21 มกราคม 2563 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาจำเลย 5 คน จากกรณีเกี่ยวข้องกับ ‘สหพันธรัฐไท’ โดยหนึ่งในจำเลยคือ ‘นางวรรณภา’ (สงวนนามสกุล) แม่ลูกสองซึ่งมีอาชีพขับจักรยานยนต์รับจ้างฐานอั้งยี่ ตามมาตรา 209 วรรค 1 ว่าผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่
เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยคนละ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 คือ นายกฤษณะ (สงวนนามสกุล) และจำเลยที่ 3 คือ นางประพันธ์ (สงวนนามสกุล) รับสารภาพในชั้นสอบสวน ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 จำคุกคนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญาและยกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 คดีนี้สืบเนื่องจากศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาคดีครอบครองใบปลิวและเสื้อดำที่มีสัญลักษณ์ ‘สหพันธรัฐไท’
สำหรับกรณี ‘สหพันธรัฐไท’ ในคำบรรยายฟ้องของพนักงานอัยการระบุว่า จำเลยทั้ง 5 ในคดีนี้ กับผู้ต้องหาที่ยังหลบหนี ได้แก่ นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์, นายสยาม ธีรวุฒิ, นายวัฒน์ วรรลยางกูร และ นายกฤษณะ ทัพไทย ได้ร่วมกันเป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ ในคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการ ชื่อกลุ่มสหพันธรัฐไท มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาล และ คสช. เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไปสู่ระบอบการปกครองในระบอบสหพันธรัฐ ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข
จำเลยทั้ง 5 คนกับพวกได้ร่วมกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ โดยได้เคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ค กลุ่มไลน์ ยูทูบ และการแจกเอกสารแผ่นปลิว ชักชวนให้สมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาล และ คสช. ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
อนึ่ง จำเลยในคดีนี้ 3 คน มีอาชีพรับจ้าง อีก 2 คน ประกอบอาชีพให้บริการและค้าขาย โดย นายกฤษณะ และ นายเทอดศักดิ์ ขณะถูกจับกุมเป็นพนักงานขับรถของบริษัทเอกชน, นางประพันธ์ เปิดร้านนวดในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง, นางสาวจินดา (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 5 เป็นแม่ค้าขายขนมในตลาด, นางสาววรรณภา จำเลยที่ 4 ประกอบอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หารายได้เลี้ยงลูกชายวัยเรียน 2 คน โดยภายหลังการถูกดำเนินคดีปัจจุบันวรรณภาไม่ได้ทำงาน เนื่องจากอยู่ระหว่างการพักฟื้นหลังการผ่าตัด ส่วนประพันธ์ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีมากว่า 8 เดือน เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ประกัน
สำหรับช่วงเวลาที่โจทก์เห็นว่ากระทำความผิดเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน – 12 กันยายน 2561 ก่อนจะมีการจับกุม โดยมีรายงานว่าผู้ต้องหากรณีสหพันธรัฐไทจำนวนหนึ่ง ซึ่งลี้ภัยอยู่ต่างประเทศได้สูญหาย ขณะที่บางรายได้รับการตรวจสอบว่าเสียชีวิตแล้ว
ทั้งนี้ ทนายจำเลยและญาติได้ดำเนินการยื่นขอประกันตัวจำเลย 3 คน จำเลยที่ 1 นายกฤษณะ ได้ใช้หลักทรัพย์เดิมซึ่งเคยยื่นประกันไว้ จำนวน 100,000 บาท พร้อมติดกำไลข้อเท้า EM จำเลยที่ 2 นายเทอดศักดิ์ ต้องเปลี่ยนนายประกันเนื่องจากนายประกันคนเดิมไม่สะดวกมาทำเรื่องประกันตัว โดยยายของจำเลยได้มาเป็นนายประกันแทน และยื่นประกันด้วยหลักทรัพย์ 40,000 บาท พร้อมติดกำไลข้อเท้า EM ส่วนจำเลยที่ 3 นางประพันธ์ ยังคงถูกจำคุก โดยไม่มีญาติมายื่นประกันตัว และจำเลยที่ 4 นางสาววรรณภา เดิมวางเงินประกันตัวจำนวน 200,000 บาท แต่เนื่องจากศาลพิพากษาลงโทษ 3 ปี และตีวงเงินประกัน ปีละ 100,000 บาท ทำให้ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวจำนวน 300,000 บาท จึงต้องเช่าหลักทรัพย์เพิ่มจำนวน 100,000 บาท โดยไม่ต้องติดกำไลข้อเท้า ทั้งนี้ ศาลได้อนุญาตประกันตัวจำเลยทั้งสาม ในเวลา 16.30 น.