เลือกตั้งไต้หวัน 2020: บทสะท้อนความหวาดกลัวผีคอมมิวนิสต์จีน

ในวันเสาร์ 11 มกราคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ได้รับชัยชนะในศึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างถล่มทลายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไต้หวัน มีผู้ออกมาใช้สิทธิเทคะแนนให้พรรคจนชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมากกว่า 8,000,000 เสียง ทุบสถิติเดิมของ หม่า อิงจิ่ว (Ma Ying-jeou) ที่เคยทำไว้ 7,600,000 คะแนนในการเลือกตั้งปี 2008 ทิ้งห่างคู่แข่งอย่าง ฮั่น กั๋วหยู (Han Kuo-yu) จากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ไปกว่า 2,600,000 คะแนนเสียง

เพลงบรรเลงแห่งการบีบคั้นจากจีนแผ่นดินใหญ่

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กระแสความนิยมในตัวประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน กำลังตกต่ำ จากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และการประกาศนโยบายปฏิรูประบบบำนาญที่นำไปสู่การประท้วงต่อต้านภายในกลุ่มฐานเสียงของพรรค DPP จนทำให้พรรครัฐบาลต้องพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นเสียราบคาบในปี 2018 จังหวัดที่เป็นฐานเสียงเดิมของพรรค DPP ได้หันไปสนับสนุนพรรค KMT ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายตรงข้ามแทน นำมาซึ่งกระแสความไม่ไว้วางใจ ความขัดแย้งภายใน ไปจนถึงศึกแย่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคภายใน DPP เมื่อช่วงต้นปี 2019 (ในขณะเดียวกัน ฮั่น กั๋วหยู ก็ใช้โอกาสนี้ในการสร้างคะแนนความนิยมขึ้นมาแทน) โดย ไช่ อิงเหวิน เพิ่งจะกลับมามีคะแนนนิยมนำในช่วงครึ่งปีหลังของ 2019 ที่ผ่านมานี้เอง

เหตุปัจจัยที่นำมาสู่การพลิกกลับมามีคะแนนนิยมอย่างท่วมท้นในครั้งนี้ หลักๆ ก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใด แต่เป็นปัจจัยภายนอกที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ หรือประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นั้นเอง ที่บรรเลงเพลงแห่งการบีบคั้นมายังไต้หวันตั้งแต่หลังช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 ทั้งความพยายามในการกดดันทางเศรษฐกิจอย่างการห้ามให้คนจีนบินมาเที่ยวที่ไต้หวัน มาตรการกดดันทางการทูตในการบีบบังคับให้พันธมิตรของไต้หวันหันไปหาจีนแผ่นดินใหญ่แทน เรื่อยมาจนถึงมาตรการกดดันด้วยการใช้กำลังทหาร ที่ สี จิ้นผิง กล่าวในเชิงข่มขู่เอาไว้ในสุนทรพจน์วันปีใหม่ ปี 2019 แล้วก็ส่งเครื่องบินรบเฉี่ยวเข้าไปยังเกาะไต้หวันในอีกไม่กี่เดือนให้หลัง (ล่าสุดในเดือนที่ผ่านมาก็เพิ่งนำเรือบรรทุกเครื่องบินมาแล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน) เพื่อแสดงความเหนือกว่าในด้านกองทัพ

และสิ่งที่คนไต้หวันรับไม่ได้มากที่สุดกับประเด็นเรื่องสี จิ้นผิง ก็คือ การที่ สี จิ้นผิง พยายามออกมาพูดกดดันแกมข่มขู่ในเกือบทุกๆ โอกาสของการกล่าวสุนทรพจน์ ว่าการรวมชาติ และการนำนโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบ (One Country, Two System) มาใช้กับ ‘ดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจีน’ เป็นสิ่งที่จำเป็น อย่างล่าสุดในสุนทรพจน์วันปีใหม่ ปี 2020 ของ สี จิ้นผิง ที่แม้จะไม่ได้กล่าวถึงไต้หวันในสุนทรพจน์โดยตรง แต่ก็มีการค่อนขอดถึงฮ่องกง (และมีนัยไปถึงไต้หวัน) ว่าให้มาดูกรณีศึกษาของมาเก๊าเป็นตัวอย่างที่เศรษฐกิจนั้นโตวันโตคืน ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี ภายใต้นโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบ

 

กลัวโรคติดต่อเสรีภาพอ่อนแรง

บวกกับกระแสการประท้วงรัฐบาลท้องถิ่นภายในฮ่องกงของเยาวชนที่ต่อต้านกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ลุกลามอยู่นานแรมปี ก็ยิ่งทำให้คนไต้หวันรู้สึกหวาดกลัว ว่าหากไต้หวันหันกลับไปเข้าใกล้จีนเมื่อใด อาจเกิดเหตุการณ์ที่มีลักษณะคล้ายกัน อย่างการเปิดรับอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาภายในไต้หวันมากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองภายในสังคมไต้หวัน เพราะ ณ ปัจจุบันสิ่งที่คนฮ่องกงต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ ก็คือภาวะขาดแคลนเสรีภาพทางการเมือง คนไต้หวันกังวลว่า หากปล่อยให้จีนเข้ามามีอิทธิพลต่อการเมืองภายในมากเกินไป การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของคนไต้หวันอาจถูกลิดรอน และถูกตอบโต้จากรัฐบาลจีนด้วยการอุ้มหาย การลอบทำร้าย และการลักพาตัวไปที่จีนแผ่นดินใหญ่เหมือนอย่างที่ชาวฮ่องกงเคยโดน การยอมรับและการนำนโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบมาใช้จึงไม่เคยอยู่ในหัวของชาวไต้หวันมาก่อน เพราะมันหมายถึงการสละอธิปไตยของตนเองให้กับจีน

อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้คนไต้หวันรู้สึกไม่สบายใจกับจีนแผ่นดินใหญ่ก็คือ กระแสการทำปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ที่รัฐบาลจีนได้ถล่มเข้ามาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ศูนย์ปราบเฟคนิวส์ (FactCheck Center) ของไต้หวันได้ตรวจพบข่าวปลอม และบัญชีเฟซบุ๊คปลอมที่มีต้นตอมาจากจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนมาก ที่เข้ามาปล่อยข่าวลือ ข่าวเกือบจะลือ รวมไปถึงข่าวที่เน้นอารมณ์ทางการเมือง เพื่อแทรกแซงการเมืองภายในของไต้หวัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การปล่อยข่าวลือว่า ใบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย London School of Economics and Political Science ของ ไช่ อิงเหวิน เป็นใบปริญญาปลอม (ทั้งๆ ที่ทาง LSE ออกมายืนยันด้วยตัวเองว่าเป็นของจริง) และไหนจะการสร้างเฟซบุ๊คปลอม และเพจปลอมมาเพื่อเต้าข่าวด้านบวกให้แก่ ฮั่น กั๋วหยู ในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อปี 2018 อีก ทำให้ในปี 2019 นั้นไต้หวันต้องรับมือกับกระแสการสร้างข่าวปลอมอย่างหนัก จนรัฐบาลต้องออกกฎหมายต่อต้านอิทธิพลและการทำ IO ของรัฐบาลจีนในช่วงปลายปี 2019 (Anti-Infiltration Act)

นอกจากปัจจัยที่มาจากรัฐบาลจีนเป็นหลักแล้ว ตัวผู้สมัคร ฮั่น กั๋วหยู จากพรรค KMT เองก็มีปัญหาด้านภาพลักษณ์ซึ่งถูกโจมตีจากฐานเสียงของตนเองเป็นวงกว้างมาก่อนหน้าอยู่แล้วอีกด้วย กล่าวคือ ตัว ฮั่น กั๋วหยู นั้นเพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองเกาสง ในทางตอนใต้ของไต้หวันเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2018 แต่คล้อยหลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือนเขาก็ประกาศตัวที่จะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในศึกเลือกตั้งปี 2020 ทำให้เขาต้องใช้เวลาส่วนมากในการจัดเตรียมแคมเปญและการหาเสียง จนไม่สามารถเข้ามาทำงานที่สำนักงานนายกเทศมนตรี และไม่ได้จัดการปัญหาภายในท้องถิ่นของตนเองอย่างเป็นชิ้นเป็นอันมาตลอด 1 ปี หลังการเลือกตั้งปี 2018

ฮั่น กั๋วหยู ยังเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีที่ไม่ได้เน้นนโยบายในการหาเสียง แต่ใช้การเล่นหน้าเล่นตา และความตลกโปกฮาเป็นหลักในการหาเสียง เมื่อใดก็ตามที่ฮั่นไม่สามารถตอบคำถามจากสื่อมวลชนในด้านนโยบายได้ เขาก็จะทำทีเป็นร้องเพลงกลบเกลื่อน เพื่อสร้างความตลกขบขันในบรรยากาศท่ามกลางสื่อมวลชนที่จ่อไมค์รายล้อมอยู่นั้น นอกเหนือไปจากความตลกขบขันแล้ว สิ่งที่ฮั่นโดนโจมตีมากที่สุดเรื่องหนึ่งในช่วงการหาเสียงก็คือ การนำเรื่องเพศและเรื่องใต้กระโปรงมาผสมเป็นโวหารในการตอบคำถามสื่อ อย่างล่าสุดก็เรื่องการพูดจาเสียดสีคนไต้หวันจำนวนมากที่เป็นฐานเสียงให้แก่พรรค DPP ซึ่งมีความต้องการจะแยกตัวออกห่างจากจีน ว่าเป็นสิ่งที่ “น่ากลัวยิ่งกว่าโรคซิฟิลิส”

โดยสิ่งที่ทำให้คนไต้หวันหวาดผวามากๆ ในการหาเสียงของฮั่นก็คือ การที่เขาพยายามหาเสียงในเชิงสนับสนุน เข้าข้าง และอวยอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่อย่างสุดโต่งอยู่ตลอดเวลา โดยนำประเด็นทางด้านการค้า และการส่งออกเป็นนโยบายชูโรง (เพราะในช่วงปี 2016 เป็นต้นมาหลัง ไช่ อิงเหวิน ขึ้นเป็นรัฐบาลนั้น ยอดการส่งออกตกต่ำลง) แถมยังพยายามบินไปพบกับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 2019 เพื่อส่งสัญญาณความเป็นมิตรและประกาศถึงการที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ให้การสนับสนุนเขาอย่างเต็มกำลังอีกด้วย

พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้คนไต้หวันจำนวนมากต่างออกมาโจมตี และไม่เห็นด้วยกับเขา จากการที่ฮั่นเลือกที่จะใช้นโยบายเศรษฐกิจหาเสียงมากจนเกินไป จนไม่ได้สนใจประเด็นในด้านความมั่นคง และความปลอดภัยของไต้หวัน ที่อาจถูกคุกคาม และครอบงำโดยอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่หากไต้หวันเปิดหน้าพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับจีนมากเกินไป ในสายตาของคนไต้หวันจำนวนมาก ฮั่น กั๋วหยู จึงเสมือนเป็นนักการเมืองที่ขายชาติ ไม่ต่างอะไรกับอดีตประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ที่คนไต้หวันเคยกลัวว่าจะยกไต้หวันใส่พานไปให้รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ จนนำไปสู่ขบวนการประท้วงครั้งใหญ่เมื่อปี 2014 (The Sunflower Student Movement)

 

เล่นกับความกลัว

ปัจจัยประการสุดท้ายก็คือ ความสามารถในการบริหารความเสี่ยงและการเล่นเกมทางการเมืองของตัว ไช่ อิงเหวิน เอง ตั้งแต่เริ่มเข้ามาบริหารรัฐบาลในปี 2016 ตัวไช่นั้นรู้ดีว่าทางรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่มีความไม่พอใจในจุดยืนของพรรค DPP เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่มีแผนที่จะกดดัน และใช้มาตรการทางเศรษฐกิจกับไต้หวัน ไช่จึงตัดสินใจงัดเอานโยบาย New Southbound Policy ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้ในการรับมือมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจจากจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยการหันหน้าไปหาลูกค้าจากกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และโอเชียเนียแทน เพื่อที่จะตีตัวออกห่าง และลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากจีนแผ่นดินใหญ่ หากเกิดกรณีที่จีนตั้งใจโจมตีไต้หวันด้วยมิติทางเศรษฐกิจขึ้นมาจริงๆ ความเสียหายจะได้จำกัดวงให้มากที่สุด

ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจ เพราะในช่วงที่ไช่ขึ้นเป็นรัฐบาลนี้ นักท่องเที่ยวขาเข้าจากจีนแผ่นดินใหญ่มีอัตราลดลงจริง แต่อัตราขาเข้าจากนักท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ ในเอเชียมีสถิติเพิ่มขึ้นสวนทางกับนักท่องเที่ยวจากจีน โดยเฉพาะเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ และ 10 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ (สถิตินักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เข้ามาในไต้หวันนั้นทะลุยอด 2,000,000 รายเป็นครั้งแรก) ประจวบเหมาะกับพิษของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ทำให้บริษัทและกลุ่มธุรกิจสัญชาติไต้หวันต้องอพยพย้ายฐานการผลิตหนีกลับมายังไต้หวันพอดี ทำให้ ไช่ อิงเหวิน สามารถนำสถานการณ์เหล่านี้มาบรรจุรวมเป็นผลงาน และความสำเร็จภายในรัฐบาลเพื่อใช้หาเสียงได้ไม่ยากนัก

ถึงแม้ยอดการส่งออกจะไม่ค่อยเติบโตนัก เพราะผลจากการความสัมพันธ์ที่ถอยหลังระหว่างจีนและไต้หวัน แต่เมื่อหันไปดูที่ตัวเลขผลงานทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ไช่ อิงเหวิน ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาก็จะพบว่า อัตราการว่างงานนั้นต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี (3.8 เปอร์เซ็นต์) รวมไปถึงอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าแรงที่ 7 เปอร์เซ็นต์ ที่ถือว่าเติบโตดีที่สุดในรอบ 20 ปี บวกกับความพยายามของไช่ ในการเข้าหาสหรัฐอเมริกาและประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงพอทำให้เห็นภาพรวมได้ว่า ไช่ อิงเหวิน ไม่ได้กำลังตีตัวออกห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่โดยไม่มีแผนสำรองอะไรรองรับ หากแต่ไช่นั้นกำลังค่อยๆ กระจายความเสี่ยง และเพิ่มความหลากหลายในนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและการค้าของไต้หวัน เพื่อที่ในวันข้างหน้าไต้หวันจะได้มีการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากจีนแผ่นดินใหญ่น้อยลง

และที่จะละเลยไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยก็คือ การรู้จังหวะ และการจับกระแสทางการเมือง ว่าสถานการณ์ไหนควรเงียบ และสถานการณ์ใดควรฉวยโอกาส ซึ่งวิธีที่ ไช่ อิงเหวิน ได้ใช้ในการฉวยโอกาสเรียกคะแนนความนิยมได้สำเร็จด้วยก็คือ การเพิ่มปริมาณความหวาดกลัวในกลุ่มคนไต้หวันด้วยกันเอง (fearmongering) เมื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวสุนทรพจน์ข่มขู่เรื่องการรวมชาติกับไต้หวัน ไช่ อิงเหวิน ก็ผสมโรงใช้กระแสนั้นในการสร้างความหวาดกลัวและระแวงจีนแผ่นดินใหญ่ พอมีเหตุการณ์การประท้วงที่ฮ่องกง ไช่ อิงเหวิน ก็ใช้กระแสความไม่เป็นประชาธิปไตยในนโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบ มาปั่นให้ฐานเสียงของตนเองมีความรู้สึกร่วม และหวาดระแวง กลัวว่าหากจีนเข้ามามีอิทธิพลในไต้หวันมากเกินไป คนไต้หวันจะต้องเจอภัยแบบคนฮ่องกง ทีนี้พอรัฐบาลจีนทำท่าจะเอากองทัพเรือ กองทัพอากาศบินมาขู่ ในน่านฟ้าของไต้หวัน ไช่ อิงเหวิน ก็หาเรื่องเพิ่มงบกลาโหมได้ถูกจังหวะ กลายเป็นว่า ไช่ อิงเหวิน นั้นเป็นฮีโร่ที่ปกป้องอธิปไตยในสายตาของคนไต้หวันไปโดยปริยาย

โดยสรุปแล้วชัยชนะของ ไช่ อิงเหวิน ในศึกการเลือกตั้งปี 2020 นี้ จึงเป็นเหมือนกระจกสะท้อนของกระแสความหวาดกลัวอิทธิพลของรัฐบาลจีนในฐานะเพื่อนบ้านที่พร้อมจะคุกคามไต้หวันอยู่ในทุกโอกาส และในขณะเดียวกันก็เป็นบทพิสูจน์ความสามารถของ ไช่ อิงเหวิน ในการจับกระแสและใช้สภาพแวดล้อมทางการเมืองภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และภูมิศาสตร์การเมืองของโลกให้เป็นประโยชน์ในการบ่มเพาะตัวแปรในการชนะเลือกตั้งของตนเองอย่างลงตัว ไม่ว่าจะในเรื่องของการปลุกกระแสเกลียดจีนในกลุ่มฐานเสียง หรือแม้แต่แผนการในการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของไต้หวันอย่างเป็นระบบนั้นเอง

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า