ราวๆ 3 ทุ่มของคืนวันที่ 30 มกราคม 2563 ดร.นเรศ ดำรงชัย ยังประชุมอยู่ที่เชียงใหม่ จู่ๆ ก็มีสายเข้าจาก นายแพทย์เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชว่า ตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์มีหน้ากากใช้ไม่เพียงพอ อยากให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ TCELS เข้ามาช่วย โดยใช้ผ้ากันไรฝุ่นเป็นวัตถุดิบหลัก
ข้อมูลสำคัญคือ หน้ากากประเภท N95 (N95 Mask) เป็นอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับการรับมือผู้ป่วยโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่โดยตรงของบุคลากรทางการแพทย์ ในภาวะปกติจะมีปริมาณการใช้ประมาณ 3,000 ชิ้นต่อเดือน/โรงพยาบาล แต่เมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา ปริมาณความต้องการจะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า (อ้างอิงตัวเลขจากการใช้งานในโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน) ในขณะที่ศิริราชได้พัฒนาผ้ากันไรฝุ่นขึ้น และได้ถ่ายทอดให้เอกชนได้นำไปผลิตในเชิงพานิชย์แล้ว
ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ และเห็นแนวโน้มว่าโคโรนาไวรัสจะแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าเชื้ออื่นๆ จึงเริ่มต้นโครงการทันที
“เราทดสอบกับผ้ากันไรฝุ่นของศิริราช ว่ามีสมรรถนะพอที่จะเอามาใช้กันไวรัสได้หรือไม่ อยากทำขึ้นมาเป็นหน้ากาก เราเลยรับดูแลเรื่องการทดสอบ ออกแบบ ขึ้นรูป ประสานงานขอทุน และนำไปจ้างผลิต ในฐานะผู้บริหารจัดการโครงการ”
เบื้องต้น หน้ากากกันไวรัสที่ตั้งต้นมาจากหน้ากากกันฝุ่น PM2.5 ร่วมมือและลงเงินในกระเป๋าด้วยกัน 4 หน่วยงานคือ ศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นโรงพยาบาลศิริราช ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
WIN-Masks ตั้งต้นจากหน้ากากกันฝุ่น พัฒนาสู่หน้ากากกันไวรัส
WIN-Masks มี 5 คุณสมบัติสำคัญ
1. ประสิทธิภาพการกรองอนุภาคของหน้ากาก (Particle Filtration Efficiency: PFE) ที่สามารถป้องกันหรือกรองฝุ่นละอองฝอยขนาด 5 ไมครอนได้
2. สามารถป้องกันการซึมผ่านของละอองฝอยเสมหะ หรือสารคัดหลั่งที่เป็นของเหลว (Fluid Resistance) จากภายนอกสู่ผู้สวมใส่ และจากเสมหะผู้สวมใส่สู่ภายนอกได้
“ตั้งต้นที่ผ้ากันไรฝุ่น (ยังไม่ใช้เทคโนโลยีนาโน) ซึ่งเป็นผ้าที่มีรูพรุน 10 ไมครอน จริงๆ แล้วด้วยรูพรุนขนาดนี้โดยลำพังมันกรองไวรัสไม่ได้ แต่การแพร่กระจายของไวรัสที่มากับละอองฝอยขนาดใหญ่กว่า 10 ไมครอน สมมุติฐานของเราเลยคิดว่ามันน่าจะกันไวรัสได้ เพราะไวรัสมากับละอองฝอยในขนาดที่ผ้ากันไรฝุ่นสามารถกรองได้ โดยเฉพาะเมื่อได้เคลือบสารกันน้ำนาโน ก็จะยิ่งทำให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันละอองไอจาม ได้ดียิ่งขึ้น
“ดังนั้นหน้าการ WIN-Masks จึงมี 2 กลไก คือ รูพรุนขนาดเล็กของผ้าสำหรับกรองกันไรฝุ่น บวกกับการเคลือบกันน้ำอีกที”
ดร.นเรศ สรุปให้เข้าใจ
ดร.นเรศ อธิบายว่า ด้วยประสิทธิภาพ WIN-Masks ยังกัน PM2.5 ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะอนุภาคละอองของฝุ่น PM2.5 เป็นฝุ่นแห้ง ซึ่งฝุ่นชนิดนี้มีขนาดเล็ก ที่ใช้คำว่า PM2.5 ส่วนใหญ่ฝุ่นจะมีขนาดเล็กกว่านั้น (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 ไมครอน)
“ตัวกรอง ตอนที่เราเทสต์ เราเทสต์หลายขนาดแล้วมาจบที่ 0.3 ไมครอน คือเล็กกว่า 2.5 ไมครอน แต่ของเราวัดที่ 0.3 คือเล็กลงไปอีก มันจึงกรองได้ 65 เปอร์เซ็นต์ ด้วยตัวเลขนี้เรายังไม่พอใจ มันน่าจะได้มากกว่านี้ แต่ช่วงนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อ ซึ่งเราหวังว่าหลังจากผ่านวิกฤติโคโรนาไวรัสไปแล้ว จะสามารถพัฒนาหน้ากากนี้มาป้องกัน PM2.5 ได้ด้วย”
3. ความกระชับของหน้ากาก (Fit Test) สามารถสวมใส่ได้แนบกับใบหน้า ป้องกันอากาศจากภายนอกเข้าได้
4. มีการซึมผ่านของอากาศได้ดี (Permeability Test) ทำให้มีการระบายของอากาศได้ดีและไม่ทำให้การหายใจลำบาก
5. สามารถซักซ้ำได้โดยไม่สูญเสียคุณสมบัติทั้ง 4 ด้าน
ตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์บางส่วนได้ทดลองใช้ WIN-Masks แล้ว และมีฟีดแบ็คกลับมาเป็นแบบนี้
“อาจจะบอกว่าร้อนหน่อยนะถ้าต้องใส่หลายๆ ชั่วโมง แต่ถ้าใส่ในห้องแอร์ก็ไม่มีปัญหาเรื่องนี้นัก”
สำหรับคนทั่วไป หากสวมใส่เพื่อเดินทางไปไหนมาไหน ดร.นเรศ ทดลองใช้ด้วยตัวเองและแสดงความคิดเห็นตรงไปตรงมาว่า
“อาจจะเอาเรื่องอยู่ ผมลองใส่ขึ้น-ลงบันไดบีทีเอส ก็ทรมานพอสมควร แต่หน้ากากอะไรก็คงทรมานน่ะครับ ถ้าต้องหายใจในที่ร้อนๆ มันก็จะลำบาก ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่เราจะนำไปปรับปรุง”
แต่หลังจากซักซ้ำหลายครั้ง ผลปรากฏว่า ยิ่งกรองฝุ่นได้ดีมากขึ้น
“เราพบว่ายิ่งซักยิ่งกรองฝุ่นได้ดีนะครับ เพราะเส้นใยมันเริ่มคลายตัว เส้นใยมันเป็นเหมือนใยแมงมุมนะครับ ซักแล้วจะทำให้ใยมันฟูขึ้นมา เปรียบเทียบง่ายๆ จะทำให้มันมีแขนมีขามากขึ้นมา และบางคนบอกว่ามันหายใจง่ายขึ้นด้วย ก็ต้องไปดูว่าเหตุที่หายใจง่ายขึ้น เกิดขึ้นเพราะว่าฟิตกับรูปหน้าน้อยลงหรือเปล่า”
แต่ ดร.นเรศ ยืนยันว่า เมื่อเปรียบกับหน้ากากใช้แล้วทิ้ง WIN-Masks ใส่แล้วหายใจได้สะดวกกว่า
จังหวะนี้ต้อง Crowdfunding
ทุนเบื้องต้นมาจากการควักกระเป๋าร่วมกันของโรงพยาบาลศิริราช TCELS สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กำลังการผลิตอยู่ที่ 7,000 ชิ้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการตอนนี้แน่ๆ จึงใช้วิธีระดมทุน หรือ crowdfunding ซึ่งได้รับการสนับสนุนมากพอสมควร แต่ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี
“ตอนนี้กำลังการผลิตขยายขึ้นเรื่อยๆ อยู่ที่ 10,000 ชิ้นต่อเดือน เพราะผลิตจากโรงงานขนาดไม่ใหญ่มาก แต่วันนี้ภาพเปลี่ยนไป มีผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีความพร้อม เสนอตัวมาช่วยผลิตแบบ mass production กำลังการผลิตก็จะขยายไปอีก ซึ่งนั่นจะทำให้ต้นทุนต่อชิ้นลดลงไปอีก”
คำถามสำคัญคือ รัฐควรเข้ามาสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้หรือไม่ ทำไมเราจึงต้องเริ่มต้นด้วยการควักกระเป๋าตัวเอง ดร.นเรศตอบว่า สถานการณ์เร่งด่วนแบบนี้ ทำอะไรเองได้ก็ทำ เราไม่รอแล้ว
“โดยทั่วไปจะต้องมีสองปัจจัยเข้ามาก่อน คือจำนวนที่มี และจำนวนที่ต้องใช้ ถ้ารัฐสนับสนุนต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ตกลงมันมีใช้เท่าไหร่กันแน่ ข้อสองคือแล้วใครจะเป็นกลุ่มแรกที่ควรได้ใช้ ตอนนี้มีปัญหาบุคลากรทางการแพทย์มีใช้ไม่พอ ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลน่าจะสนับสนุนคือทำให้มันมีพอก่อน จริงๆ แล้วก็เห็นด้วยที่รัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุน แต่ในช่วงเวลาสถานการณ์เร่งด่วนแบบนี้เราเองก็ไม่รอแล้ว ทำอะไรเองได้ก็ทำ”
เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ผู้อำนวยการ TCELS เปรียบเทียบให้ฟังว่า ตอนนี้รัฐบาลก็เหมือนประชาชนคนหนึ่งไปแล้ว รัฐบาลมีหน้าที่กำหนดนโยบาย ประกาศออกมาตรการก็จริง แต่โดยส่วนตัวคิดว่า สถานการณ์ตอนนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน… ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ารัฐบาลจะช่วย ก็ต้องดึงงบประมาณออกมาสนับสนุนโดยเร็ว
“เป็นที่รู้กันว่าการใช้งบแผ่นดินไม่ใช่เรื่องง่าย มีกฎระเบียบตามมามากมาย มันจะไม่ทันการณ์ ผมจึงขอ crowdfunding ไปเลยละกัน งบประมาณรัฐยังมีเรื่องอื่นให้ใช้อีกเยอะมาก เช่น ไปทำวิจัยชุดทดสอบ หรือผลิตพัฒนายา ซึ่งตรงนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง และถ้าผมจะทำยาหรือวัคซีน มันก็ต้องอธิบายกันเยอะนิดนึง ประชาชนอาจเข้าใจยาก ยาหรือวัคซีน มันต้องไปพิสูจน์ผล ขอ อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลอง (Pre-clinical study) และทดสอบในมนุษย์ (Clinical Trial) ซึ่งมันมีขั้นตอนที่ละเอียดอ่อน เปรียบเทียบกันแล้ว เรื่องหน้ากากมันเข้าใจง่ายมากเลย และทำได้ทันที”
ที่สำคัญ ดร.นเรศย้ำว่า ระบบ crowdfunding ทำแล้วใช้งานได้ทันที ซึ่งทาง TCELS เตรียมไว้นานร่วมปีแล้ว เดิมทำขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยที่มีสินค้านวัตกรรมแล้วต้องการระดมทุน
“แต่รอบนี้มันรวดเร็วมาก แม้แต่เอกชนก็เสนอมาไม่ทัน ซึ่งงานพัฒนาหน้ากากผ้าฯ เรามีทั้งหมดในมือแล้ว เราแค่เสนอแคมเปญ หาแนวร่วม”
ใครจะได้ใช้กลุ่มแรก
ดร.นเรศตอบว่า กลุ่มเป้าหมายแรกคือ บุคลากรกลุ่มเสี่ยง อาจจะไม่ได้หมายถึงแพทย์เท่านั้น แต่คือบุคลากรวิชาชีพที่ต้องพบปะคนเยอะๆ ซึ่งกลุ่มสำคัญคือแพทย์ ยิ่งตอนนี้มีการปิดเมือง การติดต่อเจอกันน้อยลงจากเดิม แต่คนที่การติดต่อเจอกันไม่ได้น้อยลงเลยคือแพทย์ ที่ต้องดูแลผู้ป่วย
“ในกลุ่มแพทย์ที่แนะนำ คือกลุ่มแพทย์ทั่วไปที่อยู่ในโรงพยาบาล อาจรวมถึงแพทย์ที่ไม่ได้อยู่ในห้องไอซียู ไม่ใช่แพทย์ที่ต้องดูแลคนที่รู้แน่ชัดว่าป่วย เพราะกลุ่มเหล่านี้ต้องใช้หน้ากาก N95 เท่านั้น WIN-Masks จึงเหมาะใช้กับแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง พยาบาล หนึ่งท่านก็อาจจะต้องใช้หน้ากากหลายชิ้นด้วย เพราะฉะนั้นล็อตสองจำนวน 2 แสน 7 พันชิ้น ก็จะให้คนเหล่านี้ก่อน”
อธิบายเพิ่มเติมว่า บุคลากรทางการแพทย์ควรมีหน้ากากอย่างน้อย 3 ชิ้น เพื่อผลัดเวียนใช้ในหนึ่งวันและทยอยซัก
“ตอนนี้ที่ปิดเมืองปิดห้างแล้วคนกลับต่างจังหวัดกัน แล้วโรคจะกระจายไปต่างจังหวัด อาสาสมัครที่ไม่ใช่แพทย์โดยตรง ก็แนะนำให้ใช้เช่นกัน”
ปิดเมือง คนทยอยกลับบ้าน ในทางชีววิทยา ไวรัสควบคุมยาก ยากพอๆ กับคุมคน
ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยา บอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ตอนนี้คุมไวรัสยากมากขึ้น สถานการณ์คล้ายอิตาลีมากขึ้นเรื่อยๆ
“มาตรการปิดห้าง ปิดร้านที่ออกมา ก็ต้องรู้ว่าคนจะไม่มีงานทำ คนจะตกงานเพราะส่วนมากเป็นคนต่างจังหวัด เขาก็จะไปเบียดเสียดยัดเยียดกันที่ขนส่ง อันนี้ก็เป็นโอกาสที่เขาแลกเปลี่ยนเชื้อกัน เมื่อกลับถึงบ้าน เขาก็ไปอยู่กับครอบครัว คนไทยกับคนอิตาลีจะมีลักษณะปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวสูง ปล่อยกลับบ้านแล้วบอกว่า คุณอย่าเพิ่งไปเจอใคร ซึ่งมันก็ยาก ถ้าเราเป็นคนต่างจังหวัดไม่เจอใคร พ่อแม่พี่น้องจะเข้าใจไหมว่ากลับไปแล้วไม่ไปหา อย่างบ้านผมเองยังเข้าใจยากเลย เขาไม่ได้ใช้เหตุผลแต่ใช้ความรู้สึก ซึ่งมันคุมยากขึ้นแน่นอน”
โดยส่วนตัว ดร.นเรศเห็นว่า น่าจะมีมาตรการออกมาพร้อมๆ กัน เช่น ปิดห้าง ปิดร้าน แต่ต้องให้เจ้าของกิจการดูแลคนของตัวเองก่อน แล้วรัฐบาลค่อยมาชดเชยทีหลัง
“ซึ่งตอนนี้เขาปล่อยกลับบ้านไปหมดแล้วครับ”
รัฐไร้ระบบ คนไร้วินัย เราจะใช้หน้ากากป้องกันอย่างไร
“เหมือนเราพยายามจะหวังให้คนมีวินัย ซึ่งมันต่างกันนะ ต้องถามว่าเราเชื่อว่าคนของเราในภาวะนี้มีวินัยไหม ช่วยทำให้คนรับรู้และตระหนักและมีวินัยมากขึ้นได้ทันหรือไม่ในกรณีที่เราระงับการเจอใครต่อใคร ไม่เจอครอบครัว ไม่กอดกัน ไม่แสดงความคิดถึง ไม่ออกไปสังสรรค์ เราห้ามได้หรือเปล่า นึกภาพต่างจังหวัดนะครับ ทานข้าวใช้เวลาร่วมกัน เขาจะห้ามตัวเองได้หรือเปล่า ก็ต้องดูตัวเลขตรงนี้”
เมื่อคาดการณ์จากแนวโน้มที่เป็นกราฟ กราฟของประเทศไทย มีแนวโน้มขึ้นค่อนข้างชัน ผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ เยอะที่สุด และต่างจังหวัดกำลังไล่ตามขึ้นมาติดๆ
คำถามสำคัญและจำเป็นต้องย้ำซ้ำๆ หลายครั้งคือ เมื่อมาถึงจุดนี้ เราจะใช้หน้ากากกันอย่างไร
“อยู่บ้านไม่ต้องใช้หน้ากาก แต่ออกไปข้างนอกต้องใช้ ไม่ป่วยก็ต้องใช้ เดิมโลกตะวันตก แนะนำว่าคุณไม่ต้องใช้ถ้าคุณไม่ป่วย เพราะเขาไม่เคยชินกับการใส่หน้ากากเอาไว้ก่อน แต่วัฒนธรรมแบบตะวันออก เช่น คนญี่ปุ่น เขาก็จะใส่หน้ากาก การใส่หน้ากากถือเป็นการแสดงความเคารพและรับผิดชอบต่อคนรอบข้าง ในขณะที่ต่างประเทศ การใส่หน้ากากเป็นการประกาศว่าคุณป่วย มันเป็นความรับรู้ที่แตกต่างกัน แต่ตอนนี้คนตะวันตก เขาเริ่มปรับตัวแล้วว่าต้องใส่หน้ากากไว้ก่อน ขณะเดียวกัน คนเอเชียก็เริ่มใช้วิธีทานอาหารแบบแยกของใครของมันแบบตะวันตก”
นโยบายปล่อยให้คนสร้างภูมิคุ้มกันกันเองแบบอังกฤษ เวิร์คจริงหรือไม่
“อันนี้เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์เลย การมีคนที่มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นได้โดยธรรมชาติในจำนวนมากพอ สุดท้ายจะช่วยกันได้ แต่ต้องเดินคู่กับนโยบายอื่นๆ เช่น แยกคนป่วยคนไม่ป่วย คนแก่คนเด็กออกจากกัน ถ้าเราทำเลยโดยไม่มีนโยบายรองรับ ก็จะมีผู้ที่เป็นแพะรับบาป มีคนตายจำนวนมากขึ้น และอาจจะเป็นคนแก่ด้วย ก็จะต้องถามในเชิงนโยบายด้วยว่าเรายอมแบบนั้นได้ไหม รับผิดชอบไหวไหม”
ดร.นเรศย้ำว่า นี่เป็นทางเลือกหนึ่งในทางทฤษฎี กรณีนี้จะเกิดการระบาดอย่างรุนแรง และจบได้เร็ว
“ผมคิดว่าสำหรับเมืองไทย เราเลือกไปแล้วว่าเราไม่ทำทางนั้นแน่นอน เพราะว่าเราไม่กล้ารับผิดชอบว่าคนตายไป รัฐบาลโอเคไหม รัฐบาลก็ไม่โอเค เพราะฉะนั้นจุดนี้คงไม่เกิดขึ้น ถ้าเลือกได้เราคงเลือกให้มันค่อยๆ ระบาดอย่างค่อยเป็นค่อยไปแล้วลากยาว อาจจะนานหน่อยกว่าจะหาย ในแง่นี้เพื่อให้ระบบประคองตัวได้ คือแบบพอมีเวลาตั้งสติ ในขณะเดียวกันการลากยาวก็มีผลทางเศรษฐกิจเยอะ ต้องรับมือกันไป”
หมายเหตุ: สนับสนุนระดมทุน Crowdfunding หน้ากาก WIN-Masks ได้ที่นี่