“นครไบแซนทิอุม ศูนย์กลางแห่งโลกที่เจริญทั้งปวง เมืองหลวงที่ยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิไบแซนไทน์ จุดนัดพบของโลกตะวันออกและตะวันตก เสน่ห์ทายาทลูกผสมของอารยธรรมกรีกและโรมันคลุกเคล้าเข้าด้วยกันอยู่ในเมืองนี้ ที่สำคัญยังเป็นต้นแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคใหม่ ไม่มีมีมิตรแท้และศัตรูถาวร”
ตะกอนความรู้บางส่วนที่ยังคงตกค้างจากห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์การทูตเมื่อ 5 ปีก่อน แม้ความทรงจำส่วนใหญ่ได้หล่นหายตามรายทาง แต่ที่จำได้แม่นหลังจบคลาสเรียนในวันนั้น ฉันกระตือรือร้นกลับไปกางแผนที่โลก ไล่นิ้วหาพิกัดที่ตั้งเมืองที่ครูย้ำความสำคัญทางประวัติศาตร์ ว่าอยู่ที่ไหน
แสงสว่างปรากฏด้วยน้ำมือสหายร่วมห้องที่ช่วยเขกกะโหลกเบาๆ แล้วชี้บอกทางลงที่ชื่อ ‘อิสตันบูล’ ในประเทศตุรกี แถมเธอคนนี้ยังอุทิศเวลาเลคเชอร์ต่อให้อีกยาวเหยียดถึงผิวโลกตรงนี้เคยผ่านความชุ่มฉ่ำและช้ำชอกทางประวัติศาสตร์มาแล้วหลายอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ ทั้งจักรวรรดิโรมันตะวันออก หรือไบแซนไทน์ และออตโตมันที่เคยรุ่งโรจน์แล้วโรยราเป็น ‘คนป่วยแห่งยุโรป’ ก่อนจะแตกแยกมาเป็น ‘สาธารณรัฐตุรกี’ ในวันนี้
เรื่องและภาพ : ดาริกา บำรุงโชค
1
“…นครไบแซนทิอุม ศูนย์กลางแห่งโลกที่เจริญทั้งปวง เมืองหลวงที่ยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิไบแซนไทน์ จุดนัดพบของโลกตะวันออกและตะวันตก เสน่ห์ทายาทลูกผสมของอารยธรรมกรีกและโรมันคลุกเคล้าเข้าด้วยกันอยู่ในเมืองนี้ ที่สำคัญยังเป็นต้นแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคใหม่ ไม่มีมีมิตรแท้และศัตรูถาวร…”
ตะกอนความรู้บางส่วนที่ยังคงตกค้างจากห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์การทูตเมื่อ 5 ปีก่อน แม้ความทรงจำส่วนใหญ่ได้หล่นหายตามรายทาง แต่ที่จำได้แม่นหลังจบคลาสเรียนในวันนั้น ฉันกระตือรือร้นกลับไปกางแผนที่โลก ไล่นิ้วหาพิกัดที่ตั้งเมืองที่ครูย้ำความสำคัญทางประวัติศาตร์ ว่าอยู่ที่ไหน
แสงสว่างปรากฏด้วยน้ำมือสหายร่วมห้องที่ช่วยเขกกะโหลกเบาๆ แล้วชี้บอกทางลงที่ชื่อ ‘อิสตันบูล’ ในประเทศตุรกี แถมเธอคนนี้ยังอุทิศเวลาเลคเชอร์ต่อให้อีกยาวเหยียดถึงผิวโลกตรงนี้เคยผ่านความชุ่มฉ่ำและช้ำชอกทางประวัติศาสตร์มาแล้วหลายอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ ทั้งจักรวรรดิโรมันตะวันออก หรือไบแซนไทน์ และออตโตมันที่เคยรุ่งโรจน์แล้วโรยราเป็น ‘คนป่วยแห่งยุโรป’ ก่อนจะแตกแยกมาเป็น ‘สาธารณรัฐตุรกี’ ในวันนี้
จากนั้นนั่นแหละ ฮอร์โมนนักเดินทางของฉันก็พลุ่งพล่าน ถึงขั้นลุกขึ้นประกาศกร้าวว่า “ข้าจะไปพิชิตตุรกีให้ได้”
เสียงปรามาสจากมิตรสหายท่านเดิมร้องทัก “แหม…พิชิตวิชานี้ให้ได้ก่อนเถอะเพื่อน”
2
ทันทีที่ล้อเครื่องบินแตะรันเวย์สนามบินอตาเติร์ก แทบจะอยากกู่ตะโกนเป็นภาษาละตินเลียนแบบจูเลียส ซีซาร์ ว่า “Veni, Vidi, Vici” แปลไทยได้ว่า “ข้ามา ข้าเห็น ข้าพิชิต” แต่ไม่มีเวลาคิดทำเท่เช่นนั้น เพราะต้องรีบวิ่งกระหืดกระหอบไปเช็คอินขึ้นเครื่องบินต่อไปยังเมืองอิซเมียร์ (Izmir) ให้ทันเวลา
เคราะห์ดีที่ได้สิทธิ์เดิน ‘ตัวเปล่า’ ไม่ต้องลากสัมภาระให้วุ่นวาย ตามที่สายการบินรับปากจะบริการขนย้ายกระเป๋าใบใหญ่ส่งตรงถึงเมืองปลายทางให้เอง
เที่ยวบินข้ามคืนอันยาวนาน บวกเวลาแวะรอที่สนามบินโดฮา (อีก 6 ชั่วโมง) นับรวมกว่า 20 ชั่วโมงที่ต้องรอนแรม มาสิ้นสุดที่จุดรอรับกระเป๋าตามสัญญาในสารรูปสะบักสะบอม สายตาเหม่อลอยมองผู้คนทยอยคว้ากระเป๋าแล้วเดินจากไปทีละคนสองคน กระทั่งสายพานลำเลียงหยุดนิ่งลง
“อ้าว! ชิบหาย! กระเป๋าหาย!” คำอุทานแรกที่เอ่ยทักทายอดีตจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่
ต่อมตื่นตระหนกทำงานทันที ฉันพยายามข่มความลุกลี้ลุกลนอยู่ชั่วครู่ แล้วจึงระดมสติและทักษะภาษาอังกฤษเท่าที่มี ส่งภาษาโวยวายไปกับเจ้าหน้าที่สนามบิน หญิงสาวผมบลอนด์นัยน์ตาแขกยิ้มรับเดินนำไปแจ้งยังเคาน์เตอร์ติดป้ายว่า ‘Lost & Found’
นาทีนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างคำว่า ‘สูญหาย’ กับ ‘ได้คืน’ ดูมีความหมายทันตาเห็น โผล่มาเป็นซับไตเติลบรรยายประกอบภาพสิ่งของในกระเป๋าเดินทางที่เตรียมมาใช้ชีวิต 10 วันในต่างแดน ค่อยๆ ผุดขึ้นมาในสมองอย่างน่าใจหาย
“โธ่…ข้ายังไม่ได้พิชิตตุรกี ก็พ่ายแพ้เสียแล้ว” ฉันพูดเบาๆ กับตัวเอง
ผ่านไปพักใหญ่ สาวเตอร์กิชอีกคนมาแจ้งข่าวว่า “ดอนท์ วอรี่ กระเป๋าของคุณไม่หาย แต่ตกค้างอยู่ที่อิสตันบูล ทางเราจะรีบประสานนำส่งให้เร็วที่สุด แต่คืนนี้ไม่มีเที่ยวบินมาอิซเมียร์แล้ว”
‘การเดินทาง คือ การฝึกจิต’ เฝ้าภาวนาอยู่ในใจระหว่างเดินทางกลับโรงแรมตัวเปล่า
ผ่านพ้นคืนแรกในตุรกีไปได้ ต้องขอบคุณ ‘เบียร์เตอร์กิช’ รสชาติดีกระป๋องแรก อยู่เป็นเพื่อนปลอบประโลมภาวะจิตตก ช่วยขับกล่อมเปลือกตาที่หนักอึ้งให้หลับใหลไปในสภาพซอมบี้ตัวเหม็น
ในที่สุด เทพปกรณัมก็ไม่ใจร้ายกับคนต่างด้าวมากนัก เสกกระเป๋าใบใหญ่มาวางอยู่ปลายเตียง โดยเจ้าตัวเองก็ยังไม่รู้ใครนำเข้ามาให้ถึงห้องพัก แต่ก็สำนึกในบุญคุณ
3
ณ ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ฉันได้พบมิตรนิรนาม
รุ่งอรุณของชาวเติร์กเริ่มเร็วกว่าที่เมืองไทย นาฬิกาเพิ่งบอกเวลาตี 5 ฟ้าก็สว่างโร่แล้ว แสงแดดเล็ดลอดเข้ามาปลุกให้ตื่นขึ้นไปอาบน้ำ เตรียมตัวออกสำรวจและทำความรู้จัก ‘อิซเมียร์’ เมืองท่าที่สำคัญรองจากอิสตันบูล เบิกตามองทิวทัศน์ในเมืองที่โอบล้อมด้วย ‘ภูเขาบ้านเรือน’ หลากสีสันสอดแซมไล่ระดับกันไป
เท่าที่รู้สึก เสน่ห์แห่งเตอร์กิชอยู่ที่ความครึ่งๆ กลางๆ ไม่สุดโต่งทางใดทางหนึ่ง ผู้คนหน้าแขกขาวผสมฝรั่ง ตีความศาสนาเป็นมุสลิมสายเสรี บางมุมก็ดูเป็นคอนเซอร์เวทีฟ บางครั้งก็ดูลิเบอรัลจ๋า เช่นเดียวกับที่อิซเมียร์สะท้อนให้เห็น
เดินเท้ามุ่งหน้าไปสูดกลิ่นทะเลตามที่ไกด์บุ๊คเขียนไว้ว่า เมืองนี้ได้กลิ่นอายเมดิเตอร์เรเนียนอบอวลมากที่สุดของตุรกี ฉันหย่อนกายลงที่เก้าอี้ม้านั่งไม้ริมชายฝั่งอย่างไร้สุ้มเสียง โดยไม่ต้องการให้ชายที่กำลังนั่งจับจ้องอยู่ที่คันเบ็ดเบื้องหน้า ต้องพลอยเสียสมาธิไปด้วย
แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ชายคนนั้นหันหน้ามาประสานสายตากับฉัน แวบแรกที่เห็นใบหน้าของเขา ช่างละม้ายคล้าย ‘เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์’ วาบความคิดไปถึงชายเฒ่าในวรรณกรรม The Old Man and the Sea
“แมร์ฮาบา” ลุงเฮมิงเวย์ส่งเสียงทัก
“…(ยิ้ม)…” สัญชาตญาณบอกอัตโนมัติ ขณะที่สมองยังแปลคำนั้นไม่ได้ คล้ายเขาจะรู้ทันความคิด เปลี่ยนโหมดภาษาเป็นพูดอังกฤษคล่องแคล่วชวน “มานั่งตกปลาด้วยกันไหม?”
ยังไม่ได้ทันไตร่ตรอง ปากก็ ‘เซย์เยส’ ออกไป แล้วบทสนทนาระหว่างคนแปลกหน้าก็เปิดฉากขึ้น
เดาจากวัยของคุณลุงน่าจะพ้นวัยเกษียณไปแล้ว แกเล่าให้ฟังว่า ชอบมานั่งตกปลาตรงนี้แทบทุกวันหยุด หากช่วงไหนมีวันหยุดยาวถึงจะกลับไปเยี่ยมหลานๆ ที่ไร่เชอร์รีอยู่นอกเมือง แต่ถ้าไม่รู้จะไปไหน ก็ต้องลงเอยด้วยการตกปลาเสมอๆ
ห้วงยามที่เรานั่งอยู่ด้วยกัน มีบางช่วงที่ปล่อยความเงียบได้ทำงานบ้าง น่าแปลกที่ฉันกลับไม่ได้รู้สึกอึดอัดในภาวะเดดแอร์กับคนที่ไม่รู้จัก เหมือนเช่นหลายครั้งที่ผ่านมา
“ชอบอิซเมียร์ไหม?” เขาเอ่ยถามเสียงนิ่มๆ
ฉันพยักหน้าตอบแทนความรู้สึก
เขายิ้มแล้วบอกว่า “ผมก็รักเมืองนี้เช่นกัน แต่อาจอยู่นานจนเคยชิน เลยไม่ค่อยเห็นความสวยงามเหมือนคนต่างถิ่น”
เรื่องราวเมืองอิซเมียร์ก็ค่อยๆ พรั่งพรูออกจากปากชายที่เกิด เติบโต และหวังจะตายในที่แห่งนี้ เราคุยกันเรื่องสัพเพเหระ เรื่องตกปลาทะเล วิถีคนอิซเมียร์ ไล่เรียงไปถึงความเห็นคนตุรกีไม่แคร์แล้วว่าประเทศจะเข้าอียูหรือไม่ แล้วจู่ๆ คุณลุงเฮมิงเวย์ก็ถามถึงนักเขียนกรีก ‘โฮเมอร์’
“รู้จักมหากาพย์ชื่อ อีเลียด หรือ โอดิสซีย์ บ้างไหม โฮเมอร์เกิดที่เมืองนี้แหละ”
“รู้สิ เคยดูหนังโอดิสซีย์ จำได้ว่าตอนดูหลับแล้วหลับอีก ตื่นมา พระเอกก็ไม่ถึงฝั่งสักที” ฉันตอบด้วยน้ำเสียงฟังดูไม่ปลื้มนัก เพราะเบื้องลึกที่ไม่ได้บอกไป ฉันหลับเกือบทั้งเรื่องก็ว่าได้ตอนอาจารย์บังคับให้ดูเพื่อจะสอบเก็บคะแนน
จากเช้าเข้าช่วงสาย แดดเริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ ฉันจึงตัดบทสู่การจากลา
“ถ้าแวะมาแถวนี้ อย่าลืมมาทักทายกันบ้างนะ” ชายชราวางคันเบ็ดโบกมืออำลา ก่อนเขาจะหันหน้ากลับไปจ้องที่ทะเลสีครามเช่นเดิม ส่วนฉันหันหลังเดินจากมา ทั้งที่เราต่างยังไม่ได้ถามชื่อกันด้วยซ้ำ และไม่อาจล่วงรู้เลยว่าเราจะได้พบกันอีกหรือไม่
ไดอะล็อคโดยบังเอิญที่เกิดขึ้นระหว่างชายเตอร์กิชนิรนามยังคงล่องลอยวนเวียนติดอยู่ในหู คล้ายกำลังเปิดเครื่องบันทึกเสียงฟังอีกครั้ง
ใครบางคนเคยบอกไว้ว่า “คนตุรกีมีโซเซียลไลฟ์สูง ถ้าจะมาเที่ยวคนเดียว ก็ไม่เหงาหรอก”
นึกทบทวนการเดินทางใกล้และไกลที่ผ่านมา ได้พบมิตรภาพจากคนแปลกหน้าอยู่เสมอ เพียงแต่หลายครั้งเราเองกลับเลือก ‘เซย์โน’ ไม่เปิดรับใครเข้ามาในชีวิตง่ายๆ ไม่คิดแม้แต่จะจดจำใบหน้าของ ‘คนระหว่างทาง’ ที่ผ่านมาแล้วก็แค่ผ่านเลยไป
มาไกลบ้านถึงตุรกี ประเทศที่พูดจาคนละภาษา แตกต่างกันทางวัฒนธรรม ทว่าการเริ่มผูกสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่นี่ดูจะง่ายกว่า บางคราก็รู้สึกตนเองแปลกแยกน้อยกว่าที่อยู่ในเมืองที่เราคุ้นชินเช่นกรุงเทพฯ
คนใกล้ก็เหมือนไกล เรานั่งติดกันบนรถไฟฟ้า แต่กลับไม่เคยเห็นกันและกัน เราเจอกันในลิฟต์หลายครั้ง แต่ยังไม่เคยเอ่ยคำทักทายกันสักคำ
ระหว่างทางเดินกลับโรงแรม ฉุกคิดถึง ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพ’ ขึ้นมา ไม่ใช่ตามสูตรที่ไอน์สไตน์บอกว่าเป็น E=mc2 แต่เป็นการสร้างสัมพันธภาพต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทฤษฎีที่ไม่ได้อธิบายตายตัวแบบกฎฟิสิกส์ ทว่าอาจจะซับซ้อนกว่าสูตรของไอน์สไตน์
สมการในทฤษฎีนี้อาจเริ่มจากเรื่องง่ายๆ เพียงแค่เปิดใจทักทายใครสักคนก่อน โดยไม่ผลีผลามตัดสินใครล่วงหน้า บางทีความสัมพันธ์ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นมาโดยฉับพลัน เราก็มีส่วนช่วยสร้างขึ้น อาจต้องมีใครคนหนึ่งเป็นคนเริ่มต้นก่อน
ไม่แน่ว่า ขอบเขตของโลกเราจะคับแคบและกว้างขวาง อาจขึ้นอยู่กับ ‘มิตรสหาย’ ที่ดำรงอยู่ในชีวิต – ก็เป็นได้
4
“อย่าลืมไปเอเฟซุส” มิตรรุ่นพี่คนหนึ่งฝากมาจากเมืองไทย
วันสุดท้ายที่อิซเมียร์ก่อนบินกลับไปเยี่ยมอิสตันบูล พอมีเวลาให้ขับรถออกไปยังเมืองเซลจุก ย้อนระลึกความหลังทางประวัติศาสตร์
ทันทีที่จ่ายเงิน 25 ลีรา (ราว 400 บาท) เป็นค่านั่งไทม์แมชชีนทวนเข็มนาฬิกากลับไปไกลว่า 2,000 ปีที่แล้ว สู่นครโบราณเอเฟซุส (Ephesus) 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ ที่ยังคงบูรณะรักษาอย่างดี
บรรยากาศสองข้างทางเต็มไปด้วยหินเก่ากร่อน ซากปรักหักพังตั้งเรียงรายกระตุ้นความทรงจำในห้องเรียนประวัติศาสตร์การทูตครั้งวันวาน ถึงแม้จะกระท่อนกระแท่นก็พอเป็นเชื้อไฟปลุกซากแห่งความยิ่งใหญ่ฟื้นคืนชีพกลับอีกครั้ง – ในจินตนาการ
เดินเข้ามาถึงสถานที่แลนด์มาร์คที่ใครๆ ต้องแวะถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานมีฉากหลังเป็น ‘หอสมุดเซลซุส’ โครงอาคาร 2 ชั้นสมัยโรมันตั้งเด่นตระหง่านข้ามกาลเวลา หลังจากลั่นกดชัตเตอร์เสร็จ ก้มลงไปเห็นรอยเท้าจารึกบนหินชี้ไปทางห้องสมุด
ไกด์หนุ่มบอกว่า “นี่คือป้ายโฆษณาของหอนางโลม” หนุ่มโรมันสมัยนั้นมักใช้มุกไว้หลอกภรรยาว่ามาอ่านหนังสือในห้องสมุด แต่ที่ไหนได้แอบมุดลงอุโมงค์ลับใต้ดินจากห้องสมุด เดินทะลุไปสำเริงสำราญยังสำนักโสเภนี
ถัดไปอีกไม่ไกลจะพบ ‘โรงละคร’ สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดในเอเฟซุส ล้อมรอบด้วยอัฒจันทร์บรรจุคนได้ถึง 25,000 คน อารมณ์เหมือนอยู่ในหนังเรื่อง แกลดิเอเตอร์ ประมาณนั้น
ลองไต่ขึ้นไปบนยอดสุดของโรงละครโบราณแห่งนี้ แล้วมองจากมุมสูงจะเห็นภาพ ‘ความยิ่งใหญ่’ ของอาณาจักรที่เคยรุ่งโรจน์โลดแล่นในอดีต ปัจจุบันเป็นเพียงซากปรักหักพังผุกร่อน
เตือนสติให้เห็นถึงความเป็นจริง สัมพันธภาพของสรรพสิ่งในโลก ล้วนไม่มีสิ่งใดยืนยงถาวร
ชีวิตและมิตรภาพ ก็เช่นกัน
********************************************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ All way นิตยสาร Way ฉบับที่ 66)