The Kingmaker: อีเมลดา มาร์กอส ฉันอยากเป็นมาร (ดา) ของแผ่นดิน!

ฉันจะต้องแต่งตัวให้สวยขึ้น เพราะคนจนมักจะมองหาดวงดาวท่ามกลางค่ำคืนที่มืดมิดอยู่เสมอ

ประโยคเดียวแทบสะท้อนตัวตนทั้งหมดของ อีเมลดา มาร์กอส (Imelda Marcos) หญิงสาวที่เธอขนานนามตัวเองว่าเป็น ‘แม่ของคนฟิลิปปินส์’

ประโยคดังกล่าวถูกเล่าผ่านภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Kingmaker กำกับโดย ลอเรน กรีนฟิลด์ (Lauren Greenfield) เจ้าของผลงาน The Queen of  Versailles (2012) และ Generation Wealth (2018) 

The Kingmaker เป็นสารคดีเล่าเรื่องของ ‘ตระกูลมาร์กอส’ ครอบครัวที่ปกครองประเทศฟิลิปปินส์เป็นเวลายาวนาน นานจนไม่น่าเชื่อว่าชื่อของตระกูลมาร์กอสยังคงดำรงอยู่และไม่เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของชาวฟิลิปปินส์

ครอบครัวมาร์กอสคือใคร? ทำไมมีอำนาจมากมายขนาดนั้น?

หนังย้อนสำรวจความเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านคำสัมภาษณ์ของตัวละครหลักคือ อีเมลดา มาร์กอส โดยใช้เทคนิคถ่ายทำด้วยวิธี cinéma vérité หรือภาพยนตร์ความจริงบริสุทธิ์ นั่นคือการปล่อยให้ตัวละครพูดสิ่งที่อยากพูด ไม่มีสคริปต์ ไม่มีบท ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปรากฏแค่ตัวเธอคนเดียว ยังมีตัวละครอีกหลายคนที่ลอเรนไปสัมภาษณ์และตัดต่อสลับคำพูดต่อคำพูด ทำให้เราในฐานะผู้ชมเห็นความจริงที่ขนานกันไปในประเด็นต่อประเด็น 

จากนางงามสู่สตรีหมายเลขหนึ่ง

ชาวฟิลิปปินส์รู้จักเธอครั้งแรกในฐานะสาวงามมะนิลาประจำปี 1954 ก่อนความสวยและปัจจัยต่างๆ ของเธอจะพาให้มาพบรักกับเฟอร์ดินานด์ (Ferdinand E. Marcos) นักการเมืองหนุ่มไฟแรงและประกาศแต่งงานด้วยกันทันทีในอีก 11 วันต่อมา เรื่องราวของเธอกลายเป็นตำนานการตกหลุมรักอันรวดเร็ว ‘Eleven-Day Whirlwind’ ที่ลือลั่นไปทั่วฟิลิปปินส์

หลังจากทั้งคู่เปิดตำนานการแต่งงานสายฟ้าแลบ อีเมลดาเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น เพราะสามีของเธอเข้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี เธอจึงติดตามสามีลงพื้นที่เพื่อช่วยหาเสียง ในขณะนั้นอีเมลดาได้รับความสนใจอย่างมาก ความงามช่วยฉายให้เธอได้รับความสนใจ เธอกลายเป็นแฟชั่นไอคอนคนใหม่ในฟิลิปปินส์ เธอแต่งกายทันสมัย แต่งหน้าสวยสดใส และมักจะได้พื้นที่สื่ออยู่เสมอ ซึ่งนี่อาจเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างหนึ่งที่ช่วยเรียกคะแนนประชานิยมให้สามีของเธอ

จนในที่สุดผลการเลือกตั้ง เมื่อปี 1965  เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ก็คว้าตำแหน่งผู้นำประเทศไปได้ ประชาชนในประเทศต่างเทคะแนนเสียงและเลือกให้เขาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 10 ของฟิลิปปินส์ และนั่นเป็นประตูที่ทำให้อีเมลดาได้ก้าวเข้ามาเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งยืนเคียงคู่กับสามีทันที

ทว่าความผิดปกติคือนับจากวันที่ได้รับตำแหน่ง เฟอร์ดินานด์กลับครองเก้าอี้ประธานาธิบดีฟิลิปินส์ยาวนานถึง 21 ปี 

มันเกิดอะไรขึ้น?

ความผิดปกติดังกล่าว จุดชนวนและเริ่มทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนตั้งข้อสงสัย สื่อมวลชนบางเจ้าในฟิลิปปินส์เริ่มขุดคุ้ยความจริงและพยายามนำเสนอบทบาททางการเมืองของครอบครัวมาร์กอสให้กลายเป็นเรื่องสาธารณะ

เราเห็นความไม่โปร่งใสต่างๆ ผ่านเกมการเมืองของตระกูลมาร์กอส ทั้งการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลเฟอร์ดินานด์เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง เพราะต้องการสืบทอดอำนาจทางการเมือง ทั้งการโกงเลือกตั้ง การใช้วิธีสกปรกต่างๆ กำจัดนักการเมืองคู่แข่ง กีดกันเสรีภาพของสื่อมวลชนและใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่เห็นต่าง 

เช่น การใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนจริงในเหตุการณ์สลายการชุมนุมหลังจากประชาชนประท้วงแสดงความไม่พอใจในการทำงานของเฟอร์ดินานด์ในปี 1970 โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อระงับความวุ่นวาย ซ้ำร้ายตลอดการดำรงตำแหน่ง เฟอร์ดินานด์ประกาศใช้กฎอัยการศึกนานถึง 14 ปี เพื่อปิดปากนักหนังสือพิมพ์ที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอีกด้วย

แม่ทั้งแผ่นดิน

ขณะที่เฟอร์ดินานด์เป็นประธานาธิบดี อีเมลดาในฐานะภรรยาและสตรีหมายเลขหนึ่ง เธอได้รับโอกาสให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญหลายตำแหน่ง เธอเป็นผู้ว่าราชการกรุงมะนิลา เธอก่อตั้งมูลนิธิมากมาย เธออุปถัมภ์กลุ่มศิลปาชีพ เธอบอกว่าหน้าที่ของเธอคือการดูแลทุกข์สุขให้ประชาชน

และเหตุผลนี้เองที่เอื้อให้อีเมลดามักแสดงตนเป็น ‘แม่’ ผู้ใจดี

เมื่อใดก็ตามที่ลงพื้นที่ไปเยี่ยมคนจนในสลัม เธอมักจะแต่งตัวสวย ใส่รองเท้าแบรนด์เนมราคาแพง สวมเครื่องเพชรหรูหรา และถือเงินก้อนใหญ่ไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่มารอต้อนรับ อีเมลดาบอกว่าเธอคือแม่ผู้มอบความรักให้กับคนในฟิลิปปินส์ เธอคือแม่ผู้ให้ และเธอไม่ต้องการเป็นแม่คนฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่เธออยากเป็นแม่ของคนทั้งโลก

เมื่อเวลาผ่านไปอีเมลดาเริ่มใช้อำนาจตามอำเภอใจ ชีวิตของเธอโรยด้วยกลีบกุหลาบมาตลอดเส้นทาง เธอใช้เงินซื้อตึกแถวใจกลางสหรัฐ เพื่อบำเรอความต้องการส่วนตัว เธอนำเข้าสัตว์ป่าท้องถิ่นจากแอฟริกามาเลี้ยงบนเกาะฟิลิปปินส์เพราะอยากได้ โดยไม่ถามความสมัครใจของชาวบ้านที่อาศัยอยู่แต่เดิม เธอและสามีรักกันหวานชื่นเรื่อยมาจนกระทั่งพบว่าสามีนอกใจแอบไปมีสัมพันธ์ลับกับดาราฮอลลีวูด โดวี บีมส์ (Dovie Beams) นักแสดงสาวที่เดินทางมาโปรโมตภาพยนตร์ในฟิลิปปินส์

อีเมลดาเสียใจหนักมาก ตำนานคู่รัก ‘Eleven-Day Whirlwind’ จึงถูกแปรเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์เชิงแข่งขันทันที เราเห็นบทบาททางการเมืองของอีเมลดาโดดเด่นจนเรียกได้ว่าสามารถเทียบเคียงกับสามีก็ว่าได้ และผลงานที่เธอภาคภูมิใจอย่างมาก คือการที่เคลมว่าตัวเองเป็นเทพีสันติภาพที่ทำให้สงครามเย็นจบลง เพราะเธอเป็นผู้ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีกับ เหมา เจ๋อตุง ถึงขั้นที่เหมายกมือของเธอขึ้นมาจูบ

ประชาชนทนไม่ไหวอีกต่อไป

ช่วงระยะเวลาที่เฟอร์ดินานด์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาและอีเมลดามักถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความหรูหราฟุ่มเฟือยอยู่เสมอ ทว่าเรายังพอเห็นความพยายามลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจเผด็จการอยู่บ้าง 

เบนิกโน นินอย อากีโน (Benigno Ninoy Aquino) อดีตวุฒิสมาชิกและผู้นำฝ่ายค้านของฟิลิปปินส์ เขาไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมของสองสามีภรรยา

นินอยเคยถูกเฟอร์ดินานด์ใช้กฎอัยการศึกจับ หลังเขาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในปี 1972 ก่อนถูกลอบสังหารที่สนามบินในปี ค.ศ. 1983 หลังกลับจากการรักษาโรคหัวใจที่อเมริกา โดยนางคอราซอน (ภรรยาของนินอย) ปักใจเชื่อว่านี่คือฝีมือการกำจัดผู้เห็นต่างของตระกูลมาร์กอส

คอราซอนจึงตอบโต้ด้วยการลงสมัครประธานาธิบดี ในปี 1985 เพื่อแสดงความไม่จำยอมจำนนต่ออำนาจเผด็จการของเฟอร์ดินานด์อีกต่อไป แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย การเลือกตั้งในครั้งนั้นเฟอร์ดินานด์สามารถเอาชนะไปได้ด้วยกลวิธีอันทุจริต เช่น ส่งคนไปขโมยหีบเลือกตั้ง

และเหตุนี้ ทำให้ประชาชนไม่พอใจ 

ท้ายที่สุดในปี 1986 ประชาชนระเบิดความโกรธออกมาเป็นการประท้วงครั้งรุนแรงที่สุด ตระกูลมาร์กอสจะถูกกองทัพและประชาชนร่วมกันขับไล่ให้ลงจากอำนาจ จนทั้งคู่ต้องหนีไปพักที่เมืองฮอนโนลูลู มลรัฐฮาวาย ในสหรัฐอเมริกา 

หลังการขับไล่ตระกูลมาร์กอส รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ยึดทรัพย์สินต่างๆ พบเป็นรองเท้าแบรนด์เนมกว่า 1,100 คู่ เงินทอง เครื่องเพชร เสื้อผ้า และกระเป๋าหรู ผลงานศิลปะราคาแพงของปีกัสโซ่ศิลปินชื่อดังระดับโลกอีกมากมาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ย้ำให้ชาวฟิลิปปินส์เห็นว่าความร่ำรวยของตระกูลมาร์กอส สะท้อนความไม่โปร่งใสและความล้มเหลวทางการเมือง 

ข้าวของเครื่องใช้ราคาแพงของพวกเขามาจากภาษีของใคร?

เงินในมือที่อีเมลดาแจกให้คนจนเป็นฟ่อนๆ คือเงินใคร?

เมื่อเฟอร์ดินานด์เสียชีวิต อีเมลดาจึงตัดสินใจเดินทางกลับมายังฟิลิปปินส์และถูกศาลสั่งตัดสินในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน แต่ศาลกลับคำตัดสินทำให้เธอรอด ต่อมาเธอก็ถูกจับกุมในข้อหาคอร์รัปชันอีกครั้งแต่ศาลให้ประกันตัว จนถึงปัจจุบันอีเมลดาก็ยังคงใช้ชีวิตตามปกติและโลดแล่นอยู่ในโลกการเมืองฟิลิปปินส์ต่อไป

แด่อำนาจ ลูก ผัว และตัวฉัน

ความน่าตื่นเต้นของ The Kingmaker อยู่ตรงที่การได้ฟังความทรงจำและความเชื่อของตัวอีเมลดาผ่านคำสัมภาษณ์ของตัวเธอเอง ซึ่งขัดแย้งกับความจริงที่ออกจากปากของอดีตนักหนังสือพิมพ์ นักกิจกรรม หรือแม้แต่ลูกชายของนินอย

อีเมลดา…

เธอปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นเบื้องหลังการตายของนินอย

เธอปฏิเสธว่าการแจกเงินไม่ใช่พฤติกรรมที่ฟุ่มเฟือยเพราะเธอคือ ‘แม่ผู้ให้’

เธอปฏิเสธคำที่กล่าวหาว่ากฎอัยการศึกทำให้ประชาชนทุกข์ทรมาน

เธอปฏิเสธทุกอย่างและบอกว่าชีวิตแต่งงานของเธอมีแต่ความยอดเยี่ยม และทรัพย์สมบัติของเธอได้มาอย่างสุจริต 

เธอปฏิเสธการเป็นนายทุนในการเลือกตั้งให้ดูแตร์เต (Rodrigo Roa Duterte) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน เพื่อปูทางให้ บองบอง มาร์กอส ลูกชายของเธอได้เฉิดฉายในเส้นทางการเมือง

สำหรับเราอีเมลดาสะท้อนภาพนักการเมืองหลงยุคที่กำลังเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ด้วยการลบล้างอดีตที่เต็มไปด้วยความโหดร้าย และการพยายามผูกขาดอำนาจโดยมีตระกูลการเมืองเป็นตัวละครสำคัญ เธอพยายามแทนที่ตรงนั้นด้วยภาพลักษณ์ของ ‘แม่’ ผู้เมตตา โอบอ้อม มอบความรักแก่ประชาชนและประเทศชาติ

แม้เราไม่ได้แม่นยำในประวัติศาสตร์การเมืองของฟิลิปปินส์มาก่อน แต่หลายฉากในสารคดีกลับเป็นภาพเสมือนและเป็นกระจกส่องให้เห็นวิธีการใช้อำนาจบางอย่างและยิ่งรู้สึกเจ็บปวดกว่าเดิม เพราะรูปแบบการใช้อำนาจนั้นคล้ายกันกับประเทศไทย จนอดที่จะนึกมาเปรียบเทียบไม่ได้ 

นี่เรากำลังดูภาพยนตร์สารคดีในประเทศฟิลิปปินส์จริงๆ อยู่ใช่ไหม…

อ้างอิง

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า