วันที่ 3 สิงหาคม 2566 มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.สภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ. … เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 2 ฉบับ ฉบับแรกเสนอโดย นางสาวรุจิภา ภีระ กับการเข้าชื่อของประชาชนจำนวน 11,650 คน และฉบับที่สอง เสนอโดย นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย
ร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับนี้มีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน โดยมีสาระสำคัญหลายส่วนที่อนุญาตให้รัฐแทรกแซงกิจกรรมการเคลื่อนไหวของเครือข่ายนิสิตและนักศึกษาผ่านการจัดตั้งสภาที่ชื่อว่า ‘สภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย’
WAY สรุปประเด็นสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ไว้ดังนี้
อำนาจและหน้าที่ของสภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
- พิทักษ์รักษาสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
- ส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพ ในกรอบแห่งกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี และศีลธรรมอันดีงามของไทย
- ปลูกฝังให้นิสิตนักศึกษามีความเสียสละเพื่อส่วนรวม ตลอดจนถึงสังคมและประเทศชาติ
- พิทักษ์สิทธิ เสรีภาพ สวัสดิการ และผลประโยชน์ของนิสิตนักศึกษา
- เป็นศูนย์กลางประสานกิจการของนิสิตนักศึกษา
หน้าที่ของสมาชิกสภา
- เข้าร่วมประชุม ลงมติในการที่ประชุมสภา
- นำปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของนิสิตนักศึกษามาเสนอในที่ประชุม
- รับฟัง รวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะ
โดยสมาชิกสภาจะมาจากการสรรหาตามหลักเกณฑ์ มีวาระคราวละ 1 ปีนับตั้งแต่วันที่แต่งตั้ง ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับแรก ระบุข้อมูลว่า สภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานอิสระที่อยู่ในกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ฉบับที่ 2 ระบุว่า สภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานอิสระที่อยู่ในกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี
ในมาตรา 13 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับแรก ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศแต่งตั้งประธานสภา 1 คน และรองประธานสภา 2 คน ตามมติของสภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในขณะที่ร่างฉบับพรรคเพื่อไทยจะให้อำนาจรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง
อย่างไรก็ตาม ในโซเชียลมีเดียมีกระแสการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านแฮชแท็ก #คัดค้านพรบสภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย อีกทั้งยังมี ปารมี ไวจงเจริญ ส.ส. บัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยเธอสงสัยว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ผ่านการรับฟังความเห็นจากนิสิตนักศึกษาโดยรอบด้านแล้วหรือยัง อีกทั้งยังเสนออีกว่าเหตุผลของการมีสภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาฯ ยังไม่ชัดเจนว่าจะช่วยพิทักษ์รักษาสิทธิของนิสิตนักศึกษาได้มากน้อยเพียงใด พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า ที่มาของสมาชิกสภายังขาดการมีส่วนร่วมจากนิสิตนักศึกษาทั้งหมดของประเทศอีกด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่า การขับเคลื่อนกิจการนิสิตนักศึกษามีความสำคัญอย่างมากในหน้าประวัติศาสตร์การเมือง อีกทั้งยังส่งแรงกระเพื่อมในการประณาม กดดัน ขับไล่เผด็จการอำนาจนิยม หรือต่อต้านการกระทำที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา จึงเป็นความน่ากังวลประการหนึ่งสำหรับเครือข่ายนิสิตนักศึกษาที่อาจถูกลิดรอนสิทธิในการแสดงออก หากการจัดกิจกรรมใดๆ ต้องอยู่ภายใต้การกำกับ ควบคุม สอดส่องของสภานิสิตนักศึกษาฯ ที่ขึ้นตรงกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล
อ้างอิง:
- ปารมี ไวจงเจริญ Paramee Waichongcharoen
- รายงานผลการดำเนินการ ร่างพระราชบัญญัติสภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ. …
- หนังสือนัดระเบียบวาระ ค4