ยกเครื่องมหาวิทยาลัยไทย | บทที่ 8: ยกระดับคุณภาพด้วยระบบบริหารการวิจัยที่ดีขึ้น

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

เราทุกคนล้วนตระหนักกันดีว่าการไต่แรงก์กิงเป็นดัชนี (indicator) ของคุณภาพ สะท้อนคุณภาพทางวิชาการและการวิจัยที่เป็นจริง การได้อันดับต่ำ ลดลง หรือไม่ขยับ ก็เพราะคุณภาพที่เป็นจริงตกต่ำลงหรือไม่ขยับดีขึ้น การจัดอันดับในตัวมันเองมิใช่ต้นทางของระดับคุณภาพที่เป็นจริง

ดังนั้น แทนที่จะหมกมุ่นกับการขยับแรงก์กิง มีคำถามที่สำคัญกว่าคือ จะยกระดับคุณภาพของอุดมศึกษาให้ดีขึ้นอย่างไร และต้องถามด้วยว่าการหมกมุ่นกับแรงก์กิง กลับทำให้คุณภาพวิชาการแย่ลงหรือไม่

หากต้องการยกระดับคุณภาพที่เป็นจริง นอกเหนือจากการลดเวลาสอน ให้เวลา และมีระบบสนับสนุนการตีพิมพ์ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ นอกจากต้อง engage กับวิชาการสากลแล้ว เราต้องเปลี่ยนระบบการวิจัยและยกเครื่องมหาวิทยาลัยครั้งใหญ่เพราะมันแย่มานานแล้ว แถมแย่ลงอย่างมากนับแต่การรัฐประหาร 2557

ประเด็นสำคัญ 4 ประการที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่

ประการที่หนึ่ง ยังมีความเข้าใจผิดๆ ทั้งของนักวิชาการและบุคคลทั่วไป เกี่ยวกับงานวิจัย ‘ขึ้นหิ้ง’ และ ‘หอคอยงาช้าง’

งานวิจัยขึ้นหิ้งที่ไม่มีคนอ่านหรือไม่มีประโยชน์ที่ทำกันเป็นจำนวนมากในระบบของไทยนั้น ไม่ใช่งานแบบหอคอยงาช้าง แต่เป็นงานวิจัยเชิงประยุกต์แบบที่รัฐส่งเสริม ที่นิยมทำกันอย่างมากมี 2 แบบ คือ

หนึ่ง ‘การสำรวจทัศนคติ’ ซึ่งทำกันแบบง่ายๆ และนำไปใช้ประโยชน์ไม่ค่อยได้

สอง การวิจัยแบบง่ายๆ ปรับใช้ทฤษฎีอย่างทื่อๆ ตื้นเขิน ไม่ซับซ้อน เพื่ออธิบายปรากฏการณ์เล็กๆ มีลักษณะเฉพาะและแคบเสียจนไม่สามารถจะคิดต่อยอด หรือประยุกต์ใช้กับกรณีอื่นๆ ได้เลย

งานวิจัยเหล่านี้ทำเพื่อประกอบการขอตำแหน่งเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อื่นแต่อย่างใด จึงสมควรแล้วที่จะอยู่บนหิ้งและไม่มีใครอ่าน

ส่วนงานวิจัยบนหอคอยงาช้างนั้น จำนวนมากเป็นการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานและสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานซึ่งสามารถนำไปพัฒนาต่อ จนอาจส่งผลประยุกต์ได้เป็นรูปธรรม แต่โดยทั่วไป งานวิจัยแบบนี้ในตัวมันเองยังไม่สามารถประยุกต์ใช้ สร้างผลผลิตเป็นรูปธรรมได้โดยตรง

งานวิจัยทำนองนี้อาจต่อยอดไม่สำเร็จก็ได้ แต่อาจมีประโยชน์มหาศาลต่อไปก็ได้ เพราะมักเป็นการทบทวนกรอบความคิดหรือการปฏิบัติเดิม เป็นการทดลองคิดนอกกรอบ สร้างคอนเซปต์หรือทฤษฎีใหม่ หลายชิ้นกลายเป็นรากฐานของการค้นพบและนวัตกรรมสำคัญใหม่ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบประมวลผล เครื่องคอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ทั้งมวลในปัจจุบันก็เริ่มมาจากงานแบบหอคอยงาช้างทั้งนั้น วัคซีน mRNA ก็เป็นผลของการวิจัยแบบหอคอยงาช้างนับสิบปีก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

ประการที่สอง การวิจัยที่จะส่งเสริมการริเริ่มสร้างสรรค์ จับกระแสความเปลี่ยนแปลงได้เร็ว และบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ด้วยการบังคับกะเกณฑ์ให้อยู่ในกรอบที่กำหนดโดยรัฐราชการที่ไม่ประสีประสา ไม่เคยดีเด่นเรื่องการวิจัยแต่อย่างใด

การกำหนดอย่างคับแคบและเข้าใจอย่างทื่อๆ ถึงขนาดว่างานวิจัย ‘ต้องมีประโยชน์’ ต้องสามารถประยุกต์เพื่อใช้สอย สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจได้ นี่เป็นความผิดพลาดของทิศทางการวิจัย ยุทธศาสตร์ชาติ เป็นการตีกรอบเพื่อแช่แข็ง ไม่ใช่เพื่อพลวัต เพื่อรักษาอำนาจ ไม่ใช่เพื่อการสร้างความรู้ เพื่อควบคุมความคิด ไม่ใช่เพื่อการริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นยุทธศาสตร์ที่มองย้อนหลังไม่ใช่มองไปในอนาคต

ประการที่สาม การรวมศูนย์เป็นแนวทางบริหารการวิจัยที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ควรจะทำ นั่นคือกระจายอำนาจ การจัดสรร เงินทุน และโจทย์การวิจัยให้มีความหลากหลาย ทั้งด้านสาขาวิชาและในแง่ระดับของเป้าหมายการวิจัย (ระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่น)

การรวมศูนย์อำนาจก่อปัญหามากมายในประเทศไทยแทบทุกด้าน มหาวิทยาลัยเคยเป็นหน่วยราชการที่มีอิสระพอสมควร แต่การรวมศูนย์นโยบายทิศทางของมหาวิทยาลัยในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา นับจากการ ‘ออกนอกระบบ’ แบบผิดความมุ่งหมายเดิม กำลังทำลายชีวิตของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการวิจัยที่มีคุณภาพ เนื่องจากการวิจัยที่ถูกกำกับจนถึงควบคุมด้วยนโยบายและโจทย์วิจัยคับแคบ อันเนื่องมาจากการรวมศูนย์เกินไป ทำให้ทุน ประเด็น จนถึงนักวิจัยกระจุกตัว ต้องทำเรื่องคล้ายๆ กัน แนวทางคล้ายกัน ผลที่คาดหวังคล้ายกัน จึงจะได้รับการสนับสนุน

การวิจัยที่ดีต้องเกิดการริเริ่มสร้างสรรค์จากล่างสู่บน เคลื่อนไหลไปมาระหว่างระดับท้องถิ่นและระดับชาติ และระหว่างนักวิชาการรายบุคคลหรือรายทีม รายคณะ สถาบัน จนถึงระดับชาติได้สะดวก นโยบายการวิจัยระดับชาติสามารถอาศัยเงินทุนเป็นสิ่งกระตุ้นทิศทางตามที่ต้องการได้ แต่จะต้องไม่ทำลายโครงสร้างการวิจัยที่กระจายอำนาจ กระจายทุน และกระจายโจทย์อย่างเด็ดขาด

ความคิดเข้าใจคับแคบและต้องการเห็นประโยชน์ตรงๆ (ประการที่สอง) บวกกับระบบที่ไม่กระจายอำนาจ (ประการที่สาม) ส่งผลต่อแนวโน้มทิศทางการวิจัยอย่างมาก เช่น ให้ความสำคัญมากกับการวิจัยเชิงปริมาณ เพราะเข้าใจผิดว่าผลงานประเภทนั้นเท่านั้นที่จะช่วยให้ไต่แรงก์กิงได้เร็ว บวกกับระยะ 30 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มในแวดวงสังคมศาสตร์ในโลกตะวันตกว่า การวิจัยที่ดีจะต้องต้องใช้วิธีการที่เป็นวัตถุวิสัย (objective) เป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้น จึงเกิดการพัฒนาการวิจัยปรากฏการณ์ทางสังคมที่อาศัยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) สังคมศาสตร์หลายสาขา เช่น รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา พยายามเป็นวิทยาศาสตร์ยิ่งกว่าเดิม สมทบกับบางสาขาที่ค่อนไปทางวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว เช่น เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น

ทว่ากว่าครึ่งค่อนของสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์และศิลปกรรม เป็นความรู้ที่สร้างขึ้นจากหลักฐานวัตถุดิบประเภทภาษาและความหมาย ใช้วิธีการศึกษาที่เหมาะภาษาและความหมาย เช่น การตีความ และดูความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ เป็นต้น ไม่มีทางเป็นวัตถุวิสัยแบบวิทยาศาสตร์ได้ แต่ความรู้เหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมทุกแห่งโดยเฉพาะสังคมไทย ตัวอย่างสำคัญคือความรู้ทางศาสนา

ประการที่สี่ ที่ทำให้การวิจัย ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมารวนเรไปหมดคือ การผูกจำนวนของงานวิจัยและการตีพิมพ์เข้ากับการขอตำแหน่งทางวิชาการและการต่อสัญญา แถมเป็นการผูกกันตายตัวราวกับว่าการผลิตงานวิจัยทุกประเภททุกสาขาวิชาสามารถปั๊มกันออกมาได้ในเวลาเท่าๆ กัน การกำหนดเช่นนี้น่าจะเกิดจากการเอาประสบการณ์ของสายวิทยาศาสตร์ประยุกต์ไปใช้เป็นเกณฑ์ทั่วไปทั่วทั้งระบบ

ผลก็คือเกิดการวิจัยแบบเร่งรัดเอาด่วน ไม่ให้เวลาแก่การวิจัยที่ดี โดยเฉพาะงานที่อาจมีผลพลิกผันทางความรู้ ซึ่งมักไม่เกิดในเวลาสั้น งานวิจัยที่ดีทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานและทางสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์มีทั้งที่ผลิตในเวลาสั้น แต่ที่คุณภาพดีมักเกิดจากการสั่งสมความคิดกับคำถามนั้นๆ อยู่เป็นเวลานานพอควร

ความเข้าใจผิดว่างานวิจัยทุกประเภทสามารถผลิตได้เป็นปริมาณพอกันเพราะใช้เวลาไม่ต่างกัน เคยเป็นข้อบกพร่องของการปรับตัวของบางมหาวิทยาลัยในเอเชียมาแล้ว แต่เขาเรียนรู้ตระหนักถึงงานวิจัยต่างสาขากันที่มีคุณสมบัติต่างกัน ต้องการเงื่อนไขเวลาต่างกัน จึงปรับเปลี่ยนไปหลายปีแล้ว แต่ดูเหมือนความเข้าใจผิดในระบบวิจัยของไทยกลับยังไม่รู้ตัว

ปัญหาของระบบสนับสนุนการวิจัยที่กล่าวมา ยังไม่รวมปัญหาการแช่แข็งทางความรู้ ความคิด และวิธีวิทยาอันเนื่องมาจาก ‘ระบบอุปถัมภ์’ ในทางปัญญาของแวดวงวิชาการไทย ดังที่กล่าวถึงในตอนที่ 7

ทางออกอย่างหนึ่งของปัญหานี้จะต้องจัดการด้วยระบบการบริหารทางวิชาการเช่นกัน แต่เป็นเรื่องที่ต้องขอเก็บไว้ในโอกาสอื่น

ตอนต่อไป : ‘นอกระบบ’ แบบเพี้ยนๆ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า