หากแยกเฉพาะคำ ‘คุก’ แปลความหมายตามนิยามของ สอ เสถบุตร ได้ว่า เรือนจำ ที่ขังนักโทษ
ขณะที่ ‘คาม’ ตามนิยามของราชบัณฑิตยสถาน ระบุคำมีรากมาจากบาลีว่า ‘คามะ, คามมะ’ หมายถึง หมู่บ้าน หรือ บ้าน
คุก จึงอาจหมายถึงบ้านของผู้ถูกขัง
บ้าน อาจกลายเป็นคุกของผู้ที่ไม่อาจตัดใจละทิ้ง แม้ไม่มีร่างกายให้สถิตอีกต่อไปแล้ว
คุกคาม หนังสือเล่มบางๆ รวบรวมเรื่องสั้นจากนักเขียนรุ่นใหญ่ถึงรุ่นกลาง รวมไปถึงนักเขียนรางวัลซีไรต์ อย่าง วีรพร นิติประภา ที่มาร่วมเขียนบอกเล่าเรื่องราวของผีสางในประเด็นของการคุกคาม หากกล่าวเพียงเฉพาะความหมายคุ้นเคย ความเข้าใจหลีกไม่พ้นการถูกรุกราน การถูกล่วงละเมิดในมิติต่างๆ ตามแต่จะนิยาม ทั้งเต็มใจและไม่เต็มใจ ทั้งยินยอมอย่างไม่อาจเลี่ยง ขณะที่บางเรื่องสั้นจะเน้นไปยังประเด็นการ ‘ยึดติด’ การถูก ‘กักขัง’ ให้ติดอยู่ในสถานที่อบอวลไปด้วยความทรงจำ ไม่ว่าสถานที่ที่ว่านั้นจะเป็นบ้าน หรือเพียงในจิตใจของตัวเอง
เรื่องสั้นอย่าง ฝันของห้องท้องทะเลเคืองคลั่ง ของวีรพร และ So Long, Halong Bay ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ กอดผี ของ ศักดิ์ชัย ลัคนาวิเชียร วาดเงา ของ กันต์ธร อักษรนำ จัดอยู่ในเรื่องสั้นประเภทนี้ ขณะที่เรื่องสั้นประเภทตายแล้วไม่รู้ตัวว่าตาย ตายแล้วกลับมายังสถานที่ที่ตนผูกพัน ผูกพันทั้งในตัวสถานที่และบุคคล กระทั่งนำไปสู่การคุกคามในลักษณะของการติดตามอยู่ในเรื่องเล่าอย่าง ผีตาม ของ ทยา กิจการุณ ฤดูฝน-คาราโอเกะแมวดำและความเหงา ของ มหรรณพ โฉมเฉลา เธอกับฉันและความผูกพันของเรา รายา ผการ์มาศ
เรื่องสั้นที่ไม่ได้ชัดเจนในลักษณะของความเป็น ‘ผี’ หรือ ‘วิญญาณ’ แต่มาในลักษณะของความทรงจำ ความนึกคิด และหากเราจะอนุญาตให้เรียกสิ่งเหล่านี้ว่ากายละเอียดหรือดวงจิตแล้ว เรื่องสั้นอย่าง ความมืดอาจกลบทุกสิ่ง แต่ความหวังยิ่งเรืองแสง ของ สร้อยแก้ว คำมาลา กับ ปิศาจเสวนา ของ อัคนี มูลเมฆ ก็นับว่าอยู่ในประเภทนี้ หากแต่ ‘ปิศาจ’ ค่อนข้างไปทางนำเสนอข้อมูลของความเป็นปิศาจที่ไม่ใช่ในลักษณะชวนถกเสวนาตามชื่อ แต่เป็นการ ‘คุยคนเดียว’ (หากจะมองว่าเป็นดวงจิตก็พอกล้อมแกล้มยอมรับได้อยู่) และจบด้วยวลีที่ค่อนข้างเชยก็เท่านั้น
เรื่องสั้นที่หยิบยกความเป็นผี ความยึดติดในรูปแบบชีวิตสมัยใหม่ที่แทบไม่ต่างจาก ‘ผีดิบ’ ในลักษณะของจิตใจที่ความเป็นคนได้สิ้นสลายหายไป อยู่ในเรื่องสั้นของสองพี่น้องตระกูล ‘หุตางกูร’ ทั้ง ลิซรบ ฤทธิ์รัก ของ ปริทรรศ และ ประเทศไทย ของ ทินกร เรื่องหลังจะแฝงนัยสะท้อนความไม่เท่าเทียม การมองคนไม่เป็นคนในเชิงการเมืองไว้ตามสไตล์ของทินกร สุดท้ายมันจะจบเพียงความสาใจ แต่ แม่งอยู่ไหน, ปีศาจแห่งชัยชนะ ของ สันติสุข กาญจนประกร น่าจะเป็นการเปลี่ยนทางของลักษณะเล่าเรื่องของเขาที่เคยคุ้นไปจากบรรยากาศที่เคยอวลไอไปด้วยกลิ่นของมูราคามิ เรื่องสั้นชิ้นนี้กลับให้อารมณ์ของความเกรี้ยวกราด การคุกคามในความหมายกลับกัน คือ กลับเป็นตัว ‘ผู้พิพากษาบนบัลลังก์’ เสียเองที่ถูกคุกคามจาก ‘คนพวกนั้น’ จากการมุ่งหน้าเข้าสู่ศูนย์กลาง
อะไรคือ ‘ศูนย์กลาง’ อะไรคือ ‘ท่านผู้นำ’ สันติสุขไม่ได้บันยะบันยังในการเล่า และให้สัญลักษณ์เพื่อบอกเล่าถึงโลกของความจริงที่โอบล้อมรอบตัวเรา และถ้าหากเราอนุญาตให้เรื่องแต่งใน ‘คุกคาม’ ทั้งหมด เป็นโลกที่อยู่พ้นไปจากความจริง เป็นโลกของวิญญาณ โลกของความไม่เข้าใจ และเต็มไปด้วยเรื่องลี้ลับซ่อนเร้น เรื่องสั้นของสันติสุขก็อาจกระชากไหล่ให้หวนกลับไปมองความจริงที่กระแทกตาอยู่ทุกวี่วัน แต่เรากลับมองไม่เห็นพวกเขาเหล่านั้นเสมือนเป็น ‘ผี’ ก็ได้เช่นกัน
อยู่ที่เราสำเหนียกถึง ‘คุก’ ใน ‘คาม’ ที่เราอาศัยอยู่นี้แค่ไหน?
ไทยในสายตาเพื่อนบ้าน (ฉบับปรับปรุง)
สุเนตร ชุตินธรานนท์: บรรณาธิการ
อธิคม คุณาวุฒิ: อ่าน
หลายวันก่อน มิตรสหายรุ่นน้องท่านหนึ่งแชร์ภาพถ่ายสติกเกอร์ท้ายรถกระบะคันหนึ่งลงเฟซบุ๊ค
สติกเกอร์ข้อความว่า “ย่ากูเป็นนักรบ”
มิตรสหายรุ่นน้องเขียนแคปชั่นว่า – แล้วมึงล่ะเป็นใคร
ทำเหมือนพูดเล่น แต่เอาเข้าจริงคำถามนี้สำคัญมาก
…เราเป็นใคร และคนอื่นมองเราอย่างไร
หนังสือปรับปรุงเรียบเรียงมาจากโครงการวิจัยชุด ‘ไทยในการรับรู้และความเข้าใจของประเทศเพื่อนบ้าน’ สุเนตร ชุตินธรานนท์ เป็นหัวหน้าโครงการ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2556 ก่อนพิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับปรับปรุงเมื่อต้นปีนี้
มีนักวิจัยร่วมในโครงการนี้แปดคน สุเนตร ชุตินธรานนท์ เป็นหัวหน้าโครงการ และในฐานะผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และการเมืองพม่า จึงดูแลขอบเขตเนื้อหานี้ร่วมกับ พรพิมล ตรีโชติ / อดิศร เสนแย้ม ทำเรื่องลาว / ใกล้รุ่ง อามระดิษ ทำเรื่องเขมร / ธีระ นุชเอี่ยม และ มนธิรา ราโท ทำเรื่องเวียดนาม / จรัญ มะลูลีม ทำเรื่องมาเลเซีย ปิดท้ายด้วย อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ เขียนภาพรวมด้านสังคมและเศรษฐกิจในอุษาคเนย์ หัวข้อ ‘กระบวนการภูมิภาคนิยมไทยต่อเพื่อนบ้าน’
อาจารย์สุเนตรเขียนถึงเกณฑ์และขอบเขตบรรทัดฐานในการคัดเลือกกลุ่มประเทศ ‘เพื่อนบ้าน’ เพื่อทำการวิจัยนี้ไว้ว่า ส่วนหนึ่งคัดจากความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งต้องย้ำด้วยว่าความทรงจำทางประวัติศาสตร์นั้นมิได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หากแต่เป็นผลจากกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมด้วย อีกส่วนหนึ่งคัดจากปัญหา ความขัดแย้ง การเผชิญหน้าในยุคปัจจุบัน อาทิ กรณีพม่า เรื่องเนิน 491 และการยึดโรงพยาบาล กรณีลาว เรื่องการเหยียดหมิ่น กรณีกัมพูชา ที่เคยลุกลามถึงการเผาสถานทูต หรือกรณีมาเลเซีย ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไทยกรณีกรือเซะ-ตากใบ ทั้งนี้รวมถึงความสัมพันธ์ในเชิงบวกพึ่งพาประสานประโยชน์ในยุคปัจจุบันด้วย
ผลจากการวิจัย ทำให้รับทราบข้อมูลว่า หนึ่ง การที่เพื่อนบ้านจะมองไทยว่าเป็นอย่างไร ขึ้นกับว่าเขานิยามตัวเองว่าเขาเป็นใครด้วย สอง มุมมองที่เพื่อนบ้านมีต่อไทย เพิ่มระดับความซับซ้อนมากกว่าการผูกขาดโดยรัฐ หรือการกล่อมเกลาทางสังคมจากบนลงล่าง สาม เพื่อนบ้านแต่ละประเทศ พัฒนาการรับรู้ต่อความเป็นไทยเคลื่อนเปลี่ยนแตกต่างกัน และสี่ ระบบคิดที่คนไทยมีกับเพื่อนบ้านโดยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางนั้น มันไปกันไม่ได้กับระบบคิด นิยาม การให้คุณค่าตัวเองของประเทศเพื่อนบ้าน
ถ้าจะพูดให้เห็นภาพ เข้าใจเป็นภาษาง่ายๆ ก็ต้องลองดูหลักฐานที่ประเทศเพื่อนบ้านพูดถึงไทย อาทิ
“คำ ‘สยาม’ เขมรไหนก็รู้ได้
คำ ‘สยาม’ มีความหมายว่า
เป็นโจรปล้นชาติปล้นศาสนา
ปล้นแดนเขมรากัมพูชา”
(จากบทร้อยกรอง ‘โจรปล้นแผ่นดิน’ หนังสือพิมพ์ เกาะสันติภาพ 23 กรกฎาคม 2008)
หรืองานวิชาการของลาวที่เขียนตอบโต้หนังสือ ปราบกบฏเวียงจันทน์ ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เราท่องจำต่อๆ กันมาว่า ‘เจ้าอะนุ’ หรือเจ้าอนุวงศ์ เป็นกบฏ เหลวไหล ปลิ้นปล้อน แต่สำหรับคนลาวแล้วเจ้าอะนุคือวีรบุรุษของพวกเขา
“…ต้องยกให้เห็นว่านางโมบ่มีตัวตน บั้นรบทุ่งสัมลิด แม่นบ่มีบดบาดของนางโมจักหน่อยเลย…” (จาก บทรายงานแผนกประวัติศาสตร์และอารยธรรม สถาบันค้นคว้าวัฒนธรรม กระทรวงแถลงข่าววัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ประเทศลาว)
นั่นเป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่ปรากฏอยู่ในงานวิจัยชุดนี้ ซึ่งความจริงก็ไม่ใช่ประเด็นใหม่อะไร เพียงแต่ชาวบ้านบางระจันผู้รักชาติและเชื่ออาขยาน หรือพวกที่มีย่าเป็นนักรบอ่านแล้วก็อย่าเพิ่งหัวร้อน ค่อยๆ รวบรวมสติสัมปชัญญะ ดูหลักฐานแหล่งที่มาและเอกสารอ้างอิงกันให้ดี
หนังสือเล่มนี้เด่นที่รายละเอียดและแหล่งอ้างอิง คนที่รักการค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารชั้นต้นน่าจะได้ประโยชน์
Sakura, Sayonara
Tiktok
รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์: อ่าน
การพบเจอของคนสองคนบนพื้นที่
Tiktok ผู้เขียนเดินทางจากไทยไปเรียนต่อที่โตเกียวญี่ปุ่น สวนทางกับ แดน ชายหนุ่มอังกษที่เสร็จสิ้นภารกิจฝึกงาน และกำลังเดินทางกลับประเทศ ก่อนการพบกันครั้งใหม่ที่นางาซากิก่อนข้ามไปยังเมืองอื่นๆ เกาะฮาจิมะ เนื้อเรื่องของ Sakura, Sayonara บรรยายบรรยากาศระหว่างทางไว้ชนิดที่ชวนให้ท่องเที่ยวตามรอยทีเดียว
หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน แม้ในตัวเล่มจะย่นย่อเวลานับปี
หรืออาจจะเหมือนนิยาย นิยายที่พรรณนาความรู้สึกอารมณ์
ถ้าจะอ่านเพื่อเดินทางท่องเที่
แล้วหนังสือเล่มนี้ควรอ่
Korea: The Impossible Country
Daneil Tudor
ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ: แปล
ณขวัญ ศรีอรุโณทัย: อ่าน
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่เกิดจากเถ้าสงคราม จากประเทศที่มี GDP ต่ำเตี้ยเรี่ยดินและมีแต่ความอดอยาก กลับเติบโตสู่ประเทศร่ำรวย ทั้งยังส่งออกวัฒนธรรมจนรุกคืบไปทั่วโลก นี่เป็นจุดตั้งต้นที่หนังสือเล่มนี้ยั่วให้เราสงสัย
บทนำให้ภาพกว้างโดยสังเขปตั้งแต่ยุคอาณาจักรโบราณ การรบพุ่งในคาบสมุทร จนถึงการเป็นอาณานิคมในรัฐสมัยใหม่ เกาหลีเป็นผู้ถูกรุกรานมาโดยตลอด ทั้งจากเพื่อนบ้านอย่างจีนและญี่ปุ่นที่มีกำลังมากกว่า หรือการมาแทรกแซงของสหรัฐและจีนจนแตกเป็นสองซีกและเกิดสงครามกลางเมืองที่มีพี่ใหญ่หนุนหลังจนวอดวายเหลือแต่ขี้เถ้า
พาร์ทแรกวางรากฐานของความเป็นเกาหลีให้ผู้อ่านเข้าใจ ทั้งจากการทรงเจ้าเข้าผี พุทธศาสนา หลักขงจื๊อ สามส่วนนี้จะไม่ต่างกับเพื่อนบ้านนัก แต่เจือด้วยองค์ประกอบสำคัญอย่างสุดท้ายคือศาสนาคริสต์
พาร์ทนี้อ่านไวๆ ได้ รากทางวัฒนธรรมแบบเอเชียนั้นแผ่กว้าง ‘ความเป็นตะวันออก’ ไม่น่าจะใช่ความเป็นอื่น แถมส่วนประกอบสองอย่างแรก (ผีและพุทธ) ก็แทบจะไม่ต่างกับส่วนประกอบหลักของสังคมไทย
บทถัดๆ มาต่างหากที่น่าสนใจ มันคือกฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรม เช่น สายสัมพันธ์รวมหมู่ (ชอง) การแข่งขัน (ดู Reach for the Sky สารคดีเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ประกอบ) ภาพลักษณ์ (เราต่างรู้ดี ว่าที่เกาหลี การทำศัลยกรรมนับเป็นแง่บวก) เศร้าลึกและสุขล้นแบบเกาหลี (ฮัน และ ฮึง)
ทั้งหมดทั้งมวลคือการอธิบายว่า อะไรทำให้คนเกาหลีเป็นคนเกาหลี ยิ่งอ่านจะยิ่งเข้าใจบริบทและเห็นถึงกลไกภายใน ที่สำคัญ หลายส่วนนั้นมีความเชื่อมโยงมาจากยุคตกต่ำและไฟสงคราม
แน่นอนว่ามีหลายเรื่องที่ควรหยิบมาเป็นกรณีศึกษาและน่าคิดต่อ เช่น บทบาทผู้นำเผด็จการอันเป็นที่รัก (?) ผู้ชักลากประเทศทั้งประเทศแบบประธานาธิบดี ปาร์คชุงฮี (พลพรรครักลุงอาจโฟกัสจุดนี้) ความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมต่อเรือในวันที่ไม่มีแต้มต่อใดๆ การรีดเค้นทุกหยาดหยดของแรงงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศจนอัตราการฆ่าตัวตายพุ่งสูง (กว่าญี่ปุ่น) นิสัยขี้เมา (กว่าญี่ปุ่น) ของคนเกาหลีที่แซงหน้าชาวไอร์แลนด์และชาวอังกฤษเสียอีก
ในห้วงเวลาที่เราไม่สามารถอ่านงานไทยศึกษาอย่างตรงไปตรงมาในอาณาจักรได้ อ่าน มหัศจรรย์เกาหลี เล่มนี้ อาจพอกล้อมแกล้มและเห็นทางไป จากวิกฤติในสังคมไทยที่เรากำลังเผชิญอยู่
กบฏบวรเดช: เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475
ณัฐพล ใจจริง
วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์: อ่าน
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนถนนวงเวียนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขอนแก่นชวนให้ข้าพเจ้าเกิดคำถามอย่างน้อยสองข้อ คำถามแรกสุดคือช่วงเวลาที่อนุสาวรีย์ปักหลัก ซึ่งหาคำตอบได้ไม่ยาก จากการสลักตัวเลขบนตัวอนุสาวรีย์ 2486
คำถามข้อต่อมาคือ ขอนแก่นมีสำนึกแบบไหนต่อระบอบใหม่ในห้วงเวลานั้น เหตุการณ์ต้านรัฐประหารของกลุ่มดาวดินหลังปี 2557 ยิ่งทำให้ผมเกิดคำถามอื้ออึงถึงคำถามข้อหลัง แน่นอนว่า ดาวดินคือชนกลุ่มน้อยในขอนแก่นที่ใช้พื้นที่นี้ต่อสู้เชิงสัญลักษณ์
หนังสือเล่มนี้พยายามไล่เรียงเหตุการณ์การใช้กำลังทหารต่อสู้ระหว่างรัฐบาลของระบอบใหม่และฝ่ายต่อต้าน หรือ กบฏบวรเดช ซึ่งพวกเขาเรียกตัวเองว่า คณะกู้บ้านกู้เมือง
สิ่งที่ผมสนใจที่สุดในหนังสือเล่มนี้คือ สำนึกของสามัญชนที่มีต่อระบอบใหม่ ผู้เขียนค้นคว้าเอกสารจนเห็นร่องรอยของสำนึกของพลเมืองที่มีต่อระบอบใหม่ หลังวันที่ 12 ตุลาคม 2476 เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กองทัพของฝ่ายต่อต้านระบอบใหม่ได้เคลื่อนกำลังเข้าพระนคร และประกาศจะต่อสู้เพื่อถวายอำนาจคืน แม้ว่า ร.7 จะประกาศวางตัวเป็นกลาง ฝ่ายต่อต้านก็ดำเนินการจนเกิดสงครามระหว่างสองฝ่าย
หลังทราบสถานการณ์แน่ชัดว่า คณะกู้บ้านกู้เมือง นำโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารนำกำลังทหารจากหัวเมืองภาคอีสานล้มล้างการปกครองของรัฐบาล พลเมืองในระบอบใหม่ได้อาสาสมัครมาเป็นทหารปราบกบฏ ทหารกองหนุนจำนวนมากได้เข้ามารายงานตัวกับรัฐบาล ทั้งๆ ที่รัฐบาลไม่ได้มีการประกาศเรียกทหารกองหนุนแต่อย่างใด อาสาสมัครคณะนักเรียนด้านกฎหมายเข้าช่วยงานตำรวจ เช่น การสืบสวนฝ่ายกบฏและผู้เกี่ยวข้อง กรรมกรหลายกลุ่มก็อาสาตัวเข้าร่วมปกป้องรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเหล่าลูกเสือที่ยังเป็นนักเรียน
ที่จังหวัดสมุทรสาคร มีการชุมนุมพลเมืองอาสาสมัคร พวกเขาเรียกร้องรัฐบาลให้ส่งอาวุธมาให้เพื่อใช้ต่อสู้กับฝ่ายกบฏ นอกจากการสนับสนุนรัฐบาลปกป้องรัฐธรรมนูญ ประชาชนทั้งประเทศยังร่วมบริจาคเงิน อาหาร ผลไม้ ข้าวห่อ บุหรี่ ปลาเค็ม กล้วยหอม อ้อยควั่น สลิ่ม ยานัตถุ์ ฯลฯ ไปยังแนวหน้าอีกด้วย
บทบาทของพลเมืองอาสาสมัครปราบกบฏในอีสานมีบทบาทเด่นชัดโดยเฉพาะที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อพลเมืองได้รับข่าวสารเรื่องการยกกองทัพออกจากนครราชสีมาสู่พระนครของฝ่ายกบฏ ชาวบ้านที่เดินทางจากนครราชสีมากลับไปยังขอนแก่นด้วยรถไฟ แต่หลังจากนั้นโทรเลขระหว่างพระนคร-ขอนแก่นถูกตัดขาด ผู้ว่าราชการได้เรียกประชุมข้าราชการ และมีมติว่า ขอนแก่นจำเป็นต้องป้องกันตนเองมิให้เข้ามายึดพื้นที่ขอนแก่นเพื่อเป็นฐานกำลังในการต่อสู้กับรัฐบาล มีการจัดตั้ง ‘หน่วยอาสาสมัครต่อต้านกบฏจังหวัดขอนแก่น’ ขึ้น และเมื่อกองทัพของฝ่ายกบฏแตกพ่ายมาจากนครราชสีมา อาสาสมัครเหล่านี้จึงทำลายรางรถไฟเพื่อสกัดกั้นกองกำลังที่รวมกันที่นครราชสีมา
หัวเมืองใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ก็ประกาศสนับสนุนรัฐบาล
ปี 2476 จึงเป็นปีสำคัญในการรื้อฟื้นความทรงจำที่ขาดห้วง ความทรงจำของชาติส่งผลสำคัญต่อการนิยามตัวตนของชาติ เราจะหลุดพ้นจากภาวะอัลไซเมอร์นี้ได้ก็ด้วยการศึกษาและค้นคว้า