บรรยากาศครึ้มๆ ฟ้าเทาๆ ฝนตั้งเค้า เท้ารีบก้าวฝ่าลมหนาว ใจอดสงสัยไม่ได้ ว่าประเทศนี้เคยติดอันดับคนมีความสุขที่สุดในโลกได้อย่างไร
“ใจเย็นๆ เดี๋ยวพอใกล้ถึงช่วงคริสต์มาสเธอจะเห็นไฟประดับประดาตามท้องถนน เดินจิบไวน์ร้อนกับเพื่อนๆ แค่นี้ก็ hygge แล้ว” คนเดนมาร์กพยายามปลอบใจเพื่อนสาวชาวไทย
จิบไวน์ร้อนเดินเล่นกับเพื่อนท่ามกลางไฟช่วงคริสต์มาส ปล่อยตัวบนโซฟานุ่มๆ จิบโกโก้ร้อนในวันฝนตก กินข้าวกับครอบครัวท่ามกลางแสงเทียน กิจกรรมเหล่านี้เป็นตัวอย่างของ ‘hygge (ฮุกกะ)’ คำที่ใช้อธิบายความรู้สึกอบอุ่นสบายตามสไตล์ของคนเดนมาร์ก แต่สำหรับอีกหลายคน hygge คงเป็นคำที่ย้อนแย้งที่สุด เพราะในประเทศรัฐสวัสดิการแห่งนี้ สิทธิและเสรีภาพไม่ได้มีให้กับทุกคน
เสียงดนตรีในศูนย์กักกัน
ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง รถของอาสาสมัครจากเมืองออร์ฮูสขับมาจอดหน้าศูนย์กักกัน Kærshovedgård
ไกลจากตัวเมือง in the middle of nowhere หลายคนเรียกที่นี่ว่า ‘คุกเปิด’ บ้านที่คนสองร้อยกว่าคนไม่ได้คาดฝันว่าจะมาอยู่ คนส่วนใหญ่เป็นชาวเคิร์ด มีทั้งผู้หญิงผู้ชาย วัยหนุ่มสาวจนถึงชรา พวกเขาหนีสงครามและวิกฤติการเมืองมาจากตะวันออกกลาง จุดหมายปลายทางคือ ‘ชีวิตที่ดีกว่า’ ในเดนมาร์ก แต่ชีวิตจริงไม่สวยงามตามที่ฝัน ทุกวันนี้พวกเขาเป็นผู้ขอลี้ภัยที่ถูกรัฐบาลปฏิเสธ ไม่มีสิทธิอยู่ในประเทศนี้ กลับประเทศตัวเองก็ไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน โอกาสเดียวที่รัฐบาลเดนมาร์กหยิบยื่นให้คือการใช้ชีวิตในศูนย์กักกัน
เจ้าหน้าที่ห้ามนำกล้องถ่ายรูปใหญ่เข้าไป
“แต่ก่อนเราเคยเอากล้องเข้าไปได้ ไม่มีปัญหาอะไร อาจเพราะตอนนี้สื่อเริ่มสนใจเยอะ เขาก็เลยเปลี่ยนกฎ”
‘คาเชีย’ หัวหน้าทีมอาสาสมัครยักไหล่ เธอเป็นคนโปแลนด์ที่ย้ายมาอยู่ในเมืองออร์ฮูสหลายปีแล้ว เจ้าหน้าที่และคนในคุกเปิดแห่งนี้รู้จักเธอดี เพราะทีมอาสาสมัครที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนต่างชาติแวะเวียนมาจัดกิจกรรมทุกเดือน
“เราก็ช่วยพวกเขาได้แค่การฆ่าเวลา”
คาเชียหมายถึงการชวนทำกิจกรรม นั่งพูดคุย เล่นกีฬา จัดกิจกรรมวันคริสต์มาสและปีใหม่ (ผู้ขอลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม) ‘มาอยู่เป็นเพื่อน’ สิ่งเล็กๆ ที่ทีมอาสาสมัครในฐานะเพื่อนมนุษย์พอจะทำได้ ชีวิตในคุกเปิดก็เป็นไปตามชื่อ พวกเขาสามารถออกนอกศูนย์กักกันได้ แต่จะต้องกลับมารายงานตัวทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ อย่าลืมว่าศูนย์อยู่ไกลจากทุกอย่างจริงๆ เพราะฉะนั้นจะไปไหน ถ้าไม่เดินไปก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะขอความช่วยเหลือจากคนที่ตนรู้จักนอกศูนย์อย่างไร พวกเขาได้รับอนุญาตให้ใช้มือถือและอินเทอร์เน็ต สามารถแชทและติดต่อกับคนนอกศูนย์ได้ ห้องพักคล้ายหอพักนักเรียน คนสองคนอยู่ร่วมกันในห้องเดียว มีเตียงนอนแยกเป็นของตัวเอง อาคารแยกชายหญิง คาเชียพาเดินไปเยี่ยมตึกผู้หญิง ในส่วนของห้องกลางเห็นได้ชัดว่าครัวถูกเอาออกไป พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ทำอาหาร จะต้องกินจากโรงอาหารของที่นี่เท่านั้น
เดินสำรวจศูนย์แห่งนี้เท่าที่ได้รับอนุญาต เมื่อกลับมาห้องกิจกรรม ทีมอาสาสมัครสังเกตเห็น ‘ฮิวาส’ ชายหนุ่มจากตอนเหนือของอิรักไม่ค่อยสนุกไปกับบรรยากาศเสียเท่าไหร่ เมื่อเข้าไปพูดคุย เขาชวนไปอีกห้องหนึ่ง ห้องที่ไม่มีใครคิดว่าจะมีอยู่ในคุกเปิด ฮิวาสเชื้อเชิญพวกเราเข้าสู่ห้องดนตรีของเขา
“ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าผมเล่นดนตรีได้”
การรอคอยอิสรภาพที่ยาวนานทำให้ฮิวาสค้นพบทักษะทางดนตรีของตัวเอง เขาชอบอยู่ในห้องดนตรีมากกว่าร่วมกิจกรรมกับคนอื่นๆ สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในห้องที่เต็มไปด้วยเครื่องดนตรีสารพัดชนิดคือทุกอย่างดูใหม่มาก ราวกับว่าไม่มีใครเคยจับพวกมันมาก่อน ฮิวาสนั่งลงตรงคีย์บอร์ด บรรจงเล่นเพลงที่เขาอิมโพรไวซ์ขึ้นเอง อาสาสมัครอีกคนหนึ่งจากอิตาลีดีดกีตาร์คลอ
ถ้ามองจากเงื่อนไขและคุณภาพชีวิตของหลายชีวิตที่อยู่ในศูนย์กักกันของประเทศไทย อาจจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจสักพักว่าชีวิตของคนในคุกเปิดแห่งนี้ก็ทุกข์ใจไม่ต่างกัน เพราะสุดท้ายแล้วพวกเขาไม่มีสิทธิและเสรีภาพที่จะได้ใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นๆ สบายกายพอที่รัฐบาลเดนมาร์กจะไม่ถูกตราหน้าว่าทารุณเพื่อนมนุษย์ แต่ทุกข์ใจพอที่จะทำให้บางคนทนต่อไปไม่ได้ ท้อแท้และขอออกจากประเทศไปเอง
วางมือจากคีย์บอร์ด ฮิวาสจับกีตาร์พร้อมฮัมเพลงที่เขาแต่งขึ้นเอง
“ขอบคุณนะครับที่มาฟัง ถ้าไม่มีคนฟังผมก็ไม่รู้จะเล่นไปทำไม ชีวิตในนี้มันแย่มากเสียจนหลายคนลืมดนตรีไปแล้ว”
เสียงเพลงที่ฮิวาสเล่น
ภาพวาดบนกระดาษลังถึงนักการเมือง
ในขณะที่ฮิวาสเพิ่งเริ่มเล่นดนตรี ‘ซีฟอลดิน’ ไม่เคยหยุดวาดภาพเลย
ชายวัยหกสิบกว่าถือไม้เท้าพาเราไปห้องเก็บภาพงานศิลปะที่เขาสะสมตลอดเวลาหลายปีที่ใช้ชีวิตอยู่ในเดนมาร์ก ในฐานะผู้ขอลี้ภัยที่ถูกปฏิเสธ การวาดภาพสำหรับเขาคือการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ซีฟอลดินวาดภาพบนกระดาษลังที่หาได้ไม่ยากในศูนย์ ภาพที่เขาวาดส่วนใหญ่พูดถึงการลิดรอนเสรีภาพ ความเลวร้ายของชีวิตในศูนย์กักกัน และนโยบายกีดกันผู้ลี้ภัยของนักการเมือง
การเมืองของเดนมาร์กหากจะอธิบายสั้นๆ ตามความเข้าใจของเพื่อนชาวเดนิชคนหนึ่ง
เขาบอกว่าแม้พรรคการเมืองที่บอกว่าพรรคของตนเป็นฝ่ายซ้ายก็ยังขวาอยู่ดี โดยพิจารณาจากนโยบายการเปิดรับผู้ลี้ภัยที่ไม่มีพรรคไหนหาเสียงว่าจะอ้าแขนต้อนรับเลย ตั้งแต่ปี 2016 ประเทศเดนมาร์กยุติการรับผู้ลี้ภัยจากโครงการของ UNHCR ด้วยเหตุผลว่าต้องการให้ความสำคัญกับการทำให้ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาแล้วสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมเดนมาร์กให้ได้ก่อน
นอกจากนี้ช่วงสิ้นปีที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้ขอลี้ภัยในศูนย์กักกัน สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่ารัฐบาลเดนมาร์กมีแผนย้าย “คนเข้าเมืองที่ไม่เป็นที่ต้องการ (unwanted migrants)” จากศูนย์กักกันไปยังเกาะห่างไกลทางตะวันออกเฉียงใต้ที่เคยใช้เป็นศูนย์วิจัยสัตว์ที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง มาร์ทิน เฮนริกสัน ตัวแทนของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า “เราหวังว่าคนที่อยู่นอกประเทศเดนมาร์กจะเข้าใจว่าเดนมาร์กไม่ใช่ที่น่าอยู่สำหรับคนที่ต้องการขอลี้ภัย ยิ่งถ้าคุณมีประวัติเป็นผู้ลี้ภัย ต้องการที่จะสร้างความเดือดร้อน และก่ออาชญากรรม”
แม้ในสังคมเดนมาร์กมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเปิดบ้านต้อนรับผู้ลี้ภัย ความเชื่อว่าผู้ลี้ภัยมักจะลักขโมยและก่ออาชญากรรมนั้นมีอยู่จริงและมีที่มาที่ไป คนในศูนย์กักกันบางคนก่อคดีลักขโมยเวลาที่พวกเขาออกไปข้างนอกด้วยเหตุผลว่ามีเงินไม่เพียงพอที่จะซื้อของและอาหารข้างนอกศูนย์ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ทำเช่นนั้น ซีฟอลดินบอกว่า เขาไม่พอใจเวลาที่คนเดนมาร์กมองว่าคนในศูนย์ทุกคนเป็นอาชญากร เพราะเขาไม่เคยกระทำความผิด แต่ความไม่ไว้วางใจนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองของเดนมาร์กสามารถผลักดันนโยบายต่อต้านผู้ลี้ภัย
ไม่มีหรอกการเหยียดเชื้อชาติ เพราะนี่คือประเทศที่ทุกคนเท่าเทียมกัน?
คนเดนิชนั่งดูทีวีที่บนจอมีข้อความว่า ‘Movie Night Human Rights’ ชายคนหนึ่งคล้ายนักการเมืองส่งสัญญาณ “อย่าส่งเสียง” ให้ผู้ชายที่กำลังจะถูกฆ่าหลังรั้วสีเทา งานศิลปะของซีฟอลดินชิ้นนี้ชวนให้นึกถึงประเด็นที่ถกเถียงกันในงานสัมมนาเล็กๆ เรื่องการเหยียดเชื้อชาติในประเทศสแกนดิเนเวีย งานวิจัยของปีเตอร์ เฮอร์วิก นักมานุษยวิทยาชาวเดนมาร์กและอาจารย์สอนเรื่องการย้ายถิ่นฐาน มหาวิทยาลัยอัลบอร์ก ปีเตอร์บอกว่า การพูดถึงเรื่องการเหยียดเชื้อชาติเพิ่งมีมาไม่นานในสังคมเดนมาร์ก สาเหตุหนึ่งคือการรับรู้ของคนเดนมาร์กที่เชื่อว่า เดนมาร์กเป็นประเทศที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีการเหยียดเชื้อชาติ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องนี้
ไม่รู้ว่าตั้งใจหรือเปล่า แต่งานสัมมนาว่าด้วยการเหยียดเชื้อชาตินี้จัดขึ้นในตึกแถวย่านหนึ่งของเมืองออร์ฮูสที่ชาวเดนิชเรียกว่า ‘ghetto’ หรือ ‘สลัม’ ที่จริงๆ แล้วคือโซนของอพาร์ทเมนท์ (สภาพดี) สร้างขึ้นใหม่สำหรับผู้ลี้ภัยที่รัฐบาลรับเข้ามา ซิซีเลีย นักศึกษาชาวเดนมาร์กนั่งคุยกับเพื่อนในห้างที่อยู่บริเวณนั้น เธอเล่าให้ฟังว่าคนเดนมาร์กในย่านที่เธออาศัยกับคนจากต่างประเทศในย่านนี้แทบไม่พูดคุยกัน เธอคิดว่าเดนมาร์กอาจจะยังพยายามไม่มากพอในการทำให้คนท้องถิ่นและคนที่มาใหม่ใช้ชีวิตร่วมกันได้ ถัดจากร้านที่ซิซีเลียกับเพื่อนนั่งอยู่ เฮลลี หญิงวัยหกสิบสามปีกำลังเลือกเสื้อผ้าอยู่ในห้างเดียวกัน เธอบอกว่าเธออาจจะเป็นคนหัวโบราณ เพราะเธอคิดว่าผู้คนควรอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง
“พวกเขาไม่ควรมาที่สแกนดิเนเวีย เพราะสแกนดิเนเวียเป็นพื้นที่พิเศษ”
ไกลออกมาจากย่าน ‘สลัม’ ณ ค่าเฟ่เล็ก ๆ ในตัวเมืองออร์ฮูส โอมาร์ คาห์ทาน และซามาร์ ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียกำลังทำอาหารให้ผู้มาร่วมงานได้กิน กิจกรรมนี้จัดโดยอาสาสมัครชาวเดนมาร์กและผู้ลี้ภัยที่ได้สิทธิอาศัยในเดนมาร์กอย่างถูกกฎหมาย พวกเขาหวังว่าอาหารจะเป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดบทสนทนาระหว่างคนสองกลุ่ม
ดาร์เมียน ลาสัน ชาวเดนมาร์กพาลูกชายมาชิมอาหารซีเรียครั้งแรก บทสนทนากับดาร์เมียนชวนให้นึกถึงภาพวาดเดิมของซีฟอลดิน แต่เป็นการนึกถึงในแบบที่มีความหวังขึ้นมาเล็กน้อย
“การพูดคุยกันช่วยลดความไม่ไว้วางใจ ถ้าเราไม่คุยกัน คนเดนมาร์กก็จะได้เห็นแต่ภาพน่ากลัวของผู้ลี้ภัยผ่านสื่อและนักการเมือง ถ้าเราคุยกันเราก็จะเข้าใจว่าความแตกต่างระหว่างเรานั้นน้อยมาก ไม่เหมือนกับที่นักการเมืองพยายามบอกเรา
ทุกวันนี้คนที่นี่มองเห็นแต่ความแตกต่างตามที่นักการเมืองบอก พวกเขาแตกต่าง พวกเขาอันตราย แต่จริงๆ แล้วเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราต้องการปกป้องครอบครัวของเรา ต้องการให้ลูกได้รับการศึกษา มันเหมือนกันหมดทุกที่ เราต้องการความปลอดภัย”
ถึงแม้เดนมาร์กจะเพิ่งได้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าชะตากรรมของผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในประเทศแห่งนี้อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากนัก ในวันอากาศดีที่หาได้ยาก ชาวเดนมาร์กพากันนั่งอาบแดดในที่สาธารณะ ผู้ขอลี้ภัยในศูนย์กักกันส่วนใหญ่ยังคงเฝ้ารอด้วยความหวังว่าวันหนึ่งฝนจะหยุดตกใส่ชีวิตพวกเขาเสียที
ที่บอกว่าส่วนใหญ่ก็เพราะความอดทนต่อชีวิตที่ไร้อิสรภาพของแต่ละคนนั้นต่างกัน โดยเฉพาะบางคนที่เคยเจอสภาพที่ ‘แย่กว่า’ มาก่อน สำหรับพวกเขา แม้ฟ้าสีเทาของเดนมาร์กจะยังไม่เปลี่ยน แต่มันไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะปรับตัวให้คุ้นชิน อย่างผู้ขอลี้ภัยชาวคะฉิ่นที่อาศัยอยู่ในตึกหญิงของศูนย์กักกัน เธอเล่าเส้นทางชีวิตของตัวเองสั้น ๆ ได้รับการช่วยเหลือจาก UNHCR ลี้ภัยจากเมียนมาร์ไปประเทศบัลแกเรีย ชีวิตที่นั่นไม่ได้เป็นแบบที่คาดคิดไว้ จึงตัดสินใจเข้าเมืองผิดกฎหมายมายังเดนมาร์กและมาจบที่คุกเปิดแห่งนี้ เมื่อถามว่าเธอจะอยู่ที่นี่ต่อไปนานแค่ไหน เธอตอบกลับมายิ้ม ๆ
“ก็คงอยู่ที่นี่ต่อไปเรื่อยๆ เพราะยังไงมันก็ยังดีกว่าที่ที่หนีมา”