เศรษฐสงคราม: โดมิโน่จากสนามรบรัสเซีย-ยูเครน ถึงปากท้องของพลเมืองโลก

นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศผ่านทางโทรทัศน์ถึงการเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ด้วยเหตุผลเพื่อปกป้องและรับมือกับภัยคุกคามจากยูเครน จากนั้นมาศึกระหว่างสองประเทศก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงในเร็ววัน

เป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้วที่ภาพความโหดร้ายของสงครามถูกฉายผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ทำให้คนทั้งโลกคอยเฝ้าจับตามองว่าศึกครั้งนี้จะเป็นชนวนไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่ รวมถึงผลพวงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อจากนั้นอีกมาก โดยเฉพาะกับเศรษฐกิจโลก

เมื่อการรบกันครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้สร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ศึกรัสเซีย-ยูเครนจึงไม่ต่างจากสำนวน ‘ผีซ้ำด้ำพลอย’ เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างเป็นเจ้าแห่งการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของผู้คน เมื่อกระบวนการส่งสินค้าต้องผจญอุปสรรค จึงสร้างผลกระทบให้แก่ชาวโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจอาจเจอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นและต้องเริ่มใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังกระเป๋าสตางค์มากกว่าเดิม แต่กับประเทศกำลังพัฒนาที่ระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องพึ่งพาประเทศอื่น อาจต้องเผชิญกับสภาวะที่ยากลำบากยิ่งกว่า เนื่องจากเงินเฟ้อ เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารและพลังงาน ดังเช่นที่กำลังเกิดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว หรือศรีลังกา

ด้วยความน่ากลัวของผลกระทบทางเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องจากความขัดแย้งที่ยังไม่มีท่าทีจะสิ้นสุด WAY จึงพาทุกท่านมาร่วมพูดคุยกับ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อวิเคราะห์ถึงผลพวงของสงครามและแนวโน้มความเป็นไปในประเทศกำลังพัฒนาท่ามกลางศึกของมหาอำนาจในครั้งนี้

อยากให้อาจารย์ช่วยขยายความในสิ่งเคยอธิบายไว้ว่า สงครามครั้งนี้คือสงครามระหว่างรัสเซียกับนาโต (NATO)

มันคือความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับนาโต แต่ ณ ปัจจุบันยังจำกัดเขตอยู่ในยูเครน เราต้องเข้าใจความต่างระหว่างคำว่า ‘ศึก’ กับ ‘สงคราม’ ก่อน การจะเกิดสงครามมักจะประกอบไปด้วยศึกหลายศึก ยูเครน รัสเซีย นาโตในครั้งนี้จึงเป็นเพียงศึกเดียวในสงครามที่ใหญ่กว่านั้นคือ สงครามที่จะเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก ณ ปัจจุบันนี้ เหตุเพราะมีมหาอำนาจใหม่ขึ้นมาท้าทายมหาอำนาจเดิม และมหาอำนาจเดิมที่อยู่ในสภาวะถดถอยแล้ว แต่กลับไม่ยอมลง เมื่อประเทศมหาอำนาจเดิมกลัวการขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่ จึงหลีกเลี่ยงการปะทะไม่ได้ สภาวะแบบนี้เรียกว่า ‘กับดักธูสิดีดิส’ (Thucydides’s Trap)

ในรอบ 500 ปีที่ผ่านมา เคยเกิดสภาวะกับดักธูสิดีดิส 16 ครั้ง ซึ่ง 12 จาก 16 ครั้งนั้นกลายเป็นสงคราม ส่วนอีก 4 ครั้งเป็นสงครามการค้า อย่างก่อนหน้านี้ในช่วงทศวรรษ 1970 เราจะเห็นอเมริกากับพรรคพวกคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ร่วมกันทุบญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นกำลังจะแซงมหาอำนาจอย่างอเมริกา ตั้งแต่นั้นมาญี่ปุ่นก็ดำดิ่งจากการแพ้สงคราม

แล้วทำไมจึงเป็นยูเครน

พื้นที่ที่จะเกิดเป็นชนวนสงครามเหมือนอย่างกรณีของยูเครนได้ มักจะมีลักษณะร่วมอยู่ 3 อย่าง อย่างแรกคือ มีปมความขัดแย้งในพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของอารยธรรม ศาสนา วัฒนธรรม สองคือตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ ทั้งในมิติภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ และประเด็นที่สามคือ มหาอำนาจพร้อมที่จะเข้าแทรกแซง คนในพื้นที่เองก็พร้อมที่จะเลือกข้างเข้าห้ำหั่นกัน

กรณีของยูเครนมีครบทั้ง 3 ข้อ คือ สภาพสังคม วัฒนธรรม ที่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มทางด้านตะวันออกของประเทศ ซึ่งมีรากทางสังคม วัฒนธรรม และศาสนาไปในทิศทางเดียวกับอดีตสหภาพโซเวียตหรือรัสเซียมากกว่า ขณะเดียวกันระยะหลังก็มีความพยายามจะเป็นพันธมิตรกับสหภาพยุโรปในทางเศรษฐกิจและความมั่นคงด้วย

ยูเครนเป็นแผ่นดินขนาดใหญ่ อุดมสมบูรณ์ และอยู่ใกล้มอสโกมาก ขณะเดียวกันก็เป็นเส้นทางลำเลียงที่สำคัญของการค้าทางทะเล จากทะเลอาซอฟ สู่ทะเลดำ ไปยังเมดิเตอร์เรเนียน เพราะฉะนั้นหากมอสโกที่เป็นพื้นที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (landlocked area) อยากจะออกสู่เมืองท่า ถึงแม้ว่าจะผ่านทางฟินแลนด์ สวีเดน ที่เมื่อก่อนวางตัวเป็นกลางได้ แต่ผ่านทางยูเครนจะสะดวกกว่า เพราะลงเมดิเตอร์เรเนียนได้เลย ฉะนั้นตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต ป้อมปราการที่รัสเซียมองว่าสำคัญที่สุดจะประกอบไปด้วย 3 ส่วน ส่วนแรกคือ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย บอลติก ต่อมาคือ เบลารุส และสุดท้ายคือ ยูเครน 

หลังโซเวียตล่มสลาย รัสเซียก็คิดว่า 3 พื้นที่นี้คือทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ซึ่งห้ามให้เลือกข้างเด็ดขาด ถ้าจะเลือกข้างก็ต้องเลือกข้างรัสเซีย ในขณะเดียวกันฝ่ายนาโตที่ไม่เคยไว้ใจรัสเซียอยู่แล้วก็พยายามดึงกลุ่มเหล่านี้มาเป็นพวก จึงกลายเป็นเวทีปะทะกัน

ความพยายามในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป จะส่งผลต่ออนาคตของยูเครนอย่างไร

จริงๆ แล้วเป็นความพยายามโดยวางหลักอยู่บนกลุ่มการเมืองแต่ละกลุ่มที่ขึ้นมามีอำนาจเท่านั้น ซึ่งการเมืองของแต่ละกลุ่มต่างก็ถูกสนับสนุนโดยมหาอำนาจภายนอกทั้งสิ้น ฉะนั้น ในบางช่วงเวลาพวกเขาก็พร้อมจะเดินเกมตามที่รัสเซียต้องการ ในขณะที่บางช่วงพวกเขาก็จะเดินเกมตามแบบที่สหภาพยุโรปต้องการ ขึ้นอยู่กับว่าใครที่ขึ้นสู่อำนาจแล้วทำหน้าที่เป็นแกนนำตรงนั้น

อาจารย์เคยจินตนาการไหมว่า จากชนวนสงคราม จนถึงวันแรกที่มีการประกาศศึก จะนำมาสู่การต่อสู้ยืดเยื้อมานานถึงวันนี้

วันแรกผมไม่ได้คิดว่ามันจะยืดเยื้อ ผมคิดว่ามันน่าจะคล้ายๆ กับกรณีของไครเมียที่เกิดเร็วจบสั้น เนื่องจากเราเห็นปฏิบัติการที่เรียกว่า ‘สงครามผสมผสาน’ (Hybrid Warfare) มานาน ถ้ารัสเซียไม่แน่ใจ เขาคงไม่เริ่มปฏิบัติการทางการทหาร แสดงว่าเขาต้องเริ่มแน่ใจในระดับหนึ่งว่า Hybrid Warfare ของเขามันได้ผลแล้ว มีประสิทธิภาพแน่ เขาจึงทำ

แต่ผมคิดว่ารัสเซียเองก็คงคาดการณ์ผิดเช่นเดียวกัน จากการที่ฝ่ายนาโตยังยืนยันจุดเดิมที่จะไม่เข้าไปแทรกแซงยูเครน แต่ไปๆ มาๆ นาโตก็ทำในสิ่งที่เรียกว่า ‘สงครามนอกระบบ’ (Unconventional Warfare) คือให้ความช่วยเหลือในทางลับ ไม่ว่าจะส่งทหาร ส่งอาวุธ ส่งเงินทุนสนับสนุน มันเลยทำให้สงครามยืดเยื้อ

หลายประเทศในสหภาพยุโรปใช้วิธีลดการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อกดดันรัสเซีย ซึ่งแลกมาด้วยราคาพลังงานที่สูงขึ้น เป็นเหตุให้ค่าครองชีพเริ่มไม่สมดุลกับรายได้ หากสงครามยังยืดเยื้อเช่นนี้ต่อไป ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร

ห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) ยังทำงานของมันตามปกติ การทำงานของมันจะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน และลดความยากจน เพราะฉะนั้นพอมีอะไรมาขัดขวาง สามอย่างนี้ไม่เกิด มันก็จะกลายเป็นวิกฤต

อะไรก็ตามที่ไปขวางเรื่องพวกนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นระเบิดย้อนกลับ (backfire) มาที่ยุโรปทั้งสิ้น คุณลองนึกภาพประเทศที่ผลิตอาหาร พลังงานได้ ไม่มีประเทศไหนผลิตน้อยลง แต่เรากลับเจอวิกฤต เพราะถึงแม้อุปทาน (supply) ยังมีเท่าเดิม แต่ระบบการจัดสรรและการกระจายมันโดนขัดขวาง

ทีนี้พอปัญหามันเริ่มต้นจากการที่คนต้องกินของแพง ใช้ของแพง คนก็จะเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมฉันจะต้องใช้ของแพงอย่างนี้ ทำไมฉันถึงจะต้องเอาภาษีของฉันไปอุ้มเรื่องพวกนี้ด้วย เพราะมันไม่ได้พูดถึงแค่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่กำลังพูดถึงการรับผู้อพยพด้วย เรื่องพวกนี้ล้วนแต่เคยเป็นเรื่องเปราะบางในอดีตของยุโรป ในอดีตคนที่อพยพเข้าไปมักจะเป็นคนละเผ่าพันธุ์ ส่วนใหญ่จะเป็นคนตะวันออกกลาง อาหรับ มุสลิม วิธีการคิดไม่มากก็น้อยของยุโรปที่มีแกนกลางแบบคาทอลิกจึงขัดแย้งกันอยู่ในที เป็นการแบ่งแยกด้วยอุดมการณ์ทางวัฒนธรรม (The Clash Of Civilizations) อย่างหนึ่ง จนเกิดกระแสความคิดว่า คนพวกนี้จะเข้ามาแย่งการทำมาหากินนะ เข้ามาแย่งสวัสดิการสังคมของเรานะ 

กรณียูเครน ยุโรปมองแล้วว่ามีความใกล้ชิดกันทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งพอจะเปิดรับผู้อพยพได้ ประชาชนก็จะมุ่งความกดดันไปที่เรื่องเศรษฐกิจ สวัสดิการต่างๆ พอถึงเวลาเริ่มวางบิล ก็เริ่มเปิดรับไม่ค่อยได้แล้ว เพราะฉะนั้นความกดดันทางเศรษฐกิจในที่สุดก็จะแปรเปลี่ยนเป็นแรงกดดันทางการเมือง เราจึงเห็นการเมืองที่เปลี่ยนขั้วของนาโตค่อนข้างมากในตอนนี้

เราจะเห็นการเมืองย้ายขั้วในฝรั่งเศส หรือคะแนนเสียงที่ตกต่ำถึงขีดสุดของ โจ ไบเดน หรืออย่างเยอรมนีที่ผลิตสินค้าได้ด้วยตัวเองจึงได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อไม่มาก แต่คนเยอรมันก็เริ่มตั้งคำถามแล้วว่า อยู่ดีๆ ทำไมค่าครองชีพสูงขึ้น ทำไมต้องเอาภาษีของคนเยอรมันไปให้ยูเครนทำสงคราม เพราะฉะนั้นเงินก้อนล่าสุดที่ยุโรปจะส่งให้ยูเครน เยอรมนีจึงขอระงับก่อน ระงับแบบไม่มีกำหนดด้วย สิ่งนี้แปลเป็นภาษาสุภาพได้ว่า “เราไม่ให้คุณ” ดังนั้น จากวิกฤตเศรษฐกิจก็จะลุกลามกลายเป็นเรื่องของการเมืองในท้ายที่สุด

ทางฝั่งรัสเซียปรับตัวต่อการถูกคว่ำบาตรโดยหลายประเทศอย่างไร

รัสเซียรู้ตัวเองว่าเขาไม่อาจเลี่ยงการถูกคว่ำบาตรได้ ผมคิดว่าเขารู้ตั้งแต่ช่วงไครเมียแล้วว่าถ้าใช้นโยบายแบบนี้จะถูกคว่ำบาตร ไม่สามารถพึ่ง Global Value Chain ได้ เพราะฉะนั้นเขาเองก็เริ่มต้นอย่างแรกสุดคือเก็บเงิน ระยะหลังเราจะเริ่มเห็นว่าทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียเพิ่มขึ้นมาก จนกลายเป็นประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศติด Top Ten และพยายามกระจายความเสี่ยงด้วย คือไม่เก็บทุนสำรองประเทศเป็นดอลลาร์เพียงอย่างเดียว แต่กระจายไปเป็นยูโร กระจายไปเป็นหยวน กระจายไปเป็นสินทรัพย์อย่างอื่น

อีกเรื่องหนึ่งคือ สินค้าของรัสเซียส่วนใหญ่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก ยูเรเนียม สมมตินะ ลองนึกภาพพื้นที่ของไซบีเรียซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวชนิดต่างๆ ขนาดพื้นที่ใหญ่เท่ากับพื้นที่ประเทศไทยคูณไปอีก 19 เท่า ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของโลกรวมอยู่ที่นี่ ถ้าคุณไม่ซื้อจากเขา คุณจะกินอะไร เพราะฉะนั้นเขารู้ว่าเขามีอำนาจต่อรอง

สงครามมีต้นทุนสูงมาก เพราะฉะนั้นถ้าจะทำเขาต้องมั่นใจระดับหนึ่งแล้วว่าคุ้ม ทำแล้วตัวเองอยู่รอดได้ ไม่ใช่ทำแล้วระบบของตัวเองพังทลายไปหมด รัสเซียเขาคงคิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว

ประเทศกำลังพัฒนาที่มีปัญหาปากท้องอยู่ก่อนหน้าแล้ว อีกทั้งยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานและพืชผลทางการเกษตร จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

ดูจากตัวอย่างที่ใกล้ที่สุดอย่างเช่น สปป.ลาว ซึ่งมีลักษณะพิเศษเยอะมาก ประชากร 7 ล้านคน เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าแพง เศรษฐกิจระบบเล็ก ต้องพึ่งพิงประเทศเศรษฐกิจใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม ไทย 

ช่วงเวลาที่ผ่านมานโยบายการเงินและการคลังก็ทำได้ไม่เต็มที่มากนัก เพราะมีภาวะที่คนในประเทศไม่อยากใช้สกุลเงินของตัวเองและไปถือครองเงินตราสกุลอื่น หรือเรียกว่า ‘Dollarization’ ช่วงเวลาที่ผ่านมาถ้าคุณไปลาว คุณจะเจอป้ายบิลบอร์ดใหญ่มากว่า ‘อยู่ลาวใช้เงินกีบ’ เราไม่มีทางเจอป้ายอย่างนี้ในญี่ปุ่น ไม่มีทางเจอป้ายแบบนี้ในไทย เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าอยู่ไทยก็ต้องใช้เงินบาท ญี่ปุ่นก็ต้องใช้เงินเยน แต่คนในประเทศลาวส่วนใหญ่เขาไม่ได้คิดอย่างนั้น ปริมาณเงินที่อยู่ในระบบและการทำกิจกรรมในระบบมันไม่ได้สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจจริงๆ นโยบายการคลังจึงมีปัญหา

เมื่อเกิดวิกฤตเช่นนี้ พอทั้งโลกทุกอย่างแพงหมด ประเทศเล็กที่มีการพึ่งพาสูงก็ย่ำแย่ ตัวอย่างเช่นราคาน้ำมัน ช่วงก่อนหน้านี้เราเจอเบนซินลิตรละ 45 บาท ลาวก็ต้องราคา 45 บาทขึ้นไป เพราะเขาไม่มีโรงกลั่นและไม่มีท่าเรือ เขาต้องซื้อน้ำมันจากเรา คุณลองนึกภาพราคาน้ำมันในกรุงเทพฯ 45 บาท ไปถึงหนองคายก็แพงกว่า 45 บาทแล้ว พอไปถึงฝั่งลาวต้องไปเจอค่าเงินแลกเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไรอีก มันก็ยิ่งแพงกว่านั้นอีก คนจึงเดือดร้อนมากเป็นพิเศษ

ในขณะเดียวกันที่ศรีลังกา ประเทศนี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้ภาคเศรษฐกิจทะเลาะกันเยอะภายในมุ้งใหญ่ เพราะฉะนั้นช่วงเวลาตั้งแต่ยุค 2000 เป็นต้นมา โครงสร้างพื้นฐานในประเทศจึงไม่เคยสร้างเสร็จเลย เช่น ท่าเรือฮัมบันโตตา สนามบินราชปักษะ พอเปลี่ยนมุ้งการเมืองก็ไปรื้อโครงการเก่า โครงสร้างพื้นฐานมันจึงไม่เสร็จและใช้งานไม่ได้ 

ยังมีจุดเลวร้ายอีกอย่างหนึ่งของศรีลังกาคือ การบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาล เพราะเป็นรัฐบาลแบบครอบครัว เขาก็ตั้งพี่ตั้งน้อง นโยบายประชานิยมเละเทะกันไปหมด ผมไม่ค่อยแน่ใจนะว่าเขานึกถึงอะไรมากกว่ากันระหว่างผลประโยชน์ของราชปักษะกับผลประโยชน์ของศรีลังกา เพราะถ้าเขานึกถึงผลประโยชน์ของประเทศมากกว่า มันต้องไม่เป็นแบบนี้

สองประเทศนี้ได้รับผลกระทบจากศึก แต่ขณะเดียวกันก็เกิดจากการบริหารภายในของตนเองด้วย ดังนั้น หากจะต้องวิเคราะห์ถึงเรื่องการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กับผลกระทบจากศึกรัสเซีย-ยูเครน ด้วยแว่นเศรษฐกิจ มันจึงยากที่จะบอกได้ว่าเป็นอย่างไร เพราะแต่ละประเทศมีเงื่อนไขบริบทภายในที่แตกต่างกัน แต่ทุกที่ล้วนได้รับผลกระทบหมด

แล้วประเทศในทวีปแอฟริกาได้รับผลกระทบหรือไม่ อย่างไร

แอฟริกาคือโลกที่ตะวันตกไม่เคยสนใจมาตลอดในประวัติศาสตร์ ในเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ (International Politics) การที่ประเทศหนึ่งจะดีด้วยกับประเทศหนึ่งมันไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนดี แต่เพราะประเทศนั้นมีผลประโยชน์ให้กับเขา ยุโรปที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมของแอฟริกา เรียกได้ว่ารู้ไส้รู้พุงหมดแล้ว ตลอดการเป็นเจ้าอาณานิคมก็สูบทรัพยากรไปเลี้ยงคนในยุโรปอย่างเดียว เพราะฉะนั้นยุโรปไม่เคยเห็นแอฟริกาอยู่ในสายตามาตั้งนานแล้ว

ในขณะที่อเมริกา คุณจะนึกภาพไม่ออกเลยว่าอเมริกาเห็นแอฟริกาอยู่ในสายตาอย่างไร คุณอาจจะเคยเห็นนักร้องแอฟริกัน-อเมริกันร้องเพลง We Are The World (1985) แล้วก็เรี่ยไรเงินบริจาคส่งให้แอฟริกา อาจจะเคยเห็นโครงการ U.S.A. For Africa แต่คุณจะไม่เคยเห็นรัฐบาลอเมริกาพูดอะไรถึงแอฟริกา ไม่เคยเห็นกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกามีนโยบายถึงแอฟริกา เพราะเขาไม่ได้ผลประโยชน์อะไรจากตรงนั้น แอฟริกาอยู่นอก Global Value Chain อย่างที่บอกไปก่อนหน้าว่าห่วงโซ่มูลค่าจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต อัตราว่างงานต่ำ แอฟริกาซึ่งอยู่นอกวง เศรษฐกิจจึงไม่โต การจ้างงานก็ไม่ดี คนก็ยากจน

จนกระทั่งจีนเปลี่ยนนโยบาย จีนต้องการเป็นประเทศพัฒนาที่มีโอกาสในตลาดโลก ถ้าตลาดอื่นๆ มีเจ้าตลาดอยู่แล้ว จีนก็ต้องหาพื้นที่ใหม่ที่จะเข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงแรงงาน เข้าถึงตลาดได้ เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปี 2012 สีจิ้นผิงจึงมุ่งนโยบายไปที่แอฟริกา ต้องการที่จะเชื่อมแอฟริกา เอเชีย ยุโรป อเมริกาใต้ เข้าด้วยกัน มันจึงเป็นช่วงเวลาที่แอฟริกาได้ผงาดและเริ่มจะมีบทบาทอะไรในเวทีโลกบ้าง

จีนและแอฟริกาจะมีความสัมพันธ์ที่เรียกว่า Forum on China-Africa Cooperation (FOCAC) 53 ประเทศในแอฟริกาอยู่ในความสัมพันธ์กับจีน เวลามีประชุมใหญ่ในเวทีโลก อย่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) ไม่เคยมีครั้งไหนที่ผู้นำแอฟริกา 53 ประเทศไปพร้อมกันหมด แต่พอจีนเรียกประชุม​ FOCAC ผู้นำ 53 คนพร้อมจะคุยกับผู้นำจีน เพราะเวลาคุยกับจีนแล้วเขาได้ของ ได้ท่าเรือ ได้สนามบิน รถไฟ ถนน ได้นักลงทุนเข้ามา

เพราะฉะนั้นในเวทีโลกที่กำลังยุโรปทะเลาะกัน แอฟริกาก็หนุนวิธีคิดแบบทำการค้าขาย ยิ่งตอนนี้โลกต้องการทรัพยากร แอฟริกามีทองคำ มีน้ำมัน มีสินค้าเกษตรต่างๆ เหมือนรัสเซีย เขาก็พร้อมจะค้าขาย เพราะไม่เคยได้ทำในสิ่งนี้

เช่นนั้นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีน จะมีโอกาสเป็นตัวแปรที่มีผลต่อโฉมหน้าของศึกรัสเซีย-ยูเครนมากน้อยแค่ไหน

ผมคิดว่าจีนไม่ต้องการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในความขัดแย้งทางด้านความมั่นคง เพราะนี่คือความขัดแย้งที่จีนเองก็ไม่ได้เป็นคนก่อ ในขณะเดียวกันผลประโยชน์ของจีนและยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวของจีนต้องการเป็นใหญ่ในเรื่องการค้าขายทำกำไร เพราะฉะนั้นเราจะเห็นจุดยืนของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมาตั้งแต่ต้นว่า ถ้าคุณเป็นหนูแล้วเอากระพรวนไปผูกคอแมว ในกรณีนี้คือนาโต ตอนนี้แมวมันโกรธแล้ว อาจจะกลายเป็นเสือหรืออะไรก็แล้วแต่ คุณก็ต้องแก้เอง จีนพูดแบบนี้มาตลอด

ถ้าอะไรก็ตามมาขวางทางการค้าการลงทุนของโลก จีนจะต่อต้านเสมอ เพราะฉะนั้นจีนก็จะต่อต้านมาตั้งแต่สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยีที่อเมริกาเริ่ม มาจนถึงกรณีของการคว่ำบาตรอิหร่าน เกาหลีเหนือ เมียนมา รวมถึงการคว่ำบาตรรัสเซียที่กำลังเกิดขึ้น เพราะจีนไม่รู้สึกว่ามันเป็นผลดีกับใคร บางประเทศที่ถูกกดดันถึงขีดสุด มันก็พร้อมที่จะระเบิด ถ้าคุณคิดแบบพ่อค้า คุณไม่มีทางต้อนใครให้จนตรอกได้หรอก เพราะหมาจนตรอกมันโหด ซึ่งจีนไม่ต้องการเห็นเรื่องพวกนี้

แนวโน้มเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหารของภูมิภาคเอเชียจะเป็นอย่างไร

ข้อดีของเราคือ ภูมิภาคเอเชียอยู่ในสถานะที่มีทุกอย่างครบในตัวเอง เรามีทรัพยากรธรรมชาติ มีแรงงานตั้งแต่แรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labour) ไปจนถึงแรงงานทักษะสูง (Highly Skilled Labour) ในอาเซียนเองเมื่อรวมกันแล้วก็มี GDP ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก เราสามารถเลี้ยงตัวเองได้ อีกทั้งเรามีความมั่นคงในเรื่องของทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์คือ มหาสมุทรอินเดีย ในทางการค้าเราคุมเส้นทางการค้าหลักของโลก จากมหาสมุทรอินเดียไปมหาสมุทรแปซิฟิก อาเซียนมีทำเลศักยภาพสูง มันจึงยังพอไปได้อยู่

ประเทศกำลังพัฒนาควรปรับตัวอย่างไรในระยะยาว

ขอมุ่งไปที่ประเทศไทยเป็นหลักก่อนคือ เราต้องสร้างความแข็งแกร่งทั้งภายนอกและภายใน ในขณะที่ระเบียบโลกกำลังจะเปลี่ยน ถ้าปัจจัยภายในไม่แข็งพอก็จะเกิดปัญหา เพราะฉะนั้นการที่ปัจจัยภายในจะเข้มแข็งได้ต้อง ‘ปฏิรูป’

ปฏิรูปในที่นี้คือ เศรษฐกิจ กฎระเบียบ การเมือง จะทำอย่างไรให้สามารถมีระบบที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมภายนอกได้ ให้คนสามารถส่งเสียงแสดงความต้องการของตัวเองแล้วได้รับการตอบสนอง มีผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำและมีวิสัยทัศน์เพียงพอ ฟังดูอาจเป็นเรื่องยาก แต่จะทำอย่างไรนั้นก็คงต้องเก็บเอาไปคิดต่อ

ส่วนการปฏิบัติต่อภายนอกอย่างแรกสุดเลยคือ เราต้องมี ‘จุดยืน’ ที่ชัดเจน เราจะต้องไม่เลือกข้างในเวลาที่ใครบอกว่าจะทำการค้ากับเฉพาะประเทศที่เป็นเพื่อนเท่านั้น ข้างของเรามีข้างเดียวคือ ข้างผลประโยชน์ของประเทศ

นอกจากจุดยืน สิ่งต่อมาที่เราต้องมีคือ ‘หลังพิง’ เราต้องเคารพกฎกติกาของโลก เช่น การเคารพซึ่งกันและกัน (Mutual Respect) ซึ่งการเคารพนี้หมายรวมถึงการเคารพอำนาจอธิปไตย เคารพบูรณภาพแห่งดินแดน ไม่ไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่น อย่างเมียนมาไม่ว่าผู้นำจะเป็นมิน อ่อง หล่ายหรือออง ซาน ซู จี ให้ปล่อยไป จีนจะเป็นคอมมิวนิสต์ สีจิ้นผิงจะอยู่ต่อหรือเปล่า ก็เรื่องของจีน เช่นเดียวกัน ก็ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์ไบเดน ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์ปูติน เพราะมันเป็นเรื่องของประเทศเขา แต่ขณะเดียวกัน Mutual Respect ก็มีหลักการที่ใหญ่กว่าคือ มนุษยธรรม คนกำลังจะตายอยู่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศก็ต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ระเบียงมนุษยธรรม’ (Humanitarian Corridor) เอาอุปกรณ์การแพทย์ เอาวัคซีน เอาอะไรไปช่วยเหลือเขา ผ่านสภากาชาดของเขา เพราะถือว่าเป็นหน่วยงานที่เป็นกลาง โดยอาจจะไม่ต้องไปวิจารณ์ว่าผู้นำประเทศเขาเป็นอย่างไร

อีกอย่างคือ การหาผลประโยชน์ร่วม (Mutual Benefit) ถ้าทั่วโลกยอมรับหลักการแบบนี้เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ เราก็ต้องใช้หลักการนี้เป็นหลังพิง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเรา ถ้าผลประโยชน์ของเราสอดคล้องกับผลประโยชน์ของจีน และตรงกับหลัก Mutual Benefit เราก็พร้อมสนับสนุนจีน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนที่อเมริกาด่าเราไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นเรื่องที่เรามีผลประโยชน์ร่วมกับอเมริกา เราก็พร้อมจะสนับสนุนอเมริกาเต็มที่ โดยที่จีนก็ว่าเราไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้นเราต้องสร้าง Narrative นี้ให้คนไทยและคนทั้งโลกเข้าใจด้วยว่า เราอยู่ตรงนี้ 

อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังสำหรับ Mutual Benefit ด้วยว่า ถ้าได้ประโยชน์ร่วมกันแล้วความยุติธรรม (Fairness) อยู่ตรงไหน เพราะบางทีความยุติธรรมอาจจะไม่ 50-50 เสมอไป สมมติคุณไปกินข้าวกับเพื่อน คุณกินเยอะ เพื่อนคุณกินน้อย มันก็ไม่ใช่ครึ่งต่อครึ่งอยู่แล้ว ฉะนั้น Mutual Benefit จึงต้องมาพร้อมกับ ‘อำนาจต่อรอง’

อำนาจต่อรองจะมาจากการที่คุณสร้างพันธมิตรในเวที เช่น อาเซียน มาจากการสร้างพันธมิตรใหม่ เช่นเดียวกับอินเดียหรือเอเชียใต้เขาก็มาแนวนี้ คุณต้องเริ่มพูดคุยกับตะวันออกกลาง กับแอฟริกา เพื่อทำให้เราเป็น Middle Power แล้วเราจะมีอำนาจต่อรอง

สุดท้าย อาจารย์มองว่าศึกครั้งนี้มีแนวโน้มจะเป็นเช่นไรต่อไป และอะไรจะเป็นตัวแปรที่น่าจับตามอง

จะมีอยู่ 3 ฉากทัศน์ย่อย คือ จำกัดเขต รบกันไปอย่างนี้ในยูเครนเท่านั้น ซึ่งรัสเซียก็พร้อม เพราะเศรษฐกิจยังไปต่อได้ ของยังขายได้อยู่ นาโตก็รู้สึกว่าไม่เป็นไร ยังเสียแค่เงิน แต่อาจจะเสียมากจนนำพาไปสู่ความไม่พอใจของประชาชน ซึ่งฉากทัศน์นี้เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy – ประธานาธิบดียูเครน) คงไม่เอาด้วย

เพราะฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดฉากทัศน์ที่ 2 คือ ขยายไปเป็นยุโรปปะทะรัสเซีย แต่หากเกิดขึ้นจริงก็คงจะยืดเยื้อไม่เท่าฉากทัศน์แรก เพราะยุโรปจะไม่ได้เสียแค่เงินแล้ว แต่เสียเลือดเนื้อและชีวิตด้วย ซึ่งจะไปคล้ายคลึงกับที่อเมริกาเคยแพ้สงครามเวียดนาม หรือตอนที่อเมริกาแพ้อัฟกานิสถาน เนื่องจากพอเริ่มเสียเลือดเนื้อและชีวิต หลังบ้านจึงไม่เอาด้วย ตอนอเมริกาแพ้เวียดนาม ไม่ได้แพ้ที่ไซง่อน แต่แพ้ที่วอชิงตันดีซี เพราะคนออกมาเรียกร้อง ฉะนั้น ถ้าเป็นฉากทัศน์นี้ ยุโรปก็อาจจะคล้ายอเมริกา

ในขณะที่ฉากทัศน์แบบที่ 3 คือ ขยายวงมาที่เอเชีย ซึ่งเราคงไม่อยากให้มันมาสู่ตรงนี้แน่นอน เพราะมันจะแปรเปลี่ยนเป็นสงครามโลก เพราะจากปัจจัย 3 ข้อของการเป็นชนวนสงคราม เอเชียก็มีพื้นที่ขัดแย้งคือไต้หวัน ทะเลจีนใต้ คาบสมุทรเกาหลี เมียนมา แม่น้ำโขง พวกนี้อยู่ ฉะนั้น เศรษฐกิจและความมั่นคงจะเป็นอย่างไรต่อ เราต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตากับศึกครั้งนี้ เพราะถ้าศึกได้แปรเปลี่ยนเป็นสงครามโลกแล้ว แม้แต่การค้าขายก็คงจะไม่ได้ทำ

เจียระไน ซองทอง
นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ ผู้หลงใหลในของเก่า เมืองเก่า ภาษาจีน หนังสือ และหมูกระทะ รักการอ่านตั้งแต่เด็กจนมีความฝันว่าอยากเป็นนักเขียน แต่ชอบตอบครูแนะแนวว่าอยากเป็นหมอ

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ช่างภาพและวิดีโอที่เริ่มจากงานถ่าย food และ portrait ปัจจุบันรับงาน production ครอบคลุมหลาย segment ตั้งแต่ food, product, event, wedding, portrait, interview, travel โดยมีเป้าหมายหลักคือ personalize งานทุกชิ้นให้ได้ตรงตามความต้องการจากบรีฟของลูกค้า รับงานได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบทีมเพื่อให้ผลงานออกมาเหมาะสมกับ scale งานที่ต้องการมากที่สุด

FB : Truetone Photography
IG: truetone_photography

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า