บันทึกจากหลังภูเขาฯ: โรงเรียนเพียงหลวง 11 (สล่าเจียงตอง)

 

กิตติภัทร บารมีรัตนชัย ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเพียงหลวง 11 (สล่าเจียงตอง)

 

1

เราพบตัวเองยืนอยู่หน้าเสาธงโรงเรียนเพียงหลวง 11 (สล่าเจียงตอง) หลังติดตามทีมทำสารคดีเรื่อง หลังภูเขาหน้าเสาธง ไปยังหมู่บ้านสล่าเจียงตองในลมร้อนแล้งมีนาคม โรงเรียนแห่งนี้อยู่ห่างจากอำเภอแม่สะเรียง 96 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมง โชคเข้าข้างเมื่อเราเดินทางฤดูแล้ง

การเดินทางจากอำเภอแม่สะเรียงไปยังหมู่บ้านสล่าเจียงตองสามารถแบ่งเป็น 3 เฟส

เฟสที่หนึ่ง ถนนลาดยางจากแม่สะเรียงเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ระยะทาง 40 กิโลเมตร เฟสที่สอง จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯเข้าไปยังตำบลเสาหินบนถนนลูกรังไต่ขึ้นภูเขา 20 กว่ากิโลเมตร ชาวบ้านสวนใหญ่ปลูกกระเทียม ใบยาสูบบนพื้นที่ราบ และเฟสที่สาม ก่อนจะถึงโรงเรียนเราต้องผ่านเส้นทางลำห้วยกว่า 20 กิโลเมตร – โชคเข้าข้าง เมื่อเราเดินทางฤดูแล้ง

“ผมเคยนับได้ 41 ลำห้วย” ครูแมค-กิตติภัทร บารมีรัตนชัย ครูหนุ่มผู้เดินทางลงไปรับเราที่ตัวเมืองแม่สะเรียงเล่าให้ฟังขณะรถขับเคลื่อนสี่ล้อวิ่งในลำห้วยฤดูแล้ง

ฤดูฝน ลำห้วยที่นี่ไม่น่ารักสำหรับครูดอยที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ครูหนุ่มบางคนกับเพื่อนใช้ไม้ไผ่คานกับล้อแล้วหาบมอเตอร์ไซค์เดินข้ามลำห้วย

ครูแมคเป็นคนหนุ่ม เกิดและเติบโตจากเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ เป็นคนหนุ่มผู้ใช้ชีวิตในเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ เรียนจบและสอบบรรจุรับราชการครูที่โรงเรียนชื่อไพเราะ – เพียงหลวง 11

วันแรกที่ครูแมคเดินทางมายังโรงเรียน เขาผ่านเส้นทางเดียวกับที่เรากำลังหัวสั่นหัวคลอนอยู่ท้ายกระบะนี้ แต่วันนั้นเขาไม่ได้รู้สึกเหมือนวันนี้

“วันนั้นเราถามตัวเองว่า เรามาทำอะไรที่นี่ ที่นี่คือที่ไหนของประเทศไทย มันคือภูเขาลูกไหนของประเทศนี้”

 

2

โรงเรียนเพียงหลวง 11 (สล่าเจียงตอง) ตั้งอยู่ในพื้นที่ตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาร์ ตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2517 แต่เดิมเป็นโรงเรียนในสังกัดของโรงเรียน ต.ช.ด.บำรุงที่ 6 แรกเริ่มมีนักเรียน 6 คน

ในปี พ.ศ. 2519 โรงเรียนอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอแม่สะเรียง โดยเปิดเป็นโรงเรียนสาขาของโรงเรียนบ้านเสาหิน มีนักเรียนเรียน 18  คน ในปี พ.ศ. 2521 โรงเรียนบ้านสล่าเจียงตอง ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการสอนเป็นโรงเรียนหลักตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จนกระทั่งในปี 2539 สุพิทยา เตมียกะลิน เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการของโรงเรียน จากวันนั้นถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 21 ปีแล้ว

ปัจจุบัน โรงเรียนเพียงหลวง 11 (สล่าเจียงตอง) เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาภายใต้ สพฐ. เปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมปีที่ 3

นักเรียนทั้งหมด 138 คนเป็นชาวไทใหญ่และกะเหรี่ยง พวกเขาพักแรมที่โรงเรียนตลอดทั้งเดือนเพราะบ้านอยู่ห่างโรงเรียนตั้งแต่ 3 กิโลเมตรเป็นต้นไป ก่อนจะหยุดทุกวันที่ 26-2 ของแต่ละเดือน

เส้นทางจากบ้านกับโรงเรียน เด็กๆ ใช้การเดินเท้าเป็นหลัก เป็นเส้นทางลำห้วยและยอดดอย

คณะครูก็เช่นกัน พวกเขาจะเดินทางลงจากโรงเรียนเดือนละครั้งเพื่อกลับบ้าน และจัดเตรียมเสบียงก่อนขึ้นมาเปิดปฏิทินดอยเรียนสอนกันในเดือนใหม่

“สมัยที่ครูเข้ามาปี 2539 ต้องผ่านกว่า 70 กว่าลำห้วย” ครูใหญ่เล่า หากเป็นฤดูฝนคณะครูที่เดินทางเข้า-ออกหมู่บ้านจะต้องค้างแรมกลางทางหรือตามหย่อมบ้านประมาณ 1-2 วัน

เด็กนักเรียนที่โรงเรียนเพียงหลวง 11 กว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นนักเรียนพักนอน นอกจากการเรียนหนังสือในห้อง พวกเขามีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในแต่ละวัน ต่างจากนักเรียนในโรงเรียนพื้นราบทั่วไป

เช้ามืดพวกเขาจะตื่นขึ้นมาทำธุระส่วนตัว นักเรียนที่ได้รับมอบหมายเป็นเวรประจำวันจะเตรียมประกอบอาหาร นักเรียนที่เป็นเวรดูแลสวนผักจะรดน้ำ นักเรียนที่เป็นเวรดูแลหมูขุน จะให้อาหาร อาบน้ำ ทำความสะอาดคอกหมู

ที่นี่เลี้ยงสัตว์อย่างหมู กบ ปลา เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนให้แก่นักเรียน เพราะหมู่บ้านสล่าเจียงตองไม่มีไฟฟ้าจากส่วนภูมิภาค แผงโซลาร์พาเนลกำลังผลิต 8 วัตต์คือแหล่งพลังงานไฟฟ้าเดียว ตัดเรื่องตู้เย็นออกไปได้เลย นอกจากเลี้ยงสัตว์ พวกเขาปลูกเห็ด ผักสวนครัว ทั้งหมดนี้นักเรียนทั้งหมด 138 คน แบ่งหน้าที่กันทำ

 

 

 

“ถ้าเขามากินและนอน ก็เป็นแค่เด็กที่กินและนอนซึ่งไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลย” ครูใหญ่อธิบายถึงแนวคิดการทำกิจกรรมเหล่านี้ในโรงเรียน

“ครูคิดว่าการที่เขามาอยู่แล้ว เขาจะมีสังคมของเขา จะมีการปูพื้นเรื่องความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย อย่างกิจกรรมเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ จะมอบหมายหน้าที่ตามความสมัครใจ เธอจะรับผิดชอบอะไร หรือเธอชอบอะไร เธอจะลงงานตรงไหนให้ได้ผลดีที่สุด ความรับผิดชอบจะปลูกนิสัยรักการทำงานในการที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า เขาจะรับผิดชอบตัวเองได้ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคม”

ทุกกิจกรรมในโรงเรียนวางอยู่บนฐานเรื่องสุขภาวะ 4 ด้าน ร่างกาย จิตใจอารมณ์ สังคม และสติปัญญา ส่วนนี้เป็นความสามารถในการบริหารจัดการโรงเรียนมายาวนานของครูใหญ่ เจ้าของรางวัล ‘ครูยิ่งคุณ’ ประจำปี 2558 แม้จะได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนในที่กันดาร แต่โรงเรียนเพียงหลวง 11 (สล่าเจียงตอง) ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการประเมินของ สมศ. ซึ่งเราต้องให้เครดิตครูหนุ่มครูสาวที่ทำหน้าที่ทางวิชาการอย่างเต็มกำลัง

สล่าเจียงตองเปี่ยมล้นชีวิตชีวาด้วยครูหนุ่มครูสาว

ไม่ต้องมีใครบอก เราก็รู้ว่าครูใหญ่เป็นคนมีระเบียบ และค่อนข้างดุ บนโต๊ะทำงานของครูใหญ่ ไม้เรียวชรารูปทรงน่าเกรงขามวางอยู่

“ถามว่าดุมั้ย ก็ดุด่าเพื่อสร้างนิสัยให้เด็ก” ครูใหญ่บอก เราเผลอมองไปทางไม้เรียว

“ไม้เรียวนี่สร้างคนจริงๆ ครูไม่ได้ตีจนเลือดไหล เราตีให้รู้ว่าเจ็บแล้วต้องจำ ไม้เรียวมีคุณค่าในชีวิตของความเป็นเด็กอยู่นะคะ ไม่ใช่คุณค่าของชีวิตการเป็นครู ตีเด็กแล้วบางทีเราก็ช้ำเอง”

เบื้องหลังความดุมีเหตุผล นักเรียนบางคนถูกเพื่อนล้อเลียนว่าเป็น HIV ครูใหญ่เฝ้าฟังเสียงซุบซิบนี้จนต้องลุกขึ้นมาจัดการ – หน้าเสาธง

“เราต้องบอกให้นักเรียนเข้าใจ เพราะนักเรียนไม่เข้าใกล้เด็กคนนี้ แล้วมันจะไปฝังใจเด็กคนนี้ในอนาคตว่าตัวเขาไม่ดี ถูกรังเกียจ เราต้องป้อนทัศนคติที่ดีให้พวกเขารู้และเข้าใจ แต่ถ้าพูดเล่นแล้วเขาไม่เชื่อ”

ครูที่โรงเรียนสล่าเจียงตองมีทั้งหมด 14 คน ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มคนสาว และนี่คือการผสมผสานของคนสองรุ่น พวกเขามีวิธีคิดต่างกันในรายละเอียด แต่เป้าหมายเดียวกัน

ผลักดันเด็กนักเรียนไปในทิศทางที่เหมาะสม

“คนรุ่นใหม่สะท้อนว่าเราโบราณ” ครูใหญ่ยิ้ม “แต่ความเก๋าหรือโบราณก็มีคุณค่า ความสมัยใหม่ก็เข้ามาผสานให้เกิดการเชื่อมโยงและช่วยกันพัฒนาได้ ความเก่าก็ไม่ทิ้งความโบราณก็ไม่ได้ทิ้ง แต่เชื่อมโยงกับสมัยใหม่ คนรุ่นเก่าต้องยอมรับทัศนคติของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ก็จะต้องยอมรับคนรุ่นเก่าด้วย เพราะถ้าไม่มีคนรุ่นเก่า รุ่นใหม่จะเกิดได้อย่างไร มันต้องต่อยอดและเชื่อมโยงกัน”

ก่อนที่จะถึงโรงเรียนเพียงหลวง 11 เราวาดภาพโรงเรียนไว้คล้ายๆ โรงเรียนในหนังเรื่อง คิดถึงวิทยา ซีนที่มีครูหนุ่มขับเรือเล็กลากโรงเรียนบนแพไปตามแม่น้ำ

นอกจากการวางรากฐานของครูใหญ่ อย่างที่บอกไว้ข้างต้น ที่นี่เปี่ยมชีวิตชีวาด้วยครูหนุ่มครูสาว แต่สล่าเจียงตองไม่มีโรงเรียนบนน้ำให้ครูหนุ่มนั่งเรือลาก

ภาษา การศึกษา กระสุนปืนในแมกกาซีน อนาคตเด็ก และความตาย คือสิ่งที่ครูหนุ่มครูสาวต้องดีล นอกเหนือจากงานวิชาการ

สุพิทยา เตมียกะลิน ผู้อำนวยการโรงเรียนเพียงหลวง 11 (สล่าเจียงตอง)

 

3

ครูโบ้-สราวุฒิ ตุ้ยมูล เป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ เขาเป็นคนหนุ่มรุ่นเดียวกับครูแมค เกิดและเติบโตที่เมืองเชียงใหม่เหมือนกัน และสอบบรรจุที่โรงเรียนแห่งนี้ในปีเดียวกัน แน่นอน พวกเขานั่งมากับท้ายกระบะคันคันเดียวกัน ผ่าน 41 ลำห้วยมาด้วยกัน

เย็นวันหนึ่งนักเรียนนำของที่เก็บได้มาแจ้งกับครูโบ้ เรื่องนี้จะไม่ดึงความสนใจจากเราเลยหากว่าของที่นักเรียนเก็บได้จะไม่ใช่แมกกาซีนบรรจุกระสุนปืน

“ของอ้ายรึเปล่าครับ” ครูโบ้ถามเรา แน่นอนว่าในกระเป๋าสัมภาระของพวกเรา มีแต่ของประเภทเลนส์ ขาตั้งกล้อง คอมพิวเตอร์ “เราไม่ชอบพกปืน” ทีมงานสารคดีของ WAY ชี้แจงไปประมาณนี้

เราตั้งสมมุติฐานว่า ครูโบ้เป็นครูที่นักเรียนไว้ใจจึงนำของอันตรายอย่างนั้นมาแจ้งกับเขา ครูโบ้กังวลว่าแมกกาซีนปืนที่ใครไม่รู้ทำตกจะเป็นของ ‘คนอื่น’ ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ ที่นี่เป็นดินแดนไกลปืนเที่ยง เขาเป็นห่วงนักเรียนและโรงเรียนของเขา

เด็กนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง ภาษาจึงเป็นกำแพงด่านแรกระหว่างครูหนุ่มกับนักเรียน นักเรียนสื่อสารกันด้วยภาษากะเหรี่ยง สายตาจับจ้องมองมาที่ครูโบ้ และหัวเราะ

เขาเดินเข้าไปหานักเรียนเพื่อถาม “พวกเธอคุยกันเรื่องอะไร บอกครูได้มั้ย” ผลลัพธ์คือนักเรียนวิ่งกันกระเจิงหลังครูโบ้เอ่ยถาม

ครูโบ้มีพื้นฐานด้านการเขียนเพลงและเล่นกีตาร์ วันหนึ่งเขาเล่นกีตาร์ นักเรียนชาวกะเหรี่ยงรุมล้อมเข้ามาร้องเพลงร่วมกับครูโบ้ “ผมเล่นเพลงของวงลาบานูน วงแคลช บอดี้สแลม ผมก็แปลกใจ เราไม่สื่อสารผ่านภาษาไทยกัน แต่ถ้ามีดนตรีนักเรียนร้องเพลงตาม จากนั้นเขาเริ่มพูดคุยกับผมมากขึ้น ผมว่าเขาเปิดให้ผมเข้าไปในโลกของเขาเพราะดนตรี”

 

สราวุฒิ ตุ้ยมูล ครูวิชาคณิตศาสตร์

 

ครูโบ้เขียนเพลงเกี่ยวกับเด็กนักเรียนที่สล่าเจียงตองไว้หลายเพลง เป็นประสบการณและสายตาของครูดอยที่ได้พบเจอทั้งรอยยิ้มและเรื่องชวนสั่นสะเทือนหัวใจของที่นี่

ความตายของมารดานักเรียนทำให้เกิดเพลงชื่อ ‘ด.ช.ฉ่าเกอปอ’ แม่ของฉ่าเกอปอเสียชีวิตระหว่างทางที่เดินทางไปรักษาในอำเภอแม่สะเรียง นายอาคมและเด็กชายฉ่าเกอปอ สองนักเรียนพี่น้องได้หามแม่ใส่เปลเดินเท้าจากหมู่บ้านห้วยเหี๊ยะลงมาเพื่อมาขอให้รถประจำสถานีอนามัยตำบลเสาหินพาลงไปส่งที่โรงพยาบาลแม่สะเรียง แต่พวกเขามาไม่ทัน ทำได้เพียงส่งรูปแม่ในเปลของพวกเขามาแจ้งกับครูโบ้ในคืนนั้น

“อ้ายจะเข้าใจเลยว่าทำไมพงษ์สิทธ์ คำภีร์ถึงบอกว่า ไทยกับไทยใยแตกต่างกัน เพราะถ้าเราเท่ากัน ระบบส่งตัวผู้ป่วยจะต้องดีกว่านี้”

บทเพลงหนึ่งซึ่งเขายังไม่ได้เขียน เป็นเพลงที่อยู่ในอากาศ จำหลักในอนาคต

“ปัญหาหนึ่งของนักเรียนที่นี่คือการเป็นบุคคลไม่มีสถานะหรือไร้สัญชาติ ซึ่งมันส่งผลต่อสิทธิในการรับการรักษาพยาบาล นักเรียนบางคนอยู่สถานะรอการพิสูจน์สัญชาติ แต่มีนักเรียนกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่มีอะไรระบุตัวตนของเขาเลย” ครูโบ้บอก

ชีวิตของนักเรียนที่นี่ต่างจากนักเรียนบนพื้นที่ราบทั่วไป การคมนาคมกีดกันพวกเขาออกจากโอกาสหลายอย่าง แต่ครูโบ้ถามตัวเองว่า เขามาทำอะไรที่นี่…นอกจากหน้ากระดานดำของวิชาคณิตศาสตร์ เขาสามารถทำอะไรได้บ้าง…นอกจากเสียงดนตรี

“นอกจากวิชาการ เป้าหมายของเด็กมีเรื่องชีวิตด้วย เราจะเบนเขาไปทางไหน ทุกวันนี้ผมชี้แนะแนวทางให้เขาเท่านั้น สุดท้ายก็อยู่ที่เขาว่าจะเรียนต่อมั้ย ผมชี้ได้แค่ว่านักเรียนไปเรียนต่อตรงนี้นักเรียนไม่เสียเงินนะ ถ้าจังหวะชีวิตมันดีจริงๆ เธออาจได้ทุน”

 

 

การผลักดันนักเรียนลงไปเรียนในเมืองพื้นราบเป็นสิ่งที่ต้องทำตั้งแต่เนิ่นๆ เด็กบนดอยจำเป็นต้องเรียนรู้เมืองพื้นราบเพื่อปรับตัวก่อนเข้ามหาวิทยาลัยในเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ แต่เด็กส่วนใหญ่จำต้องเดินเข้าไร่หลังเรียนจบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทัศนคติของพ่อแม่ และเงื่อนไขบางอย่างในชีวิต

ครูโบ้มักยกตัวอย่างครูเจมส์ให้นักเรียนฟัง ครูเจมส์สอนวิชาสังคมประจำโรงเรียนเพียงหลวง 11 (สล่าเจียงตอง) เขาเกิดที่หมู่บ้านสล่าเจียงตอง เรียนที่นี่ เรียนกับครูใหญ่ ก่อนจะจบปริญญาตรี แล้วกลับมาสอนนักเรียนที่นี่อีกครั้ง คราวนี้เขาเป็นเพื่อนร่วมงานครูใหญ่

“ผมบอกเด็กเสมอว่า ทุกคนเป็นแบบครูเจมส์ได้ เป็นได้คือคิดที่จะทำได้ ถ้าไม่ได้เราค่อยว่ากันอีกที แต่เรามีสิทธิ์ที่จะคิดครับ มีสิทธิ์ที่จะฝัน ได้ไม่ได้ค่อยว่ากันอีกที มันไม่มีอะไรแน่นอนเนาะ”

บทบาทของครูไม่ได้อยู่ในห้องเรียนอย่างเดียว ครูโบ้เชื่อเช่นนี้

“โดยเฉพาะครูที่อยู่แบบนี้นะ (พื้นที่ห่างไกล) มีเรื่องราวหลายอย่างที่ต้องสอนเขา สอนให้เขารู้จักโลกข้างล่าง เราพานักเรียนไปทัศนศึกษา ไปทำกิจกรรมข้างล่าง ผมพาเด็กไปซื้อของในเซเว่นฯ ประตูเปิดพวกเขาถอดรองเท้าเข้าไปเลย เขาทอนตังค์ให้เด็กๆ พูดขอบคุณครับ ผมบอกไม่ต้องถอดรองเท้าให้ใส่เข้าไปเลย พวกเขาตอบกลับมาว่า ไม่เป็นไรครับ พื้นมันสะอาดครับ ผมไม่กล้าใส่ร้องเท้าเข้าไปครับ นี่แหละครับเด็กนักเรียนของผม”

 

 

4       

ภาษายังเป็นปัญหาการเรียนการสอนในห้อง ครูแมค-กิตติภัทร บารมีรัตนชัย ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เล่าว่า “ในการเรียนการสอนเราใช้ภาษาไทย เด็กบางคนมีอายุเยอะแต่อยู่ในชั้น ป.4-ป.5 เข้าโรงเรียนช้า แจ้งเกิดช้า ตกซ้ำชั้นก็มี ก็เป็นปัญหาการเรียนการสอนสำหรับครูดอย ซึ่งถ้าเราไม่แก้ปัญหาพวกนี้เขาก็ไปต่อไม่ได้ โดยเฉพาะภาษาไทย เพื่อที่จะไปศึกษาในวิชาอื่นต่อ ภาษาไทยต้องได้ ก็แก้ปัญหากันมาเรื่อยๆ”

ครูแมคไม่ได้สอนภาษาไทยโดยตรง เขาสอนพลศึกษาและสุขศึกษา แต่ “พื้นฐานคือภาษาไทย เราต้องสื่อสารให้รู้เรื่อง เราต้องตั้งเงื่อนไขก่อนเลย ว่าในคาบครูแมคห้ามพูดกะเหรี่ยง”

เขาใช้การลงโทษทางพลศึกษา ซึ่ง “มันทำให้เด็กกลัว เขาไม่กล้าพูดกะเหรี่ยงก็จริง แต่ก็เป็นดาบสองคม เขาไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออกเลย”

จากปัญหาที่ครูแมคพบเจอ เขาพยายามควานหาวิธีแก้ปัญหา การเรียนการสอนวิชาภาษาไทยแต่ดั้งเดิมคือการให้เด็กคัดคำศัพท์ เขียนคำผิดคำหนึ่ง เด็กต้องนั่งคัดคำหลายหน้ากระดาษ ครูแมคค้นพบวิธีการใหม่ซึ่งเกิดผลในทางที่ดีขึ้น เขาให้นักเรียนเขียนไดอารี

“โดยปกติการเรียนการสอน เราจะให้เด็กคัดคำศัพท์ ใครเขียนผิดมานั่งคัดคำ ผมเลยเปลี่ยนให้พวกเขาเขียนไดอารี”

 

 

ครูแมคให้นักเรียนอ่านหนังสือ 1 เล่มที่เลือกจากห้องสมุดโรงเรียน นักเรียนจะเขียนบันทึกหลังการอ่าน ว่าพวกเขาได้รับอะไรจากการอ่านหนังสือเล่มนั้น “ทุกวันเสาร์เขาต้องส่ง ถ้าไม่ส่งผมจะเรียกเขาออกมาเลย”

แม้จะรู้ว่านักเรียนคัดลอกข้อความจากหนังสือมาส่งแทนที่จะเป็นความคิดความรู้สึกของตัวเอง แต่ครูแมคก็พอใจกับก้าวแรกการเขียนของเด็กๆ เขาปรับกลยุทธ์โดยการถามนักเรียนว่า อ่านหนังสือเล่มนั้นแล้วได้รับอะไรบ้าง

เขาต้องการเข้าไปข้างใน… ในโลกของเด็กๆ

“ผมเริ่มเปลี่ยนจากการคัดคำวันละ 15 คำ มาให้เขาเขียนเป็นเรื่อง” ครูแมคเล่า “พอถึงวันลอยกระทงเขาก็เขียนวันลอยกระทง วันพ่อก็เขียนวันพ่อ วันแม่ก็เขียนวันแม่ เด็กพวกนี้ไม่สามารถเขียนได้ เราเห็นสภาพปัญหาจึงอยากแก้ไข”

มันเริ่มจากข้อเขียน 3-5 บรรทัด โดยครูแมคกำหนดโจทย์ให้เขียน ซึ่ง “เด็กก็เขียนมา 3 บรรทัดจริงๆ”

เขาเริ่มแหย่รังแตนโดยให้เด็กเขียนถึงเพื่อน เขาเป็นครูประจำชั้นนักเรียนชั้น ป.5 จำนวน 10 คน นักเรียนทั้ง 9 คนต้องเขียนถึงเพื่อนคนเดียว

“มันสะท้อนได้ชัดเจนว่าเพื่อนแต่ละคนเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างจากข้อเขียนที่พวกเขาเขียนถึงกัน บางคนเขียนเล่าถึงตอน ป.3 เพื่อนคนนี้ขี้เกียจ วันๆ เอาแต่ร้องไห้ แต่ทุกวันนี้เขาไม่ได้ร้องไห้แล้วครับ บางคนเขียนว่าหนูขอโทษนะคะที่เคยเรียกคนนี้ว่าไอ้ดำ เพราะหนูคิดว่าเขาจะไม่มีน้ำใจ แต่ทุกวันนี้เขามาช่วยเหลือคนอื่น มีเด็กแอบชอบกันก็เขียนบอกกัน เราได้สะท้อนความคิดของเด็กออกมาเรื่อยๆ”

หลังจากนั้น หลายหัวข้อหมุนเวียนสับเปลี่ยนบนกระดานดำและสมุดของเด็กๆ ความรัก ความสุข ความเศร้า ความฝัน แม้กระทั่งไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน

“เราอ่านของเขา เราได้ความรู้ใหม่ เราได้รู้ความคิดของเขา ถึงแม้เขาจะเขียนถูกๆ ผิดๆ เราก็ไม่ได้ว่า แต่เขาเขียนทุกวัน บางคนเขียนจบทั้งเล่ม ดังนั้นทักษะการเขียนพัฒนาแน่นอน แต่ปัญหาที่ยังต้องแก้คือยังเขียนผิดๆ ถูกๆ แต่พอโตขึ้นไป เด็กพวกนี้จะเขียนได้”

ถ้าครูโบ้ใช้ดนตรีเป็นกุญแจไขเข้าไปในโลกของเด็กๆ ครูแมคก็ใช้การเขียนบันทึกเพื่อทำความรู้จักความคิดความฝันของพวกเขา

ทั้งสองเป็นคนหนุ่ม เป็นคลื่นลูกใหม่ ครั้งหนึ่งครูสุพิทยา เตมียกะลิน ก็เคยเป็นคนรุ่นใหม่ ในอนาคต ด.ช.ฉ่าเกอปอ นายอาคม ด.ช.ศตวรรษ ด.ญ.แพรี่ ฯลฯ ก็ต้องเป็นคนรุ่นใหม่

ครูหนุ่มครูสาวที่สล่าเจียงตองไม่ได้ขับเรือลากโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนแพ พวกเขาผลักดันบางสิ่งที่หนักกว่า


 

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า