ผมตื่นเช้าขึ้นมาพร้อมกับอาการมึนจากฤทธิ์สุรา แต่ยังพอแบกร่างตัวเองไปทำงานบ้านได้บ้าง ระหว่างล้างจานอยู่นั้น จึงได้เปิดเพลงฟังไปพลางๆ เป็น playlists ของกลุ่ม UNMUTE PEOPLE ซึ่งทำงานร่วมกับโครงการ ‘5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง’ พวกเขาได้รวบรวมศิลปินร่วมสมัยหลากหลายแนวทาง มาร่วมกันสร้างสรรค์บทเพลงเพื่อรำลึก 45 ปี อาชญากรรมโดยรัฐที่อัปลักษณ์ที่สุดในการเมืองไทยสมัยใหม่
ความคิดแรกที่ผุดขึ้นหลังฟังจบคือ “เฮ้ย! ใช่ว่ะ” จนเมื่อทำงานบ้านเสร็จไปสักพักก็คิดได้ว่าควรจะส่งให้มิตรสักคนฟังด้วยกัน จึง direct message ไปหามิตรสหายศิลปินทางเลือกคนหนึ่ง เพื่อแบ่งปัน playlists ทั้ง 18 บทเพลง ก่อนจะแลกเปลี่ยนความเห็นกัน จนได้ข้อคิดไม่น้อยต่อโปรเจ็คต์นี้ว่ามันพิเศษจริงๆ
บทเพลงทั้งเก่าและใหม่ในทางประวัติศาสตร์ ได้คืนชีวิตให้แก่การต่อสู้ที่ผลิดอกในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 ก่อนจะยุติลงด้วยการโศกนาฏกรรมสังหารหมู่คนหนุ่มสาวในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อะไรทำให้เพลงเหล่านั้นเชื่อมเวลา-ข้ามพื้นที่ได้อย่างลงตัว อะไรทำให้เหตุการณ์ที่ลืมไม่ได้และให้จำก็จำไม่ลงนั้น ได้ถูกส่งถึงคนรุ่นเราอย่างสวยงาม
เพื่อมวลชน
https://www.youtube.com/watch?v=E1hMr9A3AjY
‘เพื่อมวลชน’ บทเพลงต้นฉบับของวง กรรมาชน กลุ่มดนตรีที่ปักหลักค้างแรมร่วมกับผู้คนที่ถูกกดขี่ตลอดยุค 70’s นอกจากนั้นเพลงนี้ยังได้รับการขับร้องในการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในเวลาปัจจุบัน ถูกนำมาเรียบเรียงและขับร้องใหม่โดยวง Stoondio เพื่อที่จะหลีกหนีจากต้นฉบับหรือไม่ ไม่แน่ใจ แต่พวกเขาสวมชุดให้ ‘เพื่อมวลชน’ ลงในฟอร์มของ Acoustic Folk ฟังเผินๆ ราวกับไม่มีอะไรแตกต่างจากเสียงกีตาร์โฟล์ค บนเวทีสนามหลวง-ธรรมศาสตร์ ในยุค 70’s แต่เพลงได้ถูกตีความใหม่ โดยการใช้คอร์ด major โทนสว่าง
มันเหมาะสมกับเนื้อหาของเพลงอย่างไม่น่าเชื่อ เพลงที่เปรียบตัวตนคนหนุ่มสาวเป็นผู้ใฝ่หาเสรีภาพและต้องการปลดแอกจากพันธนาการของผู้กดขี่ช่างงดงาม ทุกวรรคยังชัดเจน ความหมายยังชัดทุกถ้อยคำ แต่สิ่งที่เพิ่มคือความลื่นไหลราบเรียบ จนเมื่อถึงท่อน “ขอพลีตน ไม่ว่าจะตายกี่ครั้ง” พวกเขาเลือกใช้คอร์ด dim7
ถึงตรงนี้ชวนให้รู้สึกประหวั่น พร้อมๆ กับหวนกลับไปทบทวนจิตใจแห่งการต่อสู้นั้น นับได้ว่าเป็นการเลือกใช้คอร์ดที่เยี่ยม และเมื่อถึงท่อนประสานเสียงที่ว่า “ชีวา…ยอมพลีให้มวลชน ผู้ทุกข์ทนไม่ว่าจะตายกี่ครั้ง” เสียงขานรับลงที่คำว่า ‘มวลชน’ ก็ชวนขนลุก ก่อนจะ fade out จบเพลงอย่างช้าๆ
ดอกไม้จะบาน
https://www.youtube.com/watch?v=3PwOC-2Ou3g
‘ดอกไม้จะบาน’ ต้นฉบับเนื้อเพลงเขียนโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถูกนำเสนอใหม่โดยวง Slot Machine พวกเขาผสมผสานแนวดนตรี Synthwave และ Rock เข้าด้วยกัน โดยออกแบบให้ทั้งสองแนวทางไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งอย่างโจ่งแจ้ง อาศัยเสียงกีตาร์เล่น lick ซ้ำๆ ตามสไตล์เฉพาะของ Slot Machine และยังคงซิกเนเจอร์ในช่วงท้ายเพลง คือเลือกใช้โน้ตที่แปลก แต่ไม่สูญเสียคาแรคเตอร์ของเพลงไป ด้วยวิธีการที่ว่ามาก็ทำให้ “ดอกไม้ ดอกไม้จะบาน บริสุทธิ์กล้าหาญ จะบานในใจ” กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ไม่ตายไปตามกาลเวลา
5 ตุลาฯ
https://www.youtube.com/watch?v=tn-3G4gVZuk
‘5 ตุลาฯ’ ถูกเขียนขึ้นใหม่โดยวงร็อคร่วมสมัยอย่าง COCKTAIL คือหนึ่งในบทเพลงที่โดดเด่นเช่นกัน เพลงนี้อาศัยการขับร้องที่แตกต่างออกไป ซึ่งนอกจาก โอม COCKTAIL แล้วยังมี จ๋าย TaitosmitH และ แม็ก The Darkest Romance เข้ามาร่วมขับร้อง ผสานกับดนตรีร็อคตามแบบฉบับ COCKTAIL ซึ่งมีความความหนึบหนับของช่วงจังหวะและเครื่องดนตรีทุกชิ้นเป็นอย่างดี จ๋าย TaitosmitH และ แม็ก The Darkest Romance เข้ามาช่วยเติมสีสัน ทำให้แต่ละท่อนนั้นมีความรู้สึกที่หลากหลายแตกต่างกันไป นอกจากนั้นวิธีออกเสียงของโอม COCKTAIL ยิ่งทำให้เพลงอบอุ่นลงตัว
ด้วยวิธีการทำงานที่กล่าวมา ทำให้เนื้อหาเพลงที่เขียนขึ้นใหม่นี้ ราวกับสวมสำนึกคนหนุ่มสาวในคืนก่อนวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะมาถึง ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวัน และคืนก่อนจะถึงวันเด็ดปีกนกพิราบในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถูกขับออกมาได้แจ่มชัดสำหรับผู้ฟัง แต่สำหรับบางใครแล้ว จะคิดไหมล่ะว่า ประเทศที่ประกาศว่าเป็นเมืองพุทธ จะก่ออาชญากรรมอันโหดเหี้ยม โดยอ้างว่าการฆ่าไม่บาป
5 ตุลาฯ จึงเป็นคืนยาวนานกว่าคืนใด
Kurui
https://www.youtube.com/watch?v=aUKJc7EutJ4&t=99s
‘Kurui’ โดย Vinegar Syndrome นำดนตรี Electronic มาสร้างเพลงที่น่าสนใจ โดยใช้วิธีการเคาะบีทอันเรียบง่ายนำเพลง เดินเรื่องด้วยเสียง synth ทุ้มต่ำ โดยมีฉากแบ็คกราวด์เป็น synth ที่ถูกบิดเพี้ยนไปมา ชวนสับสนและคลี่คลายในตัวมันเองอยู่ตลอดเวลา โปรดักชั่นที่วางเนื้อเพลงโดยปราศจากเสียง ชวนขนลุกอย่างบอกไม่ถูก ประกอบด้วยข้อความเล่าเรื่องผสมเสียงดนตรีในคลิปวิดีโอ กองเพลิงที่ลอยตรงกลางฉากนั้นหวนให้คิดถึงบทกวีของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่มีนัยถึงคนหนุ่มสาวปัจจุบันที่ว่า
คืนนี้มืด ใช่! มืดสนิท ไฟดวงนิดยังมีแสง ขอเพียงลมพัดแรง เถ้ามอดแดงก็จะลาม
ลิ่วล้อ (Sun Rises When Day Breaks)
https://www.youtube.com/watch?v=YkwDlJxGTMc
เปิดฉากได้อย่างแสบสัน ด้วยการสวมพร็อพตำรวจนายหนึ่งยิงปืนเข้าไปภายในรั้วธรรมศาสตร์ขณะที่ปากก็คาบบุหรี่ เพลงนี้ถูกเขียนขึ้นโดย View From The Bus Tour พวกเขามาในดนตรีแนว Acoustic Folk สไตล์คันทรี มีความเท่และน่ารักปะปนกันอยู่ตลอดทั้งเพลง การประทับทำนองสดใสลงไปในเนื้อเพลงที่เสียดเย้ยสังคม ชวนให้เห็นภาพของคนรุ่นปัจจุบัน แต่บังเอิญชวนคิดถึงวัยรุ่นยุคหลัง 70’s ไปด้วยโดยไม่ได้ตั้งใจ ช่วงกลางของเพลงยังได้เสียงเบสและแทมบูรีนมาช่วยให้เพลงมีความกระชับมากขึ้น ทั้งดนตรีและเนื้อหาที่พากันจูงมือไปด้วยกันตลอดทั้งเพลง จึงทำให้เพลงนี้เป็นอีกหนึ่งเพลงที่น่าฟัง ประเทศที่ได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2019 เช่นไทย ผู้ฟังไม่อาจพลาดเพลงนี้ด้วยประการใดๆ
Red Not Blue
https://www.youtube.com/watch?v=Ss_e5I9wMbk
‘Red Not Blue’ โดยวง H 3 F (Live Performance) นี่คือวงดนตรีที่มีผลงานโดดเด่นในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา พวกเขากลับมาร่วมร้องเพลงรำลึกถึงผู้จากไปในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อย่างลึกสุดใจ ด้วยเทคนิคการบักทึกภาพพร้อมเสียงแบบสดๆ ข้างถนน เพลง ‘Red Not Blue’ เป็นเพลง Acoustic ช้าๆ บรรเลงด้วยกีตาร์ตัวเดียว การเดินเลียบกำแพงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนให้คิดถึงเลือดและชีวิตที่จากไปในเช้าวันนั้น
ท่อนที่อาจจะตบหน้าบางคนที่สาแก่ใจในเหตุการณ์รุ่งเช้าวันนั้น คือ
He bleeds red not blue He bleeds red just like you He bleeds his hopes and dreams and love its all for you
เลือดของเขาที่หลั่งออกมาเป็นสีแดงไม่ใช่สีน้ำเงิน เหมือนกับเลือดของคุณ เขาหลั่งเลือดออกมาเป็นความหวังและความฝัน และความรักทั้งหมดก็เพื่อคุณ
ความหมายที่ตีความได้แม่นยำนี้กระตุกเตือนสำนึกเรา สลับกับท่อนโซโล่ด้วยฮาร์โมนิกาล้อกันกับการรูดสายกีตาร์ ปะปนด้วยเสียงมอเตอร์ไซค์ รถเมล์ เป็น ambiance ด้านหลัง ซึ่งมีความดิบ ความสด และความจริงอยู่ในบทเพลง
ต า ย 1 เ กิ ด ล้ า น
https://www.youtube.com/watch?v=IDwrd7u-a-E
Max Jenmana เปิดหัวมาด้วยดนตรีที่รุนแรงพร้อมด้วยเสียงว้าก และเสียงร้องที่ใส่เสียง distortion แตกพร่า เนื้อหาหนักหน่วงพอๆ กับเสียงกีตาร์ เป็นเพลง Alternative Rock ที่ฟังแล้วต้องโยกหัวตามอย่างแน่นอน เนื้อหาเพลงถูกเล่าอย่างตรงไปตรงมา โจมตีไปยังการใช้ความรุนแรงของผู้มีอำนาจ และยืนกรานว่าการทำร้ายทำลายชีวิตคนหนุ่มสาวมิอาจหยุดความปรารถนาถึงสังคมที่ดีงามได้
Break Free
https://www.youtube.com/watch?v=duMCGfoshQs
เพลงนี้ถูกถ่ายทอดโดย Image Suthita เพลงที่กดคอร์ดเปียโนเพียงคอร์ดละครั้ง ทำให้เราโฟกัสเสียงร้องของอิมเมจได้ชัดขึ้น เสียงตัดทุกคำท้ายประโยคของเธอชัดเจน แสดงความเคารพจิตใจแห่งการต่อสู้ได้ลึกซึ้งที่สุด วิธีการนี้ทำให้ถ่ายทอดอารมณ์มาที่ผู้ฟังอย่างตรงไปตรงมา เสียงเชลโลในตอนท้ายหล่อหลอมให้เพลงนี้เป็น cinematic เพิ่มขึ้นอีก แต่ยังคงความซื่อตรงของเพลงอยู่อย่างไม่บิดเพี้ยน
ทั้งหมดช่วยทำให้ท่อนที่ว่า “We will break free” หรือ “เราจะเป็นอิสระ” กระจ่างชัดขึ้นมาทั้งในสำนึกและหัวใจ
อิสรภาพ…ไม่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ
https://www.youtube.com/watch?v=MeGCpM_rljQ
Greasy Cafe ร่วมรำลึก 6 ตุลาฯ โดยการเสนอผ่าน Live in Cave ‘อิสรภาพ…ไม่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ’ live session โดย เล็ก Greasy Cafe นี้ ได้ถูกบรรเลงด้วยคีย์บอร์ดตัวเดียว เสียงนุ่มทุ้มของเล็ก กอปรด้วยเนื้อหาอันบีบคั้น การันตีให้เพลงนี้มีมิติที่ลุ่มลึก เพลงนี้ใช้การบันทึกในห้องคล้ายถ้ำ ยิ่งทำให้ reverb ที่เกิดขึ้นสร้างลักษณะจำเพาะ แลดูเป็นธรรมชาติ
“เราจะร่วมกันร้อง และจะไม่ยอมให้ใครทำร้ายเราได้อีก” เพียงท่อนแรกที่ร้องขึ้นก็สะกดผู้ฟัง และพาเราไปจนจบเพลงเพื่อร้องท่อนนี้อีกครั้ง
หัวใจเสรี
https://www.youtube.com/watch?v=lB8uo963dP4
TaitosmitH feat.Washiravit Geenkerd, Praivit Sukkasem & Adisak Poungok เริ่มเรื่องด้วยเสียงกีตาร์นำ บทเพลงพาไปพบปะมิตรสหายที่ออกมาร่วมเคลื่อนไหวตลอดปี 2563-2564 ‘หัวใจที่มิโรยรา’ มิได้พาเราหลุดจากบริบทของ 6 ตุลาคม 2519 แต่อย่างใด หากแต่ประสานมือคนรุ่นปัจจุบันกับคนหนุ่มสาวเมื่อ 45 ปี ได้อย่างทรงพลัง ด้วยการที่มีจิตใจเดียวกันคือ ‘หัวใจเสรี’ ผนวกกับพลังของฟุตเทจการต่อสู้ของคนหนุ่มสาว โดยแทรกเสียงจริงลงไป ยิ่งช่วยให้ ‘หัวใจเสรี’ ซึมลึกลงไปในหัวใจคนฟังจริงๆ
ความฝันยามรุ่งสาง
https://www.youtube.com/watch?v=eC6J0287pVA
เขียนโดย t_047 “มีเธออยู่กับฉัน ใต้แสงของเงาพระจันทร์ โอ้ในฝันที่ไม่มีคนฆ่ากัน” ท่อนหยุดที่เสมือนสวมอารมณ์ให้คนมาร้องด้วยกันก่อนขึ้นท่อนหลัก คือจุดเด่นของ t_047 เสมอมา นี่เป็นเพลงที่เล่าถึงสิ่งที่ไม่มีจริงในวันนี้ มีแต่ความฝันในวันหน้า สังคมที่งดงามเอื้อแก่การมีชีวิตที่มีคุณภาพของคนรุ่นถัดไป
เพลง Acoustic ใสๆ ใช้กีตาร์โปร่งเดินเรื่อง คลอด้วย piano pad เป็นแบ็คกราวด์ด้านหลัง ช่วยทำให้เพลงนี้มีความฟุ้ง คล้ายดังความฝันเหมือนเนื้อหาที่ตัวเพลงเล่าถึง ช่วงโซโล่จนถึงท้ายใช้โซปราโน แซ็กโซโฟน สร้างความแข็งแรงของเพลง ทำให้เพลงมีความ proud เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับภาพวิดีโอที่มีเด็กคอยสังเกตและเล่นอยู่ ชวนให้คิดว่า เราจะส่งต่อสังคมแบบใดให้เขาและเธอเหล่านั้น
เพลงที่ไม่มีชื่อ
https://www.youtube.com/watch?v=u0zb_M4DKAs
ก้อง ห้วยไร่ ศิลปินเพลงลูกทุ่ง มากับเพลงที่ไม่มีชื่อ ถูกบรรเลงด้วยกีตาร์ตัวเดียว ในเทคนิค live session มีเปลป่าผูกไว้ใกล้ๆ เสียงจักจั่นเคล้าเป็นบรรยากาศในเบื้องหลังของเพลง ให้ความรู้สึกเปลี่ยวเหงาแต่กินใจ เพลงใช้คอร์ดที่ง่ายไม่ซับซ้อน เข้ากับเนื้อหาซื่อๆ ตรงๆ พร้อมลูกเอื้อนที่เป็นเอกลักษณ์ของ ก้อง ห้วยไร่ จึงทำให้เพลงนี้เป็นอีกเพลงที่ย่อยง่าย เข้าใจได้ไม่ยาก และชวนให้คิดถึงเพื่อน
ขอคืนให้ทุกรุ่นหลัง ขอแค่เพียงไม่ลืมว่าเราทำไป ฉันเพียงหวัง ขอแค่เพียงจดจำว่าเราต้องแลกมา ด้วยชีวิต ขอให้ทุกวิญญาณที่มอดดับไป ทุกดวงจิต จงสุขขี สดุดีวีรชน
รุ่งอรุณ (Dawn)
https://www.youtube.com/watch?v=qWtfCgmzi-0
นำเสนอโดย Dead Flowers วงดนตรี Rock Shoegaze เท่ๆ มาในเวอร์ชั่น live sessions เบสกลองที่มีความกระชับ กีตาร์สามชิ้นที่ใช้เทคนิคเล่นคนละแบบ ท่อนกลางใช้คอร์ด F#7 สร้างความอลหม่านปั่นป่วนในเพลง ก่อนจะวกกลับเข้ามาท่อนหลัก เหมือนจะบอกถึงความคลี่คลายแล้วในภายหลัง พวกเขาพาเรากลับไปเปลี่ยน ‘เช้าวันใหม่’ ในอดีต ด้วยพลังของเพลงร็อค
จะกลับไปหาเธอ
https://www.youtube.com/watch?v=YlTNi9oFNFU
ขึ้นชื่อว่า POLYCAT ย่อมพาเรากลับไปหาเสียงและกลิ่นยุคหลังสงครามเย็นเสมอ และเพลงนี้ก็เช่นกัน พวกเขามากับเสียง Synthwave ที่ดูเท่และขลังตามแบบฉบับของ POLYCAT ลักษณะคอร์ดและกระเดื่องของกลองสร้างให้ตัวเพลงมีความกดดัน แต่ด้วยเสียง synth ที่ให้ความสว่างเหมือนช่วยผ่อนคลายความเครียดหลังจากที่คอร์ดและบีทเล่ามา เหมือนปลายทางยังมีความหวังที่จะกลับบ้านไปหาคนรัก
นับเป็นผลงานมาสเตอร์พีซอีกชิ้น เมื่อวางวิธีทำงานทั้งหมดเข้ากับเนื้อหาที่ให้ความหมายถึงการกลับไปหาคนรัก ยิ่งชวนให้ตั้งคำถามว่า จะกลับไปหาคนรักได้อย่างไร ในเมื่อร่างเราถูกกดด้วยปืน นี่คืองานที่พาไปเข้าใจความคิดผู้รอดชีวิตจากการฆ่าในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้อย่างเหมาะสม
ดังที่ POLYCAT อธิบายผ่านคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ที่สนามบอลธรรมศาสตร์
“คืนนั้นเราคิดว่าโอกาสที่จะถูกล้อมปราบสูงมาก คนที่อยู่ข้างในจะต้องเป็นคนที่เสียสละ”
“คืนนั้นถูกก่อกวนทั้งคืน เวทีมันก็ยังดำเนินไป หลังจากนั้นก็ได้ยินแต่เสียงปืนเปรี้ยงปร้าง”
แสงดาวแห่งศรัทธา
https://www.youtube.com/watch?v=wmAGDhTZO78
เป็นอีกเพลงเก่าที่ถูกนำมาตีความใหม่โดย เอเลี่ยน Safeplanet เพลงนี้ใช้ Acoustic เดินเพลง ด้วยกีตาร์โปร่งเกาเป็นหลัก คลอด้วยเสียงกีตาร์ใสๆ ฟุ้งๆ ด้วย reverb ตามฉบับของ Safeplanet นอกจากนั้นยังมีการเพิ่ม pad ในช่วง outro ให้ตัวเพลงฟุ้งกระจายเพิ่มมากขึ้น ออกเสียงใหม่ฉีกขนบเดิม ให้อารมณ์ที่ละมุน ราวกับเห็นแสงจริงๆ
ถ้าใครพยายามคิดถึงตอนที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนเพลงนี้ เมื่อเขาอยู่ในเรือนจำบางขวาง มันย่อมพิสูจน์ว่า ในสถานการณ์ที่บีบคั้นที่สุดของนักสู้ ย่อมมองเห็นแสงอยู่เสมอ คำถามที่ชวนคิดต่อคือ หากดาวของจิตรหมายถึงพรรคฯ ดาวของคนรุ่นเราหมายถึงสิ่งใด ปุถุชนในปัจจุบันสมัยคงจะให้คำตอบนี้ร่วมกัน ไม่ช้า
ประชาคริปะตัย
https://www.youtube.com/watch?v=tWL-Hh5vUf0&t
Ruzzy Tattoo Colour วางบทบาทของเพลงให้มีจังหวะจะโคน ใช้บีทที่มีความกระชับ groove ร้องกระฉับกระเฉง ตลบอบอวลด้วยกลิ่น R&B รัฐจากวง Tattoo Colour เลือกใช้คอร์ดที่มีความเชื่อมโยงกันได้เป็นอย่างดี พร้อมด้วยเทคนิคการเล่นแบบ neo soul ทำให้เพลงมีเสน่ห์ดึงดูดมาก เพลงนี้ร่วมคารวะผู้สูญเสีย ในฐานะสิ่งเตือนใจคนร่วมสมัยได้ดีอีกเพลง
เพื่อมวลชน
https://www.youtube.com/watch?v=IVfUphTXiBk
‘เพื่อมวลชน’ อีกหนึ่งเวอร์ชั่น โดย หมู ไววิทย์ มาในรูปแบบ live session ที่มีเสน่ห์อีกหนึ่งเพลง ดำเนินเรื่องด้วยการเกากีตาร์เพียงตัวเดียว เสียงอันแหบกระเส่าช่วยดึงให้เนื้อหาของเพลงเข้ามาปะทะกับหัวใจได้อย่างเต็มเปี่ยม เข้ากันเป็นอย่างดีกับเสียงโซโล่ฮาร์โมนิกาที่เป็นเครื่องดนตรีคู่บุญของดนตรีคันทรีฝั่งตะวันตก
Truth
https://www.youtube.com/watch?v=T8SyZO8Y_wc
เอ้ และ แบงค์ Beagle Hug สร้างสรรค์เพลงนี้ขึ้นมาด้วยการทบทวนผู้เสียชีวิตและนักโทษทางการเมืองในอดีต การออกเสียงที่หนานุ่มของเอ้ คือเอกลักษณ์ที่พาเราเข้าสู่เพลงได้สะเทือนอารมณ์ตั้งแต่ท่อนแรก
เพลงนี้บรรเลงด้วยกีตาร์ตัวเดียว โดยใช้ modulation เป็นเครื่องนำพาความรู้สึกของเพลงนั้นพุ่งออกมา เสียง tremolo อันกระเส่าเลี้ยงทุกวรรค ราวกับเสียงคนร่ำไห้ ประกอบกับเสียง reverb อันเวิ้งว้าง ยิ่งทำให้เพลงนี้เกิดความลุ่มลึกเหมือนกำลังดำดิ่งลงไปใต้ท้องมหาสมุทรอันมืดมิด