สงครามอดีตยูโกสลาเวีย ให้อภัย…แต่ไม่ลืม

สารานุกรมเกี่ยวกับความขัดแย้งของอดีตประเทศยูโกสลาเวียรายงานว่า มีคนตายจากสงครามเพื่อประกาศเอกราชของสโสวีเนีย 51 คน ในสงครามประกาศเอกราชของโครเอเชีย มีคนตาย 13,587 คน บาดเจ็บ 37,180 คน หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ระบุว่ามีคนตายในสงครามบอสเนียถึง 200,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ขณะที่รัฐบาลโครเอเชียคาดการณ์ว่าจากจำนวนดังกล่าว อาจมีคนเชื้อสายโครแอทที่ตายหรือสูญหายอยู่ 9,909 คน และบาดเจ็บอีก 20,649 คน และตัวเลขของเด็กที่เสียชีวิตในสงครามนี้มีถึง 1,600 คน

สโลโบดัน มิโลเชวิชในจังหวัดโคโซโว ในเดือนเมษายน ปี 1987 / photo: Imre Sabo

ตลอดทศวรรษ 1990 เป็นช่วงที่ประเทศยูโกสลาเวียอยู่ภายใต้การคุมบังเหียนของ สโลโบดัน มิโลเชวิช (Slobodan Milosevic) ผู้นำเชื้อสายมอนเตเนกริน เขาเกิดที่เซอร์เบียในปี 1941 เรียนจบด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเบลเกรดในปี 1964
มิโลเชวิชมีฐานะการงานที่มั่นคงก่อนเข้าสู่วงการการเมืองอย่างเป็นทางการ เริ่มจากตำแหน่งผู้บริหารในบรรษัทพลังงานแห่งชาติ และธนาคารในเบลเกรด ทำให้เขามีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง เช่นเดียวกับการฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษ

สำหรับบทบาททางการเมือง มิโลเชวิชเป็นสมาชิกสันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย (League of Communists of Yugoslavia) สมัยที่ ติโต ยังเป็นผู้นำของประเทศ ต่อมามิโลเชวิชตั้งพรรคการเมืองของตนเอง และก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ประธานสันนิบาตคอมมิวนิสต์ของยูโกสลาเวียในปี 1987 ต่อมาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1989 ขณะที่ยังดำรงแหน่งบริหารบรรษัทน้ำมันของชาติและธนาคารเบลเกรดควบคู่ไปด้วย

มิโลเชวิชสร้างความแข็งแกร่งจากศูนย์กลางของอำนาจที่เมืองเบลเกรด ในเซอร์เบีย และพยายามสร้างความชอบธรรมในการกวาดล้างชนกลุ่มน้อย เขาเสนอนโยบายชาตินิยมยกย่องเชื้อสายเซิร์บอย่างสุดโต่งก่อนขึ้นเป็นประธานาธิบดีของประเทศ
การดำเนินนโยบายนี้ของเขาเริ่มต้นในเดือนเมษายนปี 1987 มิโลเชวิชเดินทางไปแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวเซิร์บและโคโซวาร์ (Kosovar) หรือมุสลิมเชื้อสายอัลแบเนียน ในจังหวัดโคโซโว เขาได้รับฟังปัญหาจากคนเชื้อสายเซิร์บที่ถูกคนโคโซวาร์กดขี่ มิโลเชวิชครับปากว่าจะช่วยจัดการปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยยึดชาวเซิร์บเป็นที่ตั้ง

หลังเหตุการณ์ประท้วงนี้เป็นต้นมา มิโลเชวิชสร้างกระแสชาตินิยมในหมู่ชาวเซิร์บในโคโซโวมากยิ่งขึ้น โดยดึงเอาเหตุการณ์การต่อสู้ของกองกำลังชาวเซิร์บออธอดอกซ์ซึ่งนำโดย เจ้าชายลาซาร์ (Prince Lazar) และกองกำลังทหารจักรวรรดิออตโตมันของ สุลต่านมูรัต (Sultan Murat) ที่โคโซโว เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1389 หรือที่รู้จักในนาม ‘สมรภูมิโคโซโว’ (Battle of Kosovo) มาเป็นตัวปั่นความรู้สึกผู้คน

สงครามในวันนั้นมีการระบุว่าไม่มีใครเป็นฝ่ายชนะหรือแพ้ราบคาบ แม้ว่าในเวลาต่อมาออตโตมันจะฝ่ายชนะในที่สุดจนสามารถยึดพื้นที่บอสเนียฯ และบริเวณชายฝั่งทะเลดัลเมเทีย (Dalmatia) ของทะเลเอเดรียติก (Adriatic Sea) ได้สำเร็จในปี 1459 แต่เหตุการณ์ ‘สมรภูมิโคโซโว’ กลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างกระแสเชื้อชาตินิยมโดยมิโลเชวิชอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในช่วงปี 1988-1989 ที่เป็นเป็นช่วงครบรอบ 600 ปีของเหตุการณ์สมรภูมิโคโซโว

แนวคิดการสร้างกระแสเชื้อชาตินิยมสุดโต่งนี้แตกต่างจากช่วงที่ติโตบริหารประเทศที่พยายามสร้างยูโกสลาเวียบนแนวคิดคอมมิวนิสต์ที่ต้องการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของสังคม และลดทอนสำนึกความภาคภูมิใจในเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งลง

แผนที่ยูโกสลาเวียเดิม

หลังติโตถึงแก่อสัญกรรม ขบวนการเรียกร้องขอแยกตัวเป็นรัฐอิสระจากยูโกสลาเวียก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น เริ่มจากสโลวีเนียในเดือนมิถุนายนปี 1991 เกิดการต่อสู้ระหว่างกลุ่มกำลังกองโจรและกองทัพประชาชนยูโกสลาฟ (Yugoslav People’s Army) เป็นเวลา 10 วัน สงครามได้คร่าชีวิตของทหารไปทั้งหมด 46 นาย สโลวีเนียถือว่าโชคดีที่สงครามกินเวลาเพียงสัปดาห์กว่า และได้รับประกาศเป็นเอกราชไม่นานหลังจากนั้น อีกทั้งได้ความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตก โดยเฉพาะออสเตรียในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และกลายเป็นประเทศอดีตยูโกสลาเวียที่มีความเข็งแกร่งทางเศรษฐกิจที่สุด และเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปในปัจจุบัน

ฤดูร้อนปีเดียวกัน สงครามแยกตัวเป็นเอกราชลำดับถัดมาเกิดขึ้นในโครเอเชีย การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลปกครองตนเองของโครเอเชียและกองทัพที่สนับสนุนโดยรัฐบาลเซอร์เบียในนามกองทัพประชาชนยูโกสลาฟเริ่มขึ้น โดยรัฐบาลฝ่ายแรกต้องการสร้างรัฐที่มีชนกลุ่มใหญ่เป็นคนโครแอทนับถือคริสต์นิกายคาทอลิก และแสดงท่าทีต่อต้านการขึ้นครองอำนาจของเซิร์บที่ถือคริสต์นิกายออธอดอกซ์ในเซอร์เบีย แม้จะมีการลงประชามติภายในโครเอเชีย แต่ชาวเซิร์บซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลับคว่ำบาตร ประเด็นชาติพันธุ์จึงกลายเป็นชนวนความขัดแย้ง

สงครามแบ่งแยกบอสเนียฯ

‘สงครามยูโกสลาเวีย’ เริ่มถูกนิยามว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เนื่องด้วยทหารคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียภายใต้บังเหียนของมิโลเชวิชทำการกวาดล้างชาวโครแอทในพื้นที่ทางตะวันออกและตะวันตกแคว้นคราจินา (Krajina) ซึ่งมีคนเชื้อสายเซิร์บเป็นประชากรส่วนใหญ่ ทั้งการสังหารหมู่ ทำร้ายร่างกาย และข่มขืน ต่อเนื่องถึงสองปี มีทั้งทหารและพลเรือนเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายพันคน อีกหลายแสนคนต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยและพลัดถิ่นฐาน

ระหว่างนั้น ในปี 1992 ศูนย์กลางของสงครามย้ายฐานไปที่บอสเนียฯ ก่อนที่จะกลับมาปะทุที่โครเอเชียอีกครั้งในปี 1996 เมื่อทหารของโครเอเชียที่มีกองทัพสหรัฐฯ หนุนหลัง จู่โจมชาวเซิร์บในแคว้นคราจินา และกว้างล้างชาวเซิร์บให้ออกจากพื้นที่ รวมถึงการกวาดล้างชาวเซิร์บในบางพื้นที่ของเซอร์เบียและบอสเนียฯ

ในปี 1992 สงครามกลางเมืองปะทุขึ้นที่บอสเนียฯ หลังการลงประชามติการแยกตัวเป็นอิสระขณะที่ชาวเซิร์บและโครแอทซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในบอสเนียฯ ประกาศคว่ำบาตร และยืนยันจะถอนตัวออกจากบอสเนียฯ หากได้เอกราช ดังนั้น สงครามในบอสเนียฯ จึงเกี่ยวโยงโดยตรงกับกลุ่มคนสามเชื้อชาติคือ มุสลิมบอสนิแอกที่มีจำนวนถึง 43 เปอร์เซ็นต์ของประชากรประมาณ 4.3 ล้านคนก่อนสงครามกลางเมือง ชาวเซิร์บ 31 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเซอร์เบียของมิโลเชวิช และชาวโครแอท 17 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโครเอเชีย

สงครามเริ่มต้นจากความขัดแย้งระหว่างเซิร์บและโครแอทที่ต่อเนื่องมาจากสงครามแยกตัวของโครเอเชีย ต่อมากภายหลัง ชาวโครแอทร่วมมือกับมุสลิมบอสนิแอกเพื่อต่อต้านการครองอำนาจของชาวเซิร์บ

ความเสียหายในช่วง Sarajevo Siege / photo: LT. Stacy Wyzowski

ซาราเยโว (Sarajevo) เมืองหลวงของบอสเนียฯ เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางสงคราม ในเดือนมีนาคม 1992 สงครามเริ่มขึ้นโดยการจู่โจมด้วยสไนเปอร์ที่เชื่อว่าเป็นฝีมือชาวบอสนิแอกไปยังคนกลุ่มหนึ่งขณะกำลังเดินไปงานแต่งงานที่โบสถ์ออธอดอกซ์ หลังจากนั้นมีการโต้ตอบกันของกองกำลังทั้งสองฝ่าย ต่อมากองกำลังทหารเซิร์บในบอสเนียฯ (Bosnian Serb Army) สร้างแนวล้อมกลางเมืองซาราเยโว หรือ Sarajevo Siege เพื่อจู่โจมชาวโครแอทและมุสลิมอย่างต่อเนื่อง มีรายงานตัวเลขการจู่โจมด้วยอาวุธสงครามขนาดหนักอย่างสไนเปอร์ กระสุนปืนครก และระเบิด คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปเป็นหมื่นคน ไม่รวมถึงการปล้นสดมภ์และการข่มขืนผู้หญิงในพื้นที่ของทหารเซิร์บในบอสเนียฯ และบางส่วนของกองกำลังติดอาวุธ ‘เช็ทนิก’ (Chetnik) ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเซอร์เบีย นำไปสู่การอพยพหนีเอาตัวรอดของคนบอสนิแอกเพื่อออกจากพื้นที่

แม้ว่าองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติหรือกองกำลังทหารนานาชาติจะพยายามเป็นตัวกลางยุติสงครามที่เกิดขึ้น แต่ความรุนแรงได้ขยายตัวไปยังเมืองหลักอื่นๆ ด้วย เช่น ตุซลา (Tuzla) มอสตาร์ (Mostar) และเซรเบรนิกา (Srebrenica) สงครามบอสเนียกินระยะถึงสามปีกว่า จากนั้นจึงมีการตกลงเจรจาระหว่างตัวแทนบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โครเอเชีย และสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย และเซ็น ‘ข้อตกลงเดย์ตัน’ (Dayton Agreement / Accord) ขึ้นที่เมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายนปี 1995

แผนที่บอสเนียฯหลังข้อตกลงเดย์ตัน

ผลของการเจรจาทำให้บอสเนียฯ ถูกแบ่งเขตการบริหารทางการเมืองใหม่ออกเป็นสองส่วนตามการคุมอำนาจของชาติพันธุ์ทั้งสามกลุ่ม

เขตแรก ‘สหพันธรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา’ (Federation of Bosnia and Herzegovina) ที่มีมุสลิมบอสนิแอกและโครแอทคุมการบริหารหลัก

เขตที่สอง ‘สาธารณรัฐเซิร์บ’ (Serb Republic / Republika Srpska) เขตการควบคุมของชาวเซิร์บ

การแบ่งเขตการเมืองนี้ส่งผลกระทบต่อการจัดการที่อยู่อาศัยของผู้คนที่อพยพลี้ภัยในช่วงสงครามและต้องการกลับมาบ้านเกิด อีกทั้งการจัดงบประมาณและการพัฒนาในทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญผู้คนในประเทศรู้สึกได้ถึงความเป็นศัตรูและการแบ่งแยกระหว่างเชื้อชาติที่ยังมีอยู่ ซึ่งฉันเองก็ประสบปัญหานี้โดยตรงกับการแบ่งแยกทางการเมืองระหว่างข้ามแดนจากบอสเนียฯ ไปเซอร์เบียที่จะเล่าในรายละเอียดในบทต่อๆ ไป

สงครามโคโซโว

กองกำลังทหารเซิร์บในบอสเนียฯ ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลเซอร์เบีย ไม่เพียงทำสงครามกับรัฐที่ทำประชามติเพื่อประกาศเอกราชเท่านั้น เซอร์เบียต่อต้านการเป็นเอกราชของโคโซโวซึ่งเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในการปกครองของเซอร์เบียด้วย จังหวัดนี้คนส่วนใหญ่ราว 80 เปอร์เซ็นต์เป็นมุสลิมเชื้อสายอัลแบเนียนหรือโคโซวาร์ แต่ได้รับปฏิบัติแบบคนชายขอบมาตลอดภายใต้การนำของมิโลเชวิชที่ชูความยิ่งใหญ่ของชาวเซิร์บ เช่น การรับคนเข้าทำงานในหน่วยงานราชการที่เปิดทางให้ชาวเซิร์บเข้ามาปกครองคนในท้องที่ ทำให้ชาวโคโซวาร์เองเริ่มประท้วงด้วยการก่อตั้งกองกำลังปลดปล่อยโคโซโว (Kosovo Liberation Army) ในปี 1996

ความขัดแย้งของเซอร์เบียและโคโซโวเริ่มขึ้นในประเทศอัลแบเนียก่อนในปี 1997 ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ติดกับจังหวัดโคโซโวและมีประชากรเชื้อสายมุสลิมอัลแบเนียน ซึ่งปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ก่อนที่จะล่มสลายในปี 1992

อัลแบเนียที่ก่อนหน้านี้เป็นประเทศยากจนเริ่มมีเงินทุนจากต่างประเทศหลังจากยกเลิกระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ คนในประเทศเริ่มอพยพไปหางานทำนอกประเทศและส่งเงินกลับมาหมุนเวียนในประเทศบ้านเกิด

ช่วงนี้เองที่ทำให้ความสัมพันธ์ของอัลแบเนียกับโคโซโวแน่นแฟ้นขึ้น จนเริ่มมีเงินหมุนเวียนในตลาดผ่านนักธุรกิจที่มีทุนหนาและบริษัทที่เข้ามาลงทุนในประเทศ หากต่อมาเศรษฐกิจเริ่มซบเซา นำมาซึ่งการจลาจลทั่วประเทศในปี 1997 มีการปล้นธนาคาร สะสมอาวุธ ระเบิดขีปนาวุธ และรถถัง แม้แต่คนทั่วไปยังสามารถครอบครองอาวุธร้ายแรงขนาดนี้ได้ พัฒนาไปสู่การซื้ออาวุธสะสมจากฝั่งแอลเบียเนียเพื่อส่งไปให้ชาวแอลแบเนียนในโคโซโวต่อกรกับรัฐบาลเซอร์เบีย รวมถึงมุสลิมในมาซิโดเนียที่ต้องการประกาศตัวเป็นเอกราชจากยูโกสลาเวียเช่นกัน

โคโซโวหลังสงคราม / photo: Marietta Amarcord

ด้วยเกรงว่าความรุนแรงจะบานปลาย ในปี 1999 สหรัฐฯและนาโตเริ่มเข้ามาแทรกแซงกิจการและตอบโต้รัฐบาลเซอร์เบียด้วยการถล่มเบลเกรดซึ่งเป็นศูนย์กลางทางอำนาจของมิโลเชวิช กดดันให้เซอร์เบียถอนกำลังทหารออกจากโคโซโว เซอร์เบียยอมจำนนในที่สุด นำมาสู่การเปิดโต๊ะเจรจาที่ได้ข้อสรุปว่า เซอร์เบียยอมถอนกำลังทหาร แต่ยังมีอำนาจในการปกครองจังหวัดโคโซโวอยู่ ขณะที่ฝ่ายกองกำลังปลดปล่อยโคโซโวยอมวางอาวุธ และยอมให้มีกระบวนการเจรจาประกาศเอกราชของโคโซโวดำเนินไปเพื่อให้มีการลงประชามติภายในเวลาสามปี

แต่ไม่นาน การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายปะทุขึ้นอีก ทำให้ประชาชนเกือบ 700,000 คนลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศแถบยุโรปตะวันตก นำมาซึ่งการกดดันของนาโตอีกครั้งในเดือนมีนาคม 1999 ด้วยการถล่มอาคารสำคัญในเมืองเบลเกรดแบบย่อยยับและต่อเนื่องจนถึงเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน

อาคารในเมืองเบลเกรดที่ถูกนาโตโจมตี / photo: David Orlovic

ในที่สุด รัฐบาลเซอร์เบียยอมจำนนถอนกำลังทหารจากโคโซโว พร้อมเปิดทางให้นาโตและรัสเซียเข้าไปคุมพื้นที่ แต่กลายเป็นว่าองค์การระหว่างประเทศที่เข้าไปเหล่านี้ไม่สามารถควบคุมการจู่โจมของกองกำลังปลดปล่อยโคโซโวต่อชาวเซิร์บและมอนเตเนโกรในพื้นที่ได้ มีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจากการจู่โจมดังกล่าวมากถึง 150,000 คน ไม่เพียงเท่านี้ กองกำลังปลดปล่อยโคโซโวทำหน้าที่แทนรัฐบาลในการเก็บภาษีจากผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับประเทศหลังสงครามสงบ เกณฑ์ชายฉกรรจ์ และสะสมอาวุธเพื่อเข้าไปช่วยมุสลิมในมาซิโดเนีย พื้นที่ของสงครามกลางเมืองที่เริ่มก่อตัวขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน

สงครามมาซิโดเนีย

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2001 สงครามปะทุขึ้นอย่างเป็นทางการในมาซิโดเนีย แม้ว่ามาซิโดเนียได้เอกราชจากยูโกสลาเวียแล้วในปี 1991 และไม่ได้มีความรุนแรงเกิดขึ้น มาซิโดเนียได้พัฒนาประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลของประเทศสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประชากรมุสลิมที่มีอยู่ประมาณ 22-31 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด แต่ความขัดแย้งเริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อพรรคการเมืองที่มีกลุ่มมุสลิมหนุนหลังเรียกร้องให้เพิ่มภาษาอัลแบเนียนในหลักสูตรของโรงเรียนและระดับอุดมศึกษา ด้วยความสัมพันธ์อันดีกับกองกำลังมุสลิมในโคโซโวและอัลแบเนีย มุสลิมในมาซิโดเนียตั้งกลุ่มกำลังกองโจรของตัวเองสู้กับรัฐบาลกลาง เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศให้สาธารณรัฐอิลิริดา (Ilirida Republic) เป็นรัฐอิสระ ตามรอยมุสลิมในโคโซโว บอสเนียฯ และโครเอเชีย ที่ทำมาก่อนหน้านั้น

การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกลางและกลุ่มกำลังกองโจรขยายตัวขึ้นและต่อเนื่องไปถึงเดือนมิถุนายน ปี 2001 สุดท้ายนาโตต้องเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง เพื่อเปิดให้มีการเจรจาสันติภาพขึ้น

ผลการหารือคือรัฐบาลกลางของมาซิโดเนียยอมนิรโทษกรรมให้กลุ่มกำลังกองโจร และสัญญาจะแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญประกาศให้สิทธิกับชนกลุ่มน้อย พร้อมยอมรับให้มุสลิมเชื้อสายแอลแบเนียนในมาซิโดเนียเป็น ‘ชาติที่มีอำนาจที่ระบุในรัฐธรรมนูญ’ (constituent nation) ไม่ใช่เป็นเพียง ‘สัญชาติ’ (nationality) หนึ่งของประเทศมาซิโดเนียเท่านั้น ขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสัญญาที่จะวางอาวุธเพื่อสงบศึกชั่วคราว

สงครามที่ไม่ได้สิ้นสุดลงพร้อมเสียงปืน

ในปี 2000 มิโลเชวิชแพ้การเลือกตั้งต่อพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ทำให้เขาหมดอำนาจลง ต่อมาเขาถูกส่งตัวไปพิจารณาคดีโดยคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย (International Criminal Tribunal for the former Yugoslavia: ICTY) ภายใต้สหประชาชาติ ที่ตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะอาชญากรทางการเมืองที่ก่อให้เกิดสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่เขาเสียชีวิตจากโรคหัวใจล้มเหลวเสียก่อนได้รับการลงโทษ

แม้ว่าสงครามของระหว่างเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในรัฐอิสระต่างๆ จะจบลงมากว่า 10-20 ปี ทุกวันนี้ปัญหาและความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขีดเส้นแดนรัฐชาติใหม่หลังการประกาศเอกราชของประเทศต่างๆ หลายพื้นที่ในทางการเมืองอาจไม่สอดคล้องกับที่อยู่อาศัยของคน ทำให้มีการเคลื่อนย้ายของผู้คนขนานใหญ่ คนจำนวนมากไม่ได้ต้องการอยู่ในพื้นที่ที่รัฐบาลขีดเส้นแดนให้ เจ้าหน้าที่รัฐในบางพื้นที่อาจเลือกปฏิบัติ เข้าข้างกลุ่มคนเชื้อชาติเดียวกัน และผลักให้กลุ่มคนต่างเชื้อชาติเป็นชนกลุ่มน้อย ทำให้ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ แต่ละประเทศยังมีรูปแบบการปกครองที่แตกต่างกันอยู่ อย่างสโลวีเนียและโครเอเชียมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเซอร์เบียและบอสเนียฯ ในขณะนั้น ส่วนการปกครองในบอสเนียฯ มีความซับซ้อน เพราะมีการแบ่งเส้นเขตตามเชื้อชาติ ไม่ต่างจากช่วงยังเป็นประเทศยูโกสลาเวีย

กว่า 20 ปีที่อดีตประเทศยูโกสลาเวียเหล่านี้ต้องจัดการกับความทรงจำของสงครามที่เกิดขึ้น เริ่มต้นจากสงครามประกาศเอกราชของโครเอเชียเป็นต้นมา สงครามได้พรากเอาจำนวนคนเรือนแสนให้ตกตายไปเพราะอุดมการณ์การเมืองชาตินิยมที่สุดโต่ง เรื่อราวของยูโกสลาเวียจึงเป็นอุธาหรณ์ให้กับคนรุ่นหลังได้เรียนรู้อดีตที่ส่งผลในปัจจุบัน

ระหว่างที่ฉันเดินทางไปบอสเนียฯ และเซอร์เบียก็เช่นกัน ทุกคนที่ฉันเจอและพูดคุยด้วยต่างมีเศษเสี้ยวหรือส่วนที่เชื่อมโยงกับสงครามทั้งสิ้น

ไม่ต่างอะไรกับตัวแสดงหลักในหนังเรื่อง The Underground ที่ขอโทษขอโพยเพื่อนเขาจากการทรยศหักหลัง อีกฝ่ายตอบกลับแบบยิ้มปิดริมฝีปาก…

“ฉันให้อภัย แต่จะไม่ลืม”

Author

บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.นเรศวร เมืองสองแคว ยังไม่ขวบปีดี ตั้งใจเอาดีเรื่องชายแดนไทย-พม่าจนเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยของประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีเสรีภาพแห่งหนึ่งของโลก เรื่องราว 'สงครามบอสเนีย' และ 'นาโต้ถล่มโคโซโว' คือประสบการณ์การเดินทางที่ก่อรูปอย่างไม่รู้อนาคตจากข่าวต่างประเทศสมัยเด็กๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า