ความเชื่อเรื่องกัญชาและผลกระทบต่อสุขภาพ การเมืองเรื่องกัญชา ตลอดจนนิยามของการเป็นสารเสพติด หลังจากถูกบัญญัติให้เป็นสารเสพติดในช่วงทศวรรษที่ 1970 เมื่อเวลาผ่านไป ผลศึกษาวิจัยที่เกิดขึ้นทั่วโลกเกี่ยวกับพืชชนิดนี้ อาจช่วยให้หลายคนหันมามองกัญชาด้วยแววตาที่เปลี่ยนไป
หมายเหตุ: ขณะนี้กัญชาถือเป็นสารเสพติดผิดกฎหมายในประเทศไทย และหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา ยกเว้นรัฐโคโลราโด ซึ่งอนุญาตให้ซื้อขาย รวมถึงปลูกกัญชาได้อย่างถูกกฎหมายตั้งแต่ 1 มกราคม 2014
1. เมากัญชาแย่พอๆ กับเมาแล้วขับ
สถิติจาก Mothers Against Drunk Driving (MADD) องค์กรไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐที่รณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงผลของการเมาแล้วขับ ให้ข้อมูลพฤติกรรมเมาแล้วขับว่าเป็นสาเหตุของผู้เสียชีวิตในสหรัฐ 28 รายต่อวัน
เราไม่สามารถพูดได้ว่า กัญชาจะไม่ส่งผลต่อสมรรถภาพในการขับรถ แต่หลังจากเสพกัญชาแล้ว ผู้เสพส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ขับรถด้วยตัวเอง
สารคดี Weed ของศัลยแพทย์ระบบประสาท นพ.ซันเจย์ คุปเต (Sanjay Gupta) จาก Emory University School of Medicine ที่เผยแพร่ทาง CNN เมื่อปี 2013 ให้ข้อมูลว่า ส่วนใหญ่ผู้เสพกัญชาเป็นประจำมีแนวโน้มที่จะออกมาใช้รถใช้ถนนหลังเสพกัญชาน้อยกว่าผู้เสพเป็นครั้งคราว
2. ทำกัญชาให้ถูกกฎหมายไม่กระทบธุรกิจค้ายา
นั่นเป็นสิ่งที่พยายามทำให้รับรู้ แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ แก๊งค้ายาที่มีอิทธิพลในสหรัฐ อาทิ ซินาโล และ ลอสเซตาส แพร่อิทธิพลทั้งในเม็กซิโกไปจนถึงแถบอเมริกาใต้ นอกจากการค้ากัญชาที่ทำร้ายได้ให้กับแก๊งต่างๆ ราวร้อยละ 30-50 แล้ว พวกเขายังมีกลุ่มติดอาวุธที่สามารถหาเงินได้หลากหลายวิธี
การทำให้การซื้อขายกัญชาเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย จะช่วยตัดตอนรายได้ของกลุ่มอิทธิพลเหล่านี้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ท่อน้ำเลี้ยงทหารหรือนักสู้ติดอาวุธตีบตันตามไปด้วย
3. กัญชาเป็นปัจจัยทำลายสมอง
ผลการศึกษาอาสาสมัคร 40 รายในเมืองบอสตัน โดยทีมศึกษาร่วมระหว่าง Northwestern University และ Massachusetts General Hospital/Harvard Medical School แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่ใช้กัญชาเป็นประจำ (ใช้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง) เทียบกับอีก 20 รายที่เป็นผู้ไม่สูบบุหรี่และกัญชา ทั้งหมดมีอายุระหว่าง 18-25 ปี
ผลการทดสอบสมองของอาสาสมัครด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging: MRI) พบความแตกต่างของพื้นที่สมองที่เกี่ยวข้องกับการจดจำและส่วนควบคุมอารมณ์ สื่อบางสำนักนำเสนอผลลัพธ์ดังกล่าว ด้วยการสรุปว่ากัญชามีผลต่อสมอง ทั้งๆ ที่ข้อสรุปจากทีมศึกษาไม่ได้สรุปไปในแนวทางนี้
โจดี กิลแมน, แอนน์ บลัด และ ฮันส์ เบรเตอร์ ทีมศึกษาในครั้งนี้ พบความสัมพันธ์และเชื่อมโยงระหว่างกัญชาและสมองจริง แต่ยังไม่มีตัวชี้วัดถึงขั้นว่า กัญชาเปลี่ยนสมองคน (อย่างที่เว็บไซต์กูเกิลทำ) ไปในทางดีหรือร้าย อย่างไรก็ดี ปริมาณกัญชาที่อาสาสมัครได้รับระหว่างการทดลองถือเป็นปริมาณค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ การศึกษายังไม่ครอบคลุมและยืนยันได้ว่า กัญชาจะมีผลในระยะยาวต่อสมองหรือไม่ อย่างไร
4. กัญชาเป็นสารเสพติด
คู่มือการวินิจฉัยและสถิติ จัดทำโดยสมาคมจิตแพทย์อเมริกันในปี 1987 เปรียบเทียบสัดส่วนผู้เสพติดสารเสพติดทั้งถูกและผิดกฎหมายประเภทต่างๆ ที่มีอายุระหว่าง 15-54 ปี พบว่า มีผู้เสพติดกัญชาร้อยละ 9 ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ มีผู้เสพติดอยู่ที่ร้อยละ 19 และร้อยละ 24 ตามลำดับ
จากสัดส่วนปริมาณผู้เสพติดกัญชาเทียบกับสารเสพติดถูกกฎหมายอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ อาจอนุมานได้ว่าการใช้กัญชามีผลทำให้ผู้เสพมีอาการเสพติดได้น้อยกว่าสารเสพติดอื่นๆ นอกจากนี้ การใช้กัญชาในปริมาณมากๆ ยังห่างไกลจากอันตรายถึงชีวิตเมื่อเทียบกับ เฮโรอีน โคเคน ยาบ้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5. ภาพลักษณ์ของคนติดกัญชา
คนทั่วไปมักจะถูกฝังหัวว่าผู้ติดกัญชารวมทั้งสารเสพติดอื่นๆ จะต้องมีรูปลักษณ์ที่สังคมไม่ค่อยให้การยอมรับ ไม่ว่าเป็นเป็นรูปร่างผอมแห้งแรงน้อย ตาไม่ค่อยสู้แสงจนต้องสวมแว่นกันแดด หรือภาพลักษณ์แย่ๆ อื่นๆ แต่ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น
นักร้องนักแสดงและเซเลบชื่อก้องที่ออกมายอมรับว่าตนเองใช้กัญชา ไล่มาตั้งแต่ จัสติน ทิมเบอร์เลก, จอร์จ คลูนีย์, หลุยส์ ซี.เค., เลดี้กาก้า, เจนนิเฟอร์ อนิสตัน ไปจนถึง มอร์แกน ฟรีแมน
6. การเสพกัญชาจะนำไปสู่การเสพยาเสพติดที่ร้ายแรงกว่า
ไม่ค่อยมีคนเรียกเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าเป็นประตูสู่ยาเสพติดอื่นๆ แต่ความเชื่อนี้มักถูกผูกโยงเข้ากับกัญชา หลายคนเชื่อว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเสพยาที่ร้ายแรงกว่า หรือเป็นประตูสู่ทางเสื่อม
National Institute on Drug Abuse (NIDA) หน่วยงานหนึ่งของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐที่ศึกษาด้านยาเสพติดและการใช้ยาผิดประเภทรายงานว่า กัญชากลายเป็นสารเสพติดที่มีปริมาณการใช้เพิ่มมากขึ้น สวนทางกับยาเสพติดอื่นๆ อาทิ เฮโรอีน โคเคน หรือยาบ้า ที่มีแนวโน้มการเสพลดลงเรื่อยๆ
ที่มา: alternet.org