เป็นประเด็นให้ต้องออกมาชี้แจงอีกครั้ง หลังจากหีบเลือกตั้งปิดลง นำไปสู่การนับคะแนน และการรายงานผลของสื่อต่างๆ ที่แสดงข้อมูลไม่ตรงกัน บ้างมาก บ้างน้อย แต่ที่หนักกว่านั้นคือรายละเอียดของตัวเลขไม่มีความสัมพันธ์กัน อาทิ ตัวเลขการลงคะแนนมีมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง การหยุดรายงานผลกลางดึกซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่นับปัญหาจุกจิกตั้งแต่การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้า จนถึงกระบวนการจัดส่งบัตรล่าช้า เมื่อรวมหลายเรื่องหลายกรณีมากเข้าจึงทำให้ประชาชนมองคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วยสายตาที่ไม่เชื่อมั่น
บ่ายวันที่ 25 มีนาคม 2562 ที่สำนักงาน กกต. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. และ ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. ต้องออกมาตอบคำถามสื่อมวลชนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ปัญหาของตัวเลขเหล่านั้นมีสาเหตุจากอะไร และนี่คือคำตอบของความสงสัยเหล่านั้น
กกต. ก็งง ว่าเกิดอะไรขึ้น
ตัวเลขที่วิ่งบนหน้าจอของแต่ละสำนักข่าวไม่ตรงกัน ถูกรายงานผ่านโซเชียลมีเดียครั้งแล้วครั้งเล่าพร้อมความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น คำถามเหล่านั้นไม่ได้มีแค่กับสื่อมวลชน แต่ยังพุ่งตรงไปที่ กกต. ในฐานะต้นทางของข้อมูลเหล่านั้น
ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. อธิบายว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับข้อง Rapid Report (แอพพลิเคชันรายงานผลการลงคะแนน) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กกต. กับทางสมาคมทีวีดิจิทัล โดยมี สุภาพ คลี่ขจาย เป็นตัวเเทน เเล้วจับมือกันระหว่างองค์กรสื่อประมาณ 36 สถานีด้วยกัน ทางสำนักงาน กกต. มีหน้าที่ในการป้อนข้อมูลที่เป็นข้อมูลดิบให้แก่เซิร์ฟเวอร์ตัวหนึ่งที่ทางทีมสื่อตั้งขึ้นมา และทางสื่อจะเอาโครงสร้างนี้ไปทำการพัฒนาเเละนำเสนอในรูปของกราฟิก สำหรับการรายงานผลของแต่ละสื่อนั้น หากสังเกตในช่วงคืนที่ผ่านมาจะพบว่า ความเร็วหรือปริมาณของการรายงาน เปอร์เซ็นต์ของการรายงานของเเต่ละช่องจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับศักยภาพของเเต่ละสถานี เเละเมื่อเช้าก็โดนต่อว่าว่านับคะเเนนไปแล้วหยุดนับ จริงๆ เราไม่ได้มีการนับคะเเนนเเล้ว การนับคะเเนนมันเสร็จสิ้นเเล้ว เเละเข้าสู่กระบวนการรายงานผลการนับคะเเนนเท่านั้น
“สิ่งนี้อยากทำความเข้าใจว่า เราทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนเเละสื่อทั้งหลาย โดยการป้อนข้อมูลดิบให้เท่านั้น ส่วนการนำเสนอเป็นเรื่องของเเต่ละสถานี เเต่ละช่อง เวลาเราได้ข้อมูลมาในระดับ 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนหน่วยเลือกตั้งทั้งสิ้น 90,000 กว่าหน่วย เราจะส่งข้อมูลให้ และเมื่อเราได้ข้อมูลมา 30 เปอร์เซ็นต์ เราก็จะส่งให้ทีละก้อนๆ เมื่อส่งเเล้วเซิร์ฟเวอร์ของสื่อก็จะรับไปทั้งหมด เเล้วก็ไปกระจาย เเล้วก็ใช้กันเอง ดังนั้นจึงไม่มีทางเหมือนกัน”
“สิ่งที่ผมเคยแจ้งพี่น้องสื่อไป ถ้าจะคำนวณเรื่องปาร์ตี้ลิสต์ด้วยก็ต้องอ่านกฎหมายให้เข้าใจว่า ถ้าพรรคการเมืองใดไม่ได้ส่ง สส. แบบเเบ่งเขต เเละเเบบบัญชีรายชื่อ จะเอาคะเเนนของผู้สมัครคนนั้นมาคำนวณเป็นปาร์ตี้ลิสต์ไม่ได้ ดังนั้นผมไม่รู้ข้อเท็จจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้นในการนำเสนอเเล้ว บางช่องรวม 500 สวิงไปสวิงมา อันนั้นก็กำลังทำหนังสือสอบถามไปยังท่านนายกสมาคมทีวีดิจิทัล ช่วยสำนักงาน กกต. อธิบายความด้วยว่า สิ่งที่พี่น้องสื่อมวลชน พิธีกรเเต่ละช่องที่ไปวิจารณ์กันนั้น ให้ถามพวกเดียวกันก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะสิ่งที่แจ้งท่านคือ เรานำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงให้กับสื่อไป 100 เปอร์เซ็นต์เเล้ว เราไม่ได้กักข้อมูล”
ระบบไม่ผิด แต่ปัญหาเกิดจาก Human Error
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่า ความผิดซ้ำๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า หลายกรรมต่างวาระ ทำให้สายตาของประชาชนที่มองมายัง กกต. ที่เป็นแม่งานในการจัดการเลือกตั้งเต็มไปด้วยความคลางแคลงสงสัย
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่า ตัวเลขที่ปรากฏขึ้นมา มีทั้ง Human Error มีทั้งไปเอาตัวเลขฐานข้อมูลไปเติมค่อนข้างเยอะ กกต. พยายามหาสาเหตุและประสานกันอยู่ รออีกไม่เกิน 2 วัน
ส่วน ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล ซึ่งนั่งอยู่ข้างกันตลอดการแถลงข่าวอธิบายว่า ในระบบไม่มีความผิดพลาด มีแต่ Human Error ซึ่งยอมรับว่าคนที่ป้อนข้อมูลเข้ามาเป็นพี่น้องที่เป็นชาวบ้าน เขาทำงานให้ กกต. ในฐานะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังถูกโจมตี 3 ครั้ง ทำให้ระบบล่ม 2 ครั้ง ส่วนความผิดพลาดดังกล่าวจะมีผลต่อศรัทธาของประชาชนหรือไม่นั้น ส่วนตัวเห็นว่าไม่สามารถห้ามการมีหรือไม่มีศรัทธาได้ แต่ยืนยันว่าตนเองทำงานด้วยความสุจริตและทุ่มเท
“ผมคงห้ามศรัทธาของชาวบ้านไม่ได้ แต่ผมทำงานด้วยความสุจริตและทุ่มเท ส่วนหนึ่งผมแจ้งว่า เราส่งข้อมูลที่เป็น realtime แล้วสื่อเอาไปพัฒนาโครงสร้างของข้อมูล แล้วเอาไปนำเสนอต่อพี่น้องประชาชน อันนี้ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อน ที่เห็นกันตามช่องต่างๆ เมื่อคืนนี้ กกต. ส่งให้ 10 เปอร์เซ็นต์ สื่อก็ได้รับ 10 เปอร์เซ็นต์ สื่อไปประยุกต์และนำเสนอกันเอง ถ้า กกต. ได้รับมา 90 เปอร์เซ็นต์ เราส่งให้สื่อ 90 เปอร์เซ็นต์ของข้อมูล สื่อก็เล่นนำเสนอกันเอง แล้วสุดท้ายทุกคนก็ลิงก์มาที่ กกต. ว่าข้อมูลได้รับจาก กกต. ไม่ปฏิเสธครับว่า กกต. ส่งให้เพื่อความร่วมมือในการสร้างการรับรู้ร่วมกัน”
ทุกคะแนนมีความหมายจึงต้องรอบคอบ
ความคาดหวังของคนที่เกาะติดเวทีการเลือกตั้งไม่ใช่เพียงความโปร่งใสเท่านั้น แต่ยังต้องการรายละเอียดของทุกคะแนนอย่างทะลุปรุโปร่ง แต่ กกต. ก็มีคำอธิบายว่า ทำไมจึงให้ข้อมูลได้เท่านี้
“เรื่องนี้เป็นไปตามกฎหมายว่าให้ กกต. จัดการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ กกต. กำหนด ซึ่ง กกต. ก็ได้รายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ ให้รายงานได้ไม่เกิน 95 เปอร์เซ็นต์ ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา กกต. ไม่ได้ทำตามอำเภอใจแต่อย่างใด แล้วที่หยุดเพราะว่าจะให้รู้ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะนี่คือการรายงานแบบไม่เป็นทางการ ขนาดไม่เป็นทางการเมื่อคืนนี้ แต่ละสถานีก็พยายามจะตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว อันนี้ก็ต้องระวัง และต้องป้องกันความสับสนของพี่น้องประชาชนด้วยเช่นกัน”
ส่วนกรณีการไม่เปิดเผยข้อมูล 95 เปอร์เซ็นต์ ในคืนที่ผ่านมา ทั้งที่การเลือกตั้งครั้งก่อนๆ สามารถทราบผล 95 เปอร์เซ็นต์ ในคืนวันเลือกตั้งนั้น ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. อธิบายอีกว่า ที่ผ่านมาการประกาศผลจะบอกแค่ว่าใครได้อันดับ 1 แต่ยังไม่เผยแพร่คะแนน ขณะที่การเลือกตั้งในครั้งนี้มีการคำนวณคะแนนแบบสัมพันธ์กันหมด ผลของ สส. แบบบัญชีรายชื่อสัมพันธ์กับจำนวน สส. แบบแบ่งเขต ดังนั้นทุกคะแนนจึงต้องรายงานด้วยความรอบคอบ
“รายงานผลของ กกต. เขตที่ประกาศแล้วในเขตใดก็ตาม จะถูกส่งโดยผู้อำนวยการ กกต. จังหวัด ซึ่งจะทยอยส่งวันนี้ เมื่อเราทำการตรวจสอบแล้วว่าเป็นไปตามกฎหมาย เราก็จะรับเข้าระบบภายในสัปดาห์นี้
“เราจะเปิดเผยรายชื่อ เปิดเผยรายงานผลการนับคะแนนของ 350 เขต จะเปิดเผยทั้งหมดเพื่อให้ท่านไปทำอะไรกับข้อมูลคะแนน 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ เพราะอันนี้คือคะแนนที่เป็นทางการแล้ว แต่อย่างที่แจ้ง เพื่อป้องกันความสับสน มันจะเกิดประเด็นคืออำนาจของ กกต. ในการประกาศผล คือ 95 เปอร์เซ็นต์ เพราะกฎหมายให้อำนาจในการที่จะไม่ประกาศผลในเขตที่มีการร้องคัดค้านอยู่ อันนี้ก็ต้องขอทำความเข้าใจด้วย”
ผลอย่างเป็นทางการต้องรอก่อน
ชนะแน่แท้แล้วใช่ไหม แพ้จริงๆ หรือเปล่า ใครได้เป็น สส. ใครสอบตก ใครเข้าสภา คำถามนี้วนเวียนอยู่ในวงสนทนาทั้งออนไลน์และออนกราวด์ ตามประสาคนลุ้นย่อมอยากได้คำตอบที่แน่ชัด เพราะข้อมูลเหล่านั้นสัมพันธ์กับการพิเคราะห์พิจารณาว่า อนาคตและหน้าตาของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร แต่ กกต. ก็มีเหตุผลที่ยังแจ้งผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการไม่ได้
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า กรณีรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ 4 โมงเย็น จะเผยแพร่ในเว็บไซต์ว่ามีใครบ้างที่ได้รับคะเเนนสูงสุดใน 350 เขต (คลิกดูรายงานที่ถูกอ้างถึง) ในเบื้องต้นเป็นการเผยเเพร่อย่างไม่เป็นทางการก่อน ส่วนเอกสารที่ได้รับของเรา ผู้อำนวยการ กกต. เเต่ละจังหวัดจะต้องนำส่งเอกสารมาภายในพรุ่งนี้ เอกสารที่ว่าคือ ผลคะเเนน ผลการเลือกตั้งหมด หากได้รับเเล้วก็จะเผยเเพร่ 95 เปอร์เซ็นต์ของคะเเนนให้ทราบ เผื่อจะนำไปใช้ในการคำนวณ สส. แบบบัญชีรายชื่อ หรือหากอยากรู้ด้วยว่าได้คะเเนนเท่าไหร่อย่างไร หลังจากได้รับอย่างเป็นทางการเเล้วจะเเจ้งให้ทราบ
“กกต. กำหนดไว้ว่าจะประกาศผลภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 พอครบ 150 วัน นับเเต่วันที่ พ.ร.บ.เลือกตั้ง มีผลบังคับใช้ เพราะฉะนั้นชื่อที่ให้ไป หรือคะเเนนที่ได้ สมมุติว่ามีคนที่ได้ลำดับที่ 1 ถูกระงับสิทธิ ไม่ว่าใครก็ตาม แล้วมีการเลือกตั้งใหม่ ผลคะเเนนรวมของพรรคการเมืองก็ต้องเปลี่ยน อาจต้องเปลี่ยนทั้งหมดด้วย ฉะนั้น การเผยเเพร่ไปจะทำให้ความไม่นิ่งของระบบคะเเนนเเบบบัญชีรายชื่อเคลื่อนไหวตลอด สมมุติศาลสั่งให้ใบเเดงตอนที่เข้าไปนั่งในสภาเเล้ว เเล้วมีการเลือกตั้งใหม่ คะเเนนก็เปลี่ยน ลำดับของบัญชีรายชื่อที่นั่งเป็น สส. อยู่ลำดับสุดท้ายก็อาจจะต้องหลุดออกมา นี่คือสภาพปัญหาที่ตามมา
“อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ กกต. ก็คงจะต้องเคลียร์เกี่ยวกับสำนวนการสอบสวน ซึ่งมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาให้ไวที่สุดก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม เมื่อถึงวันที่ 9 เเล้ว ถ้า กกต. เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ประกาศผล 95 เปอร์เซ็นต์ นี่คือการประกาศผลอย่างเป็นทางการ เเล้วระยะเวลาจริงๆ ก็เหลือไม่ถึง 60 วันนับจากวันเลือกตั้ง ตอนนี้ก็คงเริ่มพิจารณาว่ามีสำนวนที่จะต้องระงับสิทธิผู้สมัครหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอะไรบ้าง นี่คือการอธิบายให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องการรายงานผลแบบไม่เป็นทางการเเละการรายงานผลแบบเป็นทางการ”