ยกเครื่องมหาวิทยาลัยไทย | บทที่ 6: ทำอย่างไรจึงจะได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารนานาชาติ

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ก่อนอื่น โปรดเข้าใจด้วยว่าบทความวิชาการทางสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ มีลักษณะการเขียนและใช้ภาษาต่างลิบลับกับบทความรายงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ 

ในทางวิทยาศาสตร์มักเป็นรายงานผลการทดลอง ความยาวไม่มากนัก เน้นแสดงข้อมูลและวิธีการอย่างตรงไปตรงมา การวิเคราะห์สั้นๆ เข้าเป้าตรงจุด แถมมักมีแบบแผนการเขียนรายงานที่ชัดเจน แต่งานเขียนทางวิชาการทางสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ (บทความและหนังสือ) ในตัวมันเองคือส่วนหนึ่งของกระบวนการวิจัย การคิดกับการเขียนควบคู่กัน ไม่ใช่เพียงรายงานผลการทำวิจัยที่ทำในห้องทดลองก่อนลงมือเขียน การเสนอประเด็น วิเคราะห์ อธิบาย ถกเถียงผูกกับความสามารถในการเขียน เพราะภาษาโดยตัวมันเองคือองค์ประกอบสำคัญของการวิจัย คุณลักษณะของบทความ ทั้งสไตล์การเขียน เวลาที่ใช้ ตลอดจนถึงความยาว และรายละเอียดอีกมาก จึงต่างจากบทความทางวิทยาศาสตร์

ธรรมเนียมการลงชื่อเป็นผู้วิจัยนับสิบคน และการที่อาจารย์จะเอาชื่อตนใส่ไว้ในงานวิจัยของนักศึกษาในที่ปรึกษา อย่างที่ทำกันเป็นปกติในการตีพิมพ์บทความทางวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ทำกันในสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ (แม้แต่สังคมศาสตร์ที่ค่อนไปทางวิทยาศาสตร์ก็ทำกันน้อย อาจยกเว้นเพียงบทความที่เป็นวิทยาศาสตร์เต็มตัว เช่น จิตวิทยาหรือโบราณคดี) เพราะการวิจัยกันเป็นทีมก็มักประกอบขึ้นจากงานวิจัยรายบุคคล ไม่ใช่หัวข้อวิจัยที่ต้องใช้หลายคนร่วมกันทำเป็นทีมอย่างทางวิทยาศาสตร์ หากมีงานวิจัยเป็นทีมจริงๆ ก็ไม่เกิน 2-3 คน นักวิชาการคนหนึ่งจึงไม่สามารถไปลงชื่อร่วมในบทความที่เป็นการวิจัยของคนอื่นได้ หากอาจารย์ใส่ชื่อตนในงานของนักศึกษาอาจถูกประณามได้หากไม่ได้ร่วมวิจัยร่วมเขียนจริงๆ

จากประสบการณ์ของผม พบว่าต้นฉบับบทความที่เขียนโดยนักวิชาการไทยจำนวนมาก (รวมทั้งที่จบ ป.เอกแล้ว) มักไม่ถึงระดับคุณภาพที่วารสารนานาชาติจะรับตีพิมพ์ เพราะภาษายังเป็นอุปสรรคทั้งในการคิดวิเคราะห์และการประมวลสิ่งที่คิดออกมาให้ได้อย่างซับซ้อนแหลมคม เท่าที่ผมมีโอกาสพูดคุยด้วย พบว่าหลายคนมีความคิดที่น่าสนใจ แต่ไม่สามารถประมวลความคิดของเขาออกมาเป็นภาษาอังกฤษ บ่อยครั้งใช้ภาษาได้เพียงง่ายๆ ทั้งๆ ที่คิดได้ซับซ้อนกว่านั้นมาก บ่อยครั้งสิ่งที่เขียนสื่อความในภาษาอังกฤษต่างไปจากที่คิด บ่อยครั้งยังคิดเป็นภาษาไทยแล้วพยายามแปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นการคิดจากคนละภาษา

ระบบสนับสนุนการตีพิมพ์มีได้หลายอย่าง เช่น มีบรรณาธิการ (editor) ที่สามารถช่วยแก้ไขปรับปรุงต้นฉบับและการเขียนภาษาอังกฤษให้เหมาะกับวารสารนานาชาติ มหาวิทยาลัยแห่งชาติของฟิลิปปินส์มีหน่วยงานบรรณาธิการเพื่อการนี้ ทั้งๆ ที่นักวิชาการชาวฟิลิปปินส์ใช้ภาษาอังกฤษเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะเขาตระหนักว่าแม้ผู้ใช้ภาษาอังกฤษเองก็จำเป็นต้องมีบรรณาธิการช่วยเหลือในการเขียนบทความวิชาการ ทว่าในระบบอุดมศึกษาและสถาบันของไทยซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นปกติ กลับไม่มีบรรณาธิการอยู่ในระบบเพื่อช่วยปรับปรุงต้นฉบับ หรือมีเพียงบางคณะทำเองบ้าง แม้จะตั้งเงินรางวัลแก่ผู้ที่สามารถตีพิมพ์บทความในวารสารนานาชาติชั้นนำได้ แต่ใครจะทำอย่างไรเพื่อให้ถึงจุดนั้น ต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเอง ตัวใครตัวมัน

อย่างไรก็ตาม การเขียนภาษาอังกฤษได้ดีและมีบรรณาธิการช่วยเหลือเป็นเพียงปัจจัยปลายทางเท่านั้น

ปัจจัยพื้นฐานที่สุดและสำคัญกว่ามากสำหรับการผลิตผลงานในวารสารนานาชาติหรือตีพิมพ์หนังสือก็คือ เนื้อหาสาระของงานวิจัยนั้นจะต้องร่วมถกเถียงและ/หรือมีคุณูปการต่อองค์ความรู้ในเรื่องนั้นวิชานั้นในระดับสากล หมายความว่าคุณภาพทางวิชาการของผลงานชิ้นนั้นจะต้องสามารถ ‘engage’ (ในที่นี้รวมความหมายทั้งการ…เข้าพัวพัน ถกเถียง ปะทะ โต้แย้ง ปรับปรุง ต่อยอด ฯลฯ) กับวิชาการนอกประเทศไทยได้  หากไม่มีสิ่งนี้ การใช้ภาษาอังกฤษได้ดีก็ไม่ช่วยเท่าไรนัก

นักวิชาการไทยหลายคนหลายสถาบันมักถามผมว่า ทำอย่างไรจึงจะผลิตงานวิชาการที่สำนักพิมพ์หรือวารสารชั้นนำยอมรับตีพิมพ์ คำตอบของผมในทางเทคนิคมีมากมาย ทั้งการเขียน การเลือกวารสาร ฯลฯ แต่คำตอบที่สำคัญที่สุดคือ งานชิ้นนั้นจะต้อง engage กับความรู้ในหัวข้อเกี่ยวข้องกันในระดับสากลได้

วิชาการด้านสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ในภาษาไทย (โดยเฉพาะนับจากรุ่นผมย้อนกลับไป) มักพัฒนามาโดย engage กับโลกวิชาการในภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่นๆ ไม่มากเท่าไรนัก นักวิชาการด้านนี้คนหนึ่งๆ (รวมทั้งที่จบ ป.โท ป.เอก มาจากต่างประเทศด้วย) มักจะอ่าน เขียน ผลิตผลงาน และสอนด้วยตำราหนังสือบทความในภาษาไทย หากเขาเลือกจะอ่านเขียนงานในภาษาอื่นน้อยมากก็ยังสามารถอยู่ในวิชาชีพได้จนเกษียณอายุ เป็นเช่นนี้มานานหลายทศวรรษหลายรุ่น ต่างกับวิชาการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การแพทย์ ซึ่งพัฒนาขึ้นในสังคมไทย โดยต้องรับรู้และ engage กับโลกวิชาการในภาษาอังกฤษอย่างขาดไม่ได้

วิชาการด้านสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ในภาษาไทยจึงค่อนข้าง ‘มีโลกของไทยเอง’ เกิดชุมชนทางวิชาการที่คุ้นเคยกับการคิดในประเด็นที่มีความสำคัญเฉพาะกับสังคมไทย หรือมีความหมายเข้าใจกันเฉพาะในสังคมไทย ตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบแบบที่คุ้นเคยกันในชุมชนวิชาการไทย ด้วยวิธีวิทยาตามที่รู้จักหรือให้ค่ากันเฉพาะในชุมชนวิชาการไทย นานวันเข้าจึงเกิดความห่างและต่างจากวิชาการนอกสังคมไทยอย่างมาก

บางท่านอาจจะคิดว่าก็ดีแล้ว เพราะความคิดทฤษฎีหรือความรู้ฝรั่งคงไม่เหมาะกับสังคมไทยซึ่งมีลักษณะเฉพาะ (unique, exceptional) มากมายที่ฝรั่งไม่มีทางเข้าใจ

ความเป็นจริงก็คือ แม้จะไม่มีสังคม 2 แห่งใดๆ เลยที่เหมือนกันเป๊ะ และไม่มีมนุษย์ 2 คนบนพื้นพิภพที่เหมือนกันเป๊ะ แต่มนุษย์ทั้งหลายล้วนมีลักษณะร่วมกันมากมาย และสังคมทั้งหลายก็ล้วนมีลักษณะร่วมๆ เช่นกัน สังคมไทยจึงไม่ใช่ข้อยกเว้นที่เข้าใจไม่ได้ด้วยวิชาการสากล แม้ว่าจะไม่มีมโนทัศน์หรือทฤษฎีใดๆ ของฝรั่ง ญี่ปุ่น หรือจีนที่สามารถประยุกต์ใช้กับสังคมไทยได้ทื่อๆ โดยไม่มีการปรับประยุกต์ใช้

การอ้างว่าสังคมไทยพิเศษไม่เหมือนใคร จึงเป็นเพียงเหตุผลแก้ต่างอย่างหนึ่งของชุมชนวิชาการใต้กะลา บ่อยครั้งใช้ข้ออ้างนี้เพื่อหลบหลีกการเผชิญหน้ากับคำวิพากษ์วิจารณ์และความคิดที่ท้าทายกว่า ทั้งต่อสาระและวิธีวิทยา ยิ่งทำให้วิชาการในภาษาไทยออกห่างวิชาการสากล จนมักเข้มแข็งซับซ้อนน้อยกว่าเพราะผ่านการตรวจสอบท้าทายมาน้อยกว่า แม้ว่าจะสามารถดำรงอยู่ได้สบายๆ ในชุมชนทางปัญญาของไทย

การศึกษาวิจัยที่ผูกกับความรู้ก่อนหน้าที่มีอยู่เฉพาะในภาษาไทย จึงมักมีฐานคติ (premise) แนวคิด แนวคำถาม วิธิวิทยาที่ไหลเวียนจำกัดอยู่แต่ในวงวิชาการของไทย ผลงานวิจัยที่เขียนออกมาก็สะท้อนคุณสมบัติแบบไทยๆ เหล่านั้น ซึ่งมักเผชิญกับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดตามกระบวนการตีพิมพ์ของวารสารนานาชาติไม่ได้ หรือไม่สามารถชี้ให้เห็นว่าการวิจัยหรือการค้นพบนั้นๆ จะมีนัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอื่นอย่างไร

ผมเคยพบบางกรณีที่สื่อสารกับโลกวิชาการสากลไม่รู้เรื่องเพราะ ‘พูดกันคนละภาษา’ แต่ไม่ใช่ระหว่างไทยกับอังกฤษ ทว่าหมายถึงสาระสำคัญๆ สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง เพราะสาระนั้นเข้าใจได้เฉพาะในชุมชนวิชาการไทย

แล้วทำอย่างไรล่ะจึงจะ engage ได้

ขอตอบว่า ตลอดกระบวนการวิจัย ตั้งแต่การตั้งคำถาม การอ่าน การคิดวิเคราะห์ การนำเสนอ จะต้องอ่านต้องคิดให้กว้างกว่าโลกภาษาไทย ต้องออกนอกกรอบโลกวิชาการไทย (นี่เป็นคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษาของผมระหว่างทำ ป.เอก ซึ่งมีผลเปลี่ยนการตั้งคำถามและแนวการคิดของผมอย่างมาก)

ไม่มีสูตรสำเร็จใดๆ ว่าหัวข้อหนึ่งประเด็นใดควรจะตั้งคำถามทำนองไหนจึงจะ engage กับวิชาการสากล ยิ่งอ่านกว้างออกไป คิดเปรียบเทียบกับกรณีทำนองเดียวกันของไทยอยู่เรื่อยๆ ทำเช่นนี้มากเข้า ก็จะตั้งคำถาม คิด วิเคราะห์ และอธิบายโดยไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบของโลกวิชาการภาษาไทยไปโดยปริยาย ข้อวิเคราะห์ใดๆ ก็อาจจะใช้ได้กับกรณีเทียบเคียงกันของประเทศอื่นได้ด้วย หากยกระดับต่อไป การวิจัยจากกรณีของไทยอาจถึงกับปรับแก้มโนทัศน์ (concept) หรือทฤษฎีต้นทางก็เป็นได้ และอาจเป็นมโนทัศน์หรือทฤษฎีที่ผู้อื่นสามารถรับไปประยุกต์ใช้ก็เป็นได้

ดังนั้น การ engage กับวิชาการสากลจึงมิได้เท่ากับตามก้นฝรั่งแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เราสามารถ engage เพื่อสร้างความรู้ใหม่บนฐานวัตถุดิบและประสบการณ์ของไทยหรือสังคมใดๆ ก็ตาม เป็นคุณูปการกับวิชาการสากลก็ได้

นักวิชาการบางคนอาจทำเช่นนี้ได้ไม่ว่าระบบจะเอื้ออำนวยหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่ดีกว่าหรือหากทำให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบวิชาการของไทย นี่ไม่ใช่อุดมคติไกลโพ้น เพราะวิชาการด้านวิทยาศาสตร์สามารถทำได้จนเป็นปกติมาตั้งนานแล้ว การให้รางวัลล่อใจเป็นมาตรการที่ไม่ช่วยสักเท่าไร เพราะอยู่บนพื้นฐานว่าอาจารย์ทำงานหนักไม่พอหรือไม่อยากทำ จึงต้องล่อใจด้วยรางวัล

มหาวิทยาลัยไทยต้องการระบบสนับสนุนการวิจัยมากกว่าเครื่องล่อใจ นักวิชาการโดยทั่วไปต้องการการสนับสนุน และโอกาสที่จะทะยานเข้าปะทะแลกเปลี่ยนกับวิชาการระดับโลก พร้อมรับการท้าทาย แต่ต้องมิใช่ด้วยการปล่อยให้เขาทำกันเองแบบตัวใครตัวมัน

อาจมีผู้สงสัยว่าการ engage กับวิชาการระดับโลกเป็นการถือเอายุโรปหรือตะวันตกเป็นศูนย์กลาง และถูกครอบงำไม่สิ้นสุด

นั่นเป็นความคิดต่อต้านตะวันตกอย่างง่ายๆ และตื้นเขิน โลกของปัญญาความรู้ไม่ใช่ภูมิรัฐศาสตร์แบบขาวดำ แถมโลกปัจจุบันไม่ว่าที่ไหนก็ตามมีความรู้แบบที่เราเรียกว่าตะวันตกเป็นองค์ประกอบสร้างทั้งสิ้น ไม่ว่าเราจะชอบใจหรือไม่ก็ตาม การไม่ยอมอยู่ใต้การครอบงำของตะวันตก มิใช่ปฏิเสธความรู้ที่มีอยู่โดยไม่เข้าปะทะต่อสู้แลกเปลี่ยนเลย มิใช่เพียงการยกย่องภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยอย่างไม่วิพากษ์วิจารณ์ หรือเชิดชูสามัญสำนึกบางอย่างว่าเป็นทฤษฎีใหม่อย่างที่สังคมไทยทำ

ถ้าหากเราเชื่อว่าความจริงของคนส่วนใหญ่ในโลกอยู่นอกตะวันตก หรือเชื่อว่าประสบการณ์และข้อเท็จจริงนอกตะวันตกต่างหาก คือข้อมูลสำคัญที่วิชาการตะวันตกมองข้ามมาตลอด เราต้องกล้ายกระดับความสามารถสร้าง concept สร้างทฤษฎีที่เกิดจากข้อมูลของนอกตะวันตก แล้วท้าทายทฤษฎีตะวันตกให้ได้ ยืนเหยียบบ่าของความรู้จากตะวันตกด้วยการสร้างสรรค์ที่เป็นตัวของตัวเอง

ตอนต่อไป : Engage กับวิชาการโลกและลดกำแพงปิดกั้นตัวเอง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า