ถึงแม้ใบหน้าของเธอจะปรากฏในสื่อแทบทุกสำนักเมื่อครั้งออกมาถือป้าย ‘โรงเรียนไม่ใช่ที่ปลอดภัย’แต่ในวันที่รับนัดหมาย หมวย (นามสมมุติ) ขออนุญาตไม่ให้บันทึกภาพแบบเห็นหน้า ชื่อ-นามสกุล และชื่อเล่นจริงๆ ก็ขอละไว้เพราะไม่อยากผลิตซ้ำ ทำร้ายตัวเองและครอบครัวอีกรอบ
เปลือกนอกทั้งหมดไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร เพราะหัวใจจริงๆ คือสิ่งที่เธอต้องการสื่อออกมาว่า สำหรับเธอ โรงเรียนก็คือโรงเรียน ไม่ใช่บ้านหลังที่สองหรือสถานที่ปลอดภัย
โลกที่ปลอดภัยของหมวยคือ โลกที่เหยื่อไม่ต้องมานั่งกังวลว่าฉันทำอะไรผิด
“โลกที่ปลอดภัยไม่ใช่โลกที่ปราศจากอันตรายแต่เป็นโลกที่กฎหมายสามารถใช้ได้จริงและควบคุมได้”
ทำไมถึงไปร่วมกิจกรรมการชุมนุมกับกลุ่มนักเรียนเลว
ไปเพราะว่าเป็นพื้นที่ในการแสดงออก ให้เราพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนตามเจตนาของม็อบ เลยเลือกที่จะหยิบปัญหาของตัวเองออกมาพูด เพื่อต้องการจะสื่อว่าโรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย
ก่อนที่จะแสดงออกหรือเปิดเผยเรื่องราวตัวเอง เราคิดและชั่งน้ำหนักเรื่องอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อตอนเราอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 5 ตอนนั้นเราปิดปากเงียบ ด้วยเหตุผลว่าตอนนั้นเรากำลังเป็นเด็กประกวดในโรงเรียน ชีวิตในโรงเรียนกำลังไปได้สวย กำลังได้รางวัล เรารู้สึกว่าการที่เราออกมา ณ ตอนนั้น การนำเสนอข่าวจะเป็นแบบว่า กล้องวงจรปิดเผย เหยื่อนุ่งสั้น เหยื่อสมยอมคุณครู ซึ่งสุดท้ายแล้วเราก็จะกลายเป็นผู้เสียหาย มีเด็กหลายคนถูกบีบออกจากโรงเรียน พ่อแม่ไล่ออกจากบ้าน เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นความอับอายของโรงเรียนและครอบครัวรวมถึงตัวเอง เลยเลือกที่จะไม่ออกมา
พอเรียนจบเลยเลือกที่จะบอกคุณพ่อ ตอนนั้นเริ่มมีอาการป่วยทางจิตเวชแล้ว จึงชั่งน้ำหนักดูว่าต่อให้ take action ไป เรารับแอคชั่นที่กลับมาไม่ไหวหรอก เลยตัดสินใจยังไม่พูดตอนนั้น แต่มีการปรึกษาจิตแพทย์อยู่เป็นระยะว่าเราอยากออกมาดำเนินการเรื่องนี้มากเลย มันไม่ใช่ปัญหาระดับปัจเจกบุคคล แต่มันคือปัญหาโครงสร้างทางสังคม เพราะถ้ามันเป็นปัญหาปัจเจกบุคคลจริงจะไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเยอะขนาดนี้
มันเป็นปัญหาจากระบบและโครงสร้างที่ยึดเหนี่ยวกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมกับตัวบุคคลและสังคม ที่สัมพันธ์กันมาเป็นระยะเวลายาวนาน คุณหมอก็ต้องคอยดูว่าจิตใจเราไหวไหม การรักษาตั้งแต่ปีหนึ่งเทอมสองจนถึงปัจจุบัน อาการเราดีขึ้น ก็เลยอยากออกมา take action เรื่องนี้ ซึ่งเราทำมา 2 ปีแล้ว แต่เพิ่งมีการโพสต์อย่างชัดเจนในช่วงปีนี้ โดยโพสต์เรื่องราวของตัวเองในเพจ 1 ครั้ง และครั้งที่ 2 ถูกเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ของโรงเรียนสารสาสน์ที่โพสต์ในเวลาใกล้เคียงกันจึงได้รับความสนใจ แต่ไม่มากเท่ากับตอนนี้
สองครั้งแรกที่โพสต์ไปเปรียบเสมือนการจุดพลุแล้วก็ดับหายไปเลย เหมือนกับทุกคนให้กำลังใจแล้วเสียงก็ดับหายไปเลย แต่ตอนนี้เป็นระยะที่พลุดอกนี้มันอยู่นานกว่าที่เราคิดและเสียงค่อนข้างดังมากกว่าที่เราคาดหวัง
ฟีดแบ็คจากพ่อและแม่เป็นอย่างไรตอนบอกสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา
พ่อแม่ไม่ได้เหมือนกันทุกคนบนโลก พ่อแม่ก็มีเบ้าหลอมประสบการณ์ที่แตกต่างกัน พ่อเราถามว่าอยากให้ดำเนินคดีไหม อยากให้คุยหรือไกล่เกลี่ยยังไง แต่ว่าตอนนั้นเราป่วย เราไม่ไหว เราเลยบอกว่าเดี๋ยวค่อยแล้วกัน
ส่วนแม่ถามเราคำแรกว่า “ลูกแต่งตัวอย่างไร” สิ่งนี้ชี้ให้เห็นวัฒนธรรมการข่มขืนที่ชัดเจนซึ่งเราแยกความคิดความเป็นคนออกจากมันไม่ได้ มันกลายเป็นสิ่งเดียวกันที่ถูกสอดแทรกเข้าไป เราไม่ได้มองว่าคนถามแบบนี้เป็นเรื่องแย่ มันอาจจะถามจากการไตร่ตรองเล็กน้อย แต่เรามองว่าไม่เป็นไร แค่ทำให้เราได้เห็นว่าวัฒนธรรมการข่มขืนมันอยู่ในทุกอณูจริงๆ และใกล้ตัวเรามากๆ
จุดไหนที่รู้สึกว่าเอาล่ะ จิตใจพร้อมที่จะเปิดเผยเรื่องราวแล้ว
ไม่มีจุดที่พร้อมแล้วในการเล่าเรื่องราวนี้ ถ้าไม่มีใครตะโกนออกมา ปัญหาก็จะซุกอยู่ใต้พรมเหมือนเดิม ไม่มีพรมผืนไหนสะอาดได้ ถ้าเราไม่จับมันออกมา แล้วดูว่าฝุ่นข้างใต้มันมีอะไรบ้าง
การศึกษาหรือโครงสร้างทางสังคมแบบไหน ที่ทำให้เราคิดในตอนแรกว่าไม่ควรออกมาเปิดเผยเรื่องราวแบบนี้
ในประเทศไทยมีวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อหลากหลายเซ็ต แต่เช็ตในเรื่องของการคุกคามทางเพศ การข่มขืนมันก็จะมีเซ็ตวัฒนธรรม คือวัฒนธรรมการข่มขืน (rape culture) ปิตาธิปไตย และอำนาจนิยม
สามวัฒนธรรมเหล่านี้หล่อหลอมเป็นโครงสร้างที่ทำให้เสียงของเด็กที่พยายามพูดถึงปัญหาถูกกดทับ แล้วทำให้เสียงนั้นเหมือนลมที่ผ่านหูไป และสามวัฒนธรรมนี้ยังแฝงอยู่ในกลุ่มคน ทั้งกลุ่มคนที่มีอำนาจดูแลเด็กและตัวเด็กเอง มันทำให้เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นนั้นมันไม่เคยเกิดขึ้น หมายความว่าเด็กที่เจอเหตุการณ์นี้ไม่พูด เมื่อไม่พูดก็ไม่มีคนได้ยิน เมื่อไม่มีคนได้ยินก็เข้าใจว่าไม่มี กับเหตุการณ์ที่ผู้ใหญ่ได้ยินแล้วรู้ว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้นแต่เขาเลือกที่จะทำเป็นเหมือนไม่ได้ยิน หรือเลือกที่จะดับเสียงเหล่านั้นลง เพราะเขามองว่าเราเป็นเด็ก
อันนี้คือสามสิ่งหลักๆ ที่ควรกังวลและนำมาพิจารณากัน ซึ่งเราพูดถึงแต่ตัววัฒนธรรมกว้างๆ แต่ยังไม่ได้พูดถึงองค์กรที่มีการช่วยเหลือคุณครูหรือตัวผู้กระทำความผิด เราสามารถจับเซ็ตความคิดเหล่านี้จากคอมเมนต์ที่ตีกลับมายังได้เลย
โครงสร้างทางการศึกษามีส่วนมากน้อยแค่ไหน
อย่างแรก สิ่งที่น่าสนใจคือการที่เราถูกสอนให้รู้จักการบวกเลขเป็นก่อนรู้จักสิทธิในร่างกายของตัวเอง สิ่งที่เราบอกว่าเด็กไม่รู้ นั่นเด็กไม่รู้หรือเราต่างหากไม่เคยบอก สิทธิในร่างกายของเด็กควรเป็นสิ่งที่รู้อย่างแรกๆ ถ้าคุณสามารถสอนวิชาหน้าที่พลเมืองได้ในเด็กประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 คุณต้องสอนสิทธิในร่างกายและเสรีภาพในตัวเด็กให้ได้ด้วยเช่นกัน
เด็กต้องรู้ว่ามีสิทธิในการปฏิเสธในสิ่งที่ตัวเองรู้สึกว่าถูกคุกคาม บอกในสิ่งที่ไม่ชอบ บอกว่าอะไรคือสิ่งที่ทำไม่ได้ อย่างเช่น เราเข้าใจว่าครูเอ็นดู กว่าจะรู้ว่าเขามองเราในลักษณะที่ไม่เหมือนนักเรียนทั่วไปก็นำไปสู่เหตุการณ์การอนาจารแล้ว แต่ถ้ามีความรู้กันตั้งแต่เด็ก คุณพ่อคุณแม่สอนเป็นเรื่องปกติ น้องจะรู้ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงมาจับขา ฉันไม่อยากให้เขาจับขา สามารถบอกออกไปได้เลยว่าหนูไม่ชอบค่ะ หรือว่าเมื่อมีคนมาจับ สามารถบอกแม่ได้ว่าคนนี้มาจับหนู หนูไม่ชอบเลยค่ะ อย่างน้อยเขาก็ได้เรียนรู้ที่จะบอกสิ่งที่เขาไม่พอใจ หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ เช่น การทำอนาจาร ลวนลามหรือแม้กระทั่งล่วงละเมิดทางเพศ เด็กจะได้รู้ว่าต้องบอกใคร
ทุกวันนี้เด็กที่ถูกคุกคามทางเพศไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องบอกหรือแจ้งองค์กรไหน บางทีคุณพ่อคุณแม่ก็ช่วยกันปิดข่าวด้วยซ้ำ เพราะรู้สึกว่าเหยื่อเป็นผู้เสียหาย เด็กรู้แค่ว่าอย่านุ่งสั้น อย่าแต่งตัวโป๊ แต่ถ้าการแต่งตัวเรียบร้อยมันทำให้เราปลอดภัยจากการข่มขืนได้จริง คงไม่มีการข่มขืนเด็กในชุดนักเรียน
วิชาเพศศึกษาที่รู้จักในครั้งแรกเป็นอย่างไร
การใส่ผ้าอนามัย (ตอบทันที) ตอนประศึกษาปีที่ 4 อยู่โรงเรียนหญิงล้วน เตรียมตัวมีประจำเดือน และรู้จักอวัยวะเพศชาย-หญิงแค่นั้น สิ่งอื่นๆ นอกจากนั้นคือการเรียนรู้นอกหนังสือ แต่หลักสูตรการสอนเพศศึกษาแต่ละสถาบันมันไม่ได้มาตรฐานและไม่เท่ากัน อย่างเพื่อนเราอาจารย์ให้ไปซื้อถุงยางมาใส่แตงกวา ขณะที่ของเราสอนเรื่องประจำเดือนเป็นอย่างแรก และที่เหลือเป็นการสอนเรื่องการออกกำลังกาย
ซึ่งไม่ได้สอนสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย?
เขาสอนให้ทำตัวเองให้ปลอดภัย อย่าไปสถานที่เปลี่ยว ใส่กางเกงขายาว แต่งตัวมิดชิด มีคนไปด้วยเสมอ สรุปว่าคนที่ไปกับเรานี่แหละเป็นคนทำ สอนให้เราดูแลตัวเอง แต่ไม่สอนให้เราให้เกียรติกันและกัน ลองสังเกตจากการที่เด็กไปเล่นเปิดกระโปรงกันสิเป็นเรื่องที่อยู่คู่สังคมไทยมานานมาก มันเป็นสิ่งที่ยืนยันเลยว่าเด็กในประเทศนี้ไม่รู้จักสิทธิ เสรีภาพและการให้เกียรติผู้อื่น เขามองว่ามันเป็นเรื่องสนุก หากว่ามีการสอนที่เป็นรูปธรรมจริง สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น
พอเป็นข่าวในทุกสื่อ เราอ่านคอมเมนต์ต่างๆ ด้วยความรู้สึกแบบไหน หรือคาดหวังผลตอบรับมากขนาดไหน
ไม่ได้คาดหวังว่าจะดีหรือร้าย คาดหวังในกรณี worst case (กรณีเลวร้ายที่สุด) คือถล่มด่าจากทุกคน สิ่งที่เรามองเข้าไปมันเหมือนดินที่มากระทบแต่ไม่ได้รู้สึกอะไร ภายใต้ข้อความความคิดเห็นแบบนั้น มันซ่อนอำนาจนิยมหรือวาทกรรมใดอยู่ มันซ่อนแนวคิดหรือพฤติกรรมที่เขาจะทำต่อไปอย่างไร เขามีเด็กที่ต้องดูแลไหม ถ้าลูกหลานของเขาอยู่ภายใต้การดูแลแบบนี้ ต่อไปถ้ามีปัญหาจะจัดการอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราสนใจมากกว่าแนวความคิดแบบนี้มาจากไหน และจะส่งผลอย่างไรต่อไป
เราไม่ได้สนใจว่าเขาจะด่าอะไร ถ้าในเรื่องของความรู้สึกมีอยู่เรื่องเดียวคือหนูห่วงโลกของหนู ซึ่งโลกของหนูคือครอบครัว เสียใจก็ต้องมีอยู่แล้ว
กว่าที่เราจะรู้สึกไม่เสียใจกับความคิดเห็นต่างๆ ใช้ระยะเวลามากแค่ไหน ผ่านอะไรบ้าง
ใช้เวลาการเรียนรู้ทั้งชีวิต ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวันนี้ ในช่วงแต่ละความคิดที่เราเติบโตมา มีโรงเรียนที่สอนแบบหนึ่ง มหาวิทยาลัยก็สอนอีกแบบหนึ่ง สังคมสอนแบบหนึ่ง ครอบครัวสอนเราแบบหนึ่ง ทุกอย่างค่อยๆ สอนเราแล้วเราค่อยเลือกที่จะเชื่อ ว่าเราจะเชื่อแบบไหนเท่านั้นเอง
ขอบเขตของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงอยู่ตรงไหน
ขอบเขตมันง่ายมาก ขึ้นอยู่กับว่าตัวของผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าถูกละเมิดสิทธิหรือเปล่า เช่น บางคนเพื่อนผู้ชายจับแขนไม่ว่าแต่คนแปลกหน้ามาจับไม่ชอบ สามารถบอกได้ว่าไม่ชอบอย่าจับได้ไหม
สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงจะปะทะอย่างไรกับเผด็จการ
ปัญหาสิทธิสตรีถูกขับเคลื่อนมาตลอดทั้งสังคมประชาธิปไตยและเผด็จการ เราคิดว่ามันคงจะยังขับเคลื่อนต่อไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดก็คือการที่เราออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ แล้วเขาใช้เราเป็นเครื่องมือในการโจมตีฝ่ายบุคคลตรงข้าม หรือฝ่ายบุคคลที่เห็นต่างใช้เราเป็นเครื่องมือของรัฐ
นักสิทธิสตรีที่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้แม้ว่าเขาจะต้องต่อต้านกับกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นต่าง ต่อต้านกับวัฒนธรรม แต่เขาไม่จำเป็นต้องต่อต้านกับรัฐบาลและผู้มีอำนาจในสังคม อันนี้คือสิ่งที่น่ากังวลว่าเขากำลังนำเรื่องสิทธิของความมนุษย์ สิทธิความเป็นสตรี สิทธิความเป็นคนมารวมเป็นเรื่องเดียวกับการเมืองแล้วนำไปใช้โจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง
ตอบคำถามคนอื่นต่อการแต่งตัวคอสเพลย์อย่างไร
อย่างแรกคือเราเป็นนางแบบ อย่างที่สองไม่ว่าเราจะแต่งตัวอย่างไร ไม่ได้แปลว่าเราแจกใบเบิกทางให้คุณมาคุกคามเรา ผู้หญิงมีสิทธิที่จะแต่งตัวอย่างไรก็ได้
วัฒนธรรมเหล่านี้และความไม่ปลอดภัยในสังคมของผู้หญิงมันจะเบาบางลง เมื่อกฎหมายใช้ได้ผลมากขึ้นและถูกยอมความน้อยลง เพราะว่าหลายคนที่ลุกขึ้นมาสู้ในเรื่องนี้จะมี feeling แบบว่าสู้ทำไม ประจานตัวเองเดี๋ยวก็แพ้ เราเป็นคนเสียหาย ถ้าเกิดเรามีกฎหมายที่แข็งแรงมากพอ และคนตระหนักรู้ได้ว่าเรื่องนี้ผู้หญิง เด็ก ผู้ชายคนนี้ไม่ได้เป็นคนผิด เขาไม่สมควรที่จะโดนเรื่องนี้ ความคิดเหล่านั้นก็จะเบาบางลง
ที่ผ่านมาเรานึกขอบคุณตัวเองไหม อย่างไร
ขอบคุณตัวเองที่ยังอยู่มาถึงตอนนี้ เราแทบจะขอบคุณทุกอย่างที่เราผ่านมาทั้งชีวิต พ่อแม่ ครอบครัว อากง อาม่า ขอบคุณโรงเรียนของเราที่ทำให้เห็นอำนาจนิยมที่ชัดเจน ขอบคุณโรงเรียนมัธยมปลายที่มอบประสบการณ์ที่ดีและร้ายให้เรา ทำให้เราเห็นว่าประชาธิปไตยคืออะไร ปิตาธิปไตยเป็นอย่างไร และปิตาธิปไตยมาอยู่ควบคู่กับอำนาจนิยมได้อย่างไร
แม้กระทั่งคอมเมนต์ที่ถาโถมเข้ามาให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าวัฒนธรรมการข่มขืนในบ้านเรามันเข้มข้นขนาดไหน ขอบคุณมากๆ ที่ทำให้เราได้เห็นประเทศไทยมากกว่ามิติที่เขาพยายามร้องเพลงบอกเรา
วันที่ไปชูป้ายที่สยามฯ ได้บอกครอบครัวไหม
บอกหลังจากที่นั่งเสร็จแล้ว (ยิ้ม) เขาตั้งคำถามว่าเรารู้ไหมว่าเรากำลังสู้กับอะไร เราตอบไปว่าเรากำลังสู้กับเบ้าหลอมที่เรามองว่าไม่ปกติ
การออกมาครั้งนั้น ต้องการอะไร
ความต้องการของมนุษย์มีหลายระดับ เราต้องการระดับที่เล็กที่สุดถ้าสังคมนี้จะไม่เปลี่ยนอะไรเลย คือต้องการให้น้องๆ ทุกคนเข้าใจว่าโรงเรียนไม่ใช่ที่ปลอดภัยของหนู คุณครูไม่ใช่บุคคลที่ประเสริฐ มีทั้งด้านดีและไม่ดี เมื่อโดนเรื่องอะไรมา รู้สึกถูกคุกคาม หรือไม่สบายใจให้เรียนรู้ที่จะปฏิเสธ บอกคุณพ่อคุณแม่ เรียนรู้ว่าเราไม่ใช่คนผิดเมื่อเกิดเรื่องแบบนี้
อย่างที่สองคือคุณพ่อคุณแม่ โรงเรียนที่คุณฝากกล่องดวงใจให้ดูแล ที่นั่นไม่ใช่บ้านหลังที่สอง โรงเรียนคือโรงเรียน
ต่อมาคือโรงเรียนจะมีมาตรการอย่างไรในการดูแลนักเรียนให้ปลอดภัยในสถานศึกษาซึ่งควรจะปลอดภัยตั้งแต่แรก ควรจะมีองค์กรรองรับอย่างไร รวมไปถึงการมีนักสันติวิธี นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยา หน่วยสอบสวน หน่วยรับแจ้งเรื่องที่เป็นระบบ
ความหวังใหญ่ที่สุดคือการเห็นตัวกฎหมายที่ออกมาชัดเจนมากกว่าตามดุลยพินิจ คำว่าดุลยพินิจตามหลังทำให้เป็นช่องโหว่ทางกฎหมายและไม่สามารถเอาผิดได้ หวังว่าปัจเจกบุคคล องค์กรของโรงเรียน และองค์กรของรัฐจะมีส่วนร่วมในการจัดการเรื่องนี้
และหวังว่าจะมีหลักสูตรสิทธิเสรีภาพในตัวบุคคลออกมาให้น้องๆ มีโอกาสได้เรียน เพราะต่อให้มีหน่วยงานดีขนาดไหน จัดตั้งระบบได้สมบูรณ์แบบขนาดไหน แต่ถ้าเด็กไม่มีความรู้ ไม่รู้ว่าถูกละเมิดสิทธิ สุดท้ายเสียงของเด็กที่โดนกระทำก็จะไปไม่ถึงหน่วยงานนั้นๆ และก็จะไม่ได้รับการเยียวยา
อันนี้ไม่ใช่ในแง่ของการเอาผิดแต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ในตัวเด็ก เช่น อย่างเราได้รับการรักษาช้าก็ต้องป่วย ป่วยจาก PTSD (โรคทางจิตจากเหตุรุนแรง) พัฒนาไปเป็น Panic Disorder Cyclothymic มันคือการสูญเสียในการใช้ชีวิตทั้งชีวิต ถ้าจะถามว่าเราจะหายเมื่อไหร่ อีก 20 ปีจะหายหรือเปล่าก็ยังไม่รู้
สูญเสียอะไรบ้าง
การป่วยเป็นโรคจิตเวช เราต้องยอมรับว่าสูญเสียความสัมพันธ์ เพราะการผูกมิตรภาพกับบุคคลที่มีสภาวะทางจิต ผิดปกติทางอารมณ์ไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่กว่าจะผ่านอะไรมา เราใช้ช่วงเวลาเกือบ 2 ปี กว่าที่จะมีโอกาสได้เจอเพื่อน กว่าที่จะยอมรับในกันและกัน กว่าที่จะเรียนรู้ด้วยกันได้
แม้กระทั่งการทำร้ายตัวเอง อารมณ์ของเราขึ้นลง ก็จะมีการเอามีดกรีด (โชว์รอยกรีดบนข้อมือให้ดู) การพยายามฆ่าตัวตาย และสูญเสียการทำงานในอนาคต เช่น ภาพที่มีการออกสื่อที่เห็นเราร้องไห้กลับมา นั่นเพราะเรากลัวเสียงดังมากและกลัวคนเยอะ เราหายใจไม่ออกเหมือนจะขาดใจตายตลอดเวลา
แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ เธอจะไม่มีวันตายจริงจากการที่เธอมานั่งอยู่ตรงนี้
การเริ่มต้นสร้างสัมพันธ์กับใครสักคนยากกว่าปกติไหม
ยากนะ เพราะเขาอาจจะเกิดภาพ stereotype (เหมารวม) ว่าคนบุคลิกภาพแบบนี้ ต้องมีอะไรแตกต่างจากคนอื่น เขา (เพื่อน) ก็จะเริ่มไม่สบายใจเป็นเรื่องปกติ แล้วเซ็ตข้อมูลที่เขาทราบไม่มากพอ ทำให้เปิดใจยากขึ้น หรือแม้กระทั่งตัวเราเองนี่แหละที่มีความสามารถในการปรับตัวต่ำก็จะยิ่งสร้างความลำบากในการสร้างความสัมพันธ์
ถ้าจะมีความรัก ยากไหม
เรามองว่ามันก็ไม่ต่างอะไรกับเพื่อนนะ ต้องอาศัยคนที่เปิดใจกันทั้งสองคนมาคุยกัน โอเครับได้ก็เดินต่อ โอเครับไม่ไหวก็แยกย้าย ย้ายความสัมพันธ์จากคนที่ดูใจกันมาเป็นคนรู้จักกัน
โลกที่ปลอดภัยของเราคืออะไร
โลกที่เหยื่อไม่ต้องมานั่งกังวลว่าฉันทำอะไรผิด ตอนนี้เรากำลังอยู่ในโลกที่กังวลว่าฉันแต่งตัวไม่เรียบร้อยหรือเปล่า ฉันถึงโดนแบบนี้ หรือฉันโพสต์รูปแบบนี้เหรอ ฉันถึงถูก sexual harassment เพราะฉันว่าเป็นคนนั้นเหรอ ฉันจึงถูกทำแบบนี้ หรือเพราะว่าฉันไม่เห็นด้วยที่คุณครูมาตีฉันเลยถูกทำทัณฑ์บน
โลกที่ปลอดภัยไม่ใช่โลกที่ปราศจากอันตรายแต่เป็นโลกที่กฎหมายสามารถใช้ได้จริงและควบคุมได้
เราไม่ได้ utopia ว่าโลกใบนี้ต้องสวยงามเหมือนทุ่งลาเวนเดอร์ หรือไม่มีทุกข์ภัยอันตรายอะไรเลย เรา concern ที่ว่ากฎหมายนั้นถูกบังคับใช้และสามารถนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างเป็นธรรมไหม เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมยังไม่พอ ต้องเป็นธรรมหรือเปล่าและเอาผิดได้จริงหรือเปล่า
สังคมที่ไม่กล้าพูดเกิดจากอะไร
เรายังให้เครดิตกับน้ำหนักทั้งสามสิ่งนี้ คือ วัฒนธรรมการข่มขืน (rape culture) ปิตาธิปไตย และอำนาจนิยม เป็นสิ่งที่มีอำนาจมากที่สุด โดยเฉพาะอำนาจนิยมที่ถูกมอบให้กับผู้ใหญ่ ปิตาธิปไตยที่ถูกมอบให้กับผู้ชาย จนกระทั่งถูกส่งผลมาที่วัฒนธรรมการข่มขืนที่นำไปสู่การโทษเหยื่อ และก็ไม่พยายามหาเหตุผลที่ฟังได้ให้กับผู้กระทำผิด
ถ้าการเมืองดี เรื่องนี้จะดีขึ้นได้อย่างไร
การเชื่อมโยงของการเลือกตั้งกับเรื่องนี้ไม่มีความเกี่ยวพันกันมากนัก ต่อให้เป็นคนที่เราเลือกมาแล้วแต่เขาไม่ดำเนินการเรื่องนี้ เรื่องนี้ก็อาจจะไปต่อไม่ได้ ถึงแม้ว่าเขาจะได้รับการเลือกจากประชาชนก็ตาม
แล้วมันควรจะแก้ตรงไหน
ถ้าการเมืองดี และเรามี สส. ที่มีคุณภาพพร้อมที่จะรับฟังปัญหาจริงๆ ซึ่งเรารู้สึกว่าทุกวันนี้ก็มี สส. ที่มีคุณภาพอยู่ เพราะว่ามีคนสนใจเรื่องนี้และพูดถึงอยู่เนืองๆ ความจริงเรื่องของเราก็เริ่มถูกส่งไปในสภาแล้ว และเมื่อเริ่มถกในสภา ก็น่าจะเริ่มมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรากฎหมายในการคุ้มครองเด็ก สตรี เยาวชนต่างๆ และมีการปรับเปลี่ยนปรับปรุงให้ดีขึ้น
ถ้าการเมืองดี มันจะมีการทำให้กฎหมายถูกพัฒนาให้ทันกับสังคม สอดคล้องกับความต้องการและปัญหาของประเทศมากขึ้น เรามองว่าการเมืองในตอนนี้อาจจะไม่ได้เลวร้ายมาก เนื่องจากยังมี สส. ที่ให้ความสนใจเรื่องของเรา อยากตรวจสอบข้อเท็จจริง และเตรียมฟ้องเราอยู่ (ยิ้ม) ก็ถือว่าทำหน้าที่ สส. ได้อย่างมีคุณภาพและเต็มศักยภาพตามที่ได้รับเลือกมา (ยิ้ม)
เข้าไปมีบทบาทร่วมกับกลุ่มนักเรียนเลวมากน้อยแค่ไหน
ก็เป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่เจอปัญหาในประเทศนี้เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ที่เจอและออกมาเรียกร้อง ไม่ได้มีคอนเน็คชั่นส่วนตัว
การไปวันนั้นมีการคุยก่อนไหม
ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า เจตนาแรกตั้งใจไปร้องเพลงหาเงินบริจาคเลี้ยงหมา บริเวณใต้บีทีเอสสยามฯ ก็คิดไว้ว่าถ้าไปทันก็อาจจะไปร่วมม็อบต่อ แต่พอดีโชคอำนวย เขาย้ายจากราชประสงค์มาที่สยามฯ ก็เลยตั้งโต๊ะนั่ง เรามีป้ายและเทปที่เตรียมมาเผื่อว่ามีโอกาสได้ใช้ในการพูดปัญหา ถือเป็นแผนปุบปับ (ยิ้ม)
อย่างนั้นภาพที่เราร้องไห้เกิดจากอะไร
คนเยอะและเสียงดัง การที่เรามานั่งชูป้ายเราก็ยังมีความรู้สึกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นักจิตวิทยาและนักสังคมฯ เรามีพร้อม ตัวเราก็พร้อมจึงออกไป แต่ก็มีการปรึกษากับคุณหมออยู่เป็นระยะ
การออกมาแสดงตัวมีส่วนในการบำบัดหรือช่วยรักษาเราไหม
คุณหมอไม่ได้มองในประเด็นนี้ แต่มองว่าการที่ออกมา เรามีความพร้อมในการรับมือกับมันไหม รู้ไหมว่าเรากำลังเจอกับอะไร แล้วเราก็รู้ว่าเรากำลังเจอกับเบ้าหลอมทางความคิดของคนยุคหนึ่งที่ถูกปลูกฝังมามากกว่าอายุเรา และคนที่อยู่ในสภาก็ถูกปลูกฝังจากเซ็ตความคิดเหล่านั้นเช่นเดียวกัน และเขาก็เป็นคนที่มีอำนาจทางสังคม
พ่อแม่ควรจะทำอย่างไรดีถ้าลูกๆ เผชิญเหตุการณ์แบบเดียวกับเรา
อยากให้พ่อแม่รู้เสมอว่าคุณเป็นโลกทั้งใบของเขา โอบกอดเขาไว้ คุณอาจจะไม่ต้องเข้าใจในสิ่งที่เขากำลังทำหรือสิ่งที่เขากำลังเจอ หรืออาจจะไม่เข้าใจภาวะที่เขารู้สึกเสียใจผิดหวัง หรือการสูญสิ้นความเป็นตัวตน แต่แค่โลกทั้งใบยังอยู่กับเขาและไม่แตกสลายไปตรงหน้าเขา แค่นี้พอแล้ว
มีงานหรืออาชีพที่อยากทำไหม
ไม่มีความใฝ่ฝันด้านอาชีพเป็นพิเศษ เพราะว่าวันหนึ่งเราก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ชีวิตคือการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แค่คิดว่าตอนนี้กำลังชอบอะไรและอยากทำอะไร
ตอนนี้ไม่มีเรื่องที่ชอบแต่อยากให้สังคมตื่นรู้กับสิ่งที่เราพูดออกไป เรื่องของวัฒนธรรมการข่มขืน สังคมปิตาธิปไตย อำนาจนิยมที่มันส่งผลต่อประเทศเรา ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของนักเรียนและความไม่ปลอดภัยในเด็ก
รู้สึกอย่างไรที่เรากลายเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้คนอื่นๆ กล้าที่จะออกมาเปิดเผยบ้าง
เราอาจจะเป็นแรงกระตุ้นหนึ่งในล้านของเขาเลยก็ได้ แต่คนที่ตัดสินใจจริงๆ คือตัวเขา ไม่ใช่เรา
อยากให้พูดแทนว่ามันยากแค่ไหนกว่าที่เราจะกล้าพูดเรื่องนี้ออกมา
เด็กที่เจอเรื่องอย่างนี้ เรายังยืนยันคำเดิมว่าคุณเป็นคนที่เก่งและกล้าหาญมากที่ยังอยู่ฟังเรื่องราวเหล่านี้ อยู่ฟังเรื่องราวของเราและเผชิญกับสิ่งที่คุณเจอจนถึงทุกวันนี้ และคุณไม่ได้เผชิญเรื่องนี้อยู่คนเดียว เราเข้าใจว่ามันหนักหนามาก ถ้าตอนนี้คุณไม่ไหวคุณร้องไห้ได้นะ การอ่อนแอไม่ใช่ความผิด คนเราไม่จำเป็นต้องเข้มแข็งทุกเวลา ถ้าพร้อมแล้วค่อยลุก ไม่ไหวก็แค่พัก ยังมีคนที่จะอยู่ข้างๆ คุณและเป็นกำลังใจให้คุณอีกมาก