ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
ตอนที่ 1
สิบล้ออินเดียเป็นเหมือนหอศิลป์เคลื่อนที่ สีสัน/ฟอนต์/เพนท์ติ้งข้างตัวรถ ไหนจะบั้นท้ายสิบล้อ ข้อความท้ายสิบล้ออินเดียเชื้อเชิญให้ทำในสิ่งที่คนขับรถบนถนนกรุงเทพฯ อาจอุทานว่า “บีบหาบุพการีมึงเหรอ”
‘Horn please’ หรือไม่ก็ ‘Blow horn’ คือข้อความท้ายรถบรรทุกแทบทุกคัน ใครบางคนบอกว่า อะไหล่ในรถยนต์อินเดียชิ้นแรกที่มักเสื่อมสภาพก็คือแตร
ถนนอินเดีย – จิตไม่แข็งจริง อยู่ไม่ได้
จาก ท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี เรามุ่งหน้าไปบน NilokheRi highway ที่หมายแรกคือหมู่บ้านคาลปา (Kalpa) จังหวัดคินนัวร์ (Kinnaur) รัฐหิมาจัลประเทศ (ซึ่งเราจะถึงที่นั่นอีกกว่า 22 ชั่วโมง) รถบรรทุกสินค้าแน่นขนัดช่องจราจรแม้เวลาเที่ยงคืน ซูเปอร์ไฮเวย์อินเดียคือเมืองหลวงแห่งโกลาหลอันเป็นระเบียบ เสียงแตรส่งเสียงตลอดราวกับโถงบรรเลงดนตรีฮอร์น ซิมโฟนี เสียงแตรอึกทึกเพื่อจัดระเบียบการจราจรที่ถนนกรุงเทพฯต้องเขินอาย หากไม่เข้าใจวัฒนธรรมการขับขี่ของถนนอินเดีย เราอาจมีเคสกราบรถทุก 2 นาที
ถนนอินเดียคือดินแดนเมจิคัลที่ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักประพันธ์แห่งลาตินอเมริกายังเข้าไม่ถึง คุณอาจพบเห็นม้าลากวิ่งบนถนน หรือจู่ๆ คุณจะเห็นคนเดินบนเส้นประกลางถนน ห่างจากร่างกายไม่กี่เมตรรถสองคันแล่นสวนด้วยความเร็วระดับรีบไปเก็บผ้าที่ตากไว้ในวันฝนพรำ แต่ทั้งคนทั้งรถต่างก็ทำเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน ความเอื้ออารีในการสัญจรมีให้เห็นเป็นระยะ แต่เป็นอารีแบบอินเดียนสไตล์ ซึ่งไทยสไตล์ต้องใช้เวลาในการเทคคอร์ส
ระหว่างรถจอดนิ่งบนไฮเวย์ ข้าพเจ้าสนใจคมใบหน้าของชายขับสิบล้อ เมื่อเขาเห็นเราถ่ายรูป พี่แกหันมามองกล้องอย่างรู้งาน เปิดไฟห้องโดยสารให้แสงแก่ช่างภาพสมาร์ทโฟน ข้าพเจ้าขอความกรุณาให้ปิดไฟห้องโดยสารด้วยภาษามือ กล้องจากสมาร์ทโฟนฟ้องว่าปิดไฟจะดีกว่า เขาเอี้ยวตัวกลับไปปิดไฟ หันกลับมองกล้องด้วยแววตาเค้นตัวตนเผยให้ข้าพเจ้าเห็น
อินเดียกล่าวนมัสเตแก่ข้าพเจ้าเช่นนี้
หมู่บ้านคาลปาคือเป้าหมายที่รอเราอยู่อีก 22 ชั่วโมงนับจากนี้ คณะเดินทาง 18 คน บนรถแวน 2 คัน พวกเขาแยกชิ้นส่วนจักรยาน 16 คันบรรจุใส่กระเป๋า จุดหมายคือการเดินทางบรรทุกชีวิตไว้บนจักรยานใน Spiti valley
Spiti valley คือหุบเขาปกคลุมด้วยทะเลทรายในเทือกเขาหิมาลัย แห้งแล้งและหนาวเย็น ตั้งอยู่จังหวัดลาอูล-สปิติ (Lahaul-Spiti) รัฐหิมาจัลประเทศ (Himachal Pradesh) ทางตอนเหนือของอินเดีย ‘spiti’ หมายถึง ‘ดินแดนกลาง’ มันคือแผ่นดินตรงกลางระหว่างเขตปกครองตนเองทิเบตและอินเดีย
Spiti valley คือหุบเขาที่อาจทำให้หัวใจคุณหยุดเต้น ความงามก็ใช่ แต่เหตุผลที่หัวใจหยุดเต้น เพราะเป็นหุบเขาที่ตั้งบนความสูงเหนือระดับน้ำทะเลราว 4,000 เมตร
ก่อนเดินทาง อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหาร WAY ขู่ข้าพเจ้ารายวันถึงความโหดของภูมิประเทศและอากาศแถบนี้ แห้งแล้งและหนาวเย็น ความสูงของภูมิประเทศเหนือระดับน้ำทะเลหลายพันเมตร อาการแพ้ที่สูง หรือ Altitude sickness คือผีที่หลอกหลอนตลอดก่อนการเดินทาง (การได้หายใจเข้าออกแบบเต็มปอดเต็มใจคือทั้งสุขและทุกข์ที่เราต้องการไม่ใช่หรือ) เราเดินทางเดือนกรกฎาคมซึ่งหิมะกำลังละลาย แต่ด้วยเส้นทางที่กล่าวกันว่าเป็นถนนที่อันตรายลำดับต้นๆ ของโลก Spiti valley จึงเต็มไปด้วยคำถามมากกว่าคำตอบที่หาอ่านได้ในกูเกิล
ถนนใน Spiti valley ราวกับแกะสลักเข้าไปในภูเขา คดเคี้ยวตลอดทาง ถนนแคบ ด้านหนึ่งจึงเป็นเหวสูงไม่มีรั้วกัน เบื้องล่างคือแม่น้ำเชี่ยวกราก เราจะผ่านแม่น้ำสายสำคัญอย่างสัตรุจ (Satruj) และสปิติ (Spiti)
“พี่เบียร์อาจจะเห็นหลุมศพนักจาริกแสวงบุญตามรายทาง” ซีอีโอแห่ง WAY ปลอบขวัญข้าพเจ้าเช่นนั้น
คณะจักรยานวางแผนการเดินทางด้วยจักรยานไว้ 10 วัน อีก 5 วันสำหรับการเดินทางโดยรถยนต์ (ซึ่งสรุปหลังผ่านพ้นได้เลยว่า โหดขึ้นทุกวัน) เราจะพักแรมกันตามเมืองต่างๆ ที่วางแผนไว้โดย พี่หมา-ประพฤติ ปาลสาร แห่งร้านจักรยาน Bok Bok Bike (ร้านจักรยานที่ติดป้ายระวังหมาดุไว้ที่หน้าร้าน แต่สาบานข้าพเจ้าไม่สังเกตเห็นสุนัขพันธุ์ใดที่ท่านหมาเลี้ยงไว้เลย) พี่หมาเป็นผู้จัดการการเดินทางหนนี้ นอกจากผู้ก่อตั้งร้านจักรยาน Bok Bok Bike และ บรรณาธิการบริหาร WAY แล้ว ยังมีผู้ร่วมชะตากรรมบนอานจักรยานอีก 14 คน
ข้าพเจ้าได้รับตั๋วเดินทางใบวิเศษให้ติดสอยห้อยตามมาบันทึกเรื่องราวระหว่างการเดินทางใน Spiti valley และเมื่อทราบข่าวว่าพวกเราจะเดินทางไปดินแดนที่อดีตบรรณาธิการรูปงามผู้บริหาร WAY ในปัจจุบัน อุปมาดินแดนแห่งนั้นไว้ราวกับดาวอังคาร อนุชิต นิ่มตลุง ช่างภาพประจำ WAY ผู้ถูกอำว่าเชี่ยวชาญเรื่องทะเลนม อาจเข้าใจมโนทัศน์เรื่องความงดงามผิด เขาละมือจากแก้วคราฟท์เบียร์ชูแขนขอสัญจรไปชมทรวงอกแย็ก (Yak) แห่งหุบเขาสปิติด้วย คณะของเราจึงมีข้าพเจ้าและอนุชิตที่ไม่ได้ขี่จักรยาน แต่อาศัยกล้องบันทึกภาพและเรื่องราวเป็นพาหนะในการเดินทาง
ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับ พี่หนุ่ย-ปิยนารถ ธรรมวัฒนะ และ กบ-ชิดพันธ์ สุนทรพิศาล (2 ใน 16 ผู้เดินทางด้วยจักรยาน) ทั้งสองบอกตรงกันว่า ‘ทุกคนเห็นในสิ่งเดียวกัน แต่มองเห็นไม่เหมือนกัน’ เราต่างตีความสิ่งที่เห็นไม่เหมือนกัน ข้าพเจ้าเชื่อ และมองว่านี่คือความหลากหลายและงดงามของเรื่องเล่า ข้าพเจ้าเต็มตื่นด้วยความหุนหันที่อยากจะเล่าเรื่อง
คณะของเราเพิ่งกลับจากอินเดียเมื่อวานนี้ (15 ก.ค.) วันนี้ข้าพเจ้าเริ่มรวบรวมสิ่งที่ได้จดบันทึกระหว่างทาง ขัดเกลาให้อ่านเป็นภาษาคน (เพราะการเขียนบนความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,000 m+ มีผลต่อการเรียบเรียงความคิดไม่น้อย) ไม่รอให้สปิติตกตะกอน จงเล่าออกมาเถิด
และวันที่ 16 กรกฎาคม คือวันครบรอบวันตายของพ่อ ข้าพเจ้าพลาดแผนในใจ การกลับไปที่ขอนแก่น นี่คือการพลาดครั้งที่ 3 พ่อตายครบ 3 ปี ก่อนกลับถึงกรุงเทพฯสุภาพสตรีที่ยังคงเป็นภรรยาของพ่อ ถามข้าพเจ้าผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ “ลืมหรือยัง”
คืนหนึ่งที่เมืองนาโกะ (Nako) เมืองที่เราพักแรมเมืองหนึ่ง เป็นคืนที่คิดถึงเขาที่สุด อาจเป็นดัดจริตหลอกหลอนตน เมื่อเห็นภูมิประเทศยิ่งใหญ่และงดงาม เรามักคิดถึงใครสักคนเสมอ พ่อเข้ามาในกล่องความคิดถึงนั้น ระหว่างอดีตบรรณาธิการรูปงามผู้ผันตัวเป็นนักร้องจำเป็นโชว์ลูกคอระดับ 9 ริกเตอร์ในเพลง ‘ตุ๊กตา’ วงคาราบาว โดยมีเสียงกีตาร์ขนาดกะทัดรัดจากพี่หมา แห่ง Bok Bok Bike บรรเลง นาทีนั้นข้าพเจ้าอยากร้องเพลงบางเพลง แต่ไม่อยากรบกวนสุนทรียอารมณ์ของคณะดนตรีประจำคืน
เพื่อนร่วมเดินทางที่ใช้จักรยานบางคนอายุพอๆ กับพ่อ น้าตุ๊-จารึก อ่ำเจริญ อายุ 65 วินเซนต์ เยียว เพียว ตัน ก็เช่นกัน เขาเดินทางมาจากประเทศสิงคโปร์สบทบกับเราที่สนามบินสุวรรณภูมิ ป้าหน่อง-มัลลิกา เจริญวงศ์ อายุ 60 (พวกเขาทั้งสามคือชนชั้นสูงวัยของทริปนี้) แน่นอนว่าทั้ง 3 คือถ่านไฟคุโชนความคิดถึงที่บางครั้งก็มอดไปตามเวลา พวกเขาอายุมากแล้วแต่ร่วมเดินทางในเส้นทางอันตราย ใช้ศักยภาพร่างกายเหมือนคนหนุ่มสาวทำ และบางทีมันอาจไม่เหมาะกับสภาพร่างกายของพวกเขา แต่พวกเขาก็ผ่านมันมาได้ และผ่านมันมาแล้ว (ข้าพเจ้าอาจจะมีโอกาสเล่าเรื่องราวของพวกเขาในโอกาสต่อไป)
ขอ 3 บรรทัดก่อนหน้าและบรรทัดสุดท้ายนี้ เป็นพื้นที่เล็กๆ เป็นพื้นที่กึ่งไพรเวทและพับลิค เป็นรายทางพักเหนื่อยของเส้นทางสปิติ วัลเลย์ เพื่อรำลึกถึงเขา แม้จะพยายามบอกให้ตัวเองเชื่อ เขาไม่ได้อยู่ที่ไหนพอๆ กับเขาอยู่ในทุกที่ หรือจะพูดก็ได้ว่าเขาอยู่ในอาณาเขตของประเทศชื่อความทรงจำที่ไม่มีในแผนที่โลก แต่ความเป็นมนุษย์ที่ยังอ่านผิดอ่านถูก ข้าพเจ้าอยากไปยังสถานที่ที่เขาเคยมีชีวิตอยู่ ให้เป็นหลังพิงแก่ความทรงจำ เมื่อทำเช่นนั้นไม่ได้ข้าพเจ้าจึงสร้าง 4 ย่อหน้าสุดท้ายนี้ให้เราได้ร่วมวงโคจรของกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่ข้าพเจ้าอาจหลงวนอยู่ในนั้นคนเดียว.