ทบทวนอดีต 10 ปี รัฐประหาร คุยกับ เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ถึงสถานการณ์การดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผูกโยงอย่างแยกจากกันไม่ได้กับการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เพราะมรดกก้อนมหึมาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ฝากไว้ในสนามการเมืองไทยคือการใช้อำนาจตามอำเภอใจและการลอยนวลพ้นผิด
หนึ่งในข้อเท็จจริงอันเป็นที่ประจักษ์คือ มีผู้ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2564 ในยุคสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยอาศัยมาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาโดยตลอด
ปัจจุบันแม้ประเทศไทยจะมีรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน แต่กลับพบว่ายังมีการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ผู้ต้องคดีทางการเมืองเมื่อปี 2563 ยังคงถูกเรียกตัวมารับทราบข้อกล่าวหาในปี 2567 หลายต่อหลายคดี
ประชาชนและเยาวชนยังคงเป็นเหยื่อทางการเมือง โดยมีกฎหมายเป็นโซ่ตรวนพันธการอิสรภาพและเสรีภาพทางความคิด โดยใจกลางของความขัดแย้งทั้งหมดทั้งมวลมาจากการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ในทุกๆ วันที่โลกเคลื่อนไปข้างหน้า แต่ระบบยุติธรรมของไทยกลับเป็นตัวฉุดรั้งให้ประเทศตกอยู่ในวังวนของนิติสงครามและความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด
-1-
ศาล: ปราการด่านสุดท้าย
จากสถิติของศูนย์ทนายฯ ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา มีการดำเนินคดีทางการเมืองต่อผู้เห็นต่าง ในความผิดตามมาตราใดมากที่สุด
ศูนย์ทนายฯ เราจะมุ่งให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งกลุ่มนี้มักถูกตั้งข้อหามาตรา 112 มาตรา 116 และหมิ่นประมาทเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงการแสดงออกด้วยการขีดเขียนศิลปะต่างๆ เหล่านี้ก็จะถูกมองว่าเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
อย่างไรก็ตาม เราพบว่าช่วงหนึ่งรัฐบาลประยุทธ์มีการงดใช้มาตรา 112 แล้วหันไปใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการดำเนินคดีผู้เห็นต่างทางการเมือง นอกเหนือจากนี้ก็จะมีคดี พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งกลุ่มที่โดนคดีก็จะเป็นเด็กและเยาวชนที่เขาแสดงออกผ่านการขีดเขียน การขึงป้ายตามสะพานลอย หรือการโปรยใบปลิว แล้วก็ถูกปรับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด
แต่พอปี 2563 เป็นต้นมา อีกกลุ่มคดีหนึ่งที่เห็นแล้วเรารู้สึกว่าเป็นความท้าทายในการทำงานของศูนย์ทนายฯ คือคดีละเมิดอำนาจศาล ซึ่งเป็นกลุ่มคดีใหญ่เลย ถ้าจะอธิบายให้เห็นถึงความเชื่อมโยงก็คือ พอรัฐไทยใช้กฎหมาย ใช้กระบวนการยุติธรรม รวมถึงการที่ศาลไม่ให้สิทธิประกันตัว มันก็ส่งผลถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม
ในรัฐธรรมนูญที่บอกไว้ว่าต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ปรากฏว่าศาลไม่ให้ประกันตัวโดยที่เหตุผลไม่เป็นไปตามกฎหมาย ฉะนั้นเด็กๆ หรือนักศึกษาที่เพื่อนเขาถูกจำคุก เขาก็รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาก็ออกมาเรียกร้องกันที่หน้าศาล คู่กรณีโดยตรงของเขาเปลี่ยนจากรัฐบาลมาเป็นศาลแทน ฉะนั้นคดีละเมิดอำนาจศาลจึงเยอะแยะมากมาย รวมถึงคดีของบุ้ง (บุ้ง ทะลุวัง) ที่ถูกสั่งขังและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหล่านี้คือการท้าทายอำนาจศาล ซึ่งจริงๆ คดีของบุ้งศาลไม่ควรที่จะลงโทษจำคุก แต่ปรากฏว่าก็ถูกขังในข้อหาละเมิดอำนาจศาลไป 1 เดือน
ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะมองว่าศาลศักดิ์สิทธิ์ ศาลก็จะมองว่าตัวเองมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ แต่ปรากฏว่าอำนาจศักดิ์สิทธิ์นั้นก็ถูกคนรุ่นใหม่ทำลายลง เพราะเขาไม่เชื่อมั่นในกระบวนการศาล เด็กก็เลยท้าทายความศักดิ์สิทธิ์นั้น กลายเป็นวิกฤตของระบบยุติธรรมไทย
ฉะนั้นศาลต้องกลับมาใช้กฎหมายให้สมเหตุสมผลมากขึ้น แต่เราเรียกร้องฝ่ายเดียวคงจะไม่พอ คนในสถาบันตุลาการเองก็ต้องออกมาเรียกร้องด้วยว่า หากยังใช้อำนาจอย่างนี้มันไม่ได้เป็นไปในทางที่ดีต่อศาลเอง
หลังการรัฐประหารโดย คสช. เราได้เลือกตั้งครั้งแรกตอนปี 2562 จากนั้นเมื่อมีการชุมนุมครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2563 สถิติการใช้มาตรา 112 ก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
เหตุผลหนึ่งที่ คสช. ใช้ในการทำรัฐประหารคือ เขาอ้างว่ามีการกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นพอ คสช. รัฐประหารโดยใช้เหตุผลนี้ มาตรา 112 ก็ขึ้นสู่ศาลทหาร ช่วงนั้นมีการจับกุมดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนสาเหตุที่ประชาชนโดนดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่ปี 2563 มาจากการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทีนี้ก็ต้องถามกลับไปว่าทำไมประชาชนและเยาวชนถึงต้องเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่พวกเรานำไปสู้คดีด้วยว่าทำไมเด็กถึงต้องพูดเรื่องนี้ ก็อย่างที่บอก คสช. รัฐประหารและทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ปรากฏว่าเมื่อต้นปี 2560 มีข้อพระราชทานหรือข้อสังเกต ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2
ว่ากันตามหลักการ รัฐธรรมนูญที่ทำประชามติแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้ ถ้าลองไปค้นดูข่าวจะเห็นเลยว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงพระราชทานคำสั่งให้มีการแก้รัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 เพื่อขยายพระราชอำนาจ หลังจากนั้นก็มีการแก้ไขให้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ
นอกจากนี้ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ในช่วงนั้น พร้อมกับรัฐบาล คสช. ก็มีการออกกฎหมายขยายพระราชอำนาจ เช่น พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ หรือแม้กระทั่ง พ.ร.บ.สงฆ์ ซึ่งรายละเอียดมีเยอะมาก
จากจุดนี้เลยมีการพูดคุยกันมากขึ้นว่ากฎหมายเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่กฎหมายเขียนว่า ‘เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย’ ทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลทำไม่ได้ และนี่เป็นเพียงเหตุผลหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้มีการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
ทีนี้คนรุ่นใหม่ที่เขาเติบโตมาในสังคมที่โลกออนไลน์เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศ เขาก็แค่เกิดข้อสงสัยว่าทำไมสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เด็กที่เติบโตมาในระบอบที่ว่าทุกสถาบันต้องตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่พอตรวจสอบไม่ได้ก็ยิ่งวิพากษ์วิจารณ์ไปเลย
จุดตัดอีกจุดหนึ่งคือ คดีวันเฉลิม (วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกบังคับให้สูญหายเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ขณะลี้ภัยอยู่ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา) เราคิดว่าอันนี้เป็นอีกจุดหนึ่งเหมือนกัน
นอกจากนี้ยังมีคดีของคุณทิวากร (วิทากร วิถีตน) ที่เขาโพสต์ภาพตัวเองใส่เสื้อยืดสกรีนข้อความเพื่อแสดงออกต่อกรณีการถูกบังคับสูญหายของวันเฉลิม พอเราทำคดีจะเห็นเลยว่าทั้งสองคดีนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้คนเรียกร้องเพิ่มขึ้น อย่างที่อานนท์ (อานนท์ นำภา) เขาอภิปรายชัดว่าทำไมเราต้องมาพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และ ณ ตอนนี้ศาลก็คือปราการด่านสุดท้ายในการปกป้องพระมหากษัตริย์
คดีมาตรา 116 ของตะวัน (ทานตะวัน ตัวตุลานนท์) ที่บีบแตรขบวนสเด็จฯ เห็นได้ชัดเลย และนี่ก็เป็นอีกคดีที่ไม่ควรเป็นคดีเสียด้วยซ้ำ เดิมทีตำรวจไปขอออกหมายจับที่ศาลแขวงดุสิต ข้อหาสร้างความเดือดร้อนรำคาญ แต่ศาลแขวงดุสิตไม่ออกให้ ต่อมาเพียงไม่กี่วันไม่รู้ว่าเกิดการปลุกปั่นอะไร อยู่ๆ มาออกหมายจับที่ศาลอาญาว่าผิดมาตรา 116 คือมันมีการบิดกฎหมายในขั้นตอนการบังคับใช้
เรื่องแบบนี้ทำให้เราต้องมานั่งคิดกันจริงจังแล้วนะว่ามันเกิดอะไรขึ้น อย่างการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเห็นได้ชัดว่ามันสอดรับกับสิ่งที่เคยพูดไปว่า ชนชั้นนำเขาถือกฎหมายอยู่ และเขากำลังใช้มันในการควบคุมประเทศ
ดูจากคดีของอานนท์ก็ได้ง่ายๆ เลย อานนท์เขาพูดว่า “มีอะไรบ้างที่ผมพูดไม่จริง” แต่สุดท้ายก็ถูกตัดสินจำคุก
จริงๆ เราไม่ต้องพูดกันเราก็รู้ นักกฎหมาย หรือกระทั่งตำรวจ อัยการ เรารู้กันว่าคดีมาตรา 112 มันเป็น ‘คดีนโยบาย’ พูดแค่นี้เราก็รู้ หรือดูแค่ที่พรรคการเมืองไม่สามารถรณรงค์แก้ไขกฎหมายได้ แปลว่าเขากำลังควบคุมไม่ให้คนพูด ควบคุมไม่ให้แสดงออกแม้กระทั่งการแก้ไขกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยังใช้คำกล่าวอ้างถึงเรื่องที่พรรคก้าวไกลไปทำเรื่องการประกันตัว ทั้งที่การประกันตัวเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่กติการะหว่างประเทศก็รับรองด้วย
เราและอานนท์มีคดีมาตรา 112 ของลูกความอยู่ในมือ เราไปฟังคำตัดสินศาลที่บัลลังก์เดียวกัน ลูกความของเราเขาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ และด้วยความที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อย เลยโดนตัดสินจำคุก 4 ปี เหลือ 2 ปี และรอลงอาญา แต่มีสิ่งหนึ่งในวันนั้นที่ศาลพูดออกมาจนเราต้องหันไปกระซิบกับอานนท์ว่า ถ้าเจอบัลลังก์นี้อานนท์ไม่น่ารอด
-2-
ยุติธรรมอำมหิต
การเสียชีวิตของ ‘บุ้ง ทะลุวัง’ สะท้อนความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมอย่างไรบ้าง
มันคือการประจานกระบวนการและระบบยุติธรรมไทย ณ ตอนนี้คนตั้งคำถามต่อการรักษาของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ที่ต้องคำถามตั้งแต่ต้นคือการทำโพลมันเป็นคดีได้ยังไง และอีกอย่างคือทำไมศาลถึงไม่ให้ประกันตัว แล้วทำไมศาลถึงถอนประกันตัว สิ่งเหล่านี้มันประจานระบบยุติธรรมไทยที่ผิดปกติทั้งหมด มันไม่ได้เป็นไปตามหลักกฎหมาย
ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้เจอกับอาจารย์จรัญ (ศาสตราจารย์จรัญ โฆษณานันท์) เราก็เลยปรึกษาเรื่องมาตรา 112 แกบอกว่าต้องบอกให้เด็กๆ รู้ว่ารัฐไทยมันอำมหิต ซึ่งเราทำคดีกับน้องๆ นักศึกษา เห็นเลยว่าเขารู้สึกว่าเขามาเรียกร้องความเป็นธรรม ทำไมถึงมาทำกับเขาขนาดนี้ เราก็พยายามบอกพวกเขาว่ารัฐไทยมันอำมหิตนะ แต่เด็กเขาไม่ได้กลัว ฉะนั้นพอเขาโดนความอยุติธรรมกดทับ บุ้งเขาเลยประกาศว่าเขายอมตาย อดอาหาร และถึงขั้นเขียนพินัยกรรมไว้เลย
หนึ่งในข้อเรียกร้องของบุ้งและนักกิจกรรมอีกหลายกลุ่มคือ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและปล่อยตัวผู้ต้องขังในคดีการเมือง คิดว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ข้อเรียกร้องเหล่านี้จะบรรลุผลในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ถ้าพูดว่าเป็นไปได้น้อยยังรู้สึกว่ามันดีไป ขอบอกว่ามันไม่มีเลยก็แล้วกัน มันไม่มีทางเลยที่เขาจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและปล่อยนักโทษทางการเมือง ถ้าถามว่าทำไมถึงเชื่อมั่นอย่างนั้น ก็เพราะตั้งแต่เพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้ครึ่งปีกว่าๆ เราไม่เห็นรัฐบาลเพื่อไทยทำอะไรเกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเลย ยังคงมีการใช้กฎหมายในลักษณะของการกดปราบอยู่
มีคดีที่ค้างอยู่ในปี 2563 เราพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกหลายคนให้กลับมารับทราบข้อกล่าวหาในมาตรา 112 ปรากฏการณ์อย่างนี้มันก็ทำให้เห็นแล้วว่ายังมีการใช้กฎหมายในการกดปราบคนอยู่
หรือแม้กระทั่งเรื่องการนิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันก็ยังมีการยื้อกันอยู่ เวลาไปทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้จะมีการตั้งคำถามว่า ‘คุณคิดว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่’ บอกเลยว่าไม่มีทาง คือมันยื้อกันมาเกือบ 10 เดือนแล้ว ยังตั้งคณะกรรมการศึกษากันอยู่เลย เพราะฉะนั้นเราเรื่องนิรโทษกรรมมันจะเป็นไปได้ยังไง
ถามว่าการเสียชีวิตของบุ้งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรไหม ขอยกตัวอย่างแบบนี้แล้วกัน ในตอนที่ผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ ยิงตัวเองจนเสียชีวิตเพราะกระบวนการยุติธรรมที่มันบิดเบี้ยว สถาบันตุลาการก็ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน ยังไม่มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเลย
หรือในกรณีที่ศูนย์ทนายฯ ยื่นประกันตัว ตะวัน และแฟรงค์ (ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร) ศาลบอกว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง แล้วอย่างนี้จะทำให้เราคาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงได้หรือ
(28 พ.ค. 67 ทั้งสองนักกิจกรรมทางการเมืองได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำแล้ว หลังได้รับการประกันตัวจากคดีที่ถูกคุมขังอยู่ทั้งหมด แม้ว่าในกรณีของตะวันจะถูกตำรวจ สน.พระราชวัง เข้าอายัดตัวด้วยหมายจับของปี 2566 ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุน ‘บังเอิญ’ พ่นสีสเปรย์บนกำแพงวัง ซึ่งเป็นคดีเดียวกันกับที่นักข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ และท้ายที่สุดตะวันจึงได้รับการปล่อยตัวในช่วงเวลาประมาณ 19.00 น.)
แต่ท้ายที่สุดคนที่เหลืออยู่อย่างเรา หรือนักกิจกรรมทางการเมืองทั้งหลาย เราต้องคิดว่าทุกเรื่องมันต้องมีความหวัง แม้เราจะพูดว่าเรื่องนี้ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่เราก็จะพยายามผลักดันให้ความหวังนั้นเป็นจริง ความยุติธรรมยังไงมันก็ต้องกลับมา แม้แนวโน้มจะเลือนราง แต่เราก็ต้องทำ
การที่มีโอกาสน้อยมากที่จะบรรลุข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เป็นไปได้หรือไม่ว่าเป็นเพราะรัฐบาลนี้เปลี่ยนแค่ผู้นำใหม่ แต่มันยังคงไว้ซึ่งสถานภาพเดิม
คือว่ากันง่ายๆ รัฐบาลเศรษฐาขึ้นมาได้เพราะไปร่วมมือกับพรรค 2 ป. ฉะนั้นอำนาจต่างๆ เขาก็ยังคงรักษาไว้ เพียงแต่ว่าเขาเป็นรัฐบาลพลเรือน ตอนหาเสียงเขาก็พูดเอาไว้ว่าจะทำอะไรบ้าง ดังนั้นตอนนี้เขาก็ควรสนใจสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง เพราะคุณผ่านการเลือกตั้งมาคุณก็ต้องคำนึงถึงเสียงประชาชน เราประเมินว่ามันมีความยาก แต่เราก็ต้องไปกระทุ้งเขาว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เขาจะละเลยได้
คิดเห็นอย่างไรที่นายกฯ เศรษฐา และ รมว.ยุติธรรม ออกมายืนยันว่าจะมีการตรวจสอบกรณีการเสียชีวิตในระหว่างการถูกคุมขังของบุ้ง ทะลุวัง อย่างตรงไปตรงมา
มันเป็นขั้นตอนอยู่แล้ว เขามีหน้าที่ต้องตรวจสอบ เขาต้องทำ มันก็เหมือนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องนิรโทษกรรม ที่เขาบอกว่าจะทำ ก็มีการตั้งคณะกรรมการต่างๆ ขึ้นมา ทุกอย่างมันก็เป็นไปตามขั้นตอนที่เขาจะต้องทำ และยังไงเขาก็ต้องออกมาพูดแบบนี้ ไม่พูดไม่ได้ ถ้าเขาไม่พูดก็ยิ่งถูกครหา
ถ้าในเวลานี้เรายังไม่สามารถปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้ แล้วในระหว่างทางเราสามารถคาดหวังบทบาทอะไรของรัฐบาลพลเรือนได้บ้าง
เราต้องเรียกร้องอยู่โดยตลอด ให้เขารู้ตัวว่าเขามีหน้าที่ต่อประชาชนคนไทย และเขาก็มีหน้าที่ต่อกลไกตามกติการะหว่างประเทศ เพราะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมก็ต้องใช้กลไกของสหประชาชาติในการถามเขา ไทยเราไม่ได้อยู่ประเทศเดียวในโลก อย่างกรณีที่บุ้งเสียชีวิต นักการทูตเกือบทุกประเทศเขาก็มีปฏิกิริยากับเรื่องนี้กัน ดังนั้นรัฐไทยไม่มีทางปฏิเสธกระแสกดดัน กระแสเรียกร้องจากทั้งประชาคมโลกและจากทางฝั่งเราเองได้
ตอนยุครัฐบาล คสช. พวกเราร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศผลักดันว่ารัฐบาลไทยไม่ควรมีศาลทหารที่พิจารณาคดีพลเรือน เรากดดันไปอย่างนี้ สุดท้ายเขาก็ยกเลิกศาลทหาร และโอนย้ายคดีทั้งหมดมาที่ศาลยุติธรรม
สุดท้ายแล้วรัฐบาลนั่นแหละรู้ดีที่สุด เพราะประเทศไทยเป็นภาคีกับกติการะหว่างประเทศหลายฉบับ ไม่งั้นเขาคงไม่ออกกฎหมายอุ้มหาย (พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565) หรอก
คิดเห็นอย่างไรกับการพยายามชิงตำแหน่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ
มันเป็นเหมือนกับวาระที่ไทยเราจะต้องมีบทบาทตรงนี้ อย่างในกลุ่มอาเซียน ไทยก็ต้องแสดงบทบาทนำ เพราะที่ผ่านมาไทยเราถดถอย ล้าหลัง ก็ต้องกลับมาแสดงบทบาทตรงนี้
ตอนนี้มีอยู่ 2 เสียง สำหรับการพยายามชิงตำแหน่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เสียงหนึ่งบอกว่าถ้าเขาได้รับเลือก เขาต้องมาดูแลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ แต่เรามองว่าถ้าเขาละเมิดสิทธิประชาชน เขาก็ไม่ควรไปเป็นตัวแทน เพราะในขณะนี้ประเทศยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เลย
เอาจริงๆ มันคือเหตุผลเดียวกันกับที่นักกฎหมายไม่ควรยอมรับรัฐประหาร ถ้าคุณยอมรับ ศีลคุณขาด ครั้งหนึ่ง คสช. จะส่งคนไปเป็นผู้แทน แล้วมันมีเสียงแว่วมาว่าเราต้องสนับสนุน เราก็ย้อนกลับไปว่ารัฐบาลรัฐประหารไม่ควรเป็นตัวแทนใดๆ ในเวทีโลก อันนี้หลักการเลย
ในภาพรวมของคดีความทางการเมืองที่ยังค้างอยู่ทั้งในอดีตและที่กำลังเกิดขึ้น ควรมีการชำระสะสางอย่างไร
ต้องนิรโทษกรรมอย่างเดียวเท่านั้น รวมถึงมาตรา 112 ด้วย ถ้าคุณไม่ยุติความขัดแย้ง ไม่คืนความเป็นธรรม ประเทศไม่มีทางไปต่อได้ ประเทศมันวิกฤตมาตลอดทศวรรษของการรัฐประหาร ถ้าคุณไม่นิรโทษกรรมคดี 112 วิกฤตความขัดแย้งมันก็ไม่คลี่คลาย
ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาการนิรโทษกรรมประชาชน มีแนวโน้มมากน้อยแค่ไหนที่จะนิรโทษกรรมโดยที่รวมคดีมาตรา 112 ด้วย
เขาก็ยังมีการถกเถียงอยู่ เท่าที่ทราบมาก็มีหลายพรรคที่เขาไม่อยากรวมคดีมาตรา 112 ซึ่งแม้ว่าตอนนี้จะอยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูล แต่ธงมันมาแล้วว่าจะไม่รวมมาตรา 112
ถ้าท้ายที่สุดแล้วกฎหมายนิรโทษกรรมมันออกมาโดยที่ไม่รวมคดีมาตรา 112 จริงๆ อันนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะสู้กันต่อไปยังไง ยังนึกไม่ออกเลยว่าสังคมไทยมันจะเกิดวิกฤตขนาดไหน เพราะถ้าเราคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ตอนนี้ปัญหาใจกลางความขัดแย้งมันเกิดจากการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
มรดก คสช. มันเป็นส่วนหนึ่งหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นส่วนใหญ่ ที่ทำให้กลไกต่างๆ มันทำอะไรได้ยากในทุกวันนี้ แต่สังคมไทยก็มีปัญหามาอย่างยาวนาน คือการรัฐประหารสร้างความขัดแย้งแตกแยกทางสังคมแน่นอน แล้วก็เพิ่มความขัดแย้งมาจนถึงปัจจุบันนี้
สถานการณ์ทางการเมืองและการคุกคามประชาชน หลังจากมีรัฐบาลเศรษฐาเป็นอย่างไร และมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นหรือไม่
ไม่รู้ แต่ตอนนี้ไม่ดี
เพราะพวกเราอยู่กับหน้างาน ในแต่ละวันรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนมีมาทุกวัน สังเกตได้เลยว่าศูนย์ทนายฯ จะออกแถลงการณ์รายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน และสถานการณ์การคุกคามทุกเดือน ถ้ารัฐบาลพลเรือนดี เราคงไม่ต้องออกรายงานพวกนี้ อันนี้ก็เหมือนเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของรัฐบาลเหมือนกัน
ณ เวลานี้ เราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากหรือไม่ว่า เรากำลังอยู่ในห้วงเวลาของการฟื้นฟูประชาธิปไตย
ยังไม่เห็นเลยนะ ส่วนตัวคิดว่าใน 1 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ เรายังอยู่ในนิติสงคราม เรายังต้องรับมือกับพายุแห่งคดี ดังนั้นนิรโทษกรรมเมื่อไรก็คือฟื้นฟูประชาธิปไตยเมื่อนั้น และต้องรวมถึงมาตรา 112 ด้วย นั่นคือจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูประชาธิปไตย
ตอนนี้หลายฝ่ายต่างพูดถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นไปได้ไหมว่ารัฐบาลอาจต้องการที่จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จก่อน
มันไม่สามารถเลือกอันใดอันหนึ่งได้ว่าอันไหนสำคัญกว่า ถ้าว่ากันเรื่องรัฐธรรมนูญ รัฐบาลเพื่อไทยก็บอกว่าจะแก้โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 แต่ตามหลักการมันต้องแก้ได้ทุกหมวดทุกมาตรา ไม่ควรมีข้อยกเว้น ไม่เช่นนั้นแล้วจะฟื้นฟูประชาธิปไตยได้ยังไง
ดังนั้นการที่จะทำให้เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ และการผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมมันทำได้อยู่แล้ว มันก็ทำงานไปพร้อมๆ กันได้