ฝ่าเท้าและแผ่นหลัง ‘ม็อบชาวนา’ อีกครั้งของการทวงสัญญาแก้หนี้เกษตรกร

8 เดือน คือเวลาของการรอคอยคำสัญญาของรัฐบาลที่ให้ไว้ ว่าจะลดหย่อนหนี้สินอันล้นพ้นตัว ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำและย้ำด้วยโรคระบาด อุทกภัย ราคาผลผลิตตกต่ำสวนทางกับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น ชาวนานั่งรอความหวังอันเหือดแห้ง ความอดทนร้าวระแหง หลายสิ่งหลายอย่างอาจรอคอยได้ แต่ปากท้องและชีวิตที่กำลังหมดหนทางนั้นไม่สามารถรอคอยมากไปกว่านี้ 

นั่นจึงทำให้ชาวนากว่า 36 จังหวัด รวมตัวกันเพื่อกลับมาทวงคำสัญญา และเป็นอีกครั้งที่ฝ่าเท้าก้าวมาไกลบ้าน แผ่นหลังนอนกลางฝุ่นบนพื้นปูนเมืองหลวง

เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2565 ผมมีโอกาสพบกับกลุ่มชาวนาจากหลายจังหวัด และพูดคุยกับ ชรินทร์ ดวงดารา ผู้นำกลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) ในครั้งนั้นพวกเขานอนอยู่ริมทางเท้ากรุงเทพฯ ร่วม 2 เดือน เพื่อเรียกร้องคำสัญญาที่เป็นรูปธรรม โดยขอร้องให้รัฐบาลออกมติโอนหนี้จากธนาคารและสถาบันการเงินไปยังกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร รวมถึงทวงถามถึงเงินชดเชยเพื่อฟื้นฟูอาชีพจากราคาผลผลิตตกต่ำ 

ชรินทร์ ดวงดารา

จนเมื่อวันที่ 8 มีนาคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามเอกสารอนุมัติ เสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งเรื่องผ่านเข้าคณะรัฐมนตรี คำสัญญาเกิดขึ้นในตอนนั้น ชาวนานับพันจึงเดินทางกลับบ้านด้วยความหวัง ทว่าสุดท้ายผ่านไปร่วม 8 เดือน ไม่มีสิ่งใดคืบหน้า

ท้องฟ้าจวนมืดแล้ว ตอนผมเดินทางไปถึงหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชาวนาจำนวนมากบ้างนั่งบ้างนอนอยู่ริมถนนราชดำเนินกลาง เหมือนกับครั้งที่แล้ว ผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผมเดินเข้าไปทักทายพี่สาวชาวนาจากจังหวัดอุทัยธานี ถามไถ่การอยู่การกิน พี่สาวบอกกับผมว่าเขาไม่ท้อหรอก เพราะว่าท้อไม่ได้ มีบ้างที่คิดน้อยใจที่ต้องมาทวงถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนกับว่าถ้าชาวนาไม่เข้ามากรุงเทพฯ รัฐและหน่วยงานของรัฐก็คงจะไม่สนใจไยดี จากนั้นก็ชี้ไปยังคุณยายที่นั่งอยู่ถัดไป ผมหันตามและได้รับรอยยิ้มจากคุณยายเป็นของขวัญ 

“นั่นแม่ 83 แล้ว แต่ก็ต้องมา อยู่บ้านไม่มีคนดู ตัวแกก็อยากมาด้วย”

ไม่มีแสงเหลือบนท้องฟ้าอีกแล้ว ผมเดินจากกลุ่มชาวนาจังหวัดอุทัยธานี ไม่นานก็ได้พูดคุยกับชาวนาจากจังหวัดกำแพงเพชร พี่ชายสองคนท่าทีสุภาพบอกผมว่าดีใจที่เห็นคนมาทำข่าว เขาว่าตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาหนนี้ (8 พฤศจิกายน) ยังไม่เห็นสื่อมวลชนเลย พี่ชายหนึ่งในสองคนนั้นพิการที่ขา เดินด้วยไม้เท้าค้ำยัน กล่าวตัดพ้อ

“เราไม่ได้มาร้าย เรามาเพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเหลือชาวนาตามที่ได้บอกเอาไว้ ดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้นทุกวัน คุณกินข้าว เราก็กินข้าว แต่ตอนนี้เราแทบไม่มีจะกิน ผมยังหวังให้รัฐบาลมองเห็นความลำบากของชาวนา แต่บางทีก็คิดว่าจะอยู่ทันเห็นวันนั้นไหม”

ในแสงเลือนรางริมทางเท้า ปรากฏรอยยิ้มของชาวนาให้เห็นเกือบทุกที่ที่เดินผ่าน ผมไม่แน่ใจว่ารู้สึกไปเองหรือเปล่าว่า พวกเขาดีใจที่อย่างน้อยมีคนมาพูดคุย ไถ่ถาม รับฟัง แม้จะเป็นเพียงไม่กี่นาที ผมยังได้พูดคุยกับชาวนาอีกหลายจังหวัด ทั้งสระแก้ว นครสวรรค์ ชัยนาท พิจิตร สิงห์บุรี เมื่อถูกถามว่าเหนื่อยหรือไม่ที่ต้องเข้ามากรุงเทพฯ ครั้งแล้วครั้งเล่า ทุกคนต่างพูดตรงกันว่าเหนื่อย แต่ยังสู้ ผมแวะพูดคุยกับชาวนาอีกหลายคนอยู่พักใหญ่ จากนั้นจึงเดินเข้าไปพบกับชรินทร์ ผู้ชายที่แรกเห็นอาจดูเหนื่อยล้า หากแววตายังคงมุ่งมั่น

“เราต้องมาอีกครั้ง เพราะรัฐไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ ไม่มีการทำสัญญาเหมือนที่บอกไว้ว่าจะทำ ไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย ทุกครั้งที่เราจะเข้ากรุงเทพฯ ถือเป็นเรื่องใหญ่ เราต้องประชุมกัน แล้วก็ประชุมแบบเปิดเผย เขาก็รู้ว่าเราจะเข้ามา เขาถึงได้ลงมือทำกัน แต่มันก็ติดปัญหา เพราะแต่ละหน่วยงานก็ไม่ถอย ต่างคนต่างก็ไม่ยอมรับ 

“พอเราเข้ามาถึงวันแรกก็นั่งคุยเลย โดยมีกระทรวงเกษตรฯ นั่งหัวโต๊ะ ผมถามว่ามันติดขัดอะไร ธ.ก.ส. ติดอะไร เขาบอกว่ามีปัญหา 2 เรื่อง หนึ่ง คือเขาจะเอาดอกเบี้ยจากเงินต้น 50 เปอร์เซ็นต์ที่ชาวบ้านต้องคืน สอง คือเขาไม่สามารถชงเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อขอเงินชดเชยให้ได้ เนื่องจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ยังทำข้อมูลไม่เสร็จ ผมก็ถามว่าทำไมทำไม่เสร็จ นี่มัน 8 เดือนแล้วนะ เพราะคนกลุ่มแรกตามมติ ครม. ที่จะช่วยเหลือมีแค่ 52,000 คน จากตัวเลขเต็มคือ 320,000 กว่าคน 

“ผมก็ถามย้ำอีกว่าทำไมไม่เสร็จ ฝ่ายกองทุนฟื้นฟูฯ ก็อ้างนู้นอ้างนี่ สรุปคือว่ากองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ลงสำรวจ ผมก็บอกว่าเอาอย่างนี้แล้วกัน ทาง ธ.ก.ส. คุณต้องเริ่มนับหนึ่งแล้ว คิดดูแล้วกันว่า ครม. มีมติไปแล้ว 7-8 เดือน แล้วคุณไม่ทำกัน มันหมายความว่ายังไง”

ข้อเสนอของชรินทร์คือ ธ.ก.ส. ต้องทำเรื่องขอเงินชดเชยจากรัฐก้อนแรกก่อน เพื่อจะได้เริ่มทำสัญญากัน ส่วนที่เหลือกองทุนฟื้นฟูฯ ต้องเร่งสำรวจหนี้เกษตรกร โดยขีดเส้นไว้ว่าต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในกลางปี 2566 

“ผมจะไม่กลับจนกว่าจะได้ทำสัญญา ซึ่งคาดว่าจะได้ทำสัญญาสักประมาณกลางเดือนธันวาคมนี้ ดังนั้นผมก็จะปักหลักอยู่ยาวไปเลย ยังไม่กลับ

“วันนี้เขาก็เอาข้อเสนอของผมไปเข้าคณะทำงาน ซึ่งมีตัวแทนกระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรฯ เขาก็มีมติที่เห็นชอบตามข้อเสนอของเรา คือให้เริ่มทำสัญญาเลย ให้ ธ.ก.ส. คิดค่าชดเชยให้กับคนกลุ่มแรก 17,500 ราย แล้วให้กองทุนฟื้นฟูฯ สำรวจคนที่เหลือให้ครบภายในปีหน้า ก็จบ

“แต่ว่าเรื่องนี้ต้องผ่านบอร์ด ธ.ก.ส. ซึ่งเขาจะประชุมวันที่ 21 พฤศจิกายน ผมบอกว่าไม่เป็นไร คุณจะประชุมวันไหนก็ได้ แต่วันที่ 17-19 ที่มีการประชุม APEC ผมจะปักหลักอยู่ตรงนี้นะ แล้วผมจะขึ้นป้ายภาษาอังกฤษด้วย แต่ถ้าอยากให้เราย้ายออกจากตรงนี้ ก็ต้องรีบทำสัญญากันให้เสร็จ เงื่อนไขคือบอร์ด ธ.ก.ส. ต้องเห็นชอบ พร้อมเซ็น ต้องมีสัญญาเป็นรูปธรรม”

หลังฟังเรื่องราวจากชรินทร์ ผมสอบถามไปว่า “ที่ผ่านมารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหาให้ชาวนาบ้างไหม”

“7-8 เดือนที่ผ่านมา คุณปล่อยไปได้ไง แล้วคนที่เป็นประธานกองทุนฟื้นฟูฯ ก็เป็นรองนายกฯ (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์)”

“เมื่อครู่ผมเดินคุยกับพี่น้องชาวนา ส่วนใหญ่ยังดูมีความหวัง แต่ก็เหมือนเหนื่อยใจที่ต้องทิ้งบ้านเข้ามากรุงเทพฯ อยู่บ่อยๆ” ผมถามต่อ

“เป็นเรื่องปกติ แต่ท้อไม่ได้ เพราะพวกเราไม่มีปัญญาใช้หนี้อีกแล้ว ถ้าไม่ใช้วิธีนี้ก็หมดหนทาง ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่สูงจนล้น ทุกคนไม่มีศักยภาพพอที่จะทำงานใช้หนี้แล้ว”

ผมยังสงสัยต่อไปว่า “ถ้ารัฐช่วยเหลือเรื่องหนี้สินได้แล้ว ในระยะยาวรัฐบาลควรจัดการปัญหาของชาวนาอย่างไรต่อไป ทั้งเรื่องนายทุน พ่อค้าคนกลาง การควบคุมราคาผลผลิต”

“พูดตรงๆ นะ รัฐบาลประยุทธ์ผมไม่สนใจเลย ไม่สนใจที่จะเสนอ เพราะเขาเป็นคนไม่ฟังอะไร ผมรอรัฐบาลใหม่ ถ้ารัฐบาลใหม่เข้ามา ผมมีข้อเสนอเยอะ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลนี้ ผมไม่ มันเหมือนเสียของ” ตัวแทนม็อบชาวนากล่าวอย่างมีความหวังถึงรัฐบาลชุดใหม่จากการเลือกตั้งครั้งหน้าในเร็ววันนี้

จรณ์ ยวนเจริญ
มนุษย์ขี้กลัว ผู้ที่กำลังเริ่มต้นเรียนรู้ชีวิตอีกครั้ง ทาสหมาแมวจรจัด สนใจศิลปะ วรรณกรรม และผู้คน แม้จะเข้าหาผู้คนไม่เก่งนัก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า