กรุงเทพฯ แพงเมื่อเทียบกับคุณภาพ: ลดค่าใช้จ่ายแฝง สร้างงาน รวมผู้หญิงเข้าไปในสมการ เพื่อทำกรุงเทพฯ ให้ถูกลง

เพราะเมืองเป็นสถานที่อยู่ของชีวิตนับล้านชีวิต การทำให้เมืองน่าอยู่นั้นความจำเป็นแรกคือต้องทำให้คนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในเมืองได้ เพราะเมืองไม่ได้มีแค่ชนชั้นกลางหรือผู้มีรายได้สูงเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายชีวิตหลากฐานะที่หายใจอยู่ร่วมกัน การสร้างเมืองให้ถูกลงจึงเป็นโจทย์สำคัญหนึ่งของผู้ที่จะมาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 

โจทย์ข้างต้นถูกถ่ายทอดผ่านวงเสวนา ‘ทำกรุงเทพฯ ให้ถูกลง เพราะเมืองคือคน ถ้าคนอยู่ไม่ได้ เมืองก็อยู่ไม่ได้’ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามอิสระ ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจของชัชชาติ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผูัอำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา 

ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ของกรุงเทพฯ ไม่ใช่ปัญหาที่เกินจริง ปี 2564 ค่าครองชีพในกรุงเทพฯ สูงติดอันดับต้นๆ ของอาเซียน กระทั่งแซงหน้าประเทศที่เจริญแล้วอย่างสิงคโปร์ การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะค่าที่อยู่อาศัยและค่าเดินทางซึ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพฯ และส่งผลกระทบต่อไปยังเรื่องอื่นๆ ได้อีกมาก อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายมิติที่ต้องร่วมทำความเข้าใจต่อไป

ค่าครองชีพแพง เพราะมีต้นทุนสูงขึ้น 

กิริฎาเน้นย้ำถึงปัญหาค่าครองชีพในกรุงเทพฯ อย่างค่าที่อยู่อาศัยและค่าเดินทาง ซึ่งตอนนี้สูงกว่าอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ไปแล้ว สิ่งที่ปรับปรุงได้อาจจะไม่ใช่เรื่องของราคาน้ำมันที่มาจากตลาดโลก แต่คือการบริหารจัดการการขนส่ง เช่น ระบบรถไฟฟ้าเชื่อมต่อมาสู่รถเมล์ให้ถูกลงและสะดวกขึ้นอย่างเป็นระบบ ก็จะสามารถลดค่าครองชีพในการเดินทางลงได้มาก

ส่วนค่าที่อยู่อาศัย กิริฎามองว่าในส่วนของตลาดระดับบนนั้นมีศักยภาพเพียงพอที่จะเช่าที่อยู่อาศัยได้ แต่จุดที่กรุงเทพฯ ต้องให้ความสำคัญคือกลุ่มตลาดกลางและตลาดพื้นฐานที่ต้องมีการบริหารจัดการให้ดีกว่านี้ มิเช่นนั้นราคาค่าเช่าก็จะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ จนส่งผลไปยังเรื่องอื่นๆ ของประชาชนต่อไปในฐานะต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร

สำหรับการลดรายจ่ายของชาวกรุงเทพฯ จริงๆ แล้วก็คือการลดต้นทุนนั่นเอง จุดนี้กิริฎาระบุว่าสามารถออกกฎระเบียบมาบังคับใช้ได้ เช่น การเปลี่ยนกฎระเบียบเกี่ยวกับค่าโดยสารแรกเข้าของรถไฟฟ้าแต่ละระบบ หากเปลี่ยนตรงนี้ได้ต้นทุนก็จะถูกลงทันที ทำให้ค่าโดยสารถูกลง หรือการลดปัญหาการคอร์รัปชันที่เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มต้นทุนของเกือบทุกสิ่ง ต่อมาคือการให้สวัสดิการชาวกรุงเทพฯ แบบที่สามารถทำให้ยั่งยืนได้ ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดีขึ้นจนสามารถจ่ายภาษีที่กรุงเทพฯ จะได้กลับมาทำสวัสดิการต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของสวัสดิการกรุงเทพฯ คือต้องไม่ใช่การให้แบบระยะสั้น เช่น การมีเนิร์สเซอรีให้ผู้ปกครองได้ฝากบุตรหลานเอาไว้และสามารถไปทำงานได้อย่างสะดวก หรือการมีศูนย์รับฝากคนชราในราคาไม่แพง ค่าใช้จ่ายของคนเมืองจะลดลงไปมาก

ไม่ใช่เพียงแค่การลดค่าใช้จ่ายได้ การเพิ่มมูลค่าของคนกรุงเทพฯ ทุกคนก็สำคัญเช่นเดียวกัน จุดสำคัญคือการเพิ่มโอกาสทำรายได้ให้มากขึ้น จุดนี้กิริฎามองว่าการเพิ่มจำนวนตลาดกับเทคโนโลยีดิจิทัลก็สำคัญเช่นเดียวกัน แต่กรุงเทพฯ จะต้องอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเรื่องการใช้งานแพลตฟอร์มหรือการขยายองค์ความรู้ทางด้านดิจิทัลเช่นกัน ตัวอย่างสำคัญคือประเทศสิงคโปร์ให้งบประมาณทุกคนสำหรับการไปฝึกทักษะสำหรับเพิ่มรายได้ทุกปี หากไม่มีการใข้งานก็จะถูกริบคืนช่วงสิ้นปี วิธีนี้ทำให้คนเสียดายและนำเงินส่วนนี้ไปเพิ่มทักษะจริงๆ ซึ่งกรุงเทพฯ สามารถเพิ่มกิจกรรมในระยะยาวลักษณะนี้ได้เช่นกัน โดยอาจจะขยายจากศูนย์ฝึกทักษะที่มีอยู่แล้ว

การหารายได้สำหรับกิริฎายังสัมพันธ์ไปกับการสาธารณสุข เนื่องจากหากสุขภาพไม่ดีการหารายได้เพิ่มก็ลำบาก ดังนั้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานกับระบบสาธารณสุขด้วยจึงเป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงยังเป็นสิ่งพื้นฐานอีกด้วย

ออกแบบนโยบายเมืองด้วยมุมมอง ‘888’

ธานีอธิบายความหมายของคำว่า ‘กรุงเทพฯ แพง’ เอาไว้ 2 ประเภท ประเภทแรกคือ ราคาสูงเมื่อเทียบกับรายได้ อีกประเภทคือ ราคาสูงเมื่อเทียบกับคุณภาพของบริการและการใช้ชีวิต

ในประเภทแรกมีคำอธิบายเอาไว้ว่า กรุงเทพฯ แพงเมื่อเทียบกับรายได้ ธานีตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วแพงต่อรายได้ของใคร เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพฯ สูงมาก ทำให้ความแพงของแต่ละคนไม่เท่ากัน เมื่อความเหลื่อมล้ำสูงก็ทำให้การจัดบริการสาธารณะไม่สามารถครอบคลุมคนทุกคนได้เหมือนที่คาดหวัง เมื่อต้องจัดบริการสาธารณะอย่างสวนสาธารณะ โรงพยาบาลของรัฐ หรือขนส่งสาธารณะ ต้นทุนก็จะมากขึ้น เพราะคนบางกลุ่มไม่ต้องการใช้งาน 

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์

ประเภทที่สองคือ ความแพงเมื่อเทียบกับคุณภาพของบริการและความเป็นอยู่ จุดนี้ธานีอธิบายผ่านเรื่องของระยะเวลาและสถานที่ โดยยกหลัก ‘888’ ของชีวิตคนขึ้นมาอธิบาย คือ มนุษย์ใช้เวลา 8 ชั่วโมงในการทำงาน 8 ชั่วโมงในการอยู่ในพื้นที่สาธารณะ และอีก 8 ชั่วโมงอยู่ที่บ้าน แต่เมื่อทำงานอย่างหนัก รายได้ไม่มากพอ หรือมีความทุกข์จากนโยบายด้านแรงงานอื่นๆ พอหันมาที่สถานที่สาธารณะก็พบว่าไม่มีคุณภาพหรือตรงความต้องการ เมื่อกลับถึงบ้านก็อาจจะเป็นบ้านที่ไม่มีความปลอดภัย มีขนาดเล็ก หรือค่าใช้จ่ายในบ้านสูง เหล่านี้คือสิ่งที่ธานีเรียกว่า ‘แพง’ ทั้งสิ้่น เพราะคุณภาพไม่ตอบโจทย์ความเป็นอยู่

ขณะเดียวกัน หากมองหลัก ‘888’ เพื่อจะหาทางลดต้นทุนจาก 8 ชั่วโมงของการทำงาน ธานีบอกว่าต้นทุนที่แพงมากของคนกรุงเทพฯ คือการเปลี่ยนงาน มีความเสี่ยงในการหางานใหม่ไม่ได้ หรือไม่รู้ว่าจะถูกกดขี่จากงานใหม่หรือไม่ ซึ่งก็แก้ไขได้ด้วยการทำ Digital Matching ส่วน 8 ชั่วโมงในการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะจำเป็นต้องออกแบบให้ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้ (Universal Design) ต้นทุนจึงจะถูกลง และ 8 ชั่วโมงในการอยู่บ้าน คือการจัดการให้บ้านปลอดภัยหรือค่าใช้จ่ายรอบบ้านถูกลง เช่น การเข้าถึงใบอนุญาตที่เกี่ยวกับบ้านทำได้ง่ายขึ้น หรือการทำให้โรงเรียนแถวบ้านดีขึ้น เป็นต้น 

การจัดการด้วยหลักคิดแบบนี้จะทำให้กรุงเทพฯ มีความสามารถในการออกแบบนโยบายได้ครอบคลุมมากขึ้น แต่การออกแบบนโยบายของกรุงเทพฯ ก็ต้องทำให้ครบวงจรเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกได้ว่าตนเองเป็นเจ้าของ คือ การออกแบบ กำกับดูแล และประเมินผลนโยบาย ซึ่งเมื่อคนเมืองรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของเมืองแล้ว ต้นทุนอีกหลายอย่างก็อาจจะถูกลงได้ 

ปัญหาคอร์รัปชัน ส่วนหนึ่งธานีมองว่าเกิดจากความหมดหวัง เพราะไม่มีระบบตรวจสอบ ไม่มีความโปร่งใส เมื่อไม่มีความหวังก็ทำให้ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ แนวทางการแก้ไขสำหรับธานีคือ ต้องมองว่าคอร์รัปชันไม่ใช่ปัญหาโดดๆ ไม่สามารถไล่จับทีละคนได้ แต่ต้องทำทั้งระบบ แปลว่าต้องทำทีเดียวทั้งหมดหลายๆ หน่วยพร้อมกันโดยที่ข้อมูลสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ ความเชื่อว่ามันไปด้วยกันทั้งระบบ คือหัวใจสำคัญของการไว้เนื้อเชื่อใจ แน่นอนว่าหากกำจัดคอร์รัปชันด้วยระบบเทคโนโลยีและความหวังก็จะทำให้ต้นทุนถูกลงได้ กรุงเทพฯ จึงต้องรีบเรียนรู้การจัดการความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust Management System) เพื่อจัดการปัญหาจุดนี้ 

กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองที่มีหวังของผู้คน ไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้าง

จากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ชัชชาติระบุว่าปัญหาของคนเมืองเปลี่ยนไปมาก หากเป็นสมัยก่อนคนจะลงคะแนนกันว่าปัญหาสำคัญคือรถติด แต่ในปัจจุบันคนลงคะแนนให้กับปัญหาปากท้องมากที่สุด คำถามสำคัญของชัชชาติคือ แล้วทำไมผู้คนถึงต้องมารวมตัวกันอยู่ในเมืองแบบนี้ด้วย

สำหรับชัชชาติ คำอธิบายหนึ่งของเมือง คือ ‘Labor Markets’ ที่ดึงคนให้เข้ามาหางานทำ ถ้าเมืองไม่มีงานให้ผู้คนทำก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นหัวใจสำคัญของเมืองจึงเป็นเศรษฐกิจ และที่ผ่านมากรุงเทพฯ ไม่ได้คิดเรื่องเศรษฐกิจให้ละเอียด เวลาส่วนใหญ่ถูกนำไปคิดเรื่องของการทำความสะอาดกับรถติด ทั้งที่หากเศรษฐกิจเมืองไม่ดี คนก็อยู่ไม่ได้ การเอาคนเป็นศูนย์กลางของเมือง ทำให้ชัชชาติมองว่าเศรษฐกิจกรุงเทพฯ ต้องดึงดูดให้คนเก่งเข้ามาใช้ชีวิตเหมือนกับซิลิคอนวัลลีย์ในต่างประเทศ หากไม่สนใจตรงนี้แล้วคนเก่งๆ ก็จะออกจากเมือง ออกจากประเทศ ไปทำงานที่อื่นกันหมด ดังนั้นกรุงเทพฯ ต้องทำเมืองให้เป็นเมืองแห่งความหวังและอาศัยอยู่ได้

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ

ชัชชาติกล่าวถึงแนวคิดของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ในหนังสือ เมือง-กิน-คน ว่าจริงๆ แล้วค่าใช้จ่ายแฝงในกรุงเทพฯ สูงมาก ซึ่งในบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องข้าวของแพง แต่เป็นเรื่องของคุณภาพ ตัวอย่างสำคัญคือระบบคมนาคมที่ไม่ดีทำให้รถติด และการที่รถติดวันละ 2 ชั่วโมง หมายความว่าใน 1 ปี คนกรุงเทพฯ ต้องอยู่บนถนนถึง 1 เดือน หรือการส่งบุตรหลานเรียนโรงเรียนกวดวิชาเป็นแสนต่อปี ก็มาจากการที่คุณภาพโรงเรียนในกรุงเทพฯ อาจจะไม่ดีพอ อีกหลายตัวอย่างที่เป็นไปในลักษณะเดียวกัน เมื่อสืบกลับมาจะพบว่ามีรากร่วมกันทั้งสิ้น คือคุณภาพของเมืองที่ไม่ให้สิ่งที่ประชาชนพึงได้แต่แรก จนกลายเป็นภาระของประชาชน 

เรื่องใหญ่ที่สุดของผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติมองว่าคือค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS ซึ่งตามความเข้าใจทั่วไป หลังปี 2572 รถไฟฟ้าจะกลับไปเป็นของกรุงเทพฯ รายได้ทั้งหมดก็จะเข้าสู่กรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันเราไม่รู้ว่าเราจ้างเอกชนราคาเท่าไหร่เพราะเป็นเอกสารลับ การรู้ว่าจ้างเท่าไหร่จะเป็นจุดพลิกว่ากรุงเทพฯ จะขาดทุนหรือไม่ หรือถ้าให้ดีไปกว่านั้นชัชชาติมองว่าควรจะเหลือเงินเอาไปทำสวัสดิการด้านอื่นๆ ต่อด้วย 

มากไปกว่าการลดต้นทุนแล้ว ชัชชาติมองถึงการสร้างงานขึ้นมาใหม่ คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้จบมาไม่ได้หางานแล้ว แต่แทบจะสร้างงานขึ้นมาเอง (เช่น e-Sport) กรุงเทพฯ จึงต้องสร้างระบบนิเวศ (eco-System) ขึ้นมาใหม่ เอาทรัพยากรของกรุงเทพฯ มาทำให้งานของประชาชนมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากดีกว่านั้นกรุงเทพฯ ต้องสามารถสร้างตัวเองในระดับโลกสำหรับการดึงดูดงานต่างชาติได้ เพราะราคาถูกกว่าสิงคโปร์ในหลายส่วน จะสามารถดึงดูดคนที่มีคุณภาพสูงมาทำให้เกิดงานคุณภาพสูงต่อไปได้ กรุงเทพฯ จึงไม่ได้มีไว้แค่ทำความสะอาดถนนหรือท่อระบายน้ำเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ต้องวางอนาคตเมืองด้วย

ผู้หญิงอยู่ตรงไหนในนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจเมือง

ความเป็นเมือง สำหรับเกษราไม่ใช่เพียงแค่การนำคนมาอยู่รวมกัน แต่ต้องบริหารอย่างมีทิศทาง มิเช่นนั้นแล้วเมืองจะเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ต้องมีอุปสงค์และอุปทานที่สมดุล ซึ่งเกษรามองว่ากรุงเทพฯ ที่กำลัง ‘แพง’ นี้อาจจะหมายถึงเรายังมีทิศทางที่ไม่ชัดเจนพอ ปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจกรุงเทพฯ คือมันเหลื่อมล้ำไปแล้ว การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจึงต้องทำคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาระยะกลางหรือระยะยาว 

เกษราใช้วิธีคิดในกระบวนการเชิงนโยบายโดยมองเห็นวิถีชีวิตของผู้หญิงรวมเข้าไปด้วยสำหรับการมองเห็นปัญหาและวิธีแก้ไขของกรุงเทพฯ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ปัญหาประชากรเกิดใหม่ที่น้อยลง โดยสัดส่วนประชากรกรุงเทพฯ ปี 2564 เป็นผู้หญิงร้อยละ 53 ขณะที่ผู้ชายมีร้อยละ 47 นั่นหมายความว่าการออกนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงผู้หญิงเอาไว้ในนโยบายด้วย 

ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า รายได้เฉลี่ยต่อเดือนในระดับปริญญาตรีขึ้นไป ผู้หญิงจะได้รับน้อยกว่าผู้ชาย 5,000 บาท ซึ่งเกษรายังระบุว่า การจ้างงานในเมือง นายจ้างจะไม่อยากจ้างผู้หญิงในการทำงานเพราะรู้สึกว่าไม่คุ้มค่า เนื่องจากผู้หญิงมีธุระที่ต้องลาบ่อย เช่น ลาไปทำคลอด เป็นต้น ดังนั้นในลักษณะนี้คือการคลอดบุตรจึงกลายเป็นต้นทุนในเมืองที่แพงขึ้นด้วยเช่นกัน จุดนี้ยังไม่รวมถึงการจ่ายค่าผ้าอนามัยตลอดหลายสิบปีโดยเฉพาะในหมู่คนรายได้ต่ำ 

หากเมืองไม่ได้คิดถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเอาผู้หญิงเข้าไปในสมการด้วย กรุงเทพฯ ก็จะ ‘แพง’ สำหรับผู้หญิงขึ้นเรื่อยๆ มหาศาลเช่นเดียวกัน

จากวัฒนธรรมทางสังคมทำให้ผู้หญิงต้องเดินทางหลายจุด จากบ้านไปยังที่ทำงาน ไม่เหมือนผู้ชาย คือจากบ้านแวะไปซื้อของซูเปอร์มาร์เก็ต ไปดูแลคนชรา หรือไปรับลูก สิ่งที่กรุงเทพฯ ควรมีจึงเป็นเนิร์สเซอรีและศูนย์ดูแลคนชราที่กรุงเทพฯ ให้การสนับสนุน อย่างไรก็ตาม การเดินทางเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าดูในญี่ปุ่นจะเห็นว่าการเดินทางของพวกเขาต้นทุนน้อยเพราะรถไฟมาตรงเวลา ค่าเดินทางก็เป็นสัดส่วนราคาที่ลดลงเรื่อยๆ เมื่อออกไปไกลขึ้น ตรงนี้คือกลไกตลาดที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายของเขา แต่หากเมื่อใดกลไกตลาดทำงานไม่ได้ รัฐก็ต้องเข้าไปช่วย เช่น ชุมชนผู้มีรายได้น้อย หรือชุมชนแออัด เป็นต้น การมองปัจจัยพื้นที่หรือผู้อยู่อาศัยจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการออกแบบนโยบายให้เหมาะกับคนแต่ละพื้นที่ 

เมื่อมองนโยบายผ่านเลนส์ของผู้หญิงในกรุงเทพฯ เช่นนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าคนกรุงเทพฯ ยังมีรายจ่ายแฝง ต้นทุนที่สูง และรายจ่ายที่มาก จากอีกหลายสาเหตุ การแก้ไขปัญหาของกรุงเทพฯ จึงควรมองผ่านเลนส์อื่นๆ ที่กว้างมากขึ้นสำหรับการออกนโยบาย 

เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำ แต่ต้องไม่สิ้นหวัง

จุดหนึ่งที่ผู้ร่วมเสวนามองเห็นร่วมกันคือ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ซึ่งปัญหาที่ว่า ทำไมกรุงเทพฯ แพง ก็มาจากมุมมองของแต่ละชนชั้นจนส่งผลต่อเนื่องไปยังการออกนโยบายสาธารณะ 

วิธีการลดต้นทุนที่หลายคนเห็นร่วมกัน คือการพยายามลดรายจ่ายที่ไม่ควรเกิดขึ้นหลายอย่างออกไป เช่น การเสียค่าโดยสารหลายเที่ยว การเสียค่าเรียนพิเศษหรือบ้านพักคนชรา จุดนี้ยังรวมไปถึงต้นทุนแฝงอื่นๆ ที่ควรพยายามลดลงให้มากที่สุด เพราะความแพงไม่ได้มีแค่ในรูปแบบตัวเงินเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความไม่คุ้มค่าหรือใช้งานไม่ได้อื่นๆ อีกด้วย

การมองนโยบายสาธารณะที่จำเป็นสำหรับเมือง ด้วยสายตาที่มองเห็นผู้หญิงเป็นหนึ่งในส่วนประกอบก็เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากจำนวนประชากรที่มีผู้หญิงเป็นส่วนประกอบมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การออกนโยบายกลับไม่ได้มองเห็นปัญหาที่ผู้หญิงต้องเผชิญ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การสมัครงาน การลาคลอด ไปจนถึงค่าใช้จ่ายด้านผ้าอนามัยจำนวนมหาศาลทุกๆ ปี ดังนั้นการขับเคลื่อนเมืองก็ต้องไม่ลืมจุดนี้ไปเช่นกัน

ความทะเยอทะยานสูงสุดอย่างหนึ่งที่ทุกคนเห็นร่วมกันในตัวเมืองกรุงเทพฯ คือศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือในการสร้างแพลตฟอร์ม การดึงดูดบริษัทชั้นนำระดับโลก รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ขึ้นมา เพราะเมืองจำเป็นต้องมองไปยังอนาคต ไม่ใช่จัดการเพียงความสะอาดหรือความสะดวกเท่านั้น

ปัญหาสำคัญที่กรุงเทพฯ กำลังเผชิญและทำให้ข้อเสนอข้างต้นอื่นๆ ไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติตั้งแต่แรกคือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ เนื่องจากระบบการทำงานที่ไม่โปร่งใส ทำให้ประชาชนไร้ซึ่งความหวังในการเห็นกรุงเทพฯ พัฒนาขึ้นและไร้ความรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของเมืองเช่นเดียวกับคนอื่นๆ การแก้ไขปัญหานี้สามารถทำได้ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลหลายภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกันอย่างเปิดเผย และเพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อคณะทำงานเมืองมากกว่าเดิมด้วยประโยชน์จากเทคโนโลยี 

การมองคนเป็นศูนย์กลาง มองไปข้างหน้า และไม่สิ้นหวังที่จะเห็นกรุงเทพฯ ก้าวไปได้ไกลกว่าที่ผ่านมา จึงอาจจะเป็นวิธีเดียวในการพาเมืองนี้ออกจากปัญหาเดิมๆ ที่เผชิญอยู่กับที่มานานนับสิบปี 

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า