การก่อเกิดของ ‘นางแบก’ เสื้อแดงที่เพิ่งสร้าง หลังปิดดีลเพื่อไทย-รวมไทยสร้างชาติ สมานฉันท์เหลือง-แดง

สงครามเหลือง-แดง การต่อสู้ระหว่างสองขั้วทางการเมืองที่ลากยาวมา 17 ปี (นับจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549) ได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ ภายหลังพรรคลุงตู่ (แม้ลุงไม่อยู่แล้ว) รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ประกาศเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทย จากการแถลงข่าวของนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส. ราชบุรีและโฆษกพรรคเมื่อเย็นวันที่ 17 สิงหาคม 2566 โดย รทสช. ได้เจรจาปิดดีลจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย เน้นการขับเคลื่อนประเทศ บนความปรองดองสมานฉันท์ พร้อมเน้นยํ้าไม่ร่วมงานกับพรรคที่มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 

ภายหลังจากการปิดดีลดังกล่าวมีเสียงสะท้อนหลากหลายจากผู้ที่ติดตามการเมือง ส่วนหนึ่งตั้งคำถามว่า “เมื่อไหร่นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว จะลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย” จนเกิดกระแส #ชลน่านลาออกกี่โมง เพราะก่อนหน้านี้เคยให้สัญญาในช่วงเลือกตั้งว่าจะไม่จับมือกับพรรคลุงในการตั้งรัฐบาล หากจับมือเมื่อไหร่จะลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคทันที 

คำพูดดังกล่าวได้ทิ้งดิจิทัลฟุตปรินท์ไว้บนโลกออนไลน์ที่ไม่อาจตามลบได้ ในเวลาเดียวกัน นางแบกท่านหนึ่งอย่าง ‘ปีใหม่’ ก็ได้ออกมาประกาศจบสงครามสีเสื้อระหว่าง ‘เหลือง-แดง’ เดินหน้าสมานฉันท์ ฟัน ‘ส้ม’ สีเดียว จนทำให้ ‘คนเสื้อแดง’ และผู้ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่พากันตั้งคำถามถึงความเคลื่อนไหวของปีใหม่ที่ประกาศจบสงครามเหลือง-แดง หลังพรรคลุงร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย 

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ ‘หนูหริ่ง’ หรือ ‘บก.ลายจุด’ นักกิจกรรมทางการเมืองและอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา ได้ออกมาตั้งคำถามในทวิตเตอร์ (เอ็กซ์) เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของปีใหม่ด้วยความสงสัยว่า:

“ผมไม่เข้าใจคนที่นำเสนอตัวเองเป็นแดงแบบคุณปีใหม่ ว่าประวัติความเป็นเสื้อแดงเธอเริ่มต้นที่จุดไหน ผ่านการต่อสู้ในช่วงเวลาใด ถ้าแค่โปรทักษิณหรือเพื่อไทย ผมจัดคนกลุ่มนี้เป็น Voter พท.”

บก.ลายจุด, 18 สิงหาคม 2566 

การแสดงความคิดเห็นของ บก.ลายจุด มีประเด็นสำคัญอยู่ที่การตั้งคำถามต่อปีใหม่ในการเป็นเสื้อแดง ซึ่งเจ้าตัวได้ตอบกลับทวีตของ บก.ลายจุด พร้อมชี้แจงว่า: 

ปีใหม่ไม่ใช่แดง ไม่ใช่นางแบก ประกาศร้อยพันรอบว่าเป็น FC พีโทนีและพรรคเพื่อไทย ตัวคุณเองก็น่าจะเคยเห็นบ้าง เพราะหลังคุณอันเฟรนด์ปีใหม่แล้ว คุณยังตามไปขอแอดเพื่อนกลับ กดฟอลโล่อีก ปีใหม่ไม่แดงแต่ช่วยเหลือแดง แดงแดกส้มอย่างคุณก็ช่วย เช่น ช่วยซื้อและช่วยโฆษณาขายนาฬิกา2475ให้หลายเรือน”   

Peemai Sirikul, 18 สิงหาคม 2566

จากข้อความข้างต้นของปีใหม่ ก่อให้เกิดการตั้งคำถามจากผู้ติดตาม บก.ลายจุด จำนวนมากเช่นกัน เพราะการประกาศปรองดอง-สมานฉันท์ (เป็นคำที่ถูกใช้บ่อยครั้ง หลังจากการล้อมปราบเสื้อแดงและหลังการรัฐประหาร 2557) ระหว่างเหลือง-แดงของเธออาจเป็นสิ่งที่คนเสื้อแดงที่เคยผ่านการต่อสู้และสูญเสียมาไม่อาจยอมรับได้ เสมือนการเหยียบยํ่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจนต้องสูญเสียชีวิตในปี 2553 รวมไปถึงการที่คนเสื้อแดงได้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ในการเลือกตั้งปี 2554 จนท้ายที่สุด รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกล้มด้วยม็อบ กปปส. และจบลงที่การรัฐประหารนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557 ดังนั้น หากเป็นคนเสื้อแดงจริง การประกาศปรองดอง-สมานฉันท์เช่นนี้ คงไม่ได้ทำกันง่ายๆ เพียงเพราะลมปาก เพราะฆาตรกรยังคงลอยนวลพ้นผิด ผู้มีส่วนร่วมในการเหยียบยํ่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงยังคงเดินเชิดหน้าชูตาในสังคมอยู่ และการอ้างถึงสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว พร้อมลืมอดีตก็คงไม่ใช่ข้ออ้างที่ดี ในเมื่อความยุติธรรมยังมาไม่ถึง ท้ายนี้ ไม่ว่าจะปีใหม่หรือ ‘เค สามถุยส์’ ล้วนถูกตั้งคำถามโดยคนเสื้อแดงว่า คุณต่อสู้กับเสื้อแดงตรงไหน? สรุปแล้วพวกเขาเป็นใครกันแน่? 

‘นางแบก’ เสื้อแดงที่เพิ่งสร้าง? 

‘นางแบก’ หรือ ‘นายแบก’ หมายถึง แฟนคลับ โหวตเตอร์พรรคเพื่อไทย ที่มีความเชื่อมั่น พร้อมปกป้องสนับสนุนไม่ว่าพรรคจะเดินไปในทิศทางไหนก็ตาม ซึ่ง คำผกา นางแบกตัวแม่ ได้อธิบายความเป็นมาของคำว่า นางแบก ในบทสัมภาษณ์ว่า เกิดจากเหตุการณ์ที่นายรังสิมันต์ โรม สส. พรรคก้าวไกล ไม่ได้อภิปรายในปี 2563 จนมีคนโจมตีว่าเธอคือ ‘นางแบก’ และนั่นคือจุดเริ่มต้น ต่อมาภายหลังหากผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยต้องการปกป้องพรรคก็จะมีการติดแฮชแท็ก #นางแบก ลงในโซเชียลมีเดีย จนคำนี้เป็นที่ติดปากคุ้นหูของแฟนคลับพรรคเพื่อไทยไปโดยปริยาย

ขบวนการนางแบกประกอบไปด้วยบุคคลจำนวนมาก ไม่ใช่เพียงแค่คนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเพียงอย่างเดียว หากยังประกอบไปด้วยผู้ที่มีความหลากหลายในช่วงอายุ หลากหลายกลุ่ม รวมไปถึงเพศสภาพ คำผกาได้ให้คำอธิบายส่วนหนึ่งว่าอาจรวมไปถึงกลุ่มคนเสื้อแดงด้วย ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงก็ถูกแยกออกเป็นหลายกลุ่มเช่นกันและส่วนหนึ่งก็เข้ามาเป็นนางแบกอีกด้วย

สร้างตัวตนเป็น ‘คนเสื้อแดง’ 

การก่อกำเนิดตัวตนของนางแบก อาจไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียงเพราะความบังเอิญ แต่อาจมีพัฒนาการมาอย่างน้อยในช่วง 2-3 ปีให้หลัง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการรีแบรนด์ของ พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ เป็น ‘โทนี วูดซัม’ พร้อมไลฟ์สดผ่านกลุ่มแคร์ ซึ่งเป็น ThinkTank ของพรรคเพื่อไทย การไลฟ์สดท่ามกลางการจัดการโควิด-19 ของรัฐบาลประยุทธ์และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้น เหมือนการสร้างความหวังและความฝันให้กับคนไทยจำนวนมากว่า ต้องการนายกรัฐมนตรีที่มีวิสัยทัศน์เหมือนทักษิณ จุดนี้ก็ดึงดูดคนเสื้อเหลือง สลิ่ม จำนวนหนึ่งที่เคยต่อต้านพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด แต่เริ่มเหนื่อยหน่ายกับรัฐบาลประยุทธ์ กลายมาเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยแทน และต่อมาได้กลายมาเป็นนางแบก ซึ่งหลายคนได้ถูกขุดคุ้ยข้อมูลส่วนตัวว่าเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และ กปปส. มาก่อน ซึ่งรวมไปถึง ‘ติ่งส้ม’ จำนวนมากด้วย  

การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563-2564 ได้มีการรำลึกถึงคนเสื้อแดงในฐานะผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีการให้เครดิต คืนความชอบธรรมให้กับการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ทำให้คนเสื้อเหลืองเดิมสามารถรีเทิร์นเป็นนางแบกโดยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมและสามารถยึดโยงกับความเป็น ‘เสื้อแดง’ ได้ แม้พวกเขาจะเคยยืนอยู่ตรงข้ามมาโดยตลอด 

ความเป็นคนเสื้อแดงที่วางอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ทักษิณ-เพื่อไทย-คนเสื้อแดง’ ดูเหมือนเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้มาเป็นเวลานาน แต่ในท่ามกลางภาวะฝุ่นตลบทางการเมือง การเปลี่ยนขั้วย้ายข้างของพรรคเพื่อไทย และการตระบัดสัตย์ไปร่วมสังฆกรรมกับพรรคลุง ก็ทำให้คนเสื้อแดงที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยร่วมกับพรรคเพื่อไทยจำนวนมากต้องยอมสละเรือเพื่อไทย และนั่นทำให้ความไร้รากในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อเหลืองในร่างนางแบกสามารถเข้ามายึดโยงความสัมพันธ์ข้างต้นที่ว่ามา เพื่อการสร้างตัวตนและเข้าไปส่วนหนึ่งของขบวนการ โดยพยายามอ้างว่าตนเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ของคนเสื้อแดง อย่างที่คนเสื้อแดงจำนวนมากที่ถูกขับไปเป็น ‘สลิ่มเฟส 2’ ตั้งข้อสังเกตว่า คนเหล่านี้อยู่ตรงไหนในการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ดังที่เราเห็นกันจากการวิวาทะระหว่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ กับนายนิยม นพรัตน์ หรือ ‘เค สามถุยส์’ นายแบกตัวตึงที่กล่าวว่าตนเองคือ ตัวแทนกลุ่มคนเสื้อแดง FC พรรคเพื่อไทย ในรายการโหนกระแส โดยนายจตุพรถามว่า เค สามถุยส์ ตอนปี 2553 เขาอยู่ตรงไหนในการต่อสู้ของคนเสื้อแดง เช่นเดียวกับคำถามล่าสุดที่ บก.ลายจุด ได้ถามกลับไปยังปีใหม่ด้วยเช่นกัน     

ความไร้รากและการสร้างตัวตนว่าเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยร่วมกับคนเสื้อแดง จึงเสมือนเป็น ‘เสื้อแดงที่เพิ่งสร้าง’ เพื่อการสมาทานเข้าพวกกับฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย (ก่อนหน้านี้) หรือเป็น ‘ติ่งส้ม’ บางส่วนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล จนเกิดกรณีสนามแบตมินตันโพสต์ลงโซเชียลเหยียดเสื้อสีแดงไม่ให้เข้าสนาม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ เพราะเสมือนหากินกับคนตายเพื่อความชอบธรรมทางการเมืองของตนเอง โดยเหยียบยํ่าความเสียสละในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงในปี 2553 

และท้ายที่สุด คนเสื้อแดงจึงไม่เท่ากับพรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดงไม่เท่ากับนางแบก เพราะคนเสื้อแดงคือคนที่รักประชาธิปไตย ไม่ว่าจะใส่เสื้อสีอะไร หัวใจนั้นก็ยังคงต่อต้านเผด็จการอยู่เช่นเคย

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า