ประชาชนเกี่ยวอะไร : ประภาส ปิ่นตบแต่ง
การยึดอำนาจของ รสช. เมื่อปี 2534 ก็ได้ให้เหตุผลในทำนองเดียวกับการรัฐประหาร19 กันยายน 2549 ว่า ขอเว้นวรรคประชาธิปไตยเอาไว้ชั่วคราว เหมือนรถยนต์ที่วิ่งไปถามถนนต้องหยุดซ่อมบ้าง มิฉะนั้น จะไม่สามารถไปถึงจุดหมายปลายทาง
เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นในสังคมไทยอีกกี่ครั้งกี่หนก็ไม่รู้ ในบริบทหนึ่งผู้คนไม่เห็นด้วย ต่อต้านอย่างกว้างขวาง แต่อีกบริบทหนึ่งเรากลับพบว่า ผู้คนก็มีทัศนะ จุดยืน ความเชื่อที่ต่างกันออกไป สถานการณ์เช่นนี้สร้างความกระอักกระอ่วนให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อย บางทีเกิดอาการเหมือนเมาค้าง อยากอาเจียนตอนรุ่งเช้าแต่อาเจียนไม่ออก เป็นความรู้สึกอิหลักอิเหลื่อสุดจะบรรยาย
สำหรับคนชั้นกลาง ปัญญาชน มีพื้นที่ให้ทั้งสรรเสริญและอาเจียน สามารถตอบโต้ถกเถียงกันในเชิงตรรกะ เหตุผล จุดยืนของแต่ละฝ่ายได้ สิ่งที่บทความนี้พยายามจะทำคือ การพูดถึงผลสะเทือนของการยึดอำนาจที่มีต่อกลุ่มคนซึ่งไม่ค่อยมีพื้นที่พูดมากนัก (และยอมรับได้ว่า นี่เป็นความดัดจริตอีกแบบหนึ่งเช่นกัน)
สถานการณ์เว้นวรรคประชาธิปไตยและอำนาจของประชาชนไว้ชั่วคราวเช่นนี้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2549 พี่น้องสมัชชาคนจนได้แจ้งข่าวว่า แกนนำหลักๆ ชาวบ้านปากมูนที่ อำเภอโขงเจียม ได้ถูกทหารหน่วย นปข. เข้าไปค้นที่บ้านและถามหาว่าไปไหน ฯลฯ แม่ใหญ่พ่อใหญ่ที่อยู่บ้านเลยพากันตกอกตกใจกัน
เครือข่ายปัญหาต่างๆ ก็เจอ ‘โรคเว้นวรรค’ กล่าวคือ ข้อตกลงกับรัฐบาลเคยมีมติ ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการดำเนินการคืบหน้าแตกต่างกันออกไปก็เป็นอันยุติทั้งหมด คณะกรรมการแก้ปัญหาทุกระดับไม่สามารถประชุมได้ ข้าราชการบอกให้รอท่าทีรัฐบาลใหม่เสียก่อน ขณะนี้ยังทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้น
กรณีเครือข่ายชาวบ้านที่ประสบปัญหาหนี้สินหลายกลุ่ม องค์กร อยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างกัน ความคืบหน้าที่เคยได้รับเมื่อครั้งเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลทักษิณให้แก้ปัญหาผ่านกองทุนฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรก็ถูกเว้นวรรคไปด้วยเช่นกัน ในขณะที่ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ จ้องจะยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาด
การเคลื่อนไหว กดดัน ต่อรอง ซึ่งเป็นการสร้างพลังสำคัญของคนจนไม่สามารถทำได้ เพราะทหารได้ลงไปเต็มพื้นที่เพื่อสกัดกั้นการระดมมวลชนของนักการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะประกาศ คปค. ฉบับที่ 22 เรื่องการห้ามองค์กรท้องถิ่นเคลื่อนไหวหรือดำเนินกิจกรรม กลไกรัฐระดับพื้นที่ได้ปฏิบัติการอย่างเคร่งครัด
หลังการยึดอำนาจจึงเกิดขบวนการสยบนักการเมืองท้องถิ่น และการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่อย่างถ้วนหน้า ไม่แยกแยะกลุ่มก้อน องค์กร ฯลฯ การปิดวิทยุชุมชนทุกพื้นที่กระทบเครือข่ายองค์กรชาวบ้านที่ได้อาศัยเป็นช่องทางการสื่อสาร เรียนรู้กันในพื้นที่ ฯลฯ
ผลของกระทำการเช่นนี้จึงมีสภาพเหมือนการให้เคมีบำบัดเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งไม่รู้ว่ามะเร็งร้ายมีจริงหรือเปล่า แต่ได้ทำลายส่วนที่ดีงาม ความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชุมชน ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนไปด้วย
อำนาจของระบบราชการจึงเข้าไปควบคุมการเคลื่อนไหวของชาวบ้านทุกกระเบียดนิ้ว ซึ่งไม่รู้ว่าสถานการณ์เช่นนี้จะดำเนินไปอีกนานเท่าใด ผู้คนภายนอกจะรับรู้หรือไม่ เพราะชาวบ้านไม่สามารถใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออินเทอร์-เน็ตเหมือนดังคนชั้นกลางในเมือง จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ ผลของมันก็คือ การกลับเข้าสู่ระบบปกติ อำนาจราชการที่สร้างปัญหา และไม่สามารถเป็นกลไกการแก้ปัญหาของชาวบ้านได้ ยักษ์หลับได้ตื่นขึ้นมา และกำลังคืบคลานเข้ามาจัดการกับคนจน คนด้อยโอกาสอีกครั้ง
อย่าลืมว่า ปากท้อง การแก้ไขปัญหาของชาวบ้านขึ้นอยู่กับพลังที่มาจากการเมืองบนท้องถนน สถานการณ์เว้นวรรคพื้นที่อำนาจของคนจนจึงกระทบต่อปากท้อง และการแก้ปัญหาของเขาด้วย
ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นผลมาจากความคิดของปัญญาชน คนชั้นกลางที่ขับไล่ทักษิณที่มองคนจนว่า เป็นเหยื่อของเงินที่โปรยหว่านลงไป ทำให้กลายเป็นมวลชนของพรรคไทยรักไทยที่สามารถระดมเข้ามาสู้รบท้าทายกับคนชั้นกลางและชั้นสูงในเมือง (บางคนกล่าวเกินเลยถึงขั้นว่าเป็น ‘สงครามชนชั้น’ หรือ ‘สองนคราประชานิยม’)
ความเร่งด่วนในการประกาศสานต่อประชานิยม กองทุนหมู่บ้าน SML 30 บาทรักษาทุกโรค ฯลฯ เข้าใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่า นี่คือการแสดงจุดยืนว่า อำนาจและผลประโยชน์ของคนรากหญ้าจะไม่สูญเสียไปในระบอบอำนาจนิยม นี่คือ วิธีการคืนอำนาจให้คนรากหญ้าโดยระบอบรัฐประหาร!
น่าเสียดายที่นโยบายประชานิยมควรจะถูกประเมินอย่างจริงจังว่ามันทำงานอย่างไรกันแน่ จุดอ่อนของมันอยู่ตรงไหน แต่กลับไปเร่งรีบรับรองอย่างลนลานเพื่อเอาใจมวลชน โดยหารู้ไม่ว่า นั่นคือขุมทรัพยากรสำคัญของการสร้างระบบอุปถัมภ์ของนัก-การเมืองท้องถิ่นและเครือข่าย
ความล่อแหลมก็คือ ทิศทางของการเข้าไปควบคุม กำกับการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในท้องถิ่นจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น แทนที่จะส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหว กลุ่มองค์กรชุมชนที่ปลดปล่อยชาวบ้านออกจากระบบอุปถัมภ์ภายใต้ประชา-นิยมที่พรรคไทยรักไทยได้สร้างขึ้น แทนที่จะพัฒนาประชานิยมให้ก้าวไปสู่การสร้างสังคมสวัสดิการ หนุนเสริมให้เกิดสวัสดิการโดยการเมืองภาคพลเมือง ส่งเสริมให้ผู้คนลุกขึ้นมาจัดสวัสดิการกันเองโดยรัฐเข้าไปช่วยหนุน สู้กับระบอบทักษิณด้วยการหนุนเสริมการเมืองภาคประชาชน แต่กลับไปเดินตามกับดักการสร้างระบบอุปถัมภ์ที่ระบอบทักษิณสถาปนาขึ้น
นอกจากนี้ ผลสะเทือนของระบอบรัฐประหาร ยังทำให้พื้นที่ทางการเมืองของคนจนที่เคยปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ผ่านการผลักดันต่อสู้กันมายาวนานหายไป เพราะแม้ว่าบทบัญญัติเหล่านี้จะยังมีปัญหาในการใช้ แต่ก็ยังพอเป็นช่องทาง และกลไกที่คนจนพออาศัยได้บ้าง คนจนสามารถอ้างสิทธิเหนือฐานทรัพยากรโดยอิงกับบทบัญญัติสิทธิชุมชน สิทธิทางการเมืองผ่านการชุมนุม เดินขบวนประท้วง ฯลฯ เหล่านี้ได้กลายเป็นอำนาจทางวัฒนธรรมแม้นจะยังไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายมารองรับก็ตาม
การยึดอำนาจจึงไม่ใช่เพียงแค่กระทบต่อพื้นที่ ช่องทาง การเมืองของชาวบ้านในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แต่อำนาจในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของชาวบ้านก็ถูกล้อมกรอบด้วยอำนาจของคณะรัฐประหารด้วยเช่นกัน เรายังไม่รู้ว่า พื้นที่การเมืองที่หายไปของคนจนจะเอาคืนมาได้อย่างไร ในสถานการณ์ซึ่งธรรมนูญการปกครองจะถูกร่างโดยนิติบริกรไม่กี่คน (โดยมีท่านคณบดีจำนวนหนึ่ง เข้าไปร่วมเป็นเจว็ด) และถูกเขียนในเวลาอันสั้นมากๆ รูปร่างหน้าตาของสภาร่างรัฐธรรมนูญก็คงจะถูกกำหนดอย่างเบ็ดเสร็จ โดยผู้คนไม่สามารถตรวจสอบและมีส่วนร่วม กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจะเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหนจะปรากฏในธรรมนูญการปกครอง ซึ่งไม่มีใครเข้าไปผลักดัน ต่อรองได้ (โปรดสังเกตว่า ในระบอบอัปรีย์ชนก่อนหน้านี้ หากแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ที่อย่างน้อยผู้คนสามารถติดตาม ตรวจสอบได้บ้าง ไม่มากก็น้อย)
การขอเว้นวรรคประชาธิปไตยเพื่อเอาไปจัดการระบอบทักษิณ จัดการกับการทุจริต คอรัปชั่น เมื่อ ‘เช็คบิล’ เสร็จแล้ว และทำให้การเมืองบริสุทธิ์เสียก่อน ค่อยคืนอำนาจให้กับประชาชน ฯลฯ เหล่านี้ฟังดูเป็นตรรกะที่ดี แต่สถานการณ์ที่พูดเรื่องการปฏิรูปการเมืองดังกล่าวนี้ กลับจำกัดพื้นที่ ช่องทางของคนจน คนรากหญ้า ที่สำคัญคือ สถานการณ์ของการเว้นวรรคอำนาจของคนจน คนรากหญ้าไม่รู้จะยาวนานไปอีกแค่ไหน ในขณะที่ปัญหาต่างๆ รุมล้อมอยู่รอบด้าน
การคืนอำนาจให้กับคนจน คนรากหญ้า จะมองกันก้าวพ้นพื้นที่อำนาจของนักการเมืองและการเลือกตั้งหรือไม่
ในระบอบใหม่อันเป็นความหวังของผู้ดีและคนชั้นกลางผู้ขับไล่ระบอบทักษิณ คนจน คนด้อยโอกาสจะมีที่ทางอยู่ตรงไหนกันนี่
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ตุลาคม 2549)