ทำงาน ทำงาน ทำทำไม Work-life balance อยู่ตรงไหนของชีวิต

“เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมชีวิตของพวกเราถึงเหนื่อยกันขนาดนี้ ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน ไม่มีเวลาพักผ่อน พ่อแม่ป่วยไข้ก็ไม่มีเวลาไปดูแล” เสียงจาก สหัสวัต คุ้มคง สส. เขต 7 ชลบุรี พรรคก้าวไกล ที่ออกมาผลักดันแคมเปญ #ทำงานพักผ่อนใช้ชีวิต ผ่าน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับพรรคก้าวไกล ซึ่งเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ทุกวันนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะลูกจ้างภาครัฐที่มีมากกว่า 700,000 คน แต่ไม่มีกฎระเบียบข้อบังคับที่เป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน นอกจากนี้ ผู้ใช้แรงงานในไทยจำนวนมากยังต้องเผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสวัสดิการ

แนวทางแก้ไขที่พรรคก้าวไกลได้เสนอไว้ ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิ สวัสดิการ หรือประโยชน์ต่างๆ แก่ลูกจ้างในหน่วยราชการที่ไม่ได้สิทธิตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เพื่อให้เกิดความคุ้มครองที่เท่าเทียม ให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาไปดูแลบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลอื่นใดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ปีละไม่เกิน 15 วัน หรือรวมเวลาทำงานของลูกจ้างทั้งสิ้นแล้วต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างต้องไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และนายจ้างต้องให้ลูกจ้างมีวันหยุดอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ เป็นต้น

ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับพรรคก้าวไกล ตั้งอยู่บนฐานคิดเพื่อชีวิตของคนทำงานทุกคน เพิ่มความมั่นคง เติมเวลาพักผ่อน และรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยให้ความสำคัญต่อสมดุลของชีวิตและการทำงาน (work-life balance) ซึ่งนโยบายนี้เองที่ทำให้เสียงของชาวเน็ตในโซเชียลแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม กระแส work-life balance ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน แต่ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมก็เคยเกิดมูฟเมนต์ลักษณะนี้มาแล้ว

8-8-8 หลักการบริหารเวลาเพื่อความสมดุล 

การอุทิศตนถวายตัวเพื่อการทำงานได้กลายมาเป็นคุณลักษณะของชีวิตคนทำงานในยุคหนึ่งโดยไม่รู้ตัว หากเวลาผ่านไปนานวันเข้าอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ทั้งความเหนื่อยล้าและการเสพติดการทำงานจนไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ซึ่งหลายๆ คนมักมองข้ามจุดนี้ไป การนอนหลับพักผ่อนและใช้เวลาว่างเพื่อผ่อนคลายจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะสามารถปรับพฤติกรรมและเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้ดีขึ้นได้หลายคนอาจจะเคยเห็นหรือได้ยินเกี่ยวกับกฎ 8-8-8 หรือ The 8-8-8 Rule โดยเป็นหลักการบริหารจัดการเวลาในชีวิตของคนทำงาน เพื่อให้เกิดความสมดุลกันระหว่างงาน ครอบครัว และตัวเอง ซึ่งการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ในปี ค.ศ. 1810 ผู้ที่คิดค้นหลักการนี้คือ โรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen) นักเศรษฐศาสตร์และนักปฏิรูปทางสังคมชาวอังกฤษ

หลักการ 8-8-8 เป็นการแบ่งเวลา 24 ชั่วโมง ออกเป็น 3 พาร์ต ได้แก่ ‘work smart’ 8 ชั่วโมงแรกใช้เวลากับงาน ‘quality time’ 8 ชั่วโมงถัดมา ใช้เวลากับการดูแลตัวเองและครอบครัว และ ‘live well’ 8 ชั่วโมงสุดท้ายของวัน ใช้เวลากับการพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมฟื้นฟูตัวเอง อย่างไรก็ตาม หลักการ 8-8-8 เป็นเพียงตัวช่วยจัดสรรเวลาให้มีความสมดุล และสามารถยืดหยุ่นเวลาได้โดยที่ไม่หักโหมด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป

8-8-8 กลายมาเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญกับมนุษย์ทำงานในยุคปัจจุบันที่พยายามแยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวให้ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องทำงานหนักแบบถวายหัวให้แก่องค์กรอย่างไม่มีเหตุผล และหัวหน้าองค์กรต้องไม่โทรตามในวันหยุดหรือนอกเวลางาน หากบริษัทใดที่มีแนวคิดหรือวัฒนธรรมองค์กรในเชิงกดขี่ขูดรีด หรือเบียดเบียนวันหยุดและเวลาส่วนตัวของพนักงาน จะโดนปัดตกจากลิสต์บริษัทของคนทำงานยุคใหม่

40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็มากเกินพอ

นอกจากหลักการ 8-8-8 แล้ว ยังมีอีกมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับของมนุษย์ทำงานยุคปัจจุบัน นั่นก็คือ 40-hour work week หรือการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเชื่อว่าเป็นรูปแบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการบีบคั้นให้พนักงานทำงานหนักจนเกินไป 

แนวคิดการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เริ่มต้นในศตวรรษที่ 19 หลังจากประชาชนและสหภาพแรงงานผลักดันกันเรื่อยมา จนนำมาสู่มาตรฐานในปัจจุบัน โดยไล่ไทม์ไลน์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1817 หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่แรงงานยังทำงาน 80-100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

  • ปี ค.ศ. 1866 สหภาพแรงงานแห่งชาติสหรัฐได้ขอให้สภาคองเกรสผ่านกฎหมายกำหนดให้ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน แม้กฎหมายจะไม่ผ่าน แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นอย่างมาก
  • ปี ค.ศ. 1869 ประธานาธิบดี ยูลิสซีส เอส. แกรนท์ (Ulysses S. Grant) ออกประกาศให้พนักงานรัฐทำงาน 8 ชั่วโมง โดยการประกาศของแกรนท์ได้สนับสนุนให้คนทำงานภาคเอกชนออกมาผลักดันสิทธินี้เช่นเดียวกัน
  • ปี ค.ศ. 1886 สภานิติบัญญัติแห่งรัฐอิลลินอยส์ได้ผ่านกฎหมายกำหนดให้ทำงาน 8 ชั่วโมง แต่นายจ้างหลายคนต่อต้าน ไม่ให้ความร่วมมือ ทำให้เกิดการนัดหยุดงานของพนักงานจำนวนมากในชิคาโก จนนำไปสู่เหตุระเบิดที่พรากชีวิตผู้คนไปถึง 12 ชีวิต เหตุการณ์นี้เรียกว่า ‘Haymarket Riot’ ขณะเดียวกัน สหภาพแรงงานยังคงรณรงค์กดดันอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันที่ 1 พฤษภาคม 1890 เกิดเป็นข้อตกลงให้คนงานหยุดงานในวันดังกล่าวได้ และปัจจุบันยังถือเป็นวันหยุดราชการในหลายๆ ประเทศ
  • ปี ค.ศ. 1926 เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ได้ทำการวิจัยพบว่า การทำงานมากขึ้นทำให้ผลิตผลเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่การทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากจะได้ผลิตผลเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดความภักดีในหมู่พนักงานด้วย ซึ่งต่อมานโยบายการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็เริ่มได้รับการยอมรับจากบริษัทต่างๆ มากขึ้น
  • ปี ค.ศ. 1938 สภาคองเกรสผ่าน พ.ร.บ.มาตรฐานแรงงานที่เป็นธรรม ซึ่งกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานที่ทำงานมากกว่า 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และได้แก้ไข พ.ร.บ. ในอีก 2 ปีต่อมา เป็นการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แทน
  • ปี ค.ศ. 1940 การทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ได้กลายมาเป็นกฎหมายของสหรัฐ

จากรายงาน ‘the State of Enterprise Work’ จัดทำโดยองค์กร Workfront พบว่าวิธีการทำงานของพนักงานแบ่งเป็น 3 ส่วน โดย 45% ทำหน้าที่หลัก 40% ประชุมและงานธุรการ และ 14% เช็กอีเมล ตัวเลขเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่าแม้ไม่ได้ทำงานโดยตรง 100% แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประสิทธิภาพของงานจะลดลง การเบี่ยงเบนจากงานเป็นเวลาสั้นๆ เพื่อผ่อนคลายและทำสิ่งที่สร้างสรรค์จึงเป็นวิธีที่ดีกกว่า

วิวาทะว่าด้วยชั่วโมงทำงาน

Work-life balance สำคัญเป็นอย่างมากสำหรับคนทำงาน แต่หลายๆ บริษัทยังคงมองว่าการที่พนักงานทำงานล่วงเวลาแบบทุ่มเทถวายหัวให้แก่บริษัทนั้นเป็นเรื่องที่ดีและบริษัทจะได้ประโยชน์เต็มๆ ในทางตรงกันข้าม การทำงานโดยขาด work-life balance จะส่งผลกระทบต่อบริษัทโดยตรง ประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานจะลดลง จนนำไปสู่ภาวะเครียด หรือภาวะหมดไฟ (burnout syndrome)

จากบทความ ‘What is Work-Life Balance and Why is it Important to Encourage it?’ ของ พาเวล คูห์นาเวทส์ (Pavel Kukhnavets) ได้ระบุถึง work-life balance ของคนในแต่ละเจเนอเรชัน โดยกล่าวว่าเบบี้บูมเมอร์ (baby boomer) เป็นช่วงวัยที่ต้องประสบพบเจอกับความยากลำบากตั้งแต่อายุยังน้อย จึงมีเป้าหมายหลักคือการทำมาหากินที่ดี ทำให้เบบี้บูมเมอร์กระหายความมั่นคงและให้ความสำคัญในการทำงาน work-life balance จึงไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับคนในเจนนี้

ตรงข้ามกับคนเจเนอเรชันเอ็กซ์ (Gen X) ที่เติบโตมาโดยได้รับผลกระทบจากการทำงานที่มากเกินไปจนไม่มีเวลาของเบบี้บูมเมอร์จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนในเจนเอ็กซ์ให้ความสำคัญกับ work-life balance โดยจัดการเวลาชีวิตส่วนตัวและเวลางานอย่างเท่าๆ กัน

มีบทความมากมายที่ได้กล่าวถึงข้อดีและข้อเสียของ work-life balance เช่น บทความ ‘Work-Life Balance: Advantages and Disadvantages for Employees’ ได้ระบุถึงข้อดีและข้อเสียของ work-life balance โดยจากการศึกษาพบว่าพนักงานที่มีความสมดุลระหว่างชีวิตและงานที่ดีจะมีประสิทธิภาพและมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น และยังลดโอกาสการเกิดภาวะหมดไฟหรือปัญหาสุขภาพต่างๆ ในระยะยาว

ในส่วนของข้อเสียพบว่า เป็นความยากลำบากในการตอบสนองต่อการทำงาน โดยเฉพาะคนที่ทำงานหนักและตารางเวลาแน่น การรักษา work-life balance อาจเป็นเรื่องยาก และทำให้รู้สึกว่าทำด้านใดด้านหนึ่งได้ไม่ดีพอ

บทความยังกล่าวอีกว่า พนักงานที่พยายามสร้าง work-life balance อาจจะมีแนวโน้มถูกดึงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ไม่สามารถจัดการกับความคิดตามเวลาที่แบ่งไว้ได้ เช่น ไม่สามารถขจัดความคิดเกี่ยวกับงานได้เมื่อใช้เวลาส่วนตัว และไม่สามารถขจัดความคิดเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวได้เมื่ออยู่ในเวลาทำงาน

อย่างไรก็ตาม การรักษาสมดุลไม่ได้หมายถึงการแบ่งเวลาเสมอไป แต่เป็นการจัดลำดับความสำคัญในชีวิตให้มีความเท่าเทียมกัน โดยการแบ่งเวลาให้แก่ครอบครัวหรือการพักผ่อนนับเป็นปัจจัยพื้นฐานในชีวิตที่ไม่ควรต้องถูกเบียดเบียนเวลาจากการทำงาน

เมืองที่มีกฎหมายรับรอง Work-life balance 

จากข้อมูลของ Forbes Advisor ชี้ให้เห็นว่า แรงงานในอังกฤษกว่า 54% ยอมรับค่าตอบแทนที่ต่ำลงเพื่อแลกกับการมี work-life balance ที่ดีขึ้น และยังมีการสำรวจ 128 เมืองทั่วโลก โดยมีการพิจารณาจากปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นดัชนีความสุข ดัชนีความไม่เท่าเทียมทางเพศ ชั่วโมงการทำงาน วันหยุดตามกฎหมาย อัตราทรัพย์สินต่อรายได้ สัดส่วนการทำงานแบบไฮบริด (hybrid) นโยบายลาคลอดบุตร หรือปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่จะตอบสนองต่อชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของคนทำงาน

หากพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้พบว่า เมืองที่มี work-life balance ที่ดีที่สุดคือ โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยสะท้อนจากโครงสร้างพื้นฐานและการมีชีวิตที่ดีของประชาชน หลายๆ บริษัทในเดนมาร์กมีการทำงานที่ยืดหยุ่น และให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัวของพนักงาน

เมืองอันดับ 2 เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ โดยวัดจากนโยบายประเทศที่สนับสนุนการทำงานและการใช้ชีวิตของของพนักงานที่มีความสมดุล ซึ่งสอดคล้องกับคุณภาพชีวิตของชาวฟินแลนด์ และนโยบายสวัสดิการทางสังคมที่นับว่ามีความก้าวหน้าเป็นอันดับต้นๆ ในยุโรป หลายบริษัทในฟินแลนด์มีการทำงานที่ยืดหยุ่น โดยมีนโยบายทำงานระยะไกล (remote work) ที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่พนักงานในการจัดการตนเองได้

เมืองอันดับ 3 สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เป็นเมืองที่มีสถานะทางเศรษฐกิจดีและมีมาตรฐานในการครองชีพสูง โดยพนักงานสามารถลางานได้ 25 วันต่อปี บริษัทมีนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น และยังพบว่าบริษัทราว 46% ในสวีเดน มีนโยบายให้พนักงานสามารถทำงานระยะไกลหรือไฮบริดได้

นี่เป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆ เท่านั้น ยังมีอีกหลายเมืองที่มี work-life balance ที่ดี โดยส่วนใหญ่จะเป็นเมืองในยุโรป จากตัวชี้วัดได้แสดงให้เห็นว่าการมีสมดุลที่ดีระหว่างชีวิตและการทำงานมักขึ้นอยู่กับโครงสร้าง นโยบาย และปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ภายในประเทศด้วย 

สำหรับประเทศไทยเป็นเมืองที่มีชั่วโมงการทำงานที่หนักมากที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 3 รองจากฮ่องกงและสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม การทำงานหนักอาจจะทำให้ประสิทธิภาพลดลงในระยะยาว work-life balance จึงนับเป็นแนวทางที่จะช่วยให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและทำให้ชีวิตของแรงงานมีคุณภาพตามไปด้วย

สุดท้ายแล้ว work-life balance อาจไม่ได้เป็นเพียงแค่การแบ่งเวลาชีวิตกับเวลางานเท่านั้น หากยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ในชีวิตของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การพักผ่อน การใช้เวลากับครอบครัว หรือแม้แต่การใช้ชีวิตส่วนตัว นับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มนุษย์ทำงานทุกคนพึงมีตั้งแต่แรก 

ที่มา:

อชิรญา ดวงแก้ว
ชอบฟัง ชอบเขียน ชอบแลกเปลี่ยนเรื่องราว

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า