ทลายพรมแดนที่คลุมเครือ: การเข้ามาของ VAR และ กระบวนการยุติธรรมในวงการลูกหนัง

Video Assistant Refereeเรื่อง: พชรกฤษณ์ โตอิ้ม
ภาพประกอบ: วาทิตยา บุพศิริ

 

พนมมือแรง: VAR คืออะไร

VAR ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษเต็มๆ ว่า ‘Video Assistant Referee’

ความหมายของ VAR คือการใช้ระบบภาพช้าเข้ามาช่วยตัดสินเกมการแข่งขัน โดยมีทีมผู้ช่วยผู้ตัดสินในห้องปฏิบัติการคอยตรวจสอบภาพย้อนหลังในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดทุกมุมกล้อง ทีมดังกล่าวประกอบด้วยสามตำแหน่งคือ ผู้ช่วยผู้ตัดสิน ที่รับหน้าที่ประสานงานหลักในห้องปฏิบัติการ (โดยที่อาจเป็นผู้ตัดสินมาก่อนหรือไม่ก็ได้) ส่วนอีกสองคนจะเป็นผู้ช่วยของผู้ช่วยผู้ตัดสิน ตำแหน่งสุดท้ายคือผู้ควบคุมจอมอนิเตอร์เพื่อคอยเล่นภาพย้อนหลัง

ผู้ตัดสินสามารถใช้เรียกดูวิดีโอย้อนหลังได้สี่กรณี ได้แก่

  • จังหวะการได้ประตู
  • จังหวะจุดโทษหรือไม่จุดโทษ
  • การให้ใบแดงโดยตรง กรณีที่มีการฟาวล์หนักๆ
  • การให้ใบเหลืองหรือใบแดงผิดคน

การตรวจสอบของ VAR จะมีอยู่สามขั้นตอนคือ หนึ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลในสนาม ทางผู้ตัดสินหลักสามารถติดต่อกับผู้ช่วยผู้ตัดสินที่อยู่ในห้องมอนิเตอร์ได้ด้วยการส่งสัญญาณเป็น ‘รูปสามเหลี่ยม’ ขั้นตอนที่สองคือ ทีม VAR จะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องในภาพย้อนหลัง ก่อนจะเข้าไปสู่ขั้นตอนที่สามคือ แจ้งข้อมูลกลับไปให้ผู้ตัดสินในสนามเพื่อพิจารณาใหม่อีกรอบหนึ่ง

WHAT IF: เกิดอะไรขึ้น ถ้า VAR รันวงการลูกหนังมาแต่ช้านาน

ระบบ VAR ได้การยอมรับและเริ่มเป็นที่รู้จักไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก้าวสำคัญที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจ ระบบ VAR นั้นเกิดจากการนำเทคโนโลยีแบบใหม่นี้เข้ามาประกอบการตัดสินในการแข่งขันฟุตบอลโลกประจำปี 2018 โดยมีองค์กรฟีฟ่า (FIFA) ออกมารับรองการใช้ระบบนี้อย่างเป็นทางการ

หากในจักรวาลคู่ขนาน เป็นไปได้หรือไม่ ที่เจ้า VAR ดันปรากฏขึ้นมาก่อนกาล และทาง FIFA ก็นำระบบเทคโนโลยี VAR มาช่วยตัดสินฟุตบอลโลกตั้งแต่ปีแรกๆ ที่มีการจัดแข่งขัน

หากเป็นเช่นนั้นได้จริง ไม่แน่ว่าประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกอาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึงเลยก็ได้

Video Assistant Referee

1. การสิ้นสูญประตูหัตถ์พระเจ้า (The End of Hand of God goal)

ไม่มีใครไม่รู้จัก ดิเอโก มาราโดนา (Diego Maradona) นักฟุตบอลชาวอาร์เจนตินา ผู้กลายเป็นตำนานหลังสิ้นเสียงนกหวีดในรอบแปดทีมสุดท้ายระหว่างอาร์เจนตินากับอังกฤษ ในการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 1986

มาราโดนากลายเป็นตำนานที่มีลมหายใจ หลังจากที่เขาอาศัยจังหวะชุลมุนใช้ ‘มือซ้าย’ ปัดลูกฟุตบอลเข้าประตูไปอย่างรวดเร็ว ในศึกครั้งนั้นทางกรรมการชาวตูนิเซียมองไม่เห็นการใช้มือของมาราโดนา จึงตัดสินให้ลูกนี้เป็นประตู และทำให้ทีมอาร์เจนตินาเข้ารอบชิงไปด้วยคะแนน 2-1

มาราโดนากล่าวถึงประตูนี้ว่า “un poco con la cabeza de Maradona y otro poco con la mano de Dios” (ส่วนหนึ่งของการทำประตูมาจากหัวของผม และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหัตถ์พระเจ้า)

เป็นไปได้ว่าหากเจ้า VAR เข้ามาร่วมเป็นอีกตัวช่วยในการตัดสินเกมวันนั้น นักเตะในตำนานอาจถูกจารึกชื่อด้วยน้ำเสียงที่เปลี่ยนไปจากเดิม

Video Assistant Referee

2. แฟรงค์ แลมพาร์ด จะกลายเป็นฮีโร่ และทีมอังกฤษมีโอกาสเข้ารอบ

ในการแข่งขันฟุตบอลโลกประจำปี 2010 รอบการแข่งขันที่ทีมชาติอังกฤษต้องเผชิญหน้ากับทีมชาติเยอรมนี ข้อถกเถียงในวันนั้นเกิดจากผู้ช่วยผู้ตัดสินริมขอบสนามไม่รับว่าลูกยิงของ แฟรงค์ แลมพาร์ด (Frank Lampard) เป็นประตู แม้จะมีภาพถ่ายย้อนหลังออกมาว่า ลูกบอลที่แลมพาร์ดยิงไปนั้นข้ามเส้นประตูไปเต็มๆ ใบ

ภายหลัง ผู้ช่วยผู้ตัดสิน เมาริซิโอ เอสปิโนซา (Mauricio Espinosa) ยอมรับว่าลูกบอลที่ แฟรงค์ แลมพาร์ด ยิงนั้นเร็วจนมองแทบไม่ทัน และทำให้ผลการตัดสินนั้นกลายเป็นอีกหนึ่งความไม่ยุติธรรมมาจนถึงทุกวันนี้

“มันเกิดขึ้นเร็วมาก ผมแทบจะไม่เห็นลูกที่ยิงเลย แม้ว่าผมจะอยู่ในตำแหน่งที่อาจมองเห็นแล้วก็ตาม ตอนพวกเราพักครึ่งเราก็ยังไม่เห็นภาพย้อนหลังว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราเพิ่งมารู้จริงๆ ก็ตอนที่เราเห็นจากทีวีนั่นแหละ”

ถ้าวันนั้นลูกยิงของ แฟรงค์ แลมพาร์ด เป็นประตู เป็นไปได้ว่าการแข่งขันอาจมีรูปเกมที่เปลี่ยนไปอย่างมหาศาล ทีมชาติอังกฤษอาจจะตีเสมอกลับมา 2-2 สร้างกำลังใจให้เพื่อนร่วมทีม พร้อมที่จะพากันลุ้นต่อว่าใครจะมีสิทธิ์ขึ้นนำได้ก่อนกัน

น่าเสียดายที่เรื่องนั้นไม่ได้เกิดขึ้น และการแข่งขันครั้งนั้นจบลงที่เยอรมนีชนะอังกฤษไปด้วยผล 4-1 ประตู

Video Assistant Referee

3. ลูกเตะกังฟูของ เดอยอง โดนยกใบแดงรอบชิง

ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2010 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ นอกจากจะมีเรื่องอื้อฉาวอย่าง ‘ลูกยิงของ แฟรงค์ แลมพาร์ด’ ยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าสนใจและตราตรึงอยู่ในใจผู้ชมฟุตบอลทั่วโลก คือการแข่งขันรอบชิงอย่างดุเดือด ระหว่าง ทีมชาติสเปนและทีมชาติเนเธอร์แลนด์

การแข่งขันนัดนั้นถูกขนานนามว่า เป็นเกมที่เล่นกันอย่าง ‘ป่าเถื่อน’ (brutal) และ ‘สกปรก’ (dirty)

เหตุการณ์ในวันนั้นป่าเถื่อนถึงขนาดที่ ฮาเวิร์ด เว็บบ์ (Howard Webb) ผู้ตัดสินในสนาม ต้องแจกใบเหลืองมากถึง 14 ใบ และมอบใบแดงให้กับทางฝั่งเนเธอร์แลนด์ 1 คน

ต่อให้ ฮาเวิร์ด เว็บบ์ จะพยายามสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสนามมากแค่ไหนก็ตาม แต่สุดท้ายเขาก็คลาดสายตาในจังหวะที่ ไนเจล เดอยอง (Nigel de Jong) ยกเท้ากระแทกอก ชาบี อาลอนโซ (Xabi Alonso) เต็มเหนี่ยว

“ผมลองมองย้อนกลับไป ตลอดเกมที่ผมทำงาน แน่นอนผมทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรมากที่ผมต้องการจะเปลี่ยน แต่มีเพียงสิ่งเดียวที่ผมต้องการเปลี่ยน คือเปลี่ยนสีใบที่ผมให้ไปกับไนเจลเดอยอง” ฮาเวิร์ด เว็บบ์ เอ่ย

Video Assistant Referee

4. เคลียร์ใจ: ชัยชนะของเจ้าภาพเกาหลีใต้จะโปร่งใส และตรวจสอบได้คล่อง

‘เจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลประจำโลกปี 2002’ หรือ ‘ทีมชาติเกาหลีใต้’ ได้รับเสียงวิพากษ์โจมตีอย่างหนักตลอดช่วงเวลาที่มีการแข่งขัน เพราะมีนักวิจารณ์หลายคนจับตามองฟอร์มการเล่นของทีมชาติเกาหลีว่า “โดดเด่นเกินกว่าเมื่อคราวพวกเขาลงแข่งในฟุตบอลโลกปี 1998 อย่างเห็นได้ชัด” รวมทั้งเวลาที่ทีมชาติเกาหลีใต้ลงแข่งแต่ละครั้ง กรรมการมักตัดสิน ‘ค้านสายตาผู้ชม’ หลายรอบ

กรณีรอบ 16 ทีมสุดท้าย กรรมการชาวเอกวาดอร์ ไบรอน โมเรโน (Byron Moreno) ตัดสินไม่ให้อิตาลีได้ประตู รวมไปถึงไล่ ฟรานเซสโก ตอตติ (Francesco Totti) ออกจากการแข่งขัน การตัดสินนี้ส่งผลให้เกาหลีใต้ชนะไปด้วยจำนวนประตู 2-1 จากการทำประตูของนักเตะเกาหลีใต้ อาห์น จุง ฮวาน (Ahn-Jung-Hwan)

นัดต่อมา ทีมชาติเกาหลีใต้ต้องลงเตะกับทีมชาติสเปน กรรมการสัญชาติอียิปต์ อัล-กานดู (Al-Ghandou) ก็ตัดสินไม่ให้ทีมชาติสเปนได้ประตูสองลูก ด้วยเหตุ ‘ล้ำหน้า’ ผลลัพธ์ในวันนั้นจึงกลายเป็นว่า ทั้งสองทีมเสมอกันเต็มเวลา ก่อนตัดสินด้วยจุดโทษ ซึ่งเกาหลีใต้ชนะการดวลจุดโทษ และเข้าสู่รอบสี่ทีมในที่สุด

ข้อพิพาทของเจ้าภาพอาจลดน้อยถอยลง หากมีการนำ VAR เข้ามายุติข้อถกเถียงหล่านี้

ผู้ชมจะรู้กันชัดๆ ว่า ระหว่าง ‘ตัวเจ้าภาพ’ หรือ ‘ผู้ที่กล่าวหาเจ้าภาพ’ ใครกันแน่ที่พูดไม่ตรงความเป็นจริง

Video Assistant Referee

5. ไม่มีประตูผีของ เจฟฟ์ เฮิร์สต์

ประเด็นเรื่อง ‘ลูกฟุตบอลเข้าประตูเต็มใบหรือไม่’ มักเกิดขึ้นสำหรับพูดคุยกันให้สนุกปากอยู่เนืองๆ และอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สร้างข้อโต้แย้งกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ คือเหตุการณ์ในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบชิงปี 1996 ระหว่าง ทีมชาติเยอรมนีตะวันตกกับทีมชาติอังกฤษ

หลายต่อหลายคนเรียกประตูที่คลุมเครือในครั้งนั้นว่า ‘ประตูผี (ghost goal)’

ตอนช่วงต่อเวลาพิเศษนาทีที่ 103 ในนาทีนั้น เจฟฟ์ เฮิร์สต์ (Geoff Hurst) จับบอลในกรอบเขตโทษ แล้วยิงเพื่อหมายทำประตูในระยะเผาขน ลูกบอลเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว พุ่งชนคาน ก่อนตกลงสู่พื้น แล้วเด้งหลุดนอกกรอบประตู…

ด้านผู้ตัดสิน ก็อตต์ฟรีด ดีนสท์ (Gottfried Dienst) เองก็ยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าประตูดังกล่าวนับว่าเป็นประตูได้หรือไม่ แต่ผู้ช่วยผู้ตัดสินยืนยันหนักแน่นว่า “ลูกบอลได้เข้าประตูไปแล้ว” เมื่อได้รับการยืนยัน เขาจึงตัดสินให้เป็นประตู

ผู้เล่นเยอรมันหลายคนยืนยันว่าลูกบอลไม่ได้ข้ามเส้นประตู แต่เสียงคัดค้านนั้นถูกปฏิเสธ

หลังการแข่งขันนัดนั้นผ่านไปสักพัก ผู้คนจำนวนหนึ่งเริ่มศึกษากรณีประตูผีให้ถี่ถ้วนเพิ่มมากขึ้น จนได้ข้อสรุปว่าลูกบอลลูกนั้นไม่เคยผ่านเส้นประตูเข้าไปทั้งใบแต่อย่างใด

Video Assistant Referee

6. ยืนยันว่า แฟรงค์ ไรจ์การ์ด ถ่มน้ำลายใส่หัว รูดี โฟลเลอร์ จริงหรือไม่?

การแข่งขันรอบ 16 ทีมสุดท้ายในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1990 เป็นการต่อสู้กันระหว่างทีมชาติเนเธอร์แลนด์กับทีมชาติเยอรมนี และทุกครั้งที่ทั้งสองทีมพบกัน ทั้งคู่ก็ต่างฟาดฟันและต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิงอยู่เสมอ

ในวันนั้นผู้ชมทุกคนต่างเฝ้ารอว่าการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจลูกหนังครั้งนั้นจะลงเอยอย่างไร เพียงแต่ว่าครั้งนี้แตกต่างจากเดิม เพราะคู่กรณีระหว่าง แฟรงค์ ไรจ์การ์ด (Frank Rijkaard) และ รูดี โฟลเลอร์ (Rudi Völler) ได้แย่งความเด่นในการแข่งขันไปจนหมด

แฟรงค์ ไรจ์การ์ด ได้รับใบเหลืองหลังจากทำฟาวล์ รูดี โฟลเลอร์ และจากนั้นไม่นานนัก กล้องก็จับภาพได้ว่า ไรจ์การ์ดกำลังถ่มน้ำลายลงบนหัวของโฟลเลอร์ ซึ่งทางโฟลเลอร์เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามเรียกร้องไปยังผู้ตัดสิน แต่ผู้ตัดสินก็ปฏิเสธคำขอของโฟลเลอร์ แถมให้ใบเหลืองกับเขาแทน เพราะถือว่าแสดงความก้าวร้าวต่อกรรมการ

หลังจากนั้นทั้งคู่ยังกระทบกระทั่งกันอยู่ตลอดทั้งเกม จนในที่สุดผู้ตัดสินก็ตัดสินใจเชิญทั้งคู่ออกไปจากการแข่งขัน

Video Assistant Referee

7. ฮารัลด์ ชูมัคเกอร์ ต้องได้รับโทษหลังกระแทก ปาทริก บาติสต็อง จนฟันร่วง

ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบรองชนะเลิศระหว่างทีมเยอรมนีตะวันตกและทีมฝรั่งเศส ปี 1982 ตัวสำรองของฝั่งฝรั่งเศสส่ง ปาทริก บาติสต็อง (Patrick Battiston) ออกมาโลดแล่นบนสนาม

แต่แล้วในจังหวะที่ทางบาติสต็องพยายามเกี่ยวบอลลงเล่นในเขตโทษฝั่งเยอรมนี ผู้รักษาประตู ฮารัลด์ ชูมัคเกอร์ (Harald Schumacher) ก็เอายอดเข่าบินมาพุ่งชนบาติสต็องจนมีอาการบาดเจ็บสาหัส

สภาพการณ์ของบาติสต็องอยู่ในสภาพย่ำแย่ กระดูกสันหลังของเขาได้รับความเสียหายอย่างหนัก และมีฟันหลุดออกมาสองซี่ เขานอนสลบอยู่กลางสนามและไม่ได้สติเป็นเวลานาน

การปะทะครั้งนั้นเกือบจะฆ่าบาติสต็อง แต่ในขณะเดียวกัน ทางด้านชูมัคเกอร์ ก็ไม่ได้รับการลงโทษอะไรเลยแม้แต่น้อย แถมทางเยอรมนียังได้ลูกเตะออกจากประตูอีกต่างหาก

แหม่ …ทำไปได้

8. แฮนด์บอลของ อองรี จะฉุดรั้งไม่ให้ฝรั่งเศสไปฟุตบอลโลก 2010

ในการแข่งขันรอบคัดเลือกเพื่อหาทีมชาติที่เข้าไปแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 รอบ 32 ทีมสุดท้าย ทีมฝรั่งเศสและทีมสาธารณรัฐไอร์แลนด์ต้องมาเผชิญหน้ากันเพื่อตัดสินว่าทีมใดจะได้เป็นผู้ได้รับตั๋วสำหรับเข้าไปแข่งรอบ 32 ทีม

สุดท้ายผลคะแนนออกมาเป็นฝรั่งเศสเข้ารอบไปด้วยผล 1-0 แต่ประเด็นอยู่ที่ประตูแรกและประตูเดียวของทางฝั่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประตูที่ผิดกฎและไม่สมควรที่จะนับว่าเป็นประตู

เมื่อสื่อได้นำเสนอภาพย้อนหลังการแข่งขันนัดนั้น ปรากฏว่าทางศูนย์หน้าตัวเป้าของทีมชาติฝรั่งเศสอย่าง เธียร์รี อองรี (Thierry Henry) ทำผิดกติกาโดยใช้มือปัดบอลเข้าประตูในช่วงเวลาที่ โฟลรองต์ มาลูดา (Florent Malouda) เตะฟรีคิกเข้าไปในกรอบเขตโทษ

ตอนหลังตัวอองรีเองก็รู้สึกผิด และพยายามขอโทษต่อแฟนบอลหลังจากจบเกม

“ผมอยากสารภาพว่า นั่นเป็นการแฮนด์บอลจริงๆ แต่สุดท้ายผมก็ไม่ใช่กรรมการ ผมเป็นเพียงแค่ผู้เล่นคนหนึ่งในสนาม และหากว่าการกระทำของผมทำร้ายความรู้สึกของใคร ผมขอโทษด้วยครับ” อองรีกล่าว

แม้ว่าจะมีกระแสทักท้วงอยู่บ้างในกลุ่มแฟนบอลชาวไอริช แต่ท้ายที่สุดผลการตัดสินยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และทางผู้ตัดสินก็อนุญาตให้ฝรั่งเศสได้รับตั๋วไปยังแอฟริกาใต้อยู่ดี


อ้างอิง:
  • football-technology.fifa.com
  • matichon.co.th
  • worldsoccer.com
  • whatculture.com
  • theguardian.com
  • talksport.com
  • sportskeeda.com
  • telegraph.co.uk

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า