รักวัวยังแค่ผูก รักลูกทำไมต้องตี? มายาคติของความรุนแรงภายใต้ความปรารถนาดี

คดีทำร้ายร่างกายเด็กในมูลนิธิคุ้มครองเด็ก (บ้านครูยุ่น) ที่มาจากคลิปการลงโทษเด็กด้วยการตีและดุด่าอย่างรุนแรงของ มนตรี สินทวิชัย หรือ ‘ครูยุ่น’ เป็นอีกครั้งของเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นจนแทบจะเป็นความชาชินของสังคมไทย ยิ่งกว่านั้นคือเกิดขึ้นภายในเคหะสถานซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลและช่วยเหลือเด็กที่เดือดร้อนและขาดความหวังจากสังคม

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดความรุนแรงขึ้นกับเด็กซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ใหญ่ หากแต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏในระหว่างการให้ปากคำของครูยุ่น คือการให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่มาจากความรักและปรารถนาดีเช่นเดียวกับพ่อแม่ที่อบรมสั่งสอนลูก และนั่นทำให้สังคมต้องหันกลับมาทบทวนกันอีกครั้งว่า การใช้ความรุนแรงสั่งสอนเด็กคือสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ และอะไรที่ทำให้ความรุนแรงถูกผูกไว้ในสายสัมพันธ์ของเด็กและผู้ปกครองมากถึงเพียงนั้น

สถาบันที่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดอย่างครอบครัวและโรงเรียน เป็นสถาบันที่ปรากฏการใช้ความรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง บ้างก็เกิดการส่งทอดพฤติกรรมจากผู้เป็นพ่อแม่ไปสู่ครูบาอาจารย์ โดยมี ‘วาทกรรม’ บางอย่างที่ถูกยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการควบคุมเด็ก อาทิ สั่งสอนให้หลาบจำ รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี

เมื่อมองให้ลึกลงไปก็จะพบบว่าวาทกรรมเหล่านี้ยึดโยงอยู่กับพฤติกรรมการอบรมสั่งสอนผ่าน ‘ความกลัว’ ให้เด็กไม่กล้าทำผิดซ้ำอีก ซึ่งแม้จะได้ผลในด้านการระงับพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่ไม่พึงประสงค์ แต่ไม่อาจบอกได้ว่าเด็กจะเกิดการเรียนรู้และเข้าใจด้วยเหตุผลอย่างแท้จริงหรือไม่ วาทกรรมเหล่านั้นจึงไม่ต่างอะไรกับการสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้ใหญ่ที่ใช้อำนาจในการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง

สั่งสอนอย่างไรให้เป็น ‘เด็กดี’

หลายครั้งที่ความคาดหวังของผู้ใหญ่ต่อเด็ก ถูกสะท้อนผ่าน ‘ครู’ ผู้รับบทขัดเกลาและผลิตเยาวชนที่ดีออกสู่สังคม ในงานวิจัย สำรวจวาทกรรมเกี่ยวกับการจัดการในชั้นเรียนและการลงโทษของครูระดับชั้นมัธยมศึกษา ภายใต้ชุดโครงการวิจัยการสำรวจและรื้อถอนมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทย โดย กานน คุมพ์ประพันธ์ และ อุฬาชา เหล่าชัย พบว่า ลักษณะอันพึงประสงค์ของเด็กซึ่งมีมาตรฐานมาจากคำนิยามของการเป็นคนดี คือ จะต้องมีมารยาทและระเบียบวินัยที่บ่งบอกถึงการรู้ ‘ที่ต่ำที่สูง’ หรือรู้ความสัมพันธ์ของตนเองกับผู้อื่น มีอาชีพที่มั่นคง สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และการเห็นประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตัว

กานนและอุฬาชา ตั้งข้อสังเกตจากความคาดหวังดังกล่าวว่า เด็กที่ผู้ใหญ่ต้องการสร้างมีลักษณะของการเป็นพลเมืองที่สยบยอมต่ออำนาจและเชื่อฟังผู้ที่มีสถานะสูงกว่า เป็นพลเมืองที่ถูกสอนให้มีมารยาท ให้ผู้มีอำนาจพอใจและพาไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ควบคู่ไปกับการมีความรู้ความสามารถ 

เมื่อความคาดหวังให้เด็กทุกคนเป็นเด็กดีตามอุดมคติที่ถูกป้อนจากสังคม ลำเลียงถ่ายทอดมาถึงผู้ใช้อำนาจซึ่งมีความใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดอย่างพ่อแม่และครู ลักษณะของการสั่งสอนจึงถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับความต้องการนั้น และการใช้ความรุนแรงกลายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มากที่สุด เพราะสามารถทำให้เด็กเชื่อฟัง อยู่ในกฎระเบียบ ไม่กล้ากระทำพฤติกรรมนอกเหนือจากสิ่งที่อนุญาต อีกทั้งยังเป็นวิธีที่บังเกิดผลลัพธ์ได้อย่างทันตาเห็น

ความเจ็บปวดไม่ว่าทางกายหรือทางใจ อาจทำให้เด็กเหล่านั้นรู้สึกเข็ดหลาบและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ตามความประสงค์ของผู้ใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าเด็กเหล่านั้นจะถูกออกแบบแนวทางชีวิตให้เข้ารูปเข้ารอย และเป็นเด็กดีอย่างที่สังคมคาดหวัง แต่นั่นก็อาจทำให้เด็กมองข้ามสิทธิที่ตัวเองพึงได้รับและควรเรียกร้องเมื่อถูกละเมิดเช่นกัน

ทายาทของมรดกความรุนแรง

การคงอยู่ของความรุนแรง ไม่อาจดำรงอยู่ได้เพียงเพราะองค์ประกอบของการจดจำเป็นคำพูดหรือตัวหนังสือ แต่คือการผลิตซ้ำความรุนแรงจากคนสู่คน การถ่ายทอดวิธีการสร้างความหวาดกลัวจากผู้ใหญ่ไปสู่เด็ก

หากเด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นผ่านการซึมซับและยอมรับความรุนแรงนั้นไว้ในนามของความรักและความหวังดี โดยไม่ตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง ก็มีโอกาสที่เด็กคนนั้นจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรงกับเด็กอีกรุ่น วนลูปเช่นนั้นไปเรื่อยๆ 

เรื่องที่น่ากังวลคือ ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่ง หรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเท่านั้น แต่การถ่ายทอดความรุนแรงโดยอ้างวาทกรรมที่ว่าด้วยความรักและความปรารถนาดี ยังกลายเป็นแนวทางปฏิบัติที่สังคมไทยให้การยอมรับมาตั้งแต่อดีต แม้ปัจจุบันจะผ่อนคลายลงตามการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่และเกิดความตระหนักถึงสิทธิของเด็กและเยาวชนมากขึ้น แต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่มองว่าให้เก็บความรุนแรงไว้ใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะไม่มีวิธีการใดจะกำราบเด็กๆ ได้อยู่หมัดเท่าวิธีการนี้อีกแล้ว

มายาคติของความรักและความรุนแรงนี้ ถูกอธิบายผ่านแนวคิดสามเหลี่ยมของความรุนแรง (Triangle of Violence) ของ โยฮัน กัลตุง (Johan Galtung) ซึ่งยิ่งอันตรายขึ้นเมื่อวาทกรรมอันเป็นข้ออ้างแห่งความรุนแรงได้แฝงตัวอยู่ในวัฒนธรรมของสังคมไทย จนบ่มเพาะเป็น ‘ความรุนแรงทางวัฒนธรรม’ ซึ่งมีไว้เพื่อสร้างคำอธิบายรองรับความชอบธรรมให้กับความรุนแรงทางตรงที่ผู้ใหญ่กระทำกับเด็ก กระทั่งกลับกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สังคมให้การยอมรับในที่สุด

วิธีการที่ถูกเลือกใช้ มีทั้งรูปแบบของการทำให้เกิดความเจ็บปวดทางกายอย่างการหยิกหรือตี ไปจนถึงการทำให้รู้สึกเจ็บปวดทางใจผ่านการใช้คำพูดดุด่า การประจานให้เกิดความอับอาย ซึ่งทั้งสองรูปแบบล้วนสร้างบาดแผลฝังลึกในจิตใจของเด็กผู้ถูกกระทำ

ความรุนแรงเหล่านี้กลายเป็น ‘มรดก’ สืบทอดต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น เป็นประสบการณ์ร่วมของเด็กไทยแทบทุกคน เมื่อคิดจะสลัดออกก็ถูกรัดไว้อีกครั้งด้วยเงื่อนไขแห่งความรักและความหวังดีที่เด็กไม่อาจปฏิเสธจากผู้ใหญ่ได้

อ้างอิง
  • The Violence Triangle
  • โครงการผู้นำแห่งอนาคต: ร่วมสร้างสังคมแห่งการเกื้อกูล. (2564). ใต้พรมแห่งความดีงาม. กรุงเทพฯ: คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า