‘ฤดูหนาวอันเหงาหงอย…’ อาจเป็นความรู้สึกของหลายคนเมื่อลมเย็นๆ พัดมาตอนปลายปี แต่สภาวะอากาศที่ชวนปวดหัวและตัวเปียกที่เรากำลังจะเจอแบบเต็มร้อยในอีกไม่กี่วัน (หรือมาถึงแล้ว?) ความร้อนแล้งแบบนี้ทำอะไรกับสภาพจิตใจเราได้บ้าง – คงไม่ใช่เหงาๆ เศร้าๆ ซึมๆ แน่ๆ
Seasonal Affective Disorder (SAD) คือ ความผิดปกติทางอารมณ์จากฤดูที่เปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงอากาศเปลี่ยนในฤดูหนาว กลางวันสั้นลง กลางคืนยาวนาน ทำให้คน 4-6 เปอร์เซ็นต์ซึมเศร้า จิตตก รู้สึกเฉื่อยชา โอย…สิ้นหวัง ฤดูนี้บางครั้งแสดงผลเป็นการจำศีลของมนุษย์ กินเยอะ นอนนาน
ไม่ใช่อากาศเย็นเท่านั้นที่ทำให้คนเปลี่ยน ฤดูร้อนก็เป็นสาเหตุของการซึมเศร้าได้เช่นกัน ผลในทางตรงข้ามคือ น้ำหนักลด ความอยากอาหารน้อย อารมณ์ปั่นป่วน นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย บางคนมีอาการที่เรียกว่า ‘smiling depression’ (ยิ้มกลบเกลื่อนความผิดปกติ เป็นการแสดงออกหนึ่งของอาการซึมเศร้า) โดย 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ถูกวิเคราะห์ว่าเป็น SAD คือกลุ่มไม่ชอบซัมเมอร์ และจะเป็นทุกข์มากๆ เมื่อต้องเจอช่วงที่มีแสงสว่างและความร้อนมากที่สุดของปี
ไม่มีงานวิจัยและการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงสาเหตุของซึมเศร้าซัมเมอร์มากนัก ทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจคือ “การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่หน้าร้อนอาจรบกวนนาฬิกาในตัวเรา (circadian rhythm) ซึ่งส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน (melatonin) ฮอร์โมนที่ช่วยรักษาระบบนาฬิการ่างกาย” เดโบราห์ เซรานี นักจิตวิทยาผู้เขียน Depression in Later Life: An Essential Guide อธิบาย
เซรานีเคยทดลองกับหญิงคนหนึ่งซึ่งมีปัญหาด้านอารมณ์เมื่อเจอกับวันฟ้าใส แดดรุนแรง เธอทำ MRI เพื่อดูการทำงานของต่อมไพเนียล (pineal gland) ซึ่งทำหน้าที่หลั่งเมลาโทนิน และพบว่า หญิงคนนั้นมีซิสต์เล็กๆ อยู่ที่ต่อมไพเนียล ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการตอบสนองต่ออากาศร้อนๆ รุนแรงกว่าคนปกติ
เซรานียังบอกอีกว่า การอดรนทนไม่ได้กับความร้อนและเหงื่อชุ่มโชกก็มีส่วนทำให้เกิดความผิดปกติ ทั้งสองอย่างกระตุ้นให้อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เช่น อยู่ไม่สุขและขี้หงุดหงิด
ข้อมูลชิ้นหนึ่งจากวารสาร Science ในปี 2013 ระบุว่า เมื่ออุณหภุมิสูงขึ้น มนุษย์จะกระทำรุนแรงต่อกันเพิ่มขึ้น 4 เปอร์เซ็นต์ และมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคลเพิ่มขึ้นอีก 14 เปอร์เซ็นต์
ที่สำคัญคือ เมื่ออากาศร้อนขึ้น ความต้องการของคนคือ โหยหาความสบาย กระปี้กระเปร่า แฮปปี้ แต่สิ่งที่เป็นกลับตรงข้าม…เฟล เมื่อไม่ได้อย่างใจ ความหงุดหงิดก็ตามมา บางคนต้องทนอยู่กับความรู้สึกนี้เรื้อรังยาวนาน จนพาลเป็นอาการอื่นๆ เช่น ซึมเศร้าเรื้อรัง (dysthymia)
คำแนะนำจากเว็บไซต์ healthcentral.com บอกวิธีรับมือกับซึมเศร้าหน้าร้อนไว้คร่าวๆ เช่น อย่าคิดว่า SAD เป็นเรื่องเล่นๆ, จงสังเกตอาการของตัวเอง, กาวันลงบนปฏิทินเทียบฤดูกับอาการของตัวเอง, ทำความรู้จักสิ่งกระตุ้น SAD และรักษานาฬิการ่างกายให้คงที่เสมอ