาเพียงใด แต่การยอมรับสารภาพทำให้พวกเขามองเห็น ‘เวลา’ ข้อเท็จจริงหนึ่งของการรอคอย ก็คือความหวังจะปรากฏเมื่อเรารับรู้ถึงจุดสิ้นสุดของเวลา
สิรภพเลือกที่จะเผชิญกับความไพศาลไม่รู้สิ้นของเวลา ด้วยการยืนหยัดต่อสู้ในกระบวนการพิจารณาคดี โดยใช้เวลาของชีวิตแลกกับการเป็นจำเลยที่ถูกคุมขังในเรือนจำ เขาไม่สามารถยอมรับความผิดที่ไม่ได้ทำ เขาตระหนักดีว่า นี่มิใช่เพียงการต่อสู้บนฐานข้อเท็จจริง แต่ยังเป็นการสู้กับอุดมการณ์ ทัศนคติ ความเชื่อของผู้พิพากษา และคณะตุลาการ
“เรามิได้ออกมาเพื่อเรียกร้องขอความเวทนาน่าสงสาร แต่ออกมาเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับพวกเราตามหลักสิทธิมนุษยชน”
การติดคุกคือเกียรติยศ
ก่อนการรัฐประหาร 2557 สิรภพ ใช้นามปากกา ‘รุ่งศิลา’ ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านบทวิจารณ์และบทกวีในโลกโซเชียลมีเดีย เขามักจะเขียนบทความเกี่ยวกับการต่อต้านรัฐประหาร กลยุทธ์ทางการทหาร และแนวคิดทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ
หลังการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช. ออกคำสั่งที่ 44/2557 เรียกบุคคลมารายงานตัว ชื่อของเขาปรากฏในนั้น แต่เขาเลือกไม่ไปรายงานตัว เพราะต้องการแสดงออกว่านี่คือ ‘อารยะขัดขืน’ ไม่ยอมรับการกระทำของกลุ่มบุคคลที่ใช้กำลังอาวุธเข้ามายึดอำนาจล้มล้างการปกครองรัฐบาลที่มาจากการเลือกของประชาชน และตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง แต่เขาถูกจับกุมเสียก่อน
ภายหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช. ได้ออกคำสั่งเรียกบุคคลอย่างเป็นทางการจำนวน 37 คำสั่ง รวมผู้ถูกเรียกตัวจำนวน 472 รายชื่อ ให้เข้ารายงานตัวกับ คสช. และมีการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ขึ้นมากำหนดโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับ 40,000 บาทกับบุคคลที่ไม่ยอมมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช.
ภายใต้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และการออกคำสั่งของ คสช. เรียกให้บุคคลมารายงานตัว คือเครื่องมือที่ คสช. ใช้สร้างความสงบทางการเมือง
ข้อเท็จจริงภายใต้การควบคุมตัวด้วยอำนาจกฎอัยการศึก ผู้ถูกควบคุมตัวไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อญาติ หรือทนายความ ไม่มีการเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ถูกสอบสวนเพื่อหาข้อมูล หาหลักฐานในการดำเนินคดี มีการพูดคุยเพื่อ ‘ปรับทัศนคติ’ ถูกบังคับใช้เซ็นเอกสารยินยอมยุติการแสดงความคิดเห็นและการเคลื่อนไหวทางการเมือง หลายคนถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีหลังการควบคุมตัว หลังจากมีชื่อปรากฏในคำสั่งให้ไปรายงานตัว สิรภพเดินทางไปขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR จากประเทศเพื่อนบ้าน แต่เขาไปไม่ถึง
2 กรกฎาคม 2557 สิรภพถูกควบคุมตัวไปศาลทหารเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวและถูกปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) อายัดตัวเขาไปสอบสวนต่อในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่กองบังคับการ ปอท. และนำตัวไปควบคุมไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อเตรียมส่งตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังในวันถัดไป
การอายัดตัวสิรภพของเจ้าหน้าที่ ปอท. เนื่องจากเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 มีผู้เข้าแจ้งความกรณีที่เขาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊คส่วนตัว และเคยเขียนกลอนลงเว็บบอร์ดประชาไท ในนาม ‘รุ่งศิลา’
วันที่ 15 สิงหาคม 2557 อัยการศาลทหารกรุงเทพได้ยื่นฟ้องสิรภพเป็นจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรียกบุคคลให้มารายงานตัวที่ศาลทหารกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 40 ก./2557 คดีนี้ไม่สามารถอุทธรณ์-ฎีกาได้เพราะเกิดขึ้นขณะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกวันที่ 8 กันยายน 2557
สำหรับสิรภพ การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เขาจึงดื้อแพ่งไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ที่ 44/2557 เพื่อปกป้องประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี ดังบันทึกคำให้การพยานจำเลยคดีดำที่ 40 ก./2557 เรื่อง ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 44/2557
“เหตุที่มีการรัฐประหาร ข้าฯ จึงกระทำตนอารยะขัดขืนไม่มารายงานตัวต่อทหารที่ยึดอำนาจการปกครอง เนื่องจากข้าฯ ได้นำเสนอความคิดในการต่อต้านรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชนโดยตลอด และข้าฯ เชื่อว่าคณะรัฐประหารจะยึดอำนาจไว้ได้ไม่นาน ข้าฯ จึงเลือกที่จะปกป้องประชาธิปไตยโดยวิธีสันติอหิงสา ไม่ให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหาร”
สิรภพไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างในการรัฐประหาร ที่มักอ้างถึงความขัดแย้งวุ่นวาย การทุจริต การหมิ่นเบื้องสูง วิธีเดียวที่จะทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายคือการเลือกตั้ง แต่ “มีกลุ่มบุคคล กลุ่ม กปปส. ออกมาขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้งและเรียกร้องให้ทหารทำการรัฐประหาร”
คำสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงไม่เป็นกฎหมาย สิรภพให้การว่า “ข้าฯ เห็นว่าไม่เป็นกฎหมาย เป็นคำสั่งที่ออกโดยคณะกบฏ กฎหมายจะต้องออกโดยมีพระปรมาภิไธย หากข้าฯ ไปรายงานตัวจะเป็นการร่วมเป็นกบฏต้องรับโทษด้วย
“การเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ข้าฯ เห็นว่าเป็นการที่อำนาจอยู่ในมือของบุคคลกลุ่มเดียวเป็นอันตรายต่อประเทศชาติอาจก่อให้เกิดการต่อต้านด้วยอาวุธ มีการล้มเจ็บเสียชีวิต เกิดเป็นสงครามกลางเมืองได้ดังที่เกิดขึ้นในเมืองไทยในอดีต มีการที่ประชาชนไปเข้าร่วมกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ ข้าฯ จึงไม่ยอมรับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ และหลังจากรัฐประหาร ข้าฯ ไม่เห็นว่ามีสิ่งไหนดีกับบ้านเมืองเลย”
เมื่อรัฐปกครองอย่างไม่เป็นธรรม สิรภพจึงเลือกหนทางของการดื้อแพ่ง ซึ่งราคาของการอารยะขัดขืนของเขาคือคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 40 ก./2557 ที่ตัดสินให้จำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 44/2557 ให้จำคุก 1 ปี ปรับ 18,000 บาท แต่ข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงให้จำคุก 8 เดือน ปรับ 12,000 บาท ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษจำเลยมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันพิพากษา
“หากมีการรัฐประหารและเรียกข้าฯ ให้รายงานตัว ข้าฯ ก็จะไม่ไป” คือคำให้การของสิรภพในฐานะจำเลยในคดี ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 44/2557 ด้วยการไม่ไปรายงานตัว
“ศาลพิพากษาจำคุกคดีไม่ไปรายงานตัว โดยให้รอลงอาญา แต่ก็ยังไม่ได้รับอิสรภาพ เพราะเขาเป็นผู้ต้องหาคดี 112 ด้วย เขาจึงติดคุกยาวมานับแต่นั้น” อานนท์ นำภา ทนายความรับผิดชอบคดี 112 ของสิรภพ เล่าถึงคดีของสิรภพในปี 2562 หนึ่งปีต่อมาเขาถูกฟ้องร้องในข้อหาเดียวกัน และบริบทของสังคมไทยก็ไม่เหมือนปี 2562
แนวโน้มการใช้ 112 จัดการกับราษฎร
นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 คณะรัฐประหารให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด เห็นได้จากที่หลังการยึดอำนาจมีการประกาศให้การดำเนินคดีในความผิดตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นนโยบายหลักที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน นำมาสู่การดำเนินคดีต่อบุคคลถึง 162 คน
หลังจากนั้นกระแสการดำเนินคดีกับประชาชนด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็มีแนวโน้มลดลงไป และปรากฏชัดขึ้น ในคำสั่งด่วนที่สุดที่ อส 0007 (อก)/ว54 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เรื่อง แนวปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่กำหนดให้พนักงานอัยการต้องส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาคดีความผิดตามมาตรา 112 ทันที โดยยังไม่ต้องทำความเห็นในคดีนี้ ทำให้คดีนี้มีแนวโน้มการสั่งฟ้องที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม โดยในภายหลังพบว่ามีความพยายามแจ้งข้อหาในหมู่ประชาชนอยู่บ้าง แต่ไม่เคยมีกรณีสั่งฟ้องจากอัยการ โดยเข้าใจว่ามีแนวปฏิบัติที่เปลี่ยนไป
ตลอดทั้ง ปี 2561 พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในการบังคับใช้มาตรา 112 อย่างเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน ทั้งการแทบไม่มีคดีใหม่ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหามาตรานี้ขึ้นสู่ศาล และการยกฟ้องคดีข้อหานี้หลายคดีที่ยังดำเนินอยู่ในชั้นศาล โดยเฉพาะที่ถูกพิจารณาโดยศาลพลเรือน
แต่กระแสการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนตลอดทั้งปี 2563 ก็ทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกแถลงการณ์ประกาศความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเพิ่มความเข้มข้นในการรับมือการชุมนุม โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินคดีต่างๆ การแจ้งความใน ม.112 นั้น ถูกนำกลับมาใช้มากขึ้น หลังจากที่ไม่ได้มีการใช้มาตราดังกล่าวมานานกว่า 2 ปี
เยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปี จำนวนมากถูกฟ้องร้องในคดี 112 สาเหตุของการถูกแจ้งความใน ม.112 นั้น เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก หนึ่งในสาเหตุที่ถูกแจ้งความ มีเรื่องของการแต่งตัว อย่างการแต่งชุดไทยและการใส่เสื้อครอปท็อป
แต่ขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าความหวาดกลัวไม่ได้กดข่มผู้ที่ถูกฟ้องร้องในคดีนี้อีกต่อไป เมื่อพวกเขาแสดงออกในเชิงการโต้กลับผ่านการเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาด้วยท่าทีที่ต่างออกไป พวกเขาไปพร้อมข้อความทางการเมือง เช่น การจูงแพะไปที่ สน. มีการรณรงค์ให้มีการยกเลิกกฎหมายมาตรานี้อย่างแพร่หลาย ยังไม่นับป้ายผ้าข้อความนิรนาม ‘ยกเลิก 112’ ในหลายพื้นที่
นี่คือสิ่งที่รัฐมองไม่เห็นว่า เบื้องหลังป้ายข้อความนิรนามมีคนขึงคนชู จำนวนเท่าไรและหน้าตาเป็นเช่นไร
เรียบเรียงจาก
- ฉันทลักษณ์ของ ‘รุ่งศิลา’ มิอาจน้อมศีรษะให้คำคล้องจอง ในหนังสือ ราษฎรกำแหง
- สิรภพ: กวีนักสู้ผู้ท้าทายศาลทหาร ในหนังสือ ห้องเช่าหมายเลข 112
- 112 (again) in Your Area: เมื่อรัฐหยิบอาวุธเดิมมาปราบปรามประชาชน