อายุสูงสุดของทีมงานนิตยสาร WAY อยู่ที่ 45 ปี อายุต่ำสุดอยู่ที่ 22 ปี ในทางประชากรศาสตร์ก็ต้องว่า ทีมงานนิตยสาร WAY ล้วนแต่อยู่ในวัยแรงงาน (15-59 ปี) เราทำงานหนักเพื่อให้ได้งานที่ดี และมีเงินหล่อเลี้ยงชีวิต ไม่เฉพาะพวกเรา มนุษย์ที่เกิดมาบนโลกนี้ล้วนแต่ต้องทำงาน คำถามในมิติของเวลาก็คือ เรากำลังทำงานเพื่อปัจจุบันหรืออนาคต
ถ้าให้ตอบแบบอุดมคติ เราควรจะทำงานเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตปัจจุบันและเก็บออมไว้ใช้ในยามบั้นปลายของชีวิต – ใช่ บั้นปลายชีวิต แต่เราต้องมานั่งทบทวนคำคำนี้กันใหม่หน่อยไหม
Main way
บาร์บารา เบสไคด์ คือตัวอย่างสาธิตให้คนหนุ่มสาวในวันนี้เห็นความหมายบางอย่างที่ดำรงอยู่ในวัย 91 และหากวัย 40 คือคนหนุ่มของวัยชรา WAY จึงขอพลิกกลับอุปมานี้เป็น วัย 30 ก็ประหนึ่งผู้ชราแห่งวัยหนุ่ม เตรียมโบกมือลาความหนุ่มสาวแล้วก้าวเข้าสู่โลกของผู้สูงวัย แนวโน้มนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และตอนนี้ประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) และในอนาคตเรากำลังจะเป็นสังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คำถามเบื้องต้นคือเราจะใช้ชีวิตในยามแก่เฒ่าอย่างไร
Interview
ในวัย 94 จีรวัสส์ พิบูลสงคราม ยังคงเล่นไพ่บริดจ์ ความจำยังดี ความทรงจำช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 ซึ่งบิดาของเธอมีโอกาสดำรงตำแหน่งสำคัญของประเทศถึงสองครั้ง ยังแจ่มชัดอยู่ในระดับใกล้เคียงการสัมผัสเหตุการณ์เหล่านั้นด้วยตาตนเอง
WAY พูดคุยกับหญิงชราวัย 94 ถึงเรื่องราวในอดีต ชิ้นส่วนของความทรงจำ ในเวลาของชีวิต เธอเป็นหญิงชรา แต่เวลาในทางประวัติศาสตร์ เธอยังคงเป็นลูกสาวของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่เสมอ
Face of entertainment
ในวัย 61 สนานจิตต์ บางสะพาน เพิ่งกลับมาจากการหอบโปรเจ็คท์หนัง Uncle Hô ไปเสนอแหล่งทุนที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ ก่อนจะพบว่า “เราแก่แล้วจริงๆ” ความฝันในวัย 61 ของเขาคือการทำหนังอินเตอร์เนชั่นแนล พูดภาษาอังกฤษ ออกฉายทั่วโลก ด้วยทีมงานคนไทยทั้งหมด
นี่คือบทสนทนาระหว่างคนชรา (ยึดตามเกณฑ์สหประชาชาติที่ความชราเริ่มที่ 61) และคนหนุ่มของวัยชรา (ยึดตามอุปมาอุปไมยของ วิกตอร์ อูโก)