ตั้งแต่ยุค ‘ปุ๋ยรักเด็ก’ เป็นต้นมา จนถึงยุคนางงามในบุคลิกสาวมั่น ก้าวเดินฉับๆ และการตอบคำถามแบบทะลุเพดานโดยไม่ต้องเกรงใจกรรมการและผู้ชม อาจกล่าวได้ว่าเวทีนางงามได้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอย่างเห็นได้ชัดในอีกบริบทหนึ่ง เพราะคุณค่าที่ใช้ตัดสินความ ‘สมมง’ ให้ความสำคัญกับการสนใจประเด็นทางสังคมของนางงามมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อกระแสการเมืองร้อนระอุไม่แพ้ประเด็นรักเด็กหรือประเด็นรักษ์โลก ซองคำถามสำหรับนางงามจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้เพื่อสะท้อนทัศนะทางการเมืองด้วยเช่นกัน
การประกวด Miss Universe Thailand 2021 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา มีความน่าสนใจทั้งในแง่ของคุณค่าในการประกวดที่เปลี่ยนไป และขยายพื้นที่ในการพูดถึงประเด็นอ่อนไหวทางสังคมมากยิ่งขึ้น
WAY ขอรวบรวมคีย์เวิร์ดและคำถามสุดปังบนเวทีสาวงามแห่งนี้เพื่อบันทึกไว้ว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่งของการประกวดนางงาม สังคมไทยก้าวหน้าไปไกลแค่ไหนกับการพูดถึงปัญหาสังคม
คำถามนางงาม…ข้อสอบสะท้อนปัญหาสังคม
Q: ปัจจุบัน Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์สำคัญที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ถ้าคนรอบตัวคุณไม่เชื่อหรือไม่สนใจเรื่อง Climate Change คุณจะมีวิธีสร้างความตระหนักรู้ และโน้มน้าวคนเหล่านั้นเกี่ยวกับปัญหานี้อย่างไร
คำถามรอบ 5 คนสุดท้ายที่ทำให้ แอนชิลี สก๊อต เคมมิส คว้ามงกุฎจากคำตอบที่ว่า “เริ่มต้นจากหลักฐานที่ประจักษ์ได้ เพราะถ้าเรามองข้ามหลักฐานเหล่านี้ ก็เท่ากับขาดความรับผิดชอบ อีกจุดที่อยากพูดถึงคือความเป็นกลาง (Neutralism) ความเป็นกลางในเรื่องนี้เท่ากับว่าคุณอยู่ข้างฝั่งที่ไม่เห็นปัญหาโลกร้อน เรามีความรับผิดชอบในจิตสำนึกเราที่ต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ฉันขอนำเรื่องความรับผิดชอบทั้งต่อสังคมและจิตสำนึกมาย้ำ เพราะมันสำคัญต่อมนุษยชาติที่จะอยู่รอดปลอดภัยต่อไปในโลกใบนี้ ขอบคุณค่ะ”
Q: ถ้าคุณมีโอกาสพูดต่อหน้าผู้นำประเทศต่างๆ ในโลก จะพูดกับพวกเขาในหัวข้ออะไร
แตงกวา-กษมา ซื่อตรง ตอบคำถามนี้ว่า
“ฉันจะพูดหัวข้อเกี่ยวกับการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ ดังนั้นรัฐบาลหรือผู้นำประเทศควรคิดเกี่ยวกับนักเรียนหรือพลเมืองของพวกเขามากกว่านี้ นั่นคือทางที่เราจะแก้ไขปัญหาการศึกษา และฉันเป็นหนึ่งในคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการศึกษามาตลอดชีวิต เพราะฉันจ่ายให้มันไม่ไหว แต่ตอนนี้ฉันกลับมาเรียนอีกครั้ง เพราะความมุ่งมั่นตั้งใจของฉัน รัฐบาลควรหันมามองและสนับสนุนการศึกษา”
Q: มีนักกีฬาข้ามเพศที่มาลงแข่งกับเพศหญิง บางคนคิดว่าไม่ยุติธรรมกับเพศหญิงโดยกำเนิด คุณมีความคิดเห็นอย่างไร
คำถามของกรรมการในรอบ Audition Keyword ที่ ลาร่า-ศรินธรณ์ แคทเธอลีน แบรนสตัน ได้ตอบเอาไว้ว่า
“ฉันไม่ใช่ผู้หญิงข้ามเพศ ฉันจึงไม่เคยผ่านประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติแบบที่พวกเขาเคยเจอ แต่ถ้าอ้างอิงจากข่าวนักกีฬาข้ามเพศชาวนิวซีแลนด์ซึ่งไม่ผ่านเข้ารอบ จะเห็นว่านักกีฬาข้ามเพศหลายคนกลัวการถูกเลือกปฏิบัติ กลัวมากจนทำให้ลังเลที่จะลงแข่งตั้งแต่แรก แต่สำหรับผู้ที่จะลงแข่ง มีงานวิจัยใหม่ๆ หลายฉบับสนับสนุนว่า ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (ฮอร์โมนเพศชาย) ในตัวพวกเขามีไม่มากพอที่จะส่งผลให้ได้เปรียบนักกีฬาคนอื่น ดังนั้นฉันขอยืนยันว่าถ้านักกีฬาข้ามเพศอยากลงแข่ง พวกเขาต้องได้แข่ง เพราะพวกเขากล้าหาญมากพอแล้ว และฉันจะสนับสนุนพวกเขาเอง”
Q: สมมุติว่าหากมีโอกาสได้เป็นผู้นำหญิงในประเทศไทย อยากจะแก้กฎหมายอะไรเพื่อพิทักษ์สิทธิสตรีในประเทศไทย
ซินดี้-ทอฝัน บินซอเล็ม ตอบคำถามในรอบ Audition Keyword นี้ไว้ว่า
“ถ้าซินดี้ได้เป็นผู้นำประเทศ นอกจากจะแก้กฎหมายเพื่อปกป้องผู้หญิงด้วยกันแล้ว ซินดี้อยากแก้กฎหมายที่ปกป้องเพศทางเลือกอย่างแม่ๆ LGBT ค่ะ เพราะซินดี้เห็นว่าแม่ๆ ทุกคนควรจะมีสิทธิเสรีภาพเท่ากันกับผู้หญิง และซินดี้ไม่ชอบเลยกับการที่แม่ๆ ถูกเรียกว่าเป็นสาวประเภทสอง เราเอาอะไรมากำหนดว่าแม่ๆ เขาเป็นเลขสอง ในเมื่อเราทุกคนรณรงค์ให้มีความเท่าเทียมกันค่ะ”
Q: ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเห็นได้ชัดมากในช่วงวิกฤติโควิดนี้ อยากทราบว่านอกจากการบริจาคและการให้ทุนการศึกษาแล้ว จะมีมาตรการอื่นอีกหรือเปล่าที่จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้
หมิวพี-พีรญา พวงสมบัติ ตอบคำถามนี้ว่า
“ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในประเทศ เพราะว่าเด็กทุกคนไม่มีสิทธิเท่าเทียมในด้านนี้ สิ่งที่หมิวอยากจะช่วยให้ลดความเหลื่อมล้ำลงไปได้ นั่นคือ การเรียนฟรีค่ะ การเรียนฟรีเป็นโอกาสเดียวที่จะทำให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาที่ดีที่สุด เพราะนั่นคือสิ่งที่ประเทศชาติต้องการจากเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศในอนาคตค่ะ ซึ่งฟรีนี้เป็นแบบ freedom จริงๆ ค่ะ ไม่ว่าจะเรียนที่ไหนหรือสุดขอบชายแดนของประเทศ ก็สามารถเรียนได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาเรียน (ในเมือง) หรือใช้เงินในการเรียนค่ะ”
Keyword สาวงามสะท้อนความสนใจสังคมรอบตัว
หมายเลข 48 พิมพ์ใจ จินตพร กับคีย์เวิร์ด ‘ผู้ชุมนุม’
“พิมพ์ใจมองเห็นพลังของเยาวชน นี่คือพลังของคนรุ่นใหม่ ที่พวกเขาแสดงให้เห็นถึงความคิดของเขา พวกเขากล้าหาญมากพอที่จะออกมาแสดงออกถึงความฝันของพวกเขา และพวกเขาลงมือทำด้วยตัวของเขาเอง พวกเราจำเป็นที่ต้องรับฟังพวกเขาให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ทำเพียงได้ยิน ตลอดจนสร้างความเข้าใจและแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน”
หมายเลข 1 ลาร่า-ศรินธรณ์ แคทเธอลีน แบรนสตัน กับคีย์เวิร์ด ‘ภาวะผู้นำ’
“ภาวะผู้นำที่ดีคืออะไร ภาวะผู้นำคือความสามารถที่จะรู้ว่าผู้อื่นรู้สึกอย่างไร และอะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ ทว่าบ่อยครั้งมันก็เป็นเรื่องยาก เพราะบางคราสมดุลอำนาจก็สามารถผลักภาวะผู้นำให้ไปอยู่ในจุดที่เป็นอันตรายสำหรับบุคคล เช่นเดียวกับในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ภาวะผู้นำถูกตั้งคำถาม ฉันเชื่อว่าภาวะผู้นำที่ถูกต้องนั้นควรให้ประชาชนมาก่อน เพราะหากไม่มีประชาชน ก็ไม่มีผู้นำ”
และอีกหนึ่งทัศนะที่น่าสนใจของลาร่าคือ ‘การสูญเสียชั้นโอโซน’ ในรอบ Keyword Battle
“การสูญเสียชั้นโอโซนถือเป็นปัญหาใหญ่ในโลกทุกวันนี้ค่ะ เพราะที่มันเกิดขึ้นก็เพราะมาจากปัญหาโลกที่ร้อนขึ้น ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ปัญหานี้ถูกทำให้เข้าใจไปว่าเกิดจากคนส่วนใหญ่ และทำให้เราต้องใช้ชีวิตแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ในความเป็นจริง ภาคอุตสาหกรรมกลับมีส่วนอย่างมากในการทำให้เกิดปัญหานี้ พวกเขาไม่มีความรับผิดชอบ ไม่เคยจัดการกับเคมีและทิ้งมันลงสู่มหาสมุทร และนั่นทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการสูญเสียชั้นโอโซนขึ้น เราไม่ได้สู้กับปัญหาโลกร้อนค่ะ แต่เราต้องสู้เพื่อผู้คนที่จะตายด้วยปัญหาเหล่านี้ เราจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อโลกมากขึ้น”
หมายเลข 9 ลูกตาล-สุรารักษ์ เกียรติสูงเนิน กับคีย์เวิร์ด ‘การคุกคามทางเพศ’
“หลายๆ คนคงรู้นะคะ ว่าการคุกคามทางเพศในประเทศไทยเป็นสิ่งที่รุนแรงมาก และผู้หญิงหลายๆ คนถูกสอนว่าให้รักนวลสงวนตัว เพราะนั่นจะไม่ทำให้ผู้ชายมาระรานเรา แต่ทุกคนทราบไหมคะ การที่สอนแค่ผู้หญิงเป็นสิ่งที่ผิดค่ะ เราควรที่จะสอนผู้ชายด้วยว่าให้เคารพสิทธิของเขา พื้นที่ของเขา และนั่นคือสิ่งที่เราควรทำค่ะ”
หมายเลข 7 มด-นันทิยา สุวรรณแสวง กับคีย์เวิร์ด ‘สมรสเท่าเทียม’
“สมรสเท่าเทียม มดมองว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ในเมื่อเรามองว่าทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิทธิและเสรีภาพ เพราะฉะนั้นการที่เราจะรักใครหรือสมรสกับใคร เป็นสิทธิของเรา มดอยากจะให้มีกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองและสนับสนุนการจดทะเบียนสมรสและแต่งงานกับทุกเพศค่ะ”
หมายเลข 10 หงส์-หยก ศิริมาตย์ กับคีย์เวิร์ด ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’
“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แน่นอนว่ามนุษย์มีสิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน แต่หลายๆ คนอาจจะขาดโอกาสในด้านนั้น เราผู้ที่มีโอกาสควรจะเป็นคนที่หยิบยื่นโอกาสนั้นให้กับพวกเขาเหล่านั้น เพื่อให้เกิดสังคมที่มีโอกาสที่เป็นธรรม (fair opportunity) ไม่ใช่โอกาสที่เท่ากัน (equal opportunity) เพราะกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด (weakest people) ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด”