รายการ ‘ปั่นประสาท’ Podcast ตอน Special Episode ‘ม็อบนักศึกษา จุดติดแล้วไปยังไงต่อ?’ ดำเนินรายการโดย โอมาร์ หนุนอนันต์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนทนากับ รองศาสตราจารย์ ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้เขียนตำราและงานวิชาการจำนวนมาก ว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหว
มีประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยจากการสนทนาเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่พอใจของนักศึกษาต่อรัฐบาลและสภาพบ้านเมืองในปัจจุบัน อาทิ ขบวนการนักศึกษาจุดติดแล้วหรือไม่ เงื่อนไขทางการเมืองปัจจุบันเป็นอย่างไร ยุทธศาสตร์การประท้วงในโลกสากลเป็นอย่างไร และฉากทัศน์ถัดไปของการเคลื่อนไหวจะไปสู่จุดใด
ประเด็นต่างๆ ข้างต้น ไม่เพียงแต่ร่วมสถานการณ์เท่านั้น หากแต่ยังพาผู้สนใจใคร่รู้ทบทวนบทเรียน อยู่กับปัจจุบันอย่างเหมาะสม และเห็นทางข้างหน้าได้ไม่มากก็น้อย เราจึงเรียบเรียงมานำเสนอให้ผู้อ่านเห็นฉากถัดไปของปรากฏการณ์ ‘ไฟลามทุ่ง’
เชิญอ่านความคิดความเห็นของ สมชัย ภัทรธนานันท์
ไฟจากอาการที่สั่งสมมานาน
จนถึงขณะนี้ ม็อบนักศึกษาถือว่า ‘จุดติด’ แล้วนับตั้งแต่มีรัฐบาลจากรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา แม้ว่าจะเคยมีคนไม่พอใจรัฐบาล มีการเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐบาลต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เคยมีครั้งใดที่เกิดกระแสเท่าครั้งนี้ ดังนั้นปรากฏการณ์ที่เห็นมีลักษณะเป็นอาการสั่งสมมานานจนถึงจุดที่คนไม่พอใจเป็นวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปฏิกิริยาครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคอนาคตใหม่จริง แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าพรรคอนาคตใหม่ได้เสนอประเด็นอะไรไว้บ้าง จนถึงขั้นมีคนสนับสนุน เพราะถ้าหากอนาคตใหม่ไม่ได้เสนอประเด็นคัดค้านรัฐประหาร ปฏิรูปกองทัพ น่าสนใจว่าคนจะออกมาชุมนุมขนาดนี้หรือไม่
จุดยืนข้างต้นถือเป็นความต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่พูดในสิ่งที่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยต้องการเห็น และไม่มีพรรคอื่นเสนออย่างชัดเจนเท่ากับพรรคอนาคตใหม่
ดังนั้นคนที่แสดงความไม่พอใจจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็คือคนที่ไม่พอใจระบอบรัฐประหารที่เกิดขึ้นมานานแล้วด้วยเช่นกัน จึงกลายเป็นกระแสที่ไม่เพียงแต่เกิดจากการยุบพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น
ประโยชน์จากการถอดบทเรียนขบวนการ ‘เดือนตุลา’
การที่มีคนจำนวนหนึ่งพูดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 19 ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเคยผ่านเหตุการณ์เหล่านั้น แต่อีกส่วนหนึ่งคือสถานะของ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา นับเป็นไฮไลท์ของเหตุการณ์การชุมนุมขบวนการนักศึกษา ทำให้การชุมนุมขณะนี้ผู้คนหวนคิดถึงขบวนการนักศึกษา
อันตรายของการคิดแบบนี้คือ คนจะคิดว่าอาจจะเหมือนกันหรือจะเกิดซ้ำ แต่หากมองในเชิงเปรียบเทียบเพื่อวิเคราะห์ความเหมือนความต่าง อาจจะเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การเมือง เพื่อถอดบทเรียนจากอดีตมาเข้าใจปัจจุบัน
สิ่งหนึ่งที่คิดว่าเป็นจุดแตกต่างที่ควรจะมองเห็นกัน ขบวนการนักศึกษาสมัย 14 ตุลาคม 2516 เป็นการต่อสู้กับเผด็จการทหาร ที่หมายถึงอำนาจอยู่ในมือของทหารกลุ่มหนึ่ง ขณะที่ทหารกลุ่มอื่นๆ ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันกับทหารกลุ่มที่มีอำนาจอยู่ แล้วก็พร้อมที่จะใช้โอกาสที่มีการลุกฮือของมวลชนเป็นโอกาสกำจัดกลุ่มที่ชนชั้นนำอีกกลุ่มที่เขาไม่ชอบ
ความจริงข้อนี้ ถ้าหากมองข้ามไปในปัจจุบันจะเป็นอันตรายเพราะจะทำให้มองสถานการณ์ผิดพลาด
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ในปัจจุบันไม่ได้ต่อสู้กับเผด็จการทหารเท่านั้น ไม่เหมือนกับการสู้กับรัฐบาลทหารถนอม-ประภาส แต่กำลังต่อสู้กับชนชั้นนำอนุรักษนิยม ซึ่งรวมทั้งเผด็จการทหารและกลุ่มอื่นๆ ด้วย อันนี้คือความแตกต่าง และผลของการต่อสู้ก็จะไม่เหมือนเดิม
ที่ผ่านมารัฐบาลเผด็จการทหารมักมีจุดเปราะบางคือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทหารด้วยกัน และมีความขัดแย้งกับกลุ่มอนุรักษนิยมอื่นๆ ดังนั้นเมื่อมีมวลชนลุกขึ้นต่อสู้ ก็จะฉวยเอาสถานการณ์ กำจัดกลุ่มที่อยู่ในอำนาจนั้นไป
กรณีข้างต้นรวมไปถึงการวิเคราะห์เรื่องพรรคทหารด้วย ที่คนมักจะกลับไปดูบทเรียนสมัยจอมพล ป. สมัยถนอม-ประภาส หรือสมัยสุจินดา แล้วเอามาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน แต่มองข้ามความแตกต่างที่สำคัญที่ว่า รัฐบาลปัจจุบันมีคนสนับสนุนมากกว่าสุจินดา มากกว่าถนอม-ประภาส มากกว่าจอมพล ป.
ฉะนั้นพรรคการเมืองที่รัฐบาลปัจจุบันได้รับการสนับสนุนนั้น จึงมีฐานสนับสนุนที่ไม่เหมือนกับพรรคเสรีมนังคศิลา, พรรคสหประชาไทย, พรรคสามัคคีธรรม ทั้งในแง่มีฐานที่กว้างกว่า และมีผู้สนับสนุนในจำนวนที่แน่นอน
‘สลิ่ม’ เป็นยุทธวิธีที่อาจจะใช้ได้ แต่ต้องโฟกัสข้อเรียกร้อง
ต่อคำถามถึงพลังของคำว่า ‘สลิ่ม’ ในการชุมนุมครั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สมชัย แปลกใจว่าทำไมจึงแพร่หลายในการชุมนุมของบางมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะเกิดจากแรงกดดันอะไรบางอย่าง ทำให้นักศึกษาคิดว่าสลิ่มเป็นปัญหา โดยส่วนตัวไม่ค่อยได้สัมผัสกับบุคคลที่ถูกระบุว่าเป็นสลิ่มเท่าไหร่ จึงไม่ค่อยมีความรู้สึกกับคำนี้ หากแต่ช่วงหลังๆ เห็นว่าคนที่เราเคยรู้ว่าเขาเป็นสลิ่ม ตอนนี้ก็ไม่เป็นสลิ่มแล้ว ทำให้แปลกใจว่าทำไมการชุมนุมต้องไปโฟกัสตรงนั้น อาจจะทำให้เขวไปหรือไม่
รัฐบาลประยุทธ์ทำให้คำนี้ไม่นิ่งด้วย เนื่องจากมีคนจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนจากหนุนเผด็จการมาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย จากการสังเกตคนที่เคยเชียร์ประยุทธ์ก็หายไปเยอะ แสดงว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงตลอด 5-6 ปี
ในแง่นี้แล้วการใช้คำว่า ‘สลิ่ม’ ในทางยุทธวิธีอาจจะได้ แต่ว่าในการต่อสู้ต่อไป นักศึกษาอาจจะต้องโฟกัส มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน หากการต่อสู้ต่อไปเป็นเพียงว่า จะเอาหรือไม่เอาสลิ่ม ขบวนการก็จะไปไม่ถึงไหน เพราะว่าคนออกมาชุมนุมด้วยก็จะถามว่าเอายังไงต่อไป
มากกว่าการเป็นแนวร่วม-น้อยกว่าการเป็นพรรค
หากมองมวลชนที่ออกมาชุมนุมในช่วงเวลานี้ จะเห็นว่าเป็นคนหน้าใหม่ หลายคนเพิ่งขึ้นปราศรัยเป็นครั้งแรก ฉะนั้นเมื่อเป็นสิ่งใหม่ สิ่งที่มีตามมาคือกระบวนการเรียนรู้ จากการเคลื่อนไหวก็เป็นประสบการณ์ สู่การสรุปบทเรียนการเรียนรู้เพื่อการเคลื่อนไหวดีกว่านี้ได้
สิ่งที่จะต้องรู้คือ เขากำลังสู้กับใคร จึงจะวางกรอบถูกว่าจะต้องทำตัวอย่างไร และเราต้องยอมรับว่าภารกิจประชาธิปไตยในประเทศค่อนข้างยาก ฉะนั้นขบวนการนักศึกษาในประเทศไทย แน่นอนเขาอาจจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่โดยลำพังตัวขบวนการนักศึกษาทำไม่ได้ – ไม่พอ
ฉะนั้นจะต้องโยงถึงขบวนการอื่นๆ รวมทั้งพรรคการเมือง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อมาดูทีละขั้นตอน จะพบว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษายังมีลักษณะกระจัดกระจาย ขั้นตอนต่อไปอาจจะต้องมาคุยกัน ว่าจะทำอย่างไรให้เป็นขบวนการนักศึกษา เพราะขณะนี้ยังไม่ได้เป็นขบวนการนักศึกษาขึ้นมา ยังไม่ได้เป็นขบวนการ เป็นเพียงกลุ่มนักเรียนนักศึกษาต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยการพบปะพูดคุยกัน
เมื่อเป็น ‘ขบวนการ’ ก็อาจจะมีความคิดร่วมกัน ตกลงร่วมกันว่าข้อเรียกร้องคืออะไร มีอะไรบ้าง หากจะไปสู่ข้อเรียกร้องนั้น ต้องมีอะไรบ้าง
กรณีเช่นนี้นับเป็นปัญหาใหญ่ ขบวนการเคลื่อนไหวทั่วโลกกำลังเผชิญข้อถกเถียงนี้เช่นเดียวกัน บางคนเสนอให้มีการเคลื่อนไหวแบบไม่มีผู้นำ (leaderless movement) ซึ่งมีการทดลองในหลายๆ ที่ นับจากการเคลื่อนไหวในฝรั่งเศส 1968 มาสู่ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ (New Social Movement) มาสู่ขบวนการเคลื่อนไหวแนวราบที่ไม่มีผู้นำ
ทว่าหลังจากวิกฤติ ปี 2008 ในโลกตะวันตก การเคลื่อนไหวที่ทดลองเคลื่อนไหวแบบไม่มีผู้นำ ก็พบปัญหาคือ การเคลื่อนไหวไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ หลายคนจึงเริ่มยอมรับแล้วว่าไม่สามารถบรรลุสิ่งที่พวกเขาต้องการ
สำหรับคนที่ยังปกป้องแนวทางการเคลื่อนไหวแบบนี้อยู่ จะอธิบายว่า “สิ่งที่เราต้องการจากการเคลื่อนไหวคือการเปลี่ยนความคิด ขอให้คนมาร่วมเคลื่อนไหวและเปลี่ยนความคิดก็อาจจะเพียงพอ” แต่แนวทางนี้ก็อาจจะใช้ไม่ได้กับคนที่เคลื่อนไหวเพื่อต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกลุ่มหลังอธิบายว่าที่พวกเขาต่อสู้มาตั้งหลายปีกลับไม่ได้อะไร มีแต่จบลงด้วยมือเปล่า
ข้อถกเถียงนี้มีคนที่หาทางออกอีกทางคือ ‘มากกว่าการเป็นแนวร่วม น้อยกว่าการเป็นพรรค’ หมายความว่า หากเป็นแนวร่วมก็แค่ร่วมกัน แต่ความคิดยังเป็นของใครของมัน หากบังเอิญต้องออกมาร่วมกันชุมนุมก็ต้องร่วม เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็เดินไปตามทางของใครของมันก่อน
‘น้อยกว่าการเป็นพรรค’ หมายความว่า การเคลื่อนไหวไม่ถึงกับเป็นองค์กร ไม่มีสายบังคับบัญชา มากกว่าที่จะเป็นแค่แนวร่วม แต่ก็ไม่มีการบังคับบัญชาที่ถูกสั่งมาตามสาย
นักคิดคนสำคัญอย่าง ไมเคิล ฮาร์ท (Michael Hardt) และ อันโตนิโอ เนกรี (Antonio Negri) ทั้งสองเป็นปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่ได้รับการยอมรับสูงในศตวรรษที่ 21 เคยเสนอว่า ให้การเคลื่อนไหวมีลักษณะเป็นแกนนอน ไม่มีผู้นำ แต่ตอนนี้ทั้งสองก็ได้เปลี่ยนข้อเสนอแล้ว เขาเห็นว่าการเคลื่อนไหวแบบไร้แกนนำอาจจะดูหรูแต่ไม่เห็นผล และเสนอว่าถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ จะต้องให้มวลสมาชิกทั้งหลายเป็นผู้ตัดสิน แต่ถ้าเป็นว่าเรื่องเฉพาะหน้า เรื่องทางเทคนิค จะต้องมีผู้นำ
ตัวอย่างเช่น การจัดชุมนุมจะต้องมีผู้นำ หมายความว่าจะต้องมีคนตัดสินใจ ในสถานการณ์ที่จะถูกสลายการชุมนุมจะต้องมีผู้ตัดสินใจว่าจะเอายังไง หรือจะเคลื่อนขบวน หรือรัฐบาลประกาศอะไรสักอย่างที่กระทบต่อการชุมนุม จะต้องมีการตัดสินใจ แต่ถ้าเป็นเรื่องหลักการใหญ่ๆ จะต้องร่วมกันทั้งหมด
แนวทางนี้เชื่อว่า ในแง่ยุทธศาสตร์จะเป็นเรื่องของมวลสมาชิก ส่วนเรื่องยุทธวิธีที่เฉพาะเจาะจง จะเป็นเรื่องของผู้นำ ข้อเสนอนี้เป็นการกลับหัวกลับหางจากองค์กรแบบรวมศูนย์ในขบวนการเคลื่อนไหวแบบยุคก่อน
แน่นอนว่าสำหรับขบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทย ควรต้องมีการทบทวนเรื่องนี้กัน เพราะเริ่มจะเป็นแนวปฏิบัติแล้วว่าจะเอายังไง ไม่ใช่เรื่องไกลตัว อีกไม่นานจะเป็นเรื่องระดับชีวิตประจำวัน
ขบวนการนักศึกษาต้องเป็นตัวของตัวเอง
รองศาสตราจารย์ ดร.สมชัย มองว่า โจทย์การเคลื่อนไหวในช่วงต้นของนักศึกษาคือจะพัฒนาตัวเองไปอย่างไร ขบวนการนักศึกษาจะเคลื่อนไปอย่างไร ซึ่งควรจะเป็นเรื่องของนักศึกษา แต่หากขบวนสามารถเซ็ตตัวขึ้นมา นักศึกษาจึงจะตัดสินใจต่อได้ว่าจะร่วมกับแนวร่วมอย่างไร ซึ่งขบวนการอื่นต้องปรากฏตัวตามมาด้วย จึงจะบอกได้ว่าจะร่วมมือกันยังไง
ฉะนั้นขบวนการนักศึกษาจึงต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง ส่วนขบวนการอื่น พรรคการเมือง จะร่วมกันยังไง เป็นเรื่องที่ต้องมาคุยกัน
สำหรับพรรคการเมืองอาจจะสามารถมีบทบาทแบบหนึ่งที่ขบวนการนักศึกษาทำไม่ได้ บางบทบาทขบวนการ พรรคการเมืองอาจจะไม่ถนัด ลักษณะเช่นนี้ต้องมีการแบ่งกันทำ รูปธรรมจะเป็นอย่างไรต้องพิจารณาร่วมกัน
การเคลื่อนไหวมีหลายโทน
ในการเคลื่อนไหวจะมีการตอบโต้จากฝ่ายตรงข้ามแน่นอน ซึ่งนักศึกษาจะต้องระมัดระวัง หากทำอะไรหลวมไป เชื่อว่าต้องมีการตอบโต้แน่นอน กรณีนี้เป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจรัฐใช้เป็นประจำอยู่แล้ว ทั้งดิสเครดิต มาตรการทางกฎหมาย ฯลฯ
อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ผู้คนมักพูดกันมากคือ ถ้าคุณลงถนนก็คือความรุนแรง แต่ขอเสนอว่า การลงถนนสามารถทำได้หลายแบบ ไม่จำเป็นต้องเหมือนการชุมนุมในรอบหลายปีที่ผ่านมา
การลงถนนเกี่ยวพันและขึ้นกับว่าก่อรูปความคิดกันขึ้นมายังไง สมมุติบอกว่า “เราลงไปครั้งนี้ ไม่ชนะไม่เลิก ตายเป็นตาย” ก็จะนำการชุมนุมไปสู่ทางตัน การลงถนนแบบนั้นก็มีโอกาสไปสู่ความรุนแรงเพราะก่อรูปมาแบบนั้น
แต่การชุมนุมไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงก็ได้ เพราะขึ้นกับว่านักศึกษาจะกำหนดกรอบความคิดร่วมกันอย่างไร (framing) นำเสนอออกไปอย่างไร ตั้งเป้าหมายอย่างไร และถึงที่สุดการลงถนนนั้น จะนำไปสู่การบรรลุจุดมุ่งหมายใด
ในความเป็นจริงการประท้วงทางการเมืองไม่ใช่เรื่องของการสู้ครั้งเดียวแล้วจบ หากแต่มีหลายครั้ง และการลงถนนก็ออกไปได้หลายรูปแบบ เช่น เบาๆ ก็ได้ เข้มๆ ก็ได้ บทเรียนหลัง 14 ตุลาฯ หรือการชุมนุมเสื้อแดง จะเห็นว่าเนื่องจากมีความอัดอั้นตันใจ การชุมนุมก็จะมีแนวโน้มของอารมณ์โกรธแค้น แบบนั้นอันตราย
การลงถนนจึงต้องมีความยืดหยุ่น กลับบ้านก็ได้ หยุดพักได้ ดังนั้นการชุมนุมทางการเมืองทำได้หลายรูปแบบ หลายโทน สนุกๆ ก็ได้ แล้วแต่สถานการณ์ อย่าไปคิดผูกติดว่าลงถนนแล้วจะเป็นการชุมนุมครั้งสุดท้าย
นักศึกษา Gen นี้มีการรับรู้ทางการเมืองที่ต่อเนื่อง
รองศาสตราจารย์ ดร.สมชัย มองว่าการชุมนุมรอบนี้จะเป็นการเคลื่อนไหวที่มีหลายยก อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองข้างหน้าอาจจะเปลี่ยนได้จากทั้งฝ่ายประชาธิปไตยเอง หรือฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่ หากผู้มีอำนาจเห็นว่าเขาไม่สามารถดันทุรังต่อไปได้
กระนั้นก็ตาม ข้อดีของการเคลื่อนไหวของนักศึกษารอบนี้ คือการรับรู้ทางการเมืองที่ต่อเนื่อง ความรับรู้ทางการเมืองในยุคก่อนอาจจะจำกัดแค่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ตอนนี้จะเห็นว่าถึงชั้นประถมศึกษาก็มีแล้ว
สิ่งที่น่าสนใจคือเผด็จการมีข้อจำกัดเรื่องกาลเวลา เพราะการปกครองของระบอบเผด็จการในช่วงนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและโลกที่ไม่เอื้ออำนวย
ส่งผลทำให้คนรุ่นใหม่ไม่นิยมชมชอบเผด็จการ รวมถึงคนรุ่นที่เป็นผู้นำอนุรักษนิยมทั้งหลาย ก็จะมีอายุมาก นี่เป็นข้อจำกัดของระบอบเผด็จการ ส่วนการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาจะไปได้ไกลกว่ากาลสมัยที่ผ่านมา เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อจำกัดหลายอย่าง รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมือง มีปัจจัยซ้อนค่อนข้างเยอะทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ในยุคสงครามเย็น เราจะเห็นว่า ชนชั้นปกครองมีจุดอ้างอิงว่าเป็นตัวแทนการปกป้องชาติ ดูแลประเทศชาติ ไม่ให้ประเทศตกเป็นเบี้ยล่าง ต้องสนับสนุนเขา ขณะที่พันธมิตรของรัฐบาลเผด็จการในระดับโลกแต่ก่อนก็เป็นอเมริกาและประเทศโลกตะวันตก
การประท้วงทางเศรษฐกิจกำลังจะมา
การต่อสู้ในเวลานี้ ข้อเสนอในประเด็นการเมืองอาจจะดูเหมือนติดขัดไปหมด เช่น ถ้าหากเสนอให้ประยุทธ์ลาออก ก็อาจจะมีคนใหม่เข้ามาแทน เหมือนกับว่านักศึกษาจะไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าเสนอไปไกลกว่านั้นก็เป็นอะไรที่ดูเหมือนเอื้อมไปไม่ถึง สิ่งที่พอเป็นไปได้คือการเปลี่ยนแปลงกติกาใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นประเด็นที่จะทำให้นักศึกษาได้กติกาใหม่
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นกับว่าขบวนการจะสามารถโฟกัสแล้วประมวลให้ชัดขึ้นอย่างไร เช่น จะแก้ไขเรื่องการย้ายพรรคหรือไม่เนื่องจากปัญหาเรื่อง ‘งูเห่า’ จนกระทั่งเรื่อง สว. ที่มาจากการเลือกตั้งหรือเปล่า ถ้าขบวนการนักศึกษาโฟกัสเรื่องรัฐธรรมนูญ การเคลื่อนไหวจะเป็นไปตามแนวทางนี้ รวมถึงยังมีอีกหลายเรื่องที่จะพาไปสู่ประชาธิปไตยที่เป็นจริง
สิ่งที่ควรตระหนักคือ รัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นแบบนี้ จะสามารถแก้ไขได้จริงอาจจะต้องเกิดขึ้นหลังวิกฤติทางการเมือง ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้ผูกโยงกันทั้งวิกฤติการเมืองกับวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งจะมาบรรจบกัน เพราะเป็นวิกฤติที่รุนแรงหนักหน่วงปลายทางข้างหน้าจะไปถึงไหนไม่รู้
การประท้วงทางเศรษฐกิจอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระแสความรู้สึกของคนในสังคมที่บอกว่าตัวเองไม่อยู่ฝ่ายไหน จะออกมาบอกว่าเผด็จการไปซะ ฉากการเมืองจะเปลี่ยนอย่างมาก เพราะนักศึกษาพูดอะไรต่างๆ คนจะออกมาหนุน