ไอแอน เตทิโอตา ชายวัย 37 และภรรยากับลูกทั้ง 3 ย้ายจากประเทศคิริบาส หมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบต่ำกว่าน้ำทะเลที่สุดในโลก มายังนิวซีแลนด์ได้ 6 ปีแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองปฏิเสธคำโต้แย้งขออพยพของเขามาแล้วสองครั้ง แม้เตทิโอตาจะแจ้งเหตุผลว่าระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นอันตรายกับตัวเขาและครอบครัวจนไม่สามารถอาศัยอยู่ที่นั่นต่อไปได้
เขาพยายามโน้มน้าวตุลาการนิวซีแลนด์ว่าตนและครอบครัวมีสถานะเป็นผู้อพยพ ด้วยสาเหตุจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เขาอธิบายว่าช่วงน้ำขึ้น กระแสน้ำจะบ่าเข้าท่วมพืชผล บ้านเรือน และหมู่บ้านของเขาต้องเผชิญเหตุการณ์เช่นนี้มาตั้งแต่ปี 1998
แม้เห็นว่ายากจะชนะคดี แต่ ไมเคิล คิดด์ ทนายความฝ่ายโจทก์ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนมองว่า คดีนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนนับ 10 ล้านคนที่อาศัยอยู่บนเกาะที่ราบลุ่มต่ำทั่วโลก
คิริบาสมีประชากรอาศัยอยู่ราว 103,000 คน มีแนวปะการังวงแหวนซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม 33 จุด นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าคิริบาสเปราะบางต่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
รายงานจากงานประชุมนานาชาติของนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศทำนายว่า ระดับน้ำในมหาสมุทรจะสูงขึ้น 1 เมตร เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง พื้นที่ส่วนใหญ่ของคิริบาสจะหายไป
สำหรับนิวซีแลนด์ ตามหลักการทางกฎหมาย คนที่จะอพยพมาได้ต้องเกิดจากสาเหตุถูกข่มเหง เหตุที่ศาลปฏิเสธคำร้องของชายคิริบาสคนนี้ เพราะไม่มีใครไปข่มเหงเขา อีกทั้งสถานการณ์ที่เกิดกับครอบครัวของชายผู้นี้ก็ไม่ได้ต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในคิริบาส ขณะที่ทนายฝั่งโจทก์ก็แย้งว่า ลูกความของเขาทุกข์ทนจากการถูกข่มเหงทางอ้อม เพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์
บิลล์ ฮอดจ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญกล่าวว่า แม้เตทิโอตาจะแพ้คดี แต่ก็จะช่วยให้เกิดข้อถกเถียงเพื่อขยายนิยามของคำว่า ‘ผู้อพยพ’ เขาหวังว่าคดีนี้จะเพิ่มแรงกดดันให้ประเทศต่างๆ อย่างนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ทำการช่วยเหลือชาวเกาะแปซิฟิกที่ถูกภัยทะเลคุกคาม
ที่มา: ap.org