มนตรี จันทวงศ์: เสียงของหมาป่าจากต้นน้ำหลานชางเจียง แม่น้ำโขงในกรงเล็บมังกรจีน

ข่าวคำแถลงของโฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ว่าด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เกี่ยวกับจีนในปัญหาน้ำแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ประกอบกับข่าวการแจ้งเตือนของ MRC เกี่ยวกับการลดการระบายน้ำของเขื่อนจินฮง ในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ย่อมไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นการวางจังหวะให้คำแถลงของสถานทูตจีนในไทย ให้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการลดการระบายน้ำของเขื่อนจินฮง โดยอ้างผลประโยชน์ที่คนลุ่มน้ำโขงตอนล่างจะได้รับ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดี ผู้เขียนใคร่ขอแสดงทัศนะไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ต่อคำแถลงของทางการจีนทั้งที่ผ่านสถานทูตและ MRC ซึ่งเป็นการแถลงเข้าข้างตนเองเพียงฝ่ายเดียว ไม่ต่างกับนิทานหมาป่ากับลูกแกะ ด้วยเหตุผลดังนี้

ประการที่หนึ่ง จีนได้สร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงเขื่อนแรกคือเขื่อนม่านวาน มาตั้งแต่ปี 2536 และสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมาจนถึงปัจจุบันรวมถึง 9 เขื่อน ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารวมกันถึง 15,757.5 เมกะวัตต์ และสามารถเก็บน้ำไว้ได้รวมกันมากกว่า 40,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่มีความสำคัญ 6 เขื่อนได้แก่ เขื่อนกงกว่อเฉี่ยว, เขื่อนเสี่ยววาน, เขื่อนต้าเฉาซาน, เขื่อนม่านวาน, เขื่อนนัวจาตู้ และเขื่อนจินฮง ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำความจุรวมกันสูงถึง 40,513 ล้านลูกบาศก์เมตร

ที่ผ่านมาของการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงในประเทศจีนทั้งหมด เป็นการดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียวของทางการจีน ไม่เคยมีกระบวนการของการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมของประชาชนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เมื่อสร้างแล้วเกิดปัญหาผลกระทบตามมา จากการระบายน้ำของเขื่อนไปเปลี่ยนแปลงการไหลของแม่น้ำโขงอย่างมีนัยยะสำคัญ และถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้น ทางการจีน พยายามหักล้างโดยใช้วาทกรรมในเรื่อง ปริมาณน้ำจากจีนมีสัดส่วนเพียง 13.5 เปอร์เซ็นต์ และการระบายเพิ่มในฤดูแล้งเพื่อการชลประทาน และการลดการระบายน้ำในหน้าฝน เพื่อลดความเสียหายจากการเกิดอุทกภัย เป็นเสมือนหนึ่งของการกล่าวอ้างบุญคุณต่อประชาชนในประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

ประเด็นที่ทางการจีนต้องทำความเข้าใจกับตนเองให้ถูกต้องคือ จีนได้ถือวิสาสะของการเป็นประเทศใหญ่ ที่อยู่ต้นน้ำของแม่น้ำโขง สร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อประโยชน์ของประเทศจีนเอง โดยไม่ได้มีกระบวนการหารือใดๆ กับประชาชนในประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง สิ่งนี้ต่างหากคือ การกระทำที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้กับประชาชนในภูมิภาค เพื่อความร่วมมืออันดีในอนุภูมิภาคฯ และวาทกรรมที่ดูดีแบบ “Shared River, Shared Future” นั้น จึงไม่แตกต่างจากหมาป่ากับลูกแกะ

ประการที่สอง วาทกรรมที่ไม่รับผิดชอบ ของการให้ข้อมูลจากทางการจีน ในด้านหนึ่งเมื่อทางการจีนระบุว่า ปริมาณน้ำจากจีนมีสัดส่วนเพียง 13.5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อต้องการสร้างการรับรู้ว่า สัดส่วนของน้ำโขงจากจีนเพียงเท่านี้ ย่อมไม่สามารถสร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงได้ ตัวเลขสัดส่วนปริมาณน้ำโขงของจีน ได้สร้างความสับสนมาโดยตลอด แต่เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศจีน ซึ่งสามารถควบคุมน้ำได้มากถึง 40,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีนั้น ได้ควบคุมการระบายน้ำ โดยสามารถเพิ่มน้ำ 70 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูแล้ง และลดน้ำ 30 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูฝน เป็นรูปแบบการบริหารน้ำของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ต้องเป็นเช่นนี้อยู่แล้ว ไม่ได้เกิดจากการปรึกษาหารือกับประชาชนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

ตลอดระยะเวลา 26 ปีตั้งแต่เขื่อนม่านวานเริ่มเก็บกักน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้า ในช่วงฤดูแล้ง ระดับน้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และได้ทำลายรูปแบบการไหลแบบธรรมชาติเดิมลงอย่างสิ้นเชิง ความเสียหายเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตั้งแต่แม่น้ำโขงในจังหวัดเชียงรายลงมาจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีระยะทางรวมกันประมาณ 1,500 กิโลเมตร ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำโขงในฤดูแล้งจะเพิ่มขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นประโยชน์กับระบบนิเวศแม่น้ำโขงและประชาชนลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ตามที่ทางการจีนอ้างอยู่เพียงฝ่ายเดียว

ประการที่สาม ความเสียหายและผลกระทบกับระบบนิเวศและประชาชนลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งทางการจีนอ้างว่า “ได้ลดค่าเสียหายทางเศรษฐกิจของมวลประชาชนสองฟากฝั่งอันเกิดจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงผิดปกติ” ในทางกลับกันการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ ที่ไม่อาจพยากรณ์ได้จากการระบายน้ำของเขื่อนจากจีน กลับสร้างความเสียหายและผลกระทบที่รุนแรงทั้งกับระบบนิเวศ และเศรษฐกิจของประชาชน เริ่มตั้งแต่ครั้งแรกในปีที่เขื่อนม่านวานเริ่มเก็บน้ำและผลิตไฟฟ้าในปี 2536 ส่งผลให้ระดับน้ำโขงที่สถานีวัดระดับน้ำเชียงแสนลดลงอย่างเห็นได้ชัด และในช่วงปลายเดือนมีนาคม และปลายเดือนพฤษภาคม ระดับน้ำโขงได้ลดลงจนเกือบเท่ากับศูนย์เมตร (ที่ระดับอ้างอิง) การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำโขงได้เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี และเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในฤดูฝน เมื่อเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในจีนได้ทยอยสร้างเสร็จจนครบ 6 เขื่อนในปัจจุบัน ดังตัวอย่างของความเสียหายและผลกระทบในปีนี้

ระดับน้ำโขงขึ้นลงผิดปกติ ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน 2562 โดยระดับน้ำโขงได้เพิ่มระดับในระหว่างวันที่ 5-11 มกราคม 2562 มีระดับสูงถึง 2.05 เมตรที่สถานีวัดระดับน้ำเชียงแสน ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อการปลูกพืชริมโขง ซึ่งอยู่ในช่วงต้นฤดูปลูก ส่งผลให้พืชผักที่อยู่ในระดับน้ำท่วมถึง ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด และภายหลังจากน้ำลดแล้ว ชาวบ้านก็ไม่มั่นใจที่จะลงทุนปลูกใหม่ในพื้นที่ริมตลิ่งเดิม เพราะเกรงว่าน้ำโขงจะขึ้นมาอีก ต่อมาระดับน้ำโขงได้ขึ้นมาอีกครั้งในระหว่างวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ถึง 30 มีนาคม 2562 ซึ่งเพิ่มระดับขึ้นมา 1.93 เมตร ที่สถานีวัดระดับน้ำเชียงแสน นับเป็นการเพิ่มระดับน้ำที่มีระยะเวลานานถึง 48 วัน ส่งผลให้หาดทรายและเกาะแก่งตลอดแนวริมแม่น้ำโขง ต้องจมอยู่ใต้น้ำตลอดเวลา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น สร้างความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้

ถึงแม้ว่าระดับน้ำโขงได้ลดลงในช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่าง 7-11 เดือนเมษายน 2562 อันเนื่องมาจากเขื่อนในจีนได้ลดการปล่อยน้ำ แต่ก็ไม่อาจฟื้นฟูสภาพหาดทรายและเกาะแก่งธรรมชาติให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นได้เช่นเดิม นอกจากนี้ ในช่วงเวลานี้ของหลายปีที่ผ่านมา ทางการจีนได้ลดการระบายน้ำจากเขื่อนจินฮง โดยให้เหตุผลในเรื่องการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า ดังเช่นที่เคยแจ้งไว้ในเดือนเมษายน 2561

การลดการระบายน้ำของเขื่อนจินฮงระหว่าง วันที่ 5-19 กรกฎาคม 2562 เขื่อนจินฮงได้ลดการระบายน้ำ จากที่เคยระบายน้ำ 1,050-1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือเพียง 504-600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะเพิ่มการระบายเข้าสู่อัตราเดิมในช่วงวันที่ 17-19 กรกฎาคม 2562 อย่างไรก็ตาม ภาพกราฟระดับน้ำจากเขื่อนจินฮงของ MRC แสดงให้เห็นว่าเขื่อนจินฮงได้ลดการระบายน้ำมาตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นไปเพื่อการรักษาน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนใหญ่ทั้ง 6 เขื่อนในจีน เพื่อผลประโยชน์โดยตรงของจีนเท่านั้น

ในเดือนกรกฎาคม จะเป็นช่วงที่ระดับน้ำโขงกำลังเริ่มหลากเข้าสู่ลำน้ำสาขาต่างๆ ปลาในแม่น้ำโขงเริ่มอพยพ และหาพื้นที่ผสมพันธุ์ วางไข่ และแหล่งอนุบาลปลาวัยอ่อน แต่เมื่อระดับน้ำโขงแห้งลงอย่างมาก และไม่มีน้ำหลากไหลเข้าสู่ลำน้ำสาขา จึงเท่ากับเป็นการลดพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ผสมพันธุ์ วางไข่ไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของชนิดและพันธุ์ปลาน้ำโขงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งในหลายพื้นที่ เช่น ที่ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย พืชไม้ที่เกิดในน้ำโขง เช่น ต้นไคร้น้ำ เริ่มแห้งตาย และน้ำในบุ่งหรือหนองน้ำติดกับแม่น้ำโขงได้แห้งลง ส่งผลให้ปลาและสัตว์น้ำตายลงเป็นจำนวนมากแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยังส่งผลระยะยาวต่อการทำเกษตรริมฝั่งโขง เพราะวัชพืชที่ขึ้นในพื้นที่ริมฝั่งโขงจะไม่ตาย เนื่องจากน้ำโขงไม่ท่วม หรือท่วมก็มีระยะเวลาไม่นานพอ ดังนั้นชาวบ้านที่อาศัยริมโขงจะเสียโอกาสในการใช้ที่ดินริมโขง หรือหากจะใช้ ก็ต้องใช้สารเคมีซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนและสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม

โดยสรุปแล้ว เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจากจีน ได้ควบคุมการไหลของน้ำโขงในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างลงมาจนถึงเขตจังหวัดหนองคายของไทยไว้เกือบสมบูรณ์ การระบายน้ำจากเขื่อนตลอดทั้งปี ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการไหลของน้ำโขงที่ไม่อาจหวนคืน นอกจากนี้เขื่อนในจีนยังได้กักตะกอนไว้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของตะกอนในแม่น้ำโขงที่มาจากจีน ซึ่งตะกอนเหล่านี้คือแหล่งของธาตุอาหารสำคัญของการเกษตรในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และประการสำคัญการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ได้ทำลายระบบเศรษฐกิจของท้องถิ่นที่ได้พึ่งพาอาศัยอยู่ตามลำน้ำโขงตอนล่าง ไม่มีส่วนใดเลยที่จะกล่าวได้ว่า เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างที่จีนได้กล่าวอ้าง

วันนี้จีนไม่ได้มีศักดิ์ศรีอะไรมากไปกว่าหมาป่าที่อยู่ต้นน้ำหลานชางเจียง ที่พยายามกำหนดความถูกต้องทุกอย่างแก่ประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง โดยเฉพาะการใช้วาทกรรมให้ประชาชนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ต้องยอมรับกับชะตากรรมของการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่ไม่อาจหวนคืน คนจีนเองได้เรียกการกระทำในลักษณะเช่นนี้ว่า 自私自利 (จื้อซือจื้อลี่) ซึ่งมีความหมายว่า เป็นคนเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ ไม่เคยจะแบ่งปัน และนี่คือจีนในวันนี้กับแม่น้ำโขงครับ

อ้างอิง

Author

มนตรี จันทวงศ์
หัวเรือใหญ่ของกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) ติดตามประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคม และวิถีชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่มาแทบทั้งชีวิต

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า