การอ่านมีหลายโหมด เราอาจอ่านเพื่อค้นคว้าสิ่งที่สงสัย หวังค้นพบปัญญาจากเรื่องราวบางอย่าง อ่านไปพลางคิดไปพลาง ประสงค์ความหย่อนใจที่ตัวอักษรชักนำเราไป หรือบางทีเราก็อ่านอะไรก็ได้เพื่อฆ่าเวลาอันน่าหน่าย
หนังสือเองก็มีหลายหมวด นอกจากการแบ่งด้วยแนวเนื้อหา บางเล่มเน้นการอ่านจากหน้าแรกไปจนหน้าสุดท้าย บางเล่มเน้นการอ่านแค่บางส่วนจากสารบัญและดัชนีท้ายเล่มอันทรงประสิทธิภาพ และบางเล่มไม่เน้นอะไรเลย ถ้าลมพัดหน้าไหนเปิดขึ้นมา คุณก็อ่านหน้านั้นแหละ
หนังสือนี้อยู่ในหมวดหลัง
ผู้อ่านเองก็มีหลายประเภท บางคนอาจต่อต้านประโยคทำนองสอนสั่ง บางคนชอบอ่านอะไรสั้นๆ บางคนชอบอ่านอะไรยาวๆ บางคนอ่านเพราะ #แจบอมอ่าน (ว่าแต่ แจบอมนี่ใครอะ?) บางคนรู้สึกถูกชะตากับภาพประกอบที่แทบจะเป็นพระเอกของหนังสือเล่มนี้จนมองข้ามข้อความทั้งหลายในหนังสือเล่มนี้ไป
สารภาพว่าผมเองเป็นคนประเภทหลังสุด
ภาพประกอบฝีมือ โชซองมิน มีเสน่ห์มาก ทั้งลายเส้นลื่นไหลสบายๆ แต่ก็ช่างแม่นยำ ไม่แปลกเลยที่ประวัตินักวาดท้ายเล่มจะบอกว่าเขาเป็นนักวาดภาพประกอบรุ่นเก๋าที่ทำงานอาชีพนี้มากว่า 12 ปี ฝากผลงานในสื่อต่างๆ มากมาย (ไปส่องผลงานเขาได้ที่ graphite-lab.com)
การเคลื่อนไหว (ภาพของโชซองมินให้ความรู้สึกของการทำกิจกรรมบางอย่างอยู่เสมอ ดูมีชีวิต) และการทิ้งหน้ากระดาษบางส่วนให้ว่างไว้ คือข้อเด่นมากๆ ของงานภาพประกอบเล่มนี้
ส่วนวลีของ พักแช-กยู มันอาจจะเริ่มในสมุดบันทึกสักเล่มของเขา สั้นกระชับตามประสา copywriter (อาชีพของเขา) ที่น่าสนใจคือข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้คือตัวอักษรจากปี 2004 วลีเหล่านี้จำศีลสิบปี ก่อนจะฟื้นตื่นอีกครั้งในปี 2014 (เดาว่ามันคงถูกปรับ คัด บ้างแล้ว) โชซองมินวาดภาพประกอบจนครบ และพิมพ์ครั้งแรกในปี 2015
ทุกหน้าของหนังสือเล่มนี้ประหนึ่งสาธิตการทำงานเข้าคู่กันระหว่าง copywriter และ art director ในสายงานโฆษณา มันน่าสนใจเพราะทุกภาพไม่ใช่การวาดทื่อๆ ตรงๆ ตามคำที่เขียน และต่างหนุนเสริมกันและกันแบบ print ad ชั้นดี แต่ต่างจากโฆษณาตรงที่สินค้าที่ทั้งคู่ขายไม่ใช่กระเป๋า รถยนต์ น้ำหอม คอนโด ฯลฯ แต่คือไอเดีย
และต่างอีกตรงที่ว่า แม้เราจะ ‘ไม่ซื้อ’ ไอเดียนั้นๆ ก็ใช่ว่าภาพและคำเหล่านั้นจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง (ยุคนี้เราคงไม่ได้เชื่อทุกอย่างตามคำจากการอ่านใช่ไหม?)
ที่น่าสนุกยิ่งกว่า คือการลองสมมุติว่าตัวเองเป็นโชซองมิน เราจะตีความวลีเหล่านี้เป็นภาพอย่างไรได้บ้าง
ข้อความของพักแช-กยูนั้นมีทั้งการตั้งข้อสังเกตต่อชีวิต บทเรียนส่วนตัว ข้อเตือนใจในบางสถานการณ์ แน่นอนว่าสิ่งที่เขาเขียนห่างไกลจากการเป็นสัจจะนิรันดร์ อาจหลุดจากตรรกะในบางวลี กระทั่งว่านักใช้ชีวิตผู้แก่กล้าอาจกระตุกยิ้มเหยียดความพื้นๆ คลิเชๆ ในบางประโยค… แต่เชื่อไหมว่าทุกความรู้สึกนั้น ไม่ได้มาจากหนังสือเล่มนี้ แต่มาจากข้างในเราต่างหาก
ผมเขียนรีวิวสั้นๆ นี้ขณะกำลังโม่งานอยู่ในออฟฟิศ เลยขอถือวิสาสะคัดลอกมาให้คุณชิมสักนิดหนึ่ง
—
บ้าน บริษัท
บ้าน บริษัท
บ้าน บริษัท
สุดสัปดาห์ก็ นอน นอน นอน
แล้วก็วนกลับมา
บ้าน บริษัท
บ้าน บริษัท
บ้าน บริษัท
อ้อ
ฉันไม่ใช่กระรอกนี่นะ
แต่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง
(หน้า 125)
—
เมื่อจิบไวน์
เธอเลือกมองที่ฉลากก่อน
ตอนนี้เธออายุเท่าไหร่แล้ว
มีกลิ่นหอมและรสชาติ
ตรงตามอายุจริงรึเปล่า
(หน้า 145)
—
ผู้ใหญ่ที่หลงทาง
หวาดกลัว
ไหวหวั่น
และใจเสีย
เท่ากับเด็กหลงทางคนหนึ่ง
(หน้า 106)
—
ผมอยากเขียนสั้นๆ
เว้นที่ว่างให้คณะลูกขุนได้เดา
แต่มันไม่ง่ายเลย
HAPPY FIRST เริ่มต้นที่ความสุข 위로의 그림책 * พักแช-กยู เขียน โชซองมิน ภาพ วิทิยา จันทร์พันธ์ แปล สำนักพิมพ์ springbooks |
* ชื่อเล่มฉบับภาษาเกาหลีคือ 위로의 그림책 ถ้าแยกคำ 위로의 แปลว่า ขึ้น 그림책 แปลว่า หนังสือภาพ รวมแล้วอาจอนุมานได้ว่า photo book of comfort หรืออะไรประมาณนั้น