กายวิภาคแห่งความเหลื่อมล้ำในเมืองท่องเที่ยว

สายน้ำเจ้าพระยาไหลระเรื่อยเอื่อยลอดใต้สะพานพระราม 8 ลมพัดรวยรื่นแตะลูบเนื้อกาย อาจเป็นเพราะบรรยากาศเช่นนี้กระมังที่ทำให้ประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นหมุดหมายสำคัญหนึ่งของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เรานัดคุยกับ ดร.กฤษณะ แพทย์จะเกร็ง นักวิชาการอิสระ ริมน้ำแสนสวย ทว่ามิใช่เพื่อถามเขาว่าชอบไปทะเลหรือภูเขามากกว่า แต่รับรองได้ว่าใกล้เคียงและน่าสนใจไม่แพ้กัน

“เมืองท่องเที่ยวมันเหลื่อมล้ำได้ยังไง” เขาเปิดประเด็น “นี่เป็นเป็นโจทย์ที่เราสงสัย พอได้ค้นคว้าข้อมูลแล้ว คำตอบที่พบในท้ายที่สุดคือ…”

ระหว่างการสนทนา ชาวต่างชาติสะพายเป้บนหลัง 3-4 คน เดินเล่นและยกกล้องเพื่อกดถ่ายรูปวิวทิวทัศน์ ขณะเดียวกัน คนจรเนื้อตัวมอมแมมบางคนเมียงมองด้วยความสงสัย เรากำลังคุยกันถึงโครงการวิจัยที่ชื่อ ‘ปริทัศน์สถานภาพความรู้ เรื่องความเหลื่อมล้าในเมืองท่องเที่ยว’ ที่มี ดร.กฤษณะ เป็นหนึ่งในคณะวิจัยร่วมกับ ผศ.ดร.เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์ คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พลิกหน้าประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยวเริ่มมีบทบาทสำคัญในภาคเศรษฐกิจไทย นับจากวันที่รัฐบาลจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) ในปี 2502 ซึ่งเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ก่อนจะเปลี่ยนเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เมื่อปี 2522

หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา การท่องเที่ยวไทยนับเป็นแหล่งรายได้หลักอย่างหนึ่งของประเทศ กระทั่งในปี 2545 มีการก่อตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำให้ภารกิจด้านการท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติมาโดยตลอด วัดจากข้อมูลในปี 2560 ที่พบว่า ภูเก็ตมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากถึง 361,418 ล้านบาท ชลบุรี 171,609 ล้านบาท และเชียงใหม่ 32,719 ล้านบาท

กระนั้น ทุกสิ่งมิได้หอมหวานเสมอไป เมื่อความเหลื่อมล้ำได้แทรกซึมไปทั่วทุกลมหายใจและหยาดเหงื่อของคนจน ไม่เว้นแม้แต่ในเมืองท่องเที่ยว พูดให้ตรงกว่านั้น การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญต่อตัวเลขรายได้และเศรษฐกิจ จนละเลยมิติอันละเอียดอ่อนซับซ้อนในด้านอื่นๆ ท้ายสุดจึงนำมาซึ่งปัญหาไม่รู้จบแบบงูกินหาง

กลับไปที่คำตอบจากงานวิจัยของ ดร.กฤษณะ ที่ค้างคาอยู่ในตอนต้น เพื่อค้นหารูปธรรมแห่งความเหลื่อมล้ำที่ซ้อนเร้นอยู่ในเมืองท่องเที่ยว เขาพบว่า…

“เมื่อเกิดการพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวแล้ว คนที่มีทุนเยอะกว่า ย่อมมีโอกาสเข้าไปลงทุน พัฒนา และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มากกว่าคนที่มีทุนน้อย จุดนี้เองที่ชี้ให้เห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ด้านการเข้าถึงทุน กลายเป็นวงจรกลับมาสู่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้”


จากงานวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทำไมจึงเจาะจงไปที่เมืองท่องเที่ยว

ถ้าพูดถึงปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมเมือง เราพบว่ามีคนศึกษาเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างน้อย โจทย์ของโครงการวิจัยชุดนี้ได้แบ่งลักษณะของเมืองที่จะศึกษาออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ เมืองศูนย์กลาง เมืองอุตสาหกรรม เมืองท่องเที่ยว และเมืองเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งงานวิจัยในระยะแรก เราศึกษาเรื่องเมืองท่องเที่ยวทั้งหมด แต่จุดสำคัญคือโฟกัสไปที่เมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เช่น เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต เพราะมองเห็นความเหลื่อมล้ำค่อนข้างชัด

คำถามแรกที่เราตั้งขึ้นมาคือ เมืองท่องเที่ยวคืออะไรกันแน่ เพราะฟังก์ชั่นของเมืองท่องเที่ยวมีหลากหลาย อย่างกรุงเทพฯ ก็ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน

ผมสงสัยและมองย้อนกลับไปดูว่า เมืองท่องเที่ยวเกิดขึ้นมาอย่างไร พอค้นข้อมูลจึงเริ่มเห็นว่า เมื่อพูดถึงเมืองท่องเที่ยว ภาพแรกๆ ที่ปรากฏขึ้นคือ หัวหิน ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวของคนชั้นสูงในสมัยก่อน แต่ตอนนั้นความเป็นเมืองท่องเที่ยวยังไม่ชัดเจน ภาพถัดมาคือ พัทยา เมื่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเริ่มเข้าไปมากขึ้นก็ทำให้เกิดเป็นเมืองโดยอัตโนมัติ รวมถึงมีนโยบายบางอย่างสนับสนุน

ย้อนไปที่แผนพัฒนาฯ ฉบับแรก เริ่มปรากฏให้เห็นว่า ทิศทางนโยบายได้ชี้ไปที่การพัฒนาเมืองท่องเที่ยว ช่วงนั้นมีการตั้งหน่วยงาน อ.ส.ท. ขึ้นมา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในประเทศไทย ที่เห็นได้ชัดคือพัทยา เพราะที่นั่นมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่ดึงดูดชาวต่างชาติอยู่แล้ว จากนั้นเริ่มมีการจับมือกับภาคธุรกิจ เริ่มมีสายการบินต่างประเทศเข้ามา นั่นคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมืองท่องเที่ยว

จนกระทั่งในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4-7 เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เกิดนโยบายการพัฒนาเป็นเมืองบริวาร เช่น หาดใหญ่ เชียงใหม่ และเริ่มมีจุดท่องเที่ยวล้อมรอบ อย่างไรก็ตาม บริบทของเมืองท่องเที่ยวก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามแผนพัฒนาฯ เพราะในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7-9 เมืองท่องเที่ยวจะอยู่ในบริบทของการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน แทนที่จะกระจุกตัวอยู่ในเมืองก็เริ่มกระจายออกสู่ชนบทมากขึ้น

สิ่งที่พบในท้ายสุดคือ เมื่อเกิดการพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวแล้ว คนที่มีทุนเยอะกว่า ย่อมมีโอกาสเข้าไปลงทุน พัฒนา และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มากกว่าคนที่มีทุนน้อย จุดนี้เองที่ชี้ให้เห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ด้านการเข้าถึงทุน กลายเป็นวงจรกลับมาสู่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้

นิยามคนจนในเมืองท่องเที่ยวนั้นอยู่ภายใต้คอนเซ็ปท์เดียวกับเมืองอื่นๆ คือ ความจน 4 ด้าน ได้แก่ จนรายได้ จนโอกาส จนสิทธิ และจนศักดิ์ศรีความเป็นคน

ผมไปเจองานชิ้นหนึ่งของ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด (อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ให้ข้อมูลน่าสนใจว่า สัดส่วนของการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 1 บาท จะไปกระจุกตัวอยู่ที่คนรวยประมาณ 45 สตางค์ และไปอยู่ที่คนจนสุดประมาณ 3 สตางค์ ต่างกันถึง 15 เท่า ซึ่งข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่า จริงๆ แล้วการท่องเที่ยวอาจไม่ได้ทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างที่พูดกัน แต่ไปกระจุกอยู่ที่กลุ่มทุนต่างหาก

เมืองเหล่านี้เป็นเมืองที่ค่าครองชีพค่อนข้างแพง แต่มีกลุ่มคนประเภทหนึ่งคือ แรงงานนอกระบบ คนกลุ่มนี้ต้องเข้าไปเพื่อทำงาน การเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูง ท้ายสุดกลายเป็นว่าเขาไม่ได้จนด้วยรายได้ แต่จนด้วยโอกาส ถ้าเราเอาเส้นความยากจนมาขีด คนกลุ่มนี้มีรายได้เกินเส้นความยากจนหมด ทว่าไม่มีสิทธิด้านการรักษาพยาบาล สิทธิประกันสุขภาพของคนกลุ่มนี้หายไป แม้แต่สิทธิในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยก็ยากลำบาก

เป็นเพราะนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่ไม่ได้มีอะไรรองรับกลุ่มแรงงานด้วยใช่ไหม

นโยบายก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ท้ายสุดเราลืมมองคนในพื้นที่ว่าพวกเขาพร้อมหรือยัง เช่นที่ผมบอกไปตอนแรกเรื่องเงินทุน คนเหล่านี้เข้าถึงทุนหรือเปล่า ถ้าวันหนึ่งคนในชุมชนอยากพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองขึ้นมาในขณะที่ไม่มีทุน ทว่าคนนอกพื้นที่มีทุนและมีความพร้อมมากกว่า คนในชุมชนก็ตามเขาไม่ทัน ดังนั้น การกระจายโอกาสลงมาถึงคนในพื้นที่จริงๆ จึงค่อนข้างน้อย นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐที่ออกมาก็ยังไม่ชัดพอ

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 เป็นต้นมา จะเห็นว่าเริ่มมีนโยบายที่มองไปถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน แต่พอถามไปคนในชุมชนกลับบอกว่า เขาเองก็อยากทำนะ แต่ไม่พร้อม ความรู้ไม่มี เงินทุนก็ไม่มี แล้วจะเดินหน้าอย่างไร หาตลาดอย่างไร นโยบายนี้ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างไปอีก จริงอยู่ว่าคนในพื้นที่อาจได้ส่วนแบ่งจากการท่องเที่ยวเหมือนกัน แต่ก็ไม่เยอะมาก

ลองนึกภาพเวลาเราไปเที่ยวในชุมชน เขาอาจมีการขายของฝาก ของที่ระลึก ของกินของใช้ เพื่อให้คนเข้ามาท่องเที่ยวหรือใช้บริการ แต่ถ้าเป็นที่พัก โรงแรม หรืออุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวนั้น หลายแห่งไม่ได้อยู่ในมือชาวบ้านเลย ตัวนโยบายเองก็กำหนดจากบนลงล่าง ไม่ใช่ว่าชุมชนอยากทำแล้วเสนอขึ้นไป ท้ายสุดแล้วการทำให้เกิดเมืองท่องเที่ยวจริงๆ ก็ต้องอาศัยการสนับสนุนจากรัฐอยู่ดี ต้องอาศัยแรงผลัก

ในงานวิจัยได้พูดถึงความเหลื่อมล้ำ 8 ประเด็น มีการจำแนกอย่างไรบ้าง

ในงานวิจัยเราแบ่งความเหลื่อมล้ำออกเป็น 8 ประเด็น 1) ด้านกายภาพและโครงสร้างพื้นฐาน 2) ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษ 3) ด้านพื้นที่สีเขียวและพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 4) ด้านศิลปะและวัฒนธรรม 5) ด้านความเท่าเทียมทางเพศ 6) ด้านผู้สูงอายุและคนพิการ 7) ด้านแรงงาน และ 8) ด้านรายได้และเศรษฐกิจ แต่ความเหลื่อมล้ำทั้งหลายเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดดๆ หมายความว่าเกือบทุกปัญหาพันกันไปหมด เช่น เรื่องแรงงานนอกระบบ เรื่องรายได้ และเรื่องเพศ 3 ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกันอยู่ มองแต่ละตัวเป็นเอกเทศไม่ได้ แบ่งอธิบายทีละชิ้นแยกกันก็ไม่ได้ เพราะทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลกัน ถ้าคุณเป็นแรงงาน คุณจะถูกแบ่งว่าเป็นแรงงานในระบบหรือนอกระบบ เมื่อเป็นแรงงานที่แตกต่างกันก็ย่อมมีผลต่อรายได้

พูดง่ายๆ คือความมั่นคงต่างกัน สมมุติว่าผมเป็นแรงงานนอกระบบ ถ้าพรุ่งนี้ถูกนายจ้างเลิกจ้าง ผมก็ขาดรายได้ แต่ผมมีรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายอยู่ ความจนที่มีอยู่แล้วก็ถูกซ้ำเติมไปอีก ยิ่งความแตกต่างทางเพศ ค่าจ้างก็ต่างกัน สามเหลี่ยมนี้จึงค่อนข้างชัดว่าพันกันอยู่

เรื่องแรงงานในระบบ-นอกระบบ จะแก้อย่างไร เพราะบางคนเขาไม่สามารถเข้าไปในระบบได้จริงๆ

ส่วนหนึ่งอาจอยู่ที่นายจ้าง ถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็กในเมืองท่องเที่ยวต่างๆ เขาก็ไม่จำเป็นต้องจ้างคนงานประจำ ไม่ต้องมีการเซ็นสัญญาจ้าง แต่ใช้รูปแบบจ้างรายวัน จ้างชั่วคราว จะเลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ได้ อยู่ๆ วันหนึ่งถ้าเขาไม่อยากทำกิจการต่อ เขาก็ปิดร้านไป ลูกจ้างก็ถูกลอยแพ

ประเด็นด้านกายภาพและโครงสร้างพื้นฐาน พบปัญหาอะไรบ้าง

หลักๆ เป็นเรื่องการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เช่น ถนน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เมืองท่องเที่ยวบางแห่งแม้จะมีการโปรโมท แต่ก็ไม่เกิด เพราะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่เอื้ออำนวย แต่จะให้ชุมชนทำเองก็ไม่ไหว

ปัญหาด้านผู้สูงอายุและคนพิการก็เกี่ยวข้องกับเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน จริงๆ ถ้าเราพูดถึงเรื่อง universal design มีงานอยู่ประเภทหนึ่งที่ผมเจอในเมืองท่องเที่ยว คือการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ ครั้นพอไปถึงกลายเป็นว่าไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเลย ห้องน้ำไม่สะดวก ทางลาดก็ไม่มี ในขณะที่เรากำลังเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัย หรืออยากให้ผู้สูงอายุกลับมามีชีวิตชีวามากขึ้นด้วยการท่องเที่ยว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน เพื่อจะรองรับผู้สูงอายุที่เป็นนักท่องเที่ยว รวมถึงผู้สูงอายุในพื้นที่เองด้วย

เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ เป็นความเหลื่อมล้ำในเมืองท่องเที่ยวอย่างไร

ความแตกต่างทางเพศมีผลเกี่ยวข้องกับเรื่องการจ้างงาน ค่าแรงของชายหญิงที่ต่างกัน แต่ในเรื่องเพศยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งอาจารย์สมัคร์ กอเซ็ม (นักวิชาการอิสระ) ได้เสนอประเด็นเกี่ยวกับเพศพาณิชย์ โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาทำงานประเภทนี้ที่เชียงใหม่ ซึ่งความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นเพราะคนเหล่านี้ถูกจัดเป็นชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยในประเทศ และเผชิญหน้ากับการอยู่ในสังคมใหม่ของเชียงใหม่ในฐานะของคนไร้สัญชาติ และกลายเป็นกลุ่มคนชายขอบในเมืองเชียงใหม่ที่เข้ามาเป็นแรงงานไร้ทักษะและได้รับค่าแรงที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน คนเหล่านี้ไม่มีวุฒิการศึกษา ไม่มีบัตรประชาชน จึงเกิดการตีกรอบว่าต้องทำงานประเภทนี้ ไม่สามารถไปทำงานอย่างอื่นหรือเข้าสู่ระบบตลาดแรงงานได้

ด้านศิลปะและวัฒนธรรมมีความเหลื่อมล้ำอย่างไร

ดร.อิสระ  ชูศรี จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลว่า ในแง่ศิลปวัฒนธรรมของคนในและคนนอกที่เพชรบุรี คนในมองว่าคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมของเมืองเขาอยู่ที่ไหนบ้าง แต่เวลาคนนอกหรือหน่วยงานรัฐมองเข้าไปเป็นคนละที่กัน ถ้าทำแผนที่แล้ววางซ้อนกัน บางส่วนอาจเหลื่อม บางส่วนที่ซ้อนกันอยู่อาจไม่ตรงกันเลยก็ได้ เช่น วัดนี้คนเพชรฯ บอกว่าสวยและสำคัญ นักท่องเที่ยวต้องมา มีเรื่องราวผูกพันกับชุมชน แต่พอคนนอกมองเข้าไปอาจไม่ได้รู้สึกอะไรกับชุมชน คนนอกแค่อยากไปถ่ายรูปวัดเก่าๆ ตามที่ลิสต์มา

พอรัฐพยายามมองลงไปว่าในพื้นที่ควรพัฒนาอะไร แต่ชาวบ้านมองอีกอย่าง กลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากนโยบาย บางทีชาวบ้านอยากให้พัฒนาวัดนี้ แต่รัฐมองว่าควรไปพัฒนาอีกวัดดีกว่า คือคิดเห็นไม่ตรงกัน แล้วจะเดินกันไปอย่างไร อีกเรื่องคือภาษา โดยเฉพาะภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ ถ้าคนในกับคนนอกมองต่างกัน การสื่อสารก็ออกมาไม่ตรงกัน ไม่สามารถคุยกันได้

อีกประเด็นคือ ความเหลื่อมล้ำด้านพื้นที่สีเขียว หมายถึงอะไร

เรามองในเรื่องของการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น เมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ อย่างภูเก็ต ชายหาดก็จัดเป็นพื้นที่สีเขียวประเภทหนึ่งที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ แต่กลับถูกจำกัดด้วยสิทธิ์บางอย่าง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น พูดง่ายๆ ก็อย่างที่เห็นตามข่าวว่า บางชายหาดถูกกันไว้เป็นเขตโรงแรม คนอื่นเข้าไม่ได้ เดินผ่านไม่ได้ ทำให้คนถูกกีดกันออกไป ทั้งที่ชายหาดเป็นทรัพยากรสาธารณะ แต่ไม่สามารถเข้าไปเที่ยวได้ เพราะไม่ใช่ลูกค้าของโรงแรม

การจัดการสิ่งแวดล้อมในเมืองท่องเที่ยวควรมีทิศทางอย่างไร

เมืองท่องเที่ยวหลายแห่งมักประสบปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นที่เกาะช้าง จังหวัดตราด มีประเด็นที่น่าสนใจว่าเกาะช้างเป็นพื้นที่ปิด ถ้าอย่างนั้นแล้วขยะหรือของเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะจัดการอย่างไร ใครจะเป็นคนจัดการกับขยะที่เกิดขึ้นทุกวัน ชาวบ้านสามารถจัดการเองได้ไหม หรือว่าต้องรอภาครัฐเข้าไปลงทุนอย่างเดียว

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งแวดล้อมจะเป็นจุดขายสำคัญของแหล่งท่องเที่ยว ถ้าชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมหรือลงทุนเพื่อการจัดการได้ เมืองท่องเที่ยวนั้นก็จะเดินต่อค่อนข้างยาก สมุยก็คล้ายกัน แต่ค่อนข้างจัดการได้ดี ทั้งความร่วมมือของนักลงทุน กับความร่วมมือของชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ดี ทำให้สามารถจัดการขยะได้ แม้จะไม่ได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็จุดประกายให้เห็นว่า ถ้ามีการรวมกลุ่มกันก็จะช่วยได้ แต่ละฝ่ายทำในพื้นที่ของตนตามบทบาท

ในท้องถิ่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงหรือไม่ก็ตาม ควรมีการกระจายอำนาจเข้าไปสู่ชาวบ้านอย่างไรจึงจะทำให้เกิดการจัดการที่ดี

ชาวบ้านต้องมีความรู้ความเข้าใจก่อน บางพื้นที่เริ่มเห็นแล้วว่าตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ทราบจะจัดการอย่างไร เช่น มีการคัดแยกขยะ แต่สุดท้ายกลับเอามารวมแล้วฝังกลบ ไม่ได้ถูกคัดแยกจริง ภาครัฐอาจต้องมีกลไกบางอย่างเข้าไปช่วย ตัวอย่างที่น่าสนใจคือเทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เทศบาลรณรงค์ให้ประชาชนในชุมชนร่วมกันคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางในบ้าน สนับสนุนรถซาเล้งให้รับซื้อขยะ โดยเทศบาลลงทุนให้บริการรถซาเล้งที่สามารถโทรเรียกได้ แล้วไปเก็บถึงที่บ้าน ซาเล้งก็มีรายได้ ไม่ต้องตระเวนวิ่ง ส่วนชาวบ้านก็สามารถคัดแยกขยะและขายได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอเทศบาลไปเก็บ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละเทศบาลจะมีกลไกจัดการปัญหาตามบริบทของตนเองอย่างไร

ในเมืองท่องเที่ยวต่างๆ พบปัญหาเรื่องการต่อสู้เรียกร้องเพื่อทวงสิทธิความเป็นเจ้าของที่ทำกินบ้างไหม

ถ้าเราตามจากเหตุการณ์ บางพื้นที่ก็มีการแสดงตัวว่านี่คือพื้นที่ของชุมชนเขานะ ทำไมต้องปล่อยให้คนอื่นเข้ามาพัฒนา ผมเริ่มเห็นการรวมกลุ่มนักพัฒนาเมืองขึ้นมา อาจไม่ใช่ชาวบ้านอย่างเดียว แต่เป็นกลุ่มนักธุรกิจในพื้นที่ เขาเริ่มมองว่าจริงๆ แล้วเมืองของตนควรพัฒนาไปทางไหน แทนที่จะปล่อยให้รัฐมาคอยกำกับ คอยชี้ทิศทาง กรณีที่เห็นชัดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น ขอนแก่น นักธุรกิจมีการร่วมมือกันในการวางแผนการคมนาคมเอง อันนี้ต้องยอมรับว่าเข้มแข็งมาก

ถ้ามองกรุงเทพฯ ในความเป็นเมืองท่องเที่ยว เราเห็นอะไรบ้าง

ข้อนี้ขอตอบเป็นความเห็นส่วนตัวว่า กรุงเทพฯ มีกลุ่มผลประโยชน์ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าธุรกิจใหญ่ โรงแรม กลุ่มบริษัทนำเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก และอื่นๆ ถามว่าจริงๆ แล้วคนกรุงเทพฯ อยู่ตรงไหน แล้วได้ผลประโยชน์อะไรจากการเป็นเมืองท่องเที่ยว ผมว่าผลประโยชน์โดยตรงคงไม่ชัดเจนเท่าไร เป็นเพียงเม็ดเงินที่เข้ามาหมุนเวียนมากกว่า

คนกรุงเทพฯ ทั่วไป อาจไม่ได้สัมผัสกับผลประโยชน์ที่เกิดจากการท่องเที่ยว ด้วยความที่เป็นทั้งเมืองศูนย์กลาง เป็นทั้งเมืองท่องเที่ยว แต่ก็เป็นเฉพาะย่าน ไม่ใช่ทั่วทั้งพื้นที่ บางพื้นที่ถือเป็นเมืองอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ ฉะนั้น กรุงเทพฯ จึงเป็นเมืองที่มีความซับซ้อน ถ้าพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำไม่ว่าด้านใดก็ตาม กรุงเทพฯ โดนหมดทุกประเด็น

จากการลงพื้นที่ทำวิจัยที่เมืองพัทยา พบปัญหาอะไรบ้างที่น่าสนใจ

ผมลงไปดูเรื่องการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของแรงงานนอกระบบในเมืองพัทยา ซึ่งมีแรงงานประเภทนี้เข้าไปค่อนข้างเยอะ ตอนผมไปสัมภาษณ์ในพื้นที่ พบว่ามีแรงงานเดินทางมาจากทั่วสารทิศ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน

พวกเขาเล่าให้ฟังว่า ในตอนแรกตั้งใจมาทำงานเก็บเงินแล้วกลับบ้าน ฉะนั้น เรื่องที่อยู่อาศัยไม่จำเป็นสำหรับเขา เช่าเอาก็ได้ บางคนเช่าที่ดินแล้วสร้างอาคารง่ายๆ อยู่ เพราะคิดว่าจะอยู่ชั่วคราว ไปๆ มาๆ อยู่เป็น 10 ปี มีครอบครัวใหญ่ขึ้น เขาก็เริ่มมองหาที่อยู่อาศัยที่ดีขึ้น แต่กลุ่มแรงงานนอกระบบไม่สามารถเข้าถึงเงินทุน จะไปกู้ธนาคารก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีแหล่งรายได้หรือรายการเดินบัญชีที่ชัดเจน ไม่มีเอกสารไปยื่น แม้กระทั่งโครงการของการเคหะฯ เอง ก็ยังไม่สามารถผ่อนที่อยู่อาศัยราคาถูกได้ เพราะรายได้ไม่มั่นคงแน่นอน บางเดือนมี บางเดือนไม่มี อาจผ่อนได้แค่ช่วงแรก 5 เดือน พอเดือนที่ 6 ไม่มีแล้ว ที่อยู่อาศัยที่ควรได้ก็หลุดมือไป เพราะความไม่มั่นคงทางรายได้

มีนโยบายของรัฐที่สามารถช่วยให้คนเหล่านี้มีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัยบ้างไหม

มีอยู่โครงการหนึ่งที่ผมเคยไปถอดบทเรียนมาคือ โครงการบ้านมั่นคงที่พัทยา เขารวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์เคหสถาน บ้านมั่นคงเขาน้อยพัทยา ซึ่งการตั้งกลุ่มค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควร ผู้นำชุมชนเล่าว่า ประเด็นสำคัญคือต้องมีการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ก่อน แล้วแต่ละคนต้องใส่เงินเข้าไปในสหกรณ์ทุกเดือนๆ เหมือนเป็นกองทุนสำรองขึ้นมา แต่การตั้งสหกรณ์แบบนี้ ทุกคนจะยังไม่เห็นบ้าน ยังไม่เห็นที่ดิน ฉะนั้น ความเชื่อใจต้องมาก่อน

อย่างพัทยาโชคดีตรงที่นายกเมืองพัทยาเขาให้ความสำคัญ คือลงมาเป็นหนึ่งในกรรมการของสหกรณ์ ฉะนั้น จึงสร้างความเชื่อใจได้ ทำให้สมาชิกกล้าใส่เงินเข้าไปทุกเดือน พอได้เงินก้อนหนึ่ง ทางสหกรณ์ก็มาคุยกับ พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) เพื่อจัดหาที่ดินสักแปลงสำหรับสร้างบ้านมั่นคงขึ้นมา

ข้อสรุปที่ชัดเจนจากกรณีเมืองพัทยาคือ โครงการบ้านมั่นคงจะเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัย 3 อย่างที่ต้องทำงานร่วมกัน หนึ่ง จำนวนสมาชิกที่สอดคล้องกับจำนวนยูนิตหรือหน่วยของที่อยู่อาศัย สอง ขนาดของแปลงที่ดินที่สอดคล้องกับขนาดอาคารและจำนวนหน่วย และสาม ความสามารถที่จะผ่อนจ่าย

พัทยาเป็นเขตปกครองพิเศษ มีข้อเสียเปรียบหรือได้เปรียบอย่างไร

อาจมีความได้เปรียบในเรื่องการตัดสินใจที่เร็วกว่า เพราะพื้นที่อื่นๆ ต้องผ่านระบบกลไกหลายขั้นตอน แต่เขตปกครองพิเศษ ถ้าตัวของเทศบาลเอาด้วยก็เคาะได้เลยว่าจะทำหรือไม่ทำ อาจไม่จำเป็นต้องทำในรูปแบบของบ้านมั่นคงเสมอไป อาจเริ่มจากการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ขึ้นมาก่อน เมื่อรวมกลุ่มกันได้ ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของการเคหะเองหรือว่าของใครก็แล้วแต่ คุณก็สามารถเข้าไปซื้อได้ เป็นการซื้อบ้านในรูปแบบสหกรณ์ ไม่ต้องซื้อแบบส่วนบุคคล เพราะสหกรณ์จะเป็นแหล่งเงินทุนสำรอง ซึ่งทำให้เกิดความยืดหยุ่นทางการเงิน ยกตัวอย่างเช่น วันหนึ่งถ้าเกิดอุบัติเหตุ ไม่มีเงินจ่าย ก็ยังมีเงินก้อนนี้ที่ทำให้คุณอยู่อาศัยต่อได้ นี่คือกลไกหนึ่งในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับแรงงานนอกระบบ

จากภาพรวมของความเหลื่อมล้ำในเมืองท่องเที่ยวทั้ง 8 ด้าน ควรจัดลำดับการแก้ปัญหาอย่างไร

อยากให้มองว่า ความเหลื่อมล้ำสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ เท่าที่ผมได้ค้นคว้ามามี 8 ประเด็น คุณไม่ต้องแก้ทุกประเด็นก็ได้ ใครถนัดอะไรก็แก้ไขทีละอย่าง ผมคิดว่าภาพเหล่านี้อาจช่วยให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำลดลงได้ บางครั้งอาจไม่ได้สะท้อนด้วยรายได้ แต่ถ้าช่วยให้คนมีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้นก็ถือว่าดีแล้ว

ความเหลื่อมล้ำทั้ง 8 ด้านนี้ ถ้ามองดีๆ ปัญหาหลักน่าจะเป็นเรื่องการขาดโอกาส รัฐต้องตอบสนองความต้องการพื้นฐานของคนให้ได้ก่อน แต่ถ้ามองถึงปัญหาเร่งด่วน รัฐอาจต้องไปตอบโจทย์ด้านรายได้และเศรษฐกิจ เพราะเป็นพื้นฐานในการดำรงชีพ ทุกวันนี้คนเราต้องจับจ่ายใช้สอย ฉะนั้น ถ้าเข้าไปแก้ไขจุดนี้ให้ไปถึงจุดที่คนดำรงชีวิตอยู่รอดได้ เขาก็จะสามารถพัฒนาไปทำอย่างอื่นต่อได้ ไม่ต้องปากกัดตีนถีบ

อย่างที่บอก ปัญหาทุกด้านล้วนเกี่ยวพันกันไปหมด แต่จริงๆ แล้วความเหลื่อมล้ำของคนจนเมืองที่เราแบ่งออกเป็นจนโอกาส จนรายได้ จนสิทธิ และจนศักดิ์ศรี สำหรับผมคิดว่าถ้าเราไปแก้อันแรกที่โอกาส หยิบยื่นโอกาสให้เขาเข้าถึงสิ่งที่จำเป็นได้ก่อน สิ่งนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ลงได้

สนับสนุนโดย

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า