คบซ้อนมันธรรมดาไป: นี่เป็นทั้งนายกฯ/ แคนดิเดต/ หัวหน้า คสช.

 

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ภายหลังมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไป 2562 ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบันถือว่าเป็นรัฐบาลเต็มรูปแบบ ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการตามรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อรัฐบาลนี้ไม่อยู่ในสถานะรัฐบาลรักษาการ จึงสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี ครม. ชุดใหม่เข้ามาปฎิบัติหน้าที่

รัฐธรรมนูญ 2560 ต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีตที่กำหนดให้มีรัฐบาลรักษาการก่อนมีรัฐบาลชุดใหม่ ดังนั้น รัฐบาลนี้จึงมีอำนาจเต็มต่อไปจนกว่าจะถึงวันนั้น

หากเป็นการเลือกตั้งปกติ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรหมดวาระหรือมีการยุบสภา รัฐบาลที่ทำหน้าที่ระหว่างมีการจัดการเลือกตั้งต้องอยู่ในสถานะ ‘รัฐบาลรักษาการ’ เพื่อไม่ให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาลกับพรรคการเมืองอื่นๆ

รัฐบาลรักษาการต้องถูกจำกัดอำนาจ เช่น ห้ามมีการแต่งตั้งโยกย้ายและถอดถอนบุคลากรของรัฐ ห้ามการใช้จ่ายงบประมาณสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ห้ามก่อภาระผูกพันแก่คณะรัฐมนตรีชุดต่อไป และห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐให้เกิดผลในการเลือกตั้ง โดยบางเรื่องสามารถกระทำได้หากเป็นไปตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ทว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้จำกัดอำนาจของ คสช. ในช่วงที่มีการเลือกตั้งแต่อย่างใด และขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจพิเศษกับ คสช. ก่อนการเลือกตั้ง เช่น มาตรา 265 ที่ให้ คสช. ยังคงสถานะและมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 โดยเฉพาะอำนาจตามมาตรา 44 ที่ให้หัวหน้า คสช. สามารถออกคำสั่งใดๆ ก็ได้โดยมีผลชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจนถึงวันก่อนที่จะมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก คสช. จึงมีสภาที่แต่งตั้งขึ้นมาเองคอยทำหน้าที่พิจารณากฎหมายหรือแต่งตั้งบุคคลตามรัฐธรรมนูญได้ในระหว่างที่มีการเลือกตั้ง

ดังนั้น ในช่วงเวลาที่การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ใกล้เข้ามา รัฐบาล คสช. ยังสามารถอนุมัติงบประมาณจำนวน 8 หมื่นล้านบาท เพื่อแจกจ่ายประชาชน เช่น ใช้แจกจ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) หรือแบ่งไปอุ้มราคาสินค้าเกษตรอย่าง เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน รวมไปถึงยังมีมาตรการช่วยเหลือบำนาญข้าราชการเกษียณได้โดยไม่ติดข้อจำกัดใดๆ

พูดง่ายๆ ว่า นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศ เป็นทั้งนายกฯในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังจะมีการเลือกตั้ง เป็นทั้งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ เป็นทั้งหัวหน้า คสช.

iLAW รายงานสถิติที่ สนช. ออกกฎหมายในช่วงปี 2562 พบว่า

นับจาก สนช.ทำหน้าที่ออกกฎหมายถึงวันที่ 18 มกราคม 2562 สนช. ออกกฎหมาย 346 ฉบับ ซึ่งถ้านับจากวันที่ 18 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไป 2562 กำหนดออกมา จนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 สนช. ออกกฎหมายมาแล้ว 66 ฉบับ

1 เดือนหลังจากมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไป 2562 สนช.ออกกฎหมาย 66 ฉบับ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 18 ฉบับ หรือวันละ 2.5 ฉบับ

การออกกฎหมายยังมีคิวรอพิจารณากฎหมายอีกหลายสิบฉบับ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ร.บ.ข้าว และล่าสุด พ.ร.บ.โรงงาน ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของ สนช. ไปสดๆ ร้อนๆ

ที่มา

https://www.khaosod.co.th/politics/news_2126623
https://www.facebook.com/iLawClub/photos/a.10150540436460551/10161602709545551/?type=3&theater

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า