‘Crime Scene’ หมายถึง สถานที่เริ่มแรกของการกระทำผิด หรือบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดนั้นๆ การตรวจสถานที่เกิดเหตุจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการแสวงหาหลักฐานหรือรวบรวมพยานต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีต่อไป การตรวจสถานที่เกิดเหตุอย่างมีระเบียบแบบแผน ตามขั้นตอน ตามหลักการ จึงเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิบัติกับที่เกิดเหตุ
หลักในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ มีดังต่อไปนี้:
- ต้องรีบเดินทางไปยังสถานที่เกิดเหตุโดยเร็ว เพื่อป้องกันหลักฐานสูญหายหรือเปลี่ยนแปลง
- ต้องกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกไปจากพื้นที่ สถานที่เกิดเหตุต้องอยู่ในสภาพเดิมให้มากที่สุด
- ทำแผนที่สถานที่เกิดเหตุและถ่ายรูปเก็บไว้
- ค้นหาร่องรอยตามหลักกฎหมายและหลักวิทยาศาสตร์
- ซักถามและสอบสวนพยานทันที
- ป้องกันพยานวัตถุจะถูกทำลาย เช่น จากสาเหตุทางลมฟ้าอากาศ หรือจากฝูงชน เป็นต้น
ทั้งนี้ การรักษาสภาพที่เกิดเหตุ การรวบรวมพยานหลักฐาน และการสืบคดีอาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละคดี ทว่าหลักการพื้นฐานเหล่านี้ยังคงเป็นแม่แบบใหญ่ที่พึงปฏิบัติตาม ถึงกับเคยมีคำกล่าวว่า คดีที่หลุดในชั้นศาลครึ่งหนึ่งก็เกิดมาจากการตรวจสถานที่เกิดเหตุที่ไม่ดีเพียงพอ ตำรวจที่ดีจึงควรรักษากฎข้อบังคับเหล่านี้อย่างเคร่งครัด
ปล. การปูพรมทับหรือการทำความสะอาดพื้นที่ อาจนำไปสู่การทำลายหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุได้
ที่มา
สันติติ์ สุขวัจน์, พ.ต.ท., “เอกสารคำสอนวิชาพิสูจน์หลักฐาน 1”. (นครปฐม; ภาควิชาการตำรวจ ส่วนวิชาการสืบสวน โรงเรียนนายร้อยตำรวจ). น.15-16