คำเตือนจากรอยัลลิสต์…เพื่อรอยัลลิสต์ : ไชยันต์ ไชยพร

ผศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

ไชยันต์ ไชยพร    

 

ในการชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมสุดซอยเหมาเข่ง โดยลำพังเหตุผลในการคัดค้านมีสองประการใหญ่ๆ นั่นคือ ความผิดในตัวกระบวนการ กับ ความผิดในเนื้อหา ซึ่งความผิดในเนื้อหานั้นเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยความผิดในกระบวนการ เพราะเนื้อหาแบบเหมาเข่งเกิดขึ้นได้ด้วยการลงมติเห็นชอบที่ขัดกับระเบียบข้อบังคับในการประชุมพิจารณาร่างกฎหมาย นั่นคือ ขัดกับหลักการที่ผ่านการเห็นชอบในวาระแรก และจากการปล่อยให้มีการกระทำที่ผิดระเบียบจึงนำมาซึ่งการเปิดช่องให้มีเนื้อหาที่เหมาเข่งอย่างไร้เหตุผลและขัดกับหลักนิติศาสตร์หลายๆ ข้อ อีกทั้งการเร่งรีบในการลงมติรวบรัดในตอนตีสี่เข้าไปอีก  จึงส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านกว้างขวางทั่วไปทุกหัวระแหงและทุกสีด้วย

ลำพังเหตุผลในการต่อต้านก็เพียงพอสมบูรณ์ในตัวของมันเองอย่างล้นพ้นแล้ว มิฉะนั้น ฝากฝั่งรัฐบาลไม่ถอยกรูดเช่นนั้น แต่กระนั้นในการชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ก็ยังอุตส่าห์ต้องถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้องด้วย แม้ว่ายามคนประชาธิปัตย์ขึ้นปราศรัยจะไม่กล่าวพาดพิงเลยก็ตาม แต่แกนนำการชุมนุมฝ่ายประชาธิปัตย์ก็ปล่อยให้คนที่ขึ้นมาพูดบนเวทีปล่อยอารมณ์ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มายึดโยงในการต่อต้านร่าง พ.ร.บ. จนถึงขนาดบางคนที่ขึ้นไปกล่าวถามมวลชนว่า “ระหว่างทักษิณกับในหลวงจะเลือกใคร ?”

ทำไม ประเด็นในการขับเคลื่อนทางการเมืองที่ชอบธรรมสมบูรณ์ขนาดนี้ยังอุตส่าห์ต้องไปพาดพิงสถาบันสูงสุดอีก ?  และทำไมแกนนำผู้รับผิดชอบเวทีจึงปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ดำเนินไปคืนแล้วคืนเล่า

เมื่อถาม ก็ได้คำตอบว่า ไม่สามารถกะเกณฑ์ควบคุมเสรีภาพในการพูดได้  ซึ่งข้ออ้างนี้ไม่น่าเชื่อถือแต่อย่างใด เพราะถ้าแกนนำจะเพียงแนะนำทุกคนก่อนขึ้นเวทีว่า ให้พูดอยู่ในกรอบประเด็นความไม่ถูกต้องเหมาะสมของร่าง พ.ร.บ. ก็ย่อมจะทำได้ เพียงแต่จะทำหรือไม่ เท่านั้นเอง ?

การอ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์ในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษแบบเหมาเข่งนี้ ทำให้ประเด็นของการคัดค้านเฉไฉและอาจบานปลายได้ ?

หรือว่าจงใจให้บานปลาย ?

อีกทั้ง เมื่อมีกลุ่มผู้ชุมนุมพี่น้องเสื้อแดงมาแสดงการสนับสนุนรัฐบาล โดยต้องการส่งสัญญาณว่า ฝ่ายต่อต้านร่าง พ.ร.บ. ควรจะหยุดได้แล้ว เพราะรัฐบาลได้หยุดแล้ว และหากจะเฉไฉบานปลาย  ฝ่ายพี่น้องเสื้อแดงก็พร้อมจะลุกขึ้นต้าน  และเมื่อฝ่ายหนึ่งพยายามจะสร้างหรือปล่อยสัญลักษณ์ของฝ่ายตนเป็นฝ่ายจงรักภักดี ก็จะส่งผลหรือต้องการให้อีกฝ่ายหนึ่ง ‘ต้อง’ กลายเป็นฝ่ายไม่จงรักภักดีไปหรือ ?

นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาการเมืองการปกครองฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติ ค.ศ. 1789 ในช่วงที่มีการสถาปนาสถาบันพระมหากษัตริย์กลับขึ้นมาใหม่หลังจาก ค.ศ. 1814/5 ซึ่งไม่ได้เป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะอังกฤษเป็นผู้ที่เข้ามามีอิทธิพลในการจัดระเบียบแบบแผนการปกครองให้ฝรั่งเศส หลังจากที่เอาชนะนโปเลียนได้แล้ว อังกฤษจึงเอาตัวแบบการปกครองของตนที่เริ่มมีความชัดเจนว่าเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ ค.ศ. 1688 อันเป็นปีที่อังกฤษเกิดการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (the Glorious Revolution) นั่นเอง

ถึงกระนั้น ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสก็ไปไม่รอดในที่สุด

เหตุที่ไปไม่รอดนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวองค์พระมหากษัตริย์ แต่นักประวัติศาสตร์ลงความเห็นพ้องต้องกันว่า ปัญหาอยู่ที่พวกอภิมหาจงรักภักดีคลั่งเจ้า (the Ultra Royalists) ซึ่งผู้เขียนจะไม่ขอลงไปในรายละเอียด แต่เราสามารถเห็นพวกอภิมหาจงรักภักดีคลั่งเจ้า และการผูกขาดสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นของพวกตนเท่านั้นจากคนส่วนหนึ่งในสังคมไทยขณะนี้

อย่างไรก็ตาม พวกอภิมหาจงรักภักดีคลั่งเจ้านี้ หากคลั่งจริงๆ ก็น่าจะดีกว่าพวกที่แกล้งคลั่งเพื่ออาศัยสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นประโยชน์ในทางการเมืองของพวกตน พวกนี้อันตรายเพราะปลิ้นปล้อน และถ้ารวมสองพวกนี้เข้าด้วยกัน ก็ยากที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะไม่เสื่อมเสีย เพราะในที่สุดแล้ว ฝ่ายที่ถูกยัดเยียดหรือถูกทำให้เป็นพวกที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายตน (ฝ่ายที่สร้างสัญลักษณ์ว่าจงรักภักดีจัด) ก็อาจจะต้องกลายเป็นผู้ที่ไม่จงรักภักดีไปเลยจริงๆ ก็ได้ เพราะถูกกระทำเสียขนาดนั้น ! และไม่มีใครจะช่วยพวกเขาให้รอดพ้นจากการถูกตีตราได้

ผู้เขียนมิได้ปฏิเสธว่าไม่มีคนที่ไม่จงรักภักดี  ทัศนคติเช่นนี้มีอยู่จริง ซึ่งก็อาจแบ่งได้เป็นสามประเภท คือ

หนึ่ง ไม่จงรักภักดีตัวบุคคลและไม่ต้องการสถาบันฯ

สอง ไม่จงรักภักดีตัวบุคคล แต่ยังต้องการสถาบันฯ

สาม ไม่ได้มีปัญหากับตัวบุคคล แต่ไม่ต้องการสถาบันฯ

ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่จงรักภักดีแบบบ้าคลั่งจำพวกหนึ่ง ก็กลับมีบางอย่างที่ร่วมกับฝ่ายไม่จงรักภักดี นั่นคือ ฝ่ายจงรักภักดีแบบบ้าคลั่งผูกพันกับตัวบุคคลมากกว่าตัวสถาบันฯ หากไม่ใช่ตัวบุคคลที่ตนต้องการเสียแล้ว  ก็คิดจะไม่สนใจที่ทนุบำรุงสถาบันฯ

แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวที่ว่านี้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดจนเกินไป เพราะเราเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญได้เพียง 81 ปีเท่านั้น เพราะเมื่อเทียบกับอังกฤษ เดนมาร์ก สวีเดน ในช่วงร้อยปีแรกของระบอบการปกครองของประเทศเหล่านี้ ก็ยังไม่ได้ลงตัวดีเหมือนที่เห็นในปัจจุบันเสียทีเดียว แต่ต้องปรับตัวและพัฒนาตัวเองมากพอสมควร

ไปๆ มาๆ แล้ว ในการเมืองบ้านเรา ฝ่ายที่ถูกเรียกว่าเป็นพวกอำมาตย์  แท้จริงแล้วเป็นพวกที่ยังมีวัฒนธรรมไพร่เสียมากกว่า ส่วนพวกที่ใช้ประโยชน์ทางการเมืองจากน้ำตาและอารมณ์ไพร่นั้น ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี ?

ใครคิดได้ ช่วยตอบมา ถ้าตอบดี มีรางวัล

****************************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ จุดหมายที่ปลายทาง นิตยสาร WAY ฉบับที่ 68 )

Author

ไชยันต์ ไชยพร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้จักในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ ผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชนในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549 ในแนวทางอารยะขัดขืน นอกจากนี้ ดร. ไชยันต์เป็นนักวิชาการที่เขียนบทความเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า