เหมือนการตั้งกล้องแช่ไว้ที่ตัวบุคคลในระดับครึ่งท่อนบน แล้วปล่อยให้ภาพและเสียงทำงานของมันไป
นั่นเป็นสิ่งที่รู้สึกเมื่อไล่อ่านความคิดในคำตอบของตัวละครแต่ละตัวที่ปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ ประชาธิป’ ไทย โดย เป็นเอก รัตนเรือง และ ภาสภร ประมูลวงศ์ ซึ่งมีตัวเน้นสีแดงกำกับไว้ ‘ใช้สำหรับอ่าน’
ก่อนจะปรากฏข้อความที่กินพื้นที่เกือบทั้งหน้าบนพื้นหลังขาวของหน้าปก แม้ข้อความทั้งหมดนั้นจะถูกขีดฆ่าตรงกลางแต่ละคำให้หายไป กระนั้นยังพออ่านได้ดังนี้ว่า สิ่งที่คนไทยควรรู้ที่สุด กลับรู้น้อยที่สุด
เพียงเท่านี้ หนังสือเล่มนี้ก็กระตุ้นความอยากให้มากพอที่จะหยิบมาอ่านแล้วว่า ในมุมมองของคนทำหนังที่โชกโชนอย่างเป็นเอกจะเล่าเรื่องราวในรูปแบบหนังสืออย่างไร กระทั่งเมื่อพลิกเปิดเข้าไปอ่าน จนกระทบกับข้อความที่ทำให้รู้สึกเหมือนประโยคเปิดในช่วงต้นนั่นแล ถึงได้เข้าใจว่าแท้จริงแล้วหนังสือเล่มนี้ที่มีคำกำกับ ‘ใช้สำหรับอ่าน’ นั้น เป็นเพราะมันเคยถูกถ่ายทอดในรูปแบบภาพยนตร์สารคดีมาก่อน
อย่ากระนั้นกระนี้เลย เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเหมือนยามที่เราเข้าไปดูหนังในโรงภาพยนตร์แล้วต้องเสียไปกว่าครึ่งชั่วโมงกับโฆษณาที่เราไม่อาจลุกหนีหรือกดเปลี่ยนช่องไปไหนได้ จากบรรทัดนี้ ในฐานะผู้เขียนจะขอเลือนหายไปในข้อความที่หยิบยกมาจากในหนังสือแทบทั้งหมดเพื่อให้ผู้อ่านได้เสพซึ้งประหนึ่งข้อความที่ปรากฏได้แปรมาเป็นภาพและเสียงที่อาจจำเป็นต้องใช้จินตนาการเอาเสียหน่อย
โปรดเข้าใจ แม้แต่ผู้เขียนเองก็ยังไม่เคยดูภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ สารคดีที่พยายามจะตอบคำถามที่ว่า…
สิ่งนั้นตามมาด้วยคำถามปลายเปิดอันเป็นนิรันดร์…ประชาธิปไตยในคืนและวัน พ.ศ.2475 มันมาเร็วหรือมาช้า?
คำตอบบางส่วนของบางตัวละครเหล่านี้อาจเขยิบความเข้าใจที่เรามีต่อ ประชาธิป’ไทย ในมุมมองของ เป็นเอก รัตนเรือง และ ภาสกร ประมูลวงศ์
คำตอบของ ธงชัย วินิจจะกูล
“อย่าไปคิดแค่ว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง แต่ถ้ามองการเลือกตั้งให้ลึกลงไปก็จะยิ่งเห็นความจำเป็นของการเลือกตั้ง เพราะไม่มีกระบวนการใดที่ จะดีไปกว่าการเลือกตั้งสำหรับสังคมปัจจุบันที่มีคนจำนวนมากและซับซ้อน”
ถ้าถามผม ผมว่าผมเห็นต่าง ซึ่งตรงข้ามกับอีกหลายคนในแง่ที่ว่า ‘ประชาชนยังไม่เข้าใจประชาธิปไตย ต้องออกไปอบรมเผยแพร่’ ผมคิดกลับกันว่าต่อให้เขาไม่สามารถอธิบายออกมาได้เป็นระบบ แต่เขาทำอยู่แล้วทุกวัน หรือวิวัฒนาการของสังคมไทยก็เหมือนกับวิวัฒนาการของอีกหลายสังคม พอสังคมเริ่มซับซ้อนขึ้น โดยธรรมชาติคนต้องการรักษาผลประโยชน์ตัวเอง แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่า ‘ผลประโยชน์’ ไม่ใช่ความหมายในแง่ลบ
“อะไรคือเหตุที่ทำให้ประชาชน ‘ไม่พร้อม’ คำตอบหนึ่งที่มักไม่ตอบกันคือชนชั้นนำนั่นเองที่เป็นตัวขัดขวางที่ทำให้ประชาชนไม่พร้อม”
“ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเดียวที่อนุญาตให้เราผิดได้ ถูกได้ โดยไม่เกิดความเสียหายนัก แต่ไม่ประเทศไม่ล่ม ไม่ต้องฆ่ากัน”
“ระบอบที่หวังว่าจะมีคนดีนำประเทศให้รุ่งเรืองไปได้เรื่อยๆ เป็นความเพ้อเจ้อที่ไม่มีอยู่จริง เป็นความเพ้อฝันชนิดหนึ่งของอำนาจนิยม พยายามให้เราเชื่อว่าขอให้มีคนที่มีอำนาจ มีคุณธรรมจะพาบ้านเมืองไปอย่างสงบราบรื่น…ซึ่งไม่มีทาง”
คำตอบของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์
“…อาจกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญที่กำหนดรูปแบบการปกครองชนิดที่เรียกว่า ‘ระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ ในความหมายเฉพาะพิเศษ เริ่มก่อร่างสร้างรูปขึ้นแล้วในช่วงปี พ.ศ.2490”
“ผมเห็นว่าปัญหาของบ้านเราไม่ใช่เป็นปัญหาว่าคนโง่หรืออะไร ปัญหาประชาธิปไตยไม่ใช่อยู่ที่คนไม่มีการศึกษา แต่อยู่ที่สำนึก ซึ่งในแง่นี้คนที่มีการศึกษาอาจมีปัญหาในทางประชาธิปไตยมากกว่าใครๆ ก็ได้”
“ผมรู้สึกว่า 112 ไม่ใช่เป็นเรื่องของการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์ แต่มันเป็นเรื่องของการแสดงความเห็นที่ไปเกี่ยวพันกับสถานการณ์ทางการเมืองรัฐประหาร 2549 อย่างแยกกันไม่ออก”
“แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารและก็มีหลักการที่มันผิดพลาดอยู่มาก จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแก้ไขหรือต้องยกเลิกเสีย แล้วทำขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ-ประชาธิปไตยที่ชาวโลกนับถือกัน”
คำตอบของ สมบัติ บุญงามอนงค์
“ประชาธิปไตยมันไม่ใช่แค่เนื้อหา มันเป็นกระบวนการฝึกหัด นอกจากหลักที่เคยเข้าใจว่าประชาธิปไตยมาจากประชาชน เป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย มีหลักสิทธิเสรีภาพ แต่อีกสิ่งหนึ่งคือกระบวนการลองผิดลองถูก เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยก็มีสิทธิเลือกผิด”
“มันไม่ใช่เหตุผลเรื่องคอร์รัปชั่น แต่จักรวาลสองจักรวาลขยายตัวแล้วชนกันเท่านั้นเอง คือในระบบการเมืองมันมีจักรวาลก่อนจะมีทักษิณ มีที่ทางของมันอยู่ ขยายตัวอยู่แล้วตอนนั้น เติบโต-สง่างาม มีดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์รายล้อม มีวงจรของมันอยู่ พอเริ่มพัฒนาการของประชาธิปไตยตั้งแต่หลังปี พ.ศ.2535 จนมีรัฐธรรมนูญ 2540 ต่อมาประชาธิปไตยแบบตัวแทนมันได้เติบโตขึ้น มีพื้นที่และกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ คุณทักษิณทำให้สิ่งนี้มันใหญ่โตมากและเกิดการเกยกัน บริวารต่างๆ จึงมองมาที่การเคลื่อนตัวของคุณทักษิณและบริวารด้วยความกังวล หากปล่อยไว้ย่อมมีผลกระทบแน่นอน”
“สังคมเราไม่ได้ยินเสียงเล็กเสียงน้อยทุกเสียงนะ คือเราเป็นสังคมที่นิยามคนดีว่าคือคนที่ไม่เคยทำให้ใครเดือดร้อน ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิด”
“ที่บอกว่าคะแนนเลือกตั้งที่คนจนไปหย่อนไม่มีความหมายเป็นเรื่องใหญ่มาก เราอาจจะรู้สึกว่าเสียงคนจนที่ไปหย่อนมันไร้สาระ มันเป็นเสียงไม่มีคุณภาพ ตัวนโยบายประชานิยม เสียงโหวตของคุณจะมีอะไร แต่คนพวกนี้เขาไม่ยอม เสียงโหวตของเขาเป็นตัวแทนความมีตัวตน ในฐานะคนหนึ่งในสังคมประเทศนี้”
คำตอบของ ไชยันต์ ไชยพร
“ในยามมีวิกฤตแห่งชาติ พระองค์จะเป็นทางออกสุดท้ายของสังคม รวมทั้งแนวทางพัฒนาอะไรต่างๆ ก็ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยมีความเคารพสักการะและมีความผูกพันทางใจกับพระมหากษัตริย์ ถ้ากษัตริย์อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรที่จะช่วยให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดีมากขึ้น สถาบันฯ ก็คงดูไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้น ถ้ามองในแง่หนึ่งมันก็เป็นดีต่อผู้ได้รับผลประโยชน์อันนั้นด้วยนะครับ คนคนนั้นคือประชาชนไทย”
คำตอบของ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
“คนชอบนึกว่าประชาธิปไตยเป็นของฝรั่ง ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ประชาชนจะต้องเคารพกฎหมาย ต้องเคารพผู้อื่น ต้องมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ ซึ่งคนไทยดูเหมือนว่าจะไม่มีสักข้อเลย”
“ประชาธิปไตย รากศัพท์ภาษาไทยคือประชา+อธิปไตย อธิปไตยแปลว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ประชาธิปไตยจึงแปลได้ว่าระบอบการปกครองที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน”
คำนำ
ทั้งหมดที่เคลื่อนผ่านสายตาไป ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ สำหรับบางคนอาจใช้เวลาไม่กี่นาที แทบไม่ต่างจากการดูคลิปสั้นๆ คลิปหนึ่ง นั่นเพราะที่คุณได้อ่านคือบางส่วนของคำตอบของหลากหลายนักวิชาการ นักเขียน นักเคลื่อนไหวทางสังคม ต่อคำถามปลายเปิดอันเป็นนิรันดร์ ประชาธิปไตยมาเร็วหรือช้าไป กระทั่งเหมาะสมมากน้อยเพียงไรกับประเทศและประชาชนคนไทย
เป็นเอก รัตนเรือง เขียนไว้ในคำนำท้ายเล่มว่าสารคดีในชื่อ ประชาธิป’ ไทย ที่เขาทำร่วมกับภาสกร ประมูลวงศ์ เพื่อออกฉายในรูปแบบของภาพยนตร์นั้น “…ถ้าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์แล้วจะไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่ความที่มันเป็นภาพยนตร์ มันเลยต้องพบชะตากรรมอย่างที่มันพบ…” ซึ่งเป็นคำพูดของ ธงชัย วินิจจะกูล หลังจากได้ดูภาพยนตร์
เป็นเอกยังเขียนอีกว่า
“…น่ายินดี แล้วก็น่าเศร้านะครับ ประชาชนในประเทศนี้ไม่ค่อยอ่านหนังสือกัน ผู้มีอำนาจเลยไม่รู้สึกว่าต้องควบคุมเข้มขนกับสิ่งพิมพ์ ใครจะเขียนอะไรก็ให้มันเขียนไปเถอะ ไม่มีใครอ่านหรอก ผมรู้สึกปีติมากที่ ประชาธิป’ ไทย ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ เพราะหนังสือเล่มนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ภาพยนตร์ชื่อเรื่องเดียวกันไม่สามารถมีได้…”
นอกจากน่ายินดีและน่าเศร้าแล้ว เป็นเอกยังเล่าอย่างน่าขันขื่นในฐานะคนทำหนังว่า นี่เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกก็ว่าได้ที่โรงหนังเอาหนังเข้าฉาย แต่กลัวคนมาดู
…พยายามเข้าใจว่าเราอยู่ในยุค กลัวไว้ก่อน พ่อสอนไว้ (ถ้ามันมาตีกันในโรงทำไงวะ…ถ้ามันมาเผาโรงทำไงวะ…เกิดหนังไปเหยียบตาปลาใครเข้าทำไงวะ…ด่าเจ้ารึเปล่าวะ…ด่ากองทัพรึเปล่าวะ..ชิบหาย เดี๋ยวเสื้อแดงมาดู…ชิบหาย เดี๋ยวเสื้อเหลืองมาดู…ชิบหาย มีทักษิณด้วย ฯลฯ) แล้วก็พยายามทำใจว่า ไอ้ความพารานอยด์แดกกับธุรกิจพันล้านหมื่นล้านแสนล้านนั้นมันคงมาด้วยกัน แล้วก็ปลอบใจตัวเองว่าดีแค่ไหนที่เราไม่มีธุรกิจแบบนั้น ตอนนี้ก็หวังว่าเมื่อหนังสือเล่มนี้วางแผง ทางสำนักพิมพ์จะไม่กลัวว่าคนจะมาซื้ออ่าน…