มันเป็นบ้านซึ่งมีผ้าใบขึงเป็นหลังคา บ้างก็ปล่อยพื้นที่ให้สายตาลอบมองฟ้าได้โดยง่าย ผนังฝั่งหนึ่งเป็นแผงเหล็กอีกฝั่งเป็นต้นมะขาม แขกเหรื่อที่แวะมาเยือนมีทั้งนักกิจกรรม นักวิชาการ สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนายที่หมุนเวียนเปลี่ยนหน้ามาพูดคุย พื้นของบ้านปูด้วยกระเบื้องอย่างดีแม้ว่าบางคนจะบอกว่านี่คือทางเท้าแต่ตอนนี้มันเปลี่ยนสถานะแล้ว บ้านประดับประดาด้วยผ้าดิบหลายผืนซึ่งถูกเขียนข้อความขึงอวดใครต่อใคร อักษรไม่ได้เป็นวาทะของนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่มีใจความบ่งบอกความเดือดร้อนและขมขื่นของคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเขาเอง และในบางข้อความเหล่านั้นมีบางบรรทัดบอกว่าพวกเขาเป็นใคร
เป็นอีกครั้งที่ ‘ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)’ ซึ่งเป็นเครือข่ายคนจนและผู้ทุกข์ยากจากทั่วประเทศรวมกลุ่มกันทำงานเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม ครั้งนี้พวกเขาใช้ทางเท้าหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นที่มั่น ก่อนเดินทวงถามตระเวนเคาะประตูถึงแต่ละกระทรวงเพื่อขอคืนความสุขให้คนจน หรืออย่างน้อยก็อยากเห็นความคืบหน้าจากการร้องเรียนปัญหาอย่างยาวนาน
‘หมู’ ทวีศักดิ์ มณีวรรณ์ ผู้ประสานงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) อยู่ที่นั่น มันเป็นวันที่สามของการชุมนุมซึ่งมีเป้าหมายอย่างน้อย 15 วัน เรามาพบเขาขณะที่เจ้าตัวกำลังเอนกายลงนอนใต้ผืนผ้าใบในบ่ายวันที่ 4 พฤษภาคม เสียงของเขาแหบแห้งแต่ก็ชัดพอที่จะเล่าเรื่องราวให้ฟังแบบบรรทัดต่อบรรทัด
…..
เกิดอะไรขึ้นกับชาวบ้านแต่ละพื้นที่จึงทำให้ P-Move ต้องเดินทางเข้ามาปักหลักชุมนุมที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง
มีประเด็นหลักๆ คือเรื่องที่ดินและทรัพยากร และมีบางส่วนที่เป็นเรื่องสัญชาติ ซึ่งเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลนี้ แม้จริงๆ แล้วปัญหาของ P-Move ก็มีมาก่อนหน้าในหลายรัฐบาลซึ่งไม่ได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ตามก็ยังมีความคืบหน้าในบางส่วน แต่พอถึงรัฐบาลนี้การแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะเรื่องของสิทธิชุมชน การจัดการที่ดินและทรัพยากร มันถูกลิดรอนไป อาจเพราะเป็นรัฐบาลที่เข้ามาโดยการรัฐประหาร ทำให้การเรียกร้องของประชาชนดูเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาล ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขบวนการภาคประชาชนขยับตัวยากด้วย
ครั้งนี้เรามายื่นหนังสือ เพราะว่าในหลายพื้นที่เกิดเหตุการณ์จับกุม ดำเนินคดี ยึดที่ดิน นี่คือเรื่องหลักๆ ก็มายื่นหนังสือเพื่อให้ไปแก้ไขปัญหา ซึ่งทุกครั้งที่มาก็จะมีคนรับหนังสือ แล้วก็บอกว่าจะส่งเรื่องไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ปรากฏว่าระหว่างที่ส่งหนังสือไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นเรื่องก็เงียบหาย แต่ห้วงเวลาเดียวกันในพื้นที่ก็มีการปฏิบัติงานของบางหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกรมที่ดิน กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ นายทุน กลุ่มอิทธิพล กลับเคลื่อนไหวในพื้นที่ ชาวบ้านที่เดือดร้อนอยู่แล้วยิ่งเดือดร้อนไปใหญ่
ที่ผ่านมากระบวนการแก้ไขปัญหาล่าช้า แต่ปฏิบัติการที่ไปทำกับชาวบ้านในพื้นที่นั้นกลับดำเนินการอย่างต่อเนื่อง บางคนตอนที่มาร้องเรียนนั้นยังไม่มีคดี แต่พอกลับไปแทนที่ปัญหาจะได้รับการแก้ไข กลับกลายเป็นจำคุกก็มี มันมีคนที่ถูกจำคุกในคดีที่เรียกว่า ‘บุกรุกบ้านตัวเอง’ อันนี้เป็นกรณีที่เกิดขึ้นที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ก็คือกรณี นายอดินันท์ เลายี่ปา ที่ไปเผาใบไม้ทำแนวกันไฟข้างบ้านตัวเองเพราะกลัวไฟป่าจะเข้าบ้าน แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวไป (แล้วแจ้งข้อหาบุกรุกพื้นที่ในเขตป่าสงวน)
ก่อนหน้านั้นเราก็มาแล้วก็เรียกร้องให้แก้ไข ปรากฏว่าก็มีการสร้างกลไกลขึ้นมาโดยคำสั่งของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าผมจำไม่ผิดคำสั่งนี้ออกเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 ตั้งแต่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีการเซ็นคำสั่งนี้แต่งตั้งขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม แล้วก็มีการประชุม แต่ก็เป็นเพียงการประชุมเพื่อติดตาม แต่ปัญหาไม่เคยแก้ เราก็เลยคิดว่าถ้าปล่อยแบบนี้ไปก็จะไม่มีการแก้ไขปัญหาได้จริง เราเลยต้องขยับ เพราะชาวบ้านนั้นเดือดร้อนหนัก เรามาคุย มาเจรจา ก็ได้แค่ยื่นหนังสือ เราก็เลยถามพี่น้องว่าจะเอาอย่างไร ชาวบ้านก็บอกว่ามันทนไม่ไหวแล้วต้องเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ นี่คือสิ่งที่ทำให้มารวมตัวกัน ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อจะติดตามกับท่านนายกรัฐมนตรี นี่คือเป้าหมายสูงสุด เพราะเราเข้าใจว่าหน่วยงานในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรฯ ก็ไม่สามารถแก้ไขในระดับพื้นที่ได้ ชาวบ้านต้องมาหาคนที่มีอำนาจสูงสุด คนที่รับผิดชอบ มีกิจกรรมที่ต้องไปติดตามแต่ละกระทรวงด้วย นี่คือเบื้องต้นที่เราวางแผนกันไว้
เป้าหมายสูงสุดคือมาเจอ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา?
ถูกต้องครับ คนที่เราอยากเจอมากที่สุดคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ที่ผ่านมาก็อาจจะเป็นที่น่าน้อยใจ เพราะแม้แต่รัฐมนตรีประจำกระทรวงก็ยังเจอยากมากๆ
พลเอกประยุทธ์นั้นถามว่าเราจะมีโอกาสได้เจอไหม ก็ริบหรี่เหลือเกิน ดูตรงกันข้ามกับที่ออกสื่อ พลเอกประยุทธ์เจอกับดาราเจอกับคนนั้นคนนี้ คนจนอย่างเราก็น้อยอกน้อยใจเหมือนกัน
แล้วเราก็ไม่รู้ว่าปัญหาที่เคยส่งหนังสือจ่าหน้าซองเรียนถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่รู้ว่าท่านได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ของชาวบ้านไหม เพราะว่าท่านเองก็สัญญาว่าจะคืนความสุขให้กับประชาชน สโลแกนนี้ฟังจนคุ้นหูตั้งแต่แรก แต่ตอนนี้คิดว่าความสุขไม่ได้คืนครับ มีแต่ความทุกข์ที่เพิ่มขึ้น ชาวบ้านเองก็ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเจอกับท่านให้ได้
เราเข้าใจหน่วยงานกับภาวะสถานการณ์ทางการเมืองที่บอบบางในปัจจุบัน แต่ก็จะพยายามติดตามกับทุกที่ก่อน ถ้ากระทรวงไหน หน่วยงานไหน พื้นที่ใด สามารถแก้ไขปัญหาเบ็ดเสร็จได้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปพบท่านนายกฯ แต่ปรากฏว่าเราไปแต่ละที่ เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ยังมีปัญหาเดิมๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะว่ามันไปติดขัดข้อกฎหมาย อันนี้สำคัญ เพราะว่าข้อกฎหมายเดียวกันนี้หน่วยงานในพื้นที่ก็บังคับใช้ และดูเหมือนว่าจะมีพลังมากขึ้นเมื่ออ้างคำสั่ง คสช. “ผมต้องทำตาม คสช. นะ” อันนี้ก็ทำให้เขายิ่งใช้กฎหมายแบบเต็มที่
ในบรรดาเรื่องต่างๆ ที่รุมเร้าและเรื้อรัง ปัญหาที่ต้องเร่งแก้โดยด่วนคืออะไร
มันเป็นเรื่องประเด็นเล็กๆ ถ้ามองภาพรวมของทั้งประเทศ ก็คือการดำเนินคดี จับกุม ไล่ฟัน ยึดที่ของชาวบ้าน ซึ่งมีสองส่วนใหญ่ๆ
ส่วนแรกคือที่อยู่ในเขตป่าซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นนโยบายของรัฐ ที่จริงก็อาจจะไม่ใช่แค่นายกรัฐมนตรีที่อยากได้ผืนป่าคืน ทุกคนก็อยากได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการออกนโยบายทวงคืนผืนป่ามา ปฏิบัติการก็อ้างคำสั่งที่ 64/2557 คือใครที่มาบุกรุกก็ให้จัดการอย่างเด็ดขาดเลย ปรากฏว่าคนที่โดนส่วนใหญ่แทบจะเป็นชาวบ้านทั้งหมดเลย ทั้งที่เมื่อก่อนอยู่ในการเจรจากับรัฐบาลอยู่ แต่สำหรับรัฐบาลนี้พวกเขาถูกจับ ถูกไล่รื้อ และถูกยึดที่ดินเลย เราต้องให้หยุดปฏิบัติการนี้ นี่คือสิ่งที่ต้องทำด่วน แล้วจากนั้นก็ต้องมาดูว่าที่ดินที่อยู่ในเขตป่า กระบวนการนั้นทำอย่างไรให้ชาวบ้านเองอยู่ได้ ทรัพยากรอยู่ได้ ที่จริงแล้วชาวบ้านอยู่ในป่าก็ดูแลทรัพยากร บางที่อยู่มา 100-200 ปี มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ แต่กลับไปบอกเขาว่าป่านี้เป็นของรัฐ
เมื่อสักครู่ที่ไปกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเจ้าหน้าที่ของกระทรวงก็บอกว่า “มันเป็นพื้นที่ของรัฐ” พอพูดว่าเป็นพื้นที่ของรัฐ ทัศนคติของที่มีต่อคนที่อยู่กับป่าก็กลายเป็นบุกรุก แต่ไม่เคยคิดเลยว่าเขาคอยดูแล เขาคอยทำให้ป่านั้นมีอยู่ เพราะคนเหล่านี้เขาเชื่อว่า “อยู่กับป่าต้องรักษาป่า อยู่กับน้ำต้องรักษาน้ำ” นี่คือสิ่งสำคัญที่เขาอยู่ เพราะฉะนั้นชุมชนที่เขามีวิถีชีวิต ที่สามารถดูแลทรัพยากรได้ ก็ต้องสนับสนุนให้เขาอยู่ได้ในระยะยาว
อีกส่วนหนึ่งคือที่ดินของเอกชน มีเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ต้องไปตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ของนายทุนทับที่ดินชาวบ้าน มีกรณีบ้านดอยเทวดา ตำบลสบบง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา
มีการตรวจพบข้อพิรุธในการออกเอกสารสิทธิ์ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แต่ปรากฏว่าเรามาตามเรื่องในรัฐบาลนี้ เขาบอกว่ารายงานยังมาไม่ถึงเลย
เราก็ถามว่าเพราะอะไร แล้วการประสานงานที่คุยกันมาตลอดเวลาไม่ได้เกิดผลหรือว่าไม่ได้มีการติดตาม เราก็มองว่านี่เป็นการละเลยทิ้งคนจนหรือเปล่า สิ่งนี้ทำให้หลายๆ พื้นที่ซึ่งมีกรณีเดียวกันเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ พอนายทุนหรือเอกชนฟ้องชาวบ้านเรื่องการบุกรุก มันก็เร็วมากสำหรับคนจนที่จะเข้าคุก อันนี้คือกรณีที่เคยเป็นข่าวคือบ้านแพะใต้ ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ‘ลุงสุแก้ว ฟุงฟู’ แกนนำสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) นั่นก็ติดคุกไปหนึ่งปี นี่คือกรณีของการออกเอกสารสิทธิ์ ซึ่งเราก็มองว่าถ้านโยบายการแก้ไขปัญหาล่าช้า ชาวบ้านก็จะติดคุกติดตะราง ถูกไล่รื้อ ยึดที่ดินแบบนี้ต่อไป แล้วมันไม่ได้จบแค่นั้น ปัญหามันส่งผลต่อครอบครัวต่อลูกต่อหลานอีก เพราะฉะนั้นถ้านโยบายล่าช้า ‘เดี๋ยวผมจะแก้ไขให้’ ถ้าใช้คํานี้กับชาวบ้านมันไม่สามารถแก้ไขได้เพราะว่าสี่ปีมาก็ฟังแต่คำนี้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น
ที่ดินสาธารณะก็เหมือนกัน ชาวบ้านไปอยู่ก็ถูกไล่ถูกจับ มีการเสนอให้แก้ไขแล้วก็รับเรื่องแก้ไข แต่รัฐบาลนี้สี่ปีที่ผ่านมาเรื่องก็ยังเหมือนเดิม ถามเมื่อไหร่ก็บอกว่า “ลงพื้นที่ตรวจสอบ” แต่ระหว่างตรวจสอบชาวบ้านก็ถูกไล่ ถูกแจ้งความ นี่คือสิ่งที่มันต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน แต่เราก็มองระยะไกลนะ เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาทีละปัญหาได้ เพราะว่าวันนี้แก้ไขปัญหาของ นาย ก. ได้ เรื่องของ นาย ข. ก็จะขึ้นมา แล้วไหนจะมี นาย ค. อีก คือไม่มีที่สิ้นสุด แต่มันก็มีส่วนที่รัฐบาลต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
แต่ระยะยาวนั้น เรื่องของการปฏิรูปซึ่งรัฐบาลนี้เข้ามาจะปฏิรูปประเทศไทย เราคิดว่ามันอาจจะดีนะ แต่พอเห็นแล้วก็พบว่าเรื่องการปฏิรูปต่างๆ ก็ยังมีปัญหาอยู่ เพราะว่าเสียงตอบรับจากสังคมนั้น ก็มีคนมองว่าไม่ได้มีการปฏิรูปอย่างแท้จริง เอาเฉพาะกลุ่มเราเองก็มองว่าเรื่องการปฏิรูปที่ดินนั้นรัฐบาลนี้ยังไม่กล้าไปแตะต้อง
เราพยายามขยับเรื่องภาษีอัตราก้าวหน้า ใครมีที่ดินมากให้เสียภาษีเยอะ เพื่อจะได้คายที่ดินออกมา ถ้าเขาไม่คาย ก็เอาเงินภาษีนั้นออกมาเพื่อพัฒนาประเทศ มาช่วยคนจน นี่คือสิ่งที่เราพยายามผลักดัน แต่ต้องถามว่า
คนส่วนใหญ่ที่ถือครองที่ดินจำนวนมากนั้นเป็นคนกลุ่มไหน ที่นั่งอยู่ในรัฐบาลขณะนี้แต่ละคนก็มีที่ดินไม่น่าจะน้อยแล้ว กลุ่มทุนใหญ่ๆ ในบ้านเราที่พอรู้จักกัน บางรายมีถึง 600,000 กว่าไร่ แล้วมาย้อนมองชาวบ้านที่ไม่มีที่ดิน ไม่มีโฉนด ไม่มีเอกสารสิทธิ์ คือมันแตกต่างกันลิบลับเลย
รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติเลยเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ทำไปทำมา สี่ปีนี้ความเหลื่อมล้ำเรื่องของที่ดินและทรัพยากรมันยิ่งสูงขึ้นและห่างขึ้นเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่บอกว่ารัฐบาลไม่ได้แก้ไขปัญหาเหล่านี้เลย มันส่งผลกับชาวบ้าน กับคนจน ไม่แก้ไขไม่พอ แต่ปัญหายังซ้ำเติมอีก
แล้วยังมีเรื่องของคนไร้สัญชาติที่ต้องเร่งรัด การตรวจ DNA พ่อแม่เป็นไทย ลูกก็ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนและได้สัญชาติไทย เรื่องพวกนี้ต้องทำด้วย เพราะถ้าไม่ทำอย่างเร่งด่วนคนพวกนี้ก็หมดสิทธิ์ ปกติคนที่มีบัตรแต่มีฐานะยากจน ก็ดูเหมือนจะเป็นพลเมืองอีกชั้นหนึ่งแล้ว เวลาต้องเข้าถึงบริการต่างๆ ก็ลำบาก แล้วคนที่ไม่มีบัตรซึ่งเขามีสิทธิ์ที่จะมีบัตรจะยากลำบากเพียงใด ที่ผ่านมากระบวนการออกบัตรนั้นช้ามาก ยิ่งแก้ไขปัญหาช้า สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล สิทธิ์ในการเป็นคนไทย มันลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เรื่องนี้เราก็จำเป็นต้องผลักดัน
เรามองว่า ภายในการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ (8 พฤษภาคม) เรายังรอฟังผล จากสองวันที่ผ่านมาที่เราเดินทางไปแต่ละที่ ถ้าบอกว่าพอใจไหมก็ยังไม่เป็นผลที่น่าพอใจ แต่เราจะลองดูว่าแต่ละหน่วยงาน แต่ละกระทรวงนั้น เขาสามารถแก้ไขอะไรได้บ้าง แล้วก็มาดูว่าอันไหนที่ยังแก้ไขไม่ได้ก็ต้องไปขยับกับนายกรัฐมนตรี
การสู้ของคนจนเกี่ยวอะไรกับคนเมือง
จริงๆ แล้วเราทำเพื่อทุกคน อย่างเรื่องการปฏิรูปที่ดิน เราก็บอกว่าลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม กระจายการปฏิรูปที่ดิน นี่คือสิ่งที่เราพยายามผลักดัน เราไม่ได้บอกว่าทำให้กับคนที่ไม่มีเงินหรือคนจนเท่านั้น แต่ว่าสิ่งที่เราพยายามผลักดันนั้น อย่างเรื่องของการกระจายการถือครองที่ดินโดยใช้ภาษีอัตราก้าวหน้า ให้ไปกดดันคนที่มีที่ดินเยอะคายที่ดินออกมา แล้วพยายามทำให้ที่ดินไม่กลายเป็นสินค้า ถามว่าคนเมืองจะได้ประโยชน์ไหม ต้องเข้าใจว่าตอนนี้เรามีคนจากไม่กี่ปีที่ผ่านมา 65 ล้านคน ตอนนี้มีอยู่ 70 ล้านคน เพิ่มมาหลักล้านคน แต่ที่ดินไม่ได้เพิ่ม จำนวนคนเพิ่ม ที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศกลับไปอยู่กับอีกคนหนึ่ง
เราก็พยายามทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน ซึ่งหากเกิดกฎหมายนี้ขึ้นมาผมก็คิดว่าคนเมือง คนทุกคน สามารถเข้าถึงที่ดินได้ง่ายมากขึ้น มีที่ดินราคาถูกลง ตอนนี้ที่ดินกลายเป็นสินค้า ราคาก็ปั่นขึ้นเรื่อยๆ ใครมีเงินก็ซื้อได้ แต่ถามว่าตอนนี้เศรษฐกิจดีไหม ผมว่าน่าจะเงียบ สภาพคล่องต่างๆ ก็ท่าจะแย่
เงินเดือนเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์เอามาผ่อนบ้าน ผ่อนที่ดิน ผ่อนคอนโด แล้วที่เหลือคืออะไร คือเงินที่ต้องใช้ต้องกินต้องอยู่ เราทำงานโดยที่เงินส่วนใหญ่เอาไปใช้กับการซื้อที่ดิน ซื้อบ้าน ซึ่งมีราคาแพงโดยกลไกตลาด นี่คือสิ่งที่เราถูกกระทำอยู่ ซึ่งคนเมืองโดนทุกคน
การชุมนุมรอบนี้คิดว่าได้แค่ไหนถึงจะเรียกว่าน่าพอใจ
เราประเมินกันทุกวันครับ สองวันที่ผ่านมาก็จะบอกว่าเหมือนเดิม มาก็เหมือนเดิม บอกว่าจะจัดการให้ เดี๋ยวไปติดตามให้ เดี๋ยวจะรับเรื่องให้ เราก็ประเมินว่าไม่เป็นไร อันไหนที่เขาสามารถตัดสินใจได้แก้ไขได้ก็แก้ไขเลย ก็ส่งไปให้คนที่มีอำนาจซึ่งคนที่มีอำนาจสูงสุดก็คือนายกรัฐมนตรี วันนี้เราติดตามแต่ละกระทรวงขอให้แก้ไขปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ก่อน ปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ก็ให้ส่งเรื่องไปที่นายกรัฐมนตรีเพื่อเข้า ครม. วันที่ 8 พฤษภาคม นี่คือเป้าที่เราวางไว้
พอถึงวันที่ 8 เราจะติดตามอีกครั้ง เพราะว่าเขารับปากทุกเรื่อง เขาจะส่งไปปรึกษารัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เราก็จะรอฟังวันที่ 8 ก่อน ถ้าผลลัพธ์ออกมาไม่ได้อย่างที่เราคาดหวังอย่างที่ตั้งเป้าไว้ก็ต้องเจอนายกรัฐมนตรี นี่คือเราตั้งเป้าไว้แล้ว เราขออนุญาตการชุมนุมอย่างถูกต้อง คือขอมา 15 วัน วันนี้แค่สามวัน พี่น้องชาวบ้านบอกว่าไม่เป็นไร ก็จะได้เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาของแต่ละหน่วยงานเป็นอย่างไร วันนี้ถ้าเขาตั้งใจแก้ไขเขาแก้ไปแล้ว ชาวบ้านไม่ต้องมาหรอก ถ้าเขาแก้ไม่ได้ในระดับกระทรวงก็ต้องให้นายกฯ ผู้มีอำนาจสูงสุดมาแก้ไข ต้องลองดูว่านายกฯ จะลงมาเจอกันได้ไหม นี่ก็เป็นการพิสูจน์นายกรัฐมนตรีคนนี้ด้วยว่าสิ่งที่เขาพูดมาว่าจะปฏิรูปประเทศ บอกว่าจะคืนความสุขให้ประชาชนนั้นเขาจะทำจริงๆ หรือเปล่า
เรื่องราวความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจะผลักไปสู่นโยบายของพรรคการเมืองที่กำลังตื่นตัวกันได้ไหม
จริงๆ แล้วเราก็รอการเลือกตั้ง ก็ติดตามเรื่องการเมืองของไทยว่าจะเป็นยังไง เรารอคอยว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงตัวแทนที่จะเข้าไปบริหารประเทศที่มาจากประชาชน มาจากประชาธิปไตยจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ยังเศร้าใจอยู่ หลายคนก็คิดว่าทำไมยังต้องเลื่อนอีก ตั้งใจจะยืดออกไปหรือเปล่า แต่ว่าการเตรียมตัวของเครือข่ายภาคประชาชนโดยเฉพาะ P-Move ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาข้อเสนอ เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เพื่อจะให้เป็นนโยบายหลักของพรรคการเมืองที่จะเข้าเป็นรัฐบาล
โดยวิธีการก็คือต้องผลักดันให้พรรคการเมืองอย่างน้อย 5-6 พรรค ให้เขารับนโยบายของเราที่เราทำมา โดยเฉพาะเรื่องของการปฏิรูปที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นในการที่จะนำไปเสนอหรือเจรจาก็คงต้องดูฐานของเราด้วย จริงๆ แล้วฐานมวลชนของพวกเราเยอะนะ มีคนที่เดือดร้อน มีเกษตรกร มีคนจนเยอะมาก แล้วเขาก็ต้องการการปฏิรูปที่ดิน แล้วผมเชื่อว่าถ้าพรรคไหนต้องการชูเรื่องพวกนี้เป็นหลัก มองเรื่องของคนจนและทรัพยากร มองเรื่องการจัดการบริหารที่ดิน มองเลือกสิทธิชุมชน แล้วจะไปขยับให้มีการจัดการกฎหมายและการบริหารประเทศที่มาผลักดันให้นโยบายของภาคประชาชนได้ขับเคลื่อนจริง ผมเชื่อว่า P-Move จะเป็นตัวหลัก และเป็นตัวแปรสำคัญที่จะผลักดันให้เขาเป็นรัฐบาลต่อไป
อาจจะต้องฝากกับหลายๆ พรรคว่า การปฏิรูปที่ดินและทรัพยากร เรื่องความเดือดร้อนนั้นมีอยู่จริง รัฐบาลนี้บอกว่าจะปฏิรูปทุกเรื่อง แต่เรื่องปฏิรูปที่ดินกลับทำไม่ได้ ถ้าพรรคไหนที่ชูเรื่องการปฏิรูปที่ดินชัดเจน ทุกคนเข้าถึงได้ คนเมืองเข้าถึงได้ คนจนเข้าถึงได้ คนทุกประเภทเข้าถึงได้ ผมเชื่อว่าจะเป็นพรรคที่มีความโดดเด่นในการเมืองไทยในอนาคตนี้